เมื่อวัยรุ่น “เล่นของ ด้วยของเล่น” เรียนรู้และสร้างสรรค์จากงานไม้ และ Automata

เมื่อวัยรุ่น “เล่นของ ด้วยของเล่น”

เรียนรู้และสร้างสรรค์จากงานไม้ และ  Automata  

คำว่า “การเรียนรู้” มีความสำคัญไม่น้อยกว่า “การศึกษา”  เพราะการเรียนรู้ถือเป็น “ทักษะ” ที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนๆ หนึ่งมีศักยภาพพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุค VUCA World ได้

เพราะเชื่อมั่นว่า “การเล่น” เป็นประตูบานแรกที่นำไปสู่ “การเรียนรู้” ซึ่งเป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัวของ โรงเล่นพิพิธภัณฑ์เล่นได้  ที่ใช้ของเล่นพื้นบ้านและของเล่นที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นเครื่องมือในสร้างกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ที่ยืดหยุ่นสำหรับคนทุกช่วงวัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมานานกว่า 20 ปี

 Day Camp 14 – 18 ปี ชวนวัยรุ่นมาเรียนรู้งานไม้ และ Automata  เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นเพื่อชักชวนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ มาเรียนรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือทำของเล่นงานไม้ Automata ซึ่งเป็นของเล่นที่ใช้หลักการ STEM Education บูรณาการเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่ทำให้ของเล่นเคลื่อนไหวได้ รวมไปถึงการมีมิติสัมพันธ์ การจัดการเรียงลำดับ การคำนวณ โดยใช้กลไกลูกเบี้ยวในการขยับชิ้นส่วนต่างๆ และร่วมกันออกแบบและสร้างของเล่นชิ้นใหม่ๆ ให้กับน้องในชุมชน

วีรวรรณ กังวานนวกุล นักออกแบบกิจกรรมและผู้อำนวยการเรียนรู้ เล่าว่าที่ชวนน้อง ๆ มาทำกิจกรรมงานไม้ Day Camp Automata สำหรับวัยรุ่นอายุ 14-18 ปี เพื่อให้ได้มารู้จักวิธีการใช้เครื่องมือสำหรับงานไม้เบื้องต้น ได้เข้าใจเรื่องกลไก เรื่อง STEM ได้ลองประดิษฐ์ ออกแบบ ขัดไม้ ประกอบ วางแผน ได้ลองวัด จัดวาง คำนวณ เพื่อให้เกิดกลไกของเล่นที่เคลื่อนไหวได้

“ระหว่างทางเด็กๆ ก็จะได้เปิดโลกของความเข้าใจเรื่องของเครื่องมือ ได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน พอเขาได้ลองทำแล้ว ทำได้ก็จะเกิดความภูมิใจในตัวของตนเอง ในส่วนที่จะต้องออกแบบเอง ก็จะต้องเกิดการคำนวณ ได้ลองใช้การวัดจริงๆ ทำดูแล้วมันประกอบได้ไหม ความผิดพลาดเล็กน้อยๆ เพียง 1 เซนติเมตร ก็ทำให้อุปกรณ์ไม่สามารถต่อกันได้ เกิดกระบวนการการทำงานร่วมกัน ซึ่งตัวเขาเองก็ได้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วตัวเขานั้นก็รู้จักไม้บรรทัดมาตั้งแต่อนุบาล แต่พอต้องนำมาใช้จริง ก็ยังใช้ไม่ถูกต้อง แต่เขาก็สามารถเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดการเรียนรู้มากมาย ทั้งไม่เป็นไร ทั้งค้นพบ และจดจำ ซึ่งบรรยากาศของการทำงานจะมีความยืดหยุ่น ให้กำลังใจ เสริมพลังกันและกัน”

“แปลน” รามิล กังวานนวกุล อายุ 20 ปี นักออกแบบของเล่นและวิทยากรกระบวนการ เล่าว่าได้ชวนน้องๆ ในชุมชนมาเรียนรู้เรื่องของเล่น Automata แล้วชวนกันคิดพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างของเล่นรางลูกแก้วขนาดใหญ่เพื่อให้เด็กๆ ที่มาใช้พื้นที่ของโรงเล่นฯ ได้สนุกกับของเล่นชิ้นใหม่

“ช่วงเช้าจะชวนน้องๆ มาทำของเล่น Automata ที่ใช้กลไกลูกเบี้ยวฟันเฟือง ปูพื้นฐานแบบง่ายๆ โดยมีแบบอยู่แล้วเพียงแค่ออกแบบตุ๊กตาด้านบนตามจินตนาการของแต่ละคน ส่วนช่วงบ่ายก็จะเป็นลงมือทำของเล่นชิ้นใหญ่ด้วยกัน ซึ่งนอกเหนือจากทักษะที่ได้จากการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในงานช่างแล้ว น้องๆ จะเกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ได้เรียนรู้เรื่องของกลไก เรื่องวัสดุ เรื่องของ STEM การทำงานเป็นทีม มีการจัดแบ่งทีมแบ่งกลุ่ม จัดลำดับความเหมาะสมและความถนัดของและคน”      

