พื้นที่ต้นแบบครอบครัวยิ้ม จ.ตรัง กับการทำงานแบบ “ป้าข้างบ้านมืออาชีพ”
5 ปีที่ผ่านมาของโครงการครอบครัวยิ้ม ซึ่งเป็นการทำงานต่อยอดจากโครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน ที่มีภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ และมีพื้นที่ต้นแบบกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ซึ่งแต่ละพื้นที่มีปัจจัยความสำเร็จและออกแบบวิธีการทำงานที่ต่างกันตามบริบทชุมชน
จังหวัดตรัง หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่มีความโดดเด่นด้านการเชื่อมร้อยการทำงานระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ ที่สามารถค้นหาคนทำงานได้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน ทำให้การทำงานของคณะทำงานมีความเข้มแข็งจากภายใน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายผู้บริหาร ก็ไม่กระทบต่อนโยบายหรือความต่อเนื่องของการทำงานในพื้นที่
ในปี 2567 จึงเกิดการประชุมเวทีบูรณาการภารกิจเด็ก เยาวชน และครอบครัวระดับจังหวัด ดำเนินการโดยโครงการติดตามและสนับสนุนภาคีเครือข่าย เพื่อการขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในระดับพื้นที่ สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) สำนัก 4 เพื่อเยี่ยมเสริมพลังคนทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการทำงานในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด หารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัวระดับจังหวัด โดยได้ลงพื้นที่จังหวัดตรัง มีตัวแทนคณะทำงานครอบครัวยิ้มจาก 10 ตำบล ตำบลละ 2 คนเข้าร่วม
ข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรังมีอัตราการเกิดอยู่ในภาวะติดลบ ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากกว่า 20% สวนทางกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ มีปัญหาด้านการใช้ยาเสพติด ความรุนแรง ไปจนถึงเด็กไร้สัญชาติอยู่จำนวนหนึ่ง ทำให้การพัฒนาเด็กเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ และโครงการครอบครัวยิ้มก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่เข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กได้
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) ที่ลงพื้นที่ติตดามความคืบหน้ากล่าวถึงบทบาทของ สสส. ว่าจังหวัดตรังถือเป็นพื้นที่ที่คนทำงานมีความเข้มแข็ง ต้องการยกระดับให้เป็นพื้นที่ดำเนินการ Sandbox Policy เพื่อคัดเลือกวิธีการทำงานที่ได้ผล นำไปขยายผลสู่นโยบายระดับประเทศ ทั้งในมิติ การจัดการศึกษา คุณภาพชีวิต สวัสดิการ สุขภาพของเด็กและครอบครัว เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีสุขภาวะ
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.)
“เราพิสูจน์ได้ว่าถ้าเราปรับวิธีการทำงานเป็นลมใต้ปีกให้กับชุมชน ใช้แนวคิดชุมชนนำ และพวกเราเป็นผู้สนับสนุน เชื่อว่าชุมชนจะสามารถดำเนินการในส่วนของเขาได้ดี เขารู้ว่าครอบครัวไหน เด็กคนไหนมีปัญหา ระดมทรัพยากรในชุมชนได้เบื้องต้น ออกแบบการทำงานได้เอง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพที่เรากำลังเผชิญอยู่” ณัฐยากล่าว
อนุวัฒน์ จันทร์เขต ผู้รับผิดชอบโครงการครอบครัวยิ้ม กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการครอบครัวยิ้มพื้นที่ จ.ตรัง ว่าจุดเด่นของการดำเนินโคงการในพื้นที่ จ.ตรัง คือ การเน้นกลไกรัฐเป็นแกนในการขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคม ภายใต้การทำงานที่ยืดหยุ่น เชื่อมร้อยคนทำงานจากหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ผลการดำเนินงานเป็นไปวัตถุประสงค์กล่าวคือ กลไกในระดับตำบล สามารถเข้าไปทำความรู้จักเด็กและครอบครัวในชุมชน คัดแยกสถานการณ์ความเสี่ยงของแต่ละครอบครัว และประสานความช่วยเหลือ และส่งต่อเคสที่ต้องการความช่วยเหลือได้
“ครอบครัวยิ้ม จ.ตรัง เราจับที่คนทำงาน หาคนทำงานให้เจอ ไม่ได้เน้นไปที่มอบนโนบายให้ผู้บริหาร เพราะผู้บริหารอาจจะอยู่ในพื้นที่ไม่นาน แต่ถ้าเป็นคนทำงานตัวจริง จะอยู่ในพื้นที่นาน เราก็ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ กะเทาะปัญหา เชื่อมโยงคณะทำงานตำบล เข้ากับหน่วยงานต่างๆ เป็นต้นทุนที่ถือว่าไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์”