มิ้ว” ปรียาภรณ์ ดวงชัย อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมทำของเล่น Automata เล่าให้ฟังว่า ผู้หญิงกับงานไม้ ดูเหมือนว่าจะไปด้วยกันไม่ได้ แต่พอได้ลงมือทำจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก งานพวกนี้ไม่ว่าใครก็ทำได้ ทำแล้วก็รู้สึกว่าสนุก ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนมากกว่า

“ในระหว่างการทำชิ้นงานเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงาน และสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันได้ เช่นการสร้างรถยนต์ ที่ต้องใช้กลไกและสิ่งต่างๆ หลายอย่างมารวมกัน แต่ละอันก็ต้องมีพื้นฐานมาจากของเล่น Automata และที่กำลังประดิษฐ์รางลูกแก้วเพื่อทำของเล่นให้น้องๆ ก็ต้องใช้กลไก Automata ที่ต้องเพิ่มเฟืองและลูกรอกต่างๆ เข้ามา โดยใช้ความรู้เดิมที่มีเป็นตัวตั้ง ซึ่งต้องใช้ทั้งการชั่งตวงวัดให้ถูกต้องชิ้นส่วนต่างๆ ถึงจะออกมาตรงตามแบบที่กำหนดไว้”

กิจกรรมงานไม้ Day Camp Automata ที่จัดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงการชวนน้องๆ เยาวชนเข้ามาเรียนรู้วิธีทำของเล่นจากไม้เพียงเท่านั้น แต่เป็นการชวนพวกเขาให้เข้ามาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ผ่านการลงมือทำ นำหลักทฤษฏีในห้องเรียนมาสู่ภาคปฏิบัติ เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกันทั้งบนความสำเร็จ ความล้มเหลว และความผิดพลาดระหว่างการทำงานร่วมกัน

“การทำงานครั้งนี้พวกเขาได้ความเป็นพวกพ้อง ได้มาทำของเล่นชิ้นใหญ่ด้วยกัน ก่อนที่จะนำไปติดตั้งไว้ให้เด็กๆ ในชุมชนได้เล่น และเมื่อเขาเห็นก็จะเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งทักษะพวกนี้จะอยู่ติดตัวไปตลอด แม้ว่าจุดประสงค์ของเราคือการผลิตชิ้นงานออกมาให้สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง แต่นั่นไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เขาได้รับในขั้นตอนการปฏิบัติงานซึ่งสำคัญกว่ามาก ช่วงวัยรุ่นถ้าเขาจะสามารถหันหลังให้กับสิ่งรุมเร้าในทางที่ผิดได้ จะต้องมี 4 องค์ประกอบคือ มีความกล้า มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีเพื่อน และต้องได้รับความไว้วางใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด” วีรวรรณ กังวานวนกุล กล่าว

แม้วันนี้ยังการทำของเล่นทำรางลูกแก้วติดผนังจะยังไม่สำเร็จ แต่ระหว่างทางเชื่อว่าหลายๆ คนคงได้ค้นพบและเรียนรู้อะไรมากมาย และทุกคนก็พร้อมใจกันนัดหมายในการมาลงมือทำต่อให้เสร็จเพื่อให้น้องๆ ที่มาเล่นที่โรงเล่นฯ ได้มีของเล่นกลไกชิ้นใหม่ให้ได้เล่นสนุกกันต่อไป

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการโรงเล่นพิพิธภัณฑ์เล่นได้ กล่าวว่าได้ออกแบบพื้นที่และกระบวนการต่างๆ ของโรงเล่นฯ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มีพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ความคาดหวังของเราคือพวกเขาได้รอยยิ้ม ความทรงจำ และประสบการณ์ดีๆ กลับออกไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพลังงานบวกและพลังงานสร้างสรรค์ทำให้พวกเขาเดินหน้าต่อไป พร้อมกับขับเคลื่อนให้สังคมได้เดินต่อไป

“การเล่นเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่เรื่องราวต่างๆ ทั้งความสนุกสนาน ความคุ้นชินกันระหว่างคนหน้าใหม่กับคนหน้าเก่า นำไปสู่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นำไปสู่การเผชิญสิ่งต่างๆ สุดท้ายก็จะนำไปสู่การค้นพบทั้งความรู้ใหม่ เป็นประตูบานแรกที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีที่สุด”

 “สสส. เชื่อว่าการมี “พื้นที่เรียนรู้” หรือ “Learning Space” เป็นหนึ่งในกลไกและทางเข้าสำคัญในการสร้าง “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ” เพื่อเติมเต็มรากฐานของเด็กและเยาวชนในทุกแต่ละช่วงวัย ด้วยการเปลี่ยนให้ทุกพื้นที่ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และในชุมชน ให้กลายพื้นที่เรียนรู้ ที่จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนครบทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ระบุ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