เมื่อสามารถหาคนทำงานตัวจริงได้แล้ว ก็สร้างความร่วมมือระหว่างคณะทำงานตำบล ไปสู่หน่วยงาอื่นๆ อาทิ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง (พมจ.) , ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.), บ้านพักเด็กและครอบครัว โรงพยาบาลสาธารณสุขตำบล สถาบันการศึกษา ไปจนถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เชื่อมทั้งจากบนลงล่าง ล่างขึ้นบน และแผ่ขยายพื้นที่ออกไปด้วย
นายอนุวัฒน์ จันทร์เขต ผู้รับผิดชอบโครงการครอบครัวยิ้ม
“นโยบายของโครงการครอบครัวยิ้มเป็นโซ่ข้อกลาง ที่เชื่อมการทำงานระดับนโยบายข้างบน และคนทำงานด้านล่าง ทำอย่างไรให้เกิดการยกระดับให้พื้นที่ขับเคลื่อนงานได้ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับประเทศ” อนุวัฒน์กล่าวเสริม
3 กลยุทธ์ขยายแนวคิดชุมชนนำ
แม้โครงการครอบครัวยิ้ม พื้นที่ จ.ตรัง จะเกิดเป็นกลไกที่เป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ตาม แต่ยังพบความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการทั้งในแง่บริบทของปัญหาของเด็กและเยาวชนในชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายผลพื้นที่ต้นแบบจาก 10 ตำบล เพิ่มเป็น 13 ตำบล ภายใต้เงื่อนที่ชุมชนต้องดำเนินการจัดหางบประมาณเอง โดยไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุนให้ ทำให้เกิดการขยายแนวคิดชุมชนนำใน 3 กลยุทธ์หลักดังนี้
1.ปัญหาและสถานการณ์เด็กและครอบครัวสีที่เปลี่ยนไป โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือการใช้สารเสพติด ที่เริ่มพบเร็วขึ้นคือเด็กในระดับชั้นประถมศึกษากับการดื่มน้ำกระท่อม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นจุดเริ่มต้นสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้น จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยการ เพิ่มทีมสหวิชาชีพในระดับจังหวัด เข้ามาช่วยดูแลและป้องกันการใช้สารเสพติดอย่างเร่งด่วน คู่ขนานไปกับทำงานของคณะทำงานตำบลที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ให้มีพื้นที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เพื่อให้เด็กได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยมีผู้ใหญ่ดูแล
2.การหาวิธีการเข้าไปช่วยคณะทำงานตำบลอย่างเข้มข้นมากขึ้น แต่ละหน่วยงานเกิดการแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันทีมงาน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
3.การผลักดันโครงการครอบครัวยิ้มสู่ยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด เพื่อให้โครงการกลายเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารต้องร่วมขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนตัวบุคคล เปลี่ยนผู้บริหาร แต่ยุทธศาสตร์ยังคงเป็นกรอบนโยบายในการทำงานต่อ มีการกำหนดวาระการดำเนินงานแต่ละปีให้ชัดเจน
กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะทำงานในพื้นที่
ป้าข้างบ้านมืออาชีพแบบ ต.ตะเสะ และนักจัดเก็บข้อมูลแบบ ต.บ้านควน
จากพื้นที่ 10 ตำบลนำร่อง ใน จ.ตรัง มีพื้นที่ที่มีการจัดการเพื่อดูแลเด็กและครอบครัวในชุมชนอย่างเข้มแข็ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลตะเสะ ที่เกิดจากการร่วมมือของภาคประชาชนเป็นแกนหลัก ที่เข้าถึงชุมชนอย่างรู้ลึก รู้จริง มีความห่วงใย ต้องการดูแลเด็กในชุมชน มองเด็กทุกคนเป็นลูกหลาน หรือคนในครอบครัวของตนเอง
จินตนา สามทอง หัวหน้าคณะทำงานครอบครัวยิ้ม ต.ตะเสะ จ.ตรัง กล่าวถึงการทำงานของคณะทำงานว่าปัจจุบันคณะครอบครัวยิ้ม ต.ตะเสะ มีจำนวน 25 คน เกิดจากการรวบรวมคนทำงานจิตอาสาหรือภาคประชาชนโดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นสมาชิกของคณะทำงานกว่า 80% ที่ร่วมกันสร้างบันทึกข้อตกลงจรรยาบรรณคุณธรรม จริยธรรมในการทำงาน จำนวน 12 ข้อ สำหรับทีมทำงานเพื่อเป็นหลักจรรยาบรรณในการทำงาน พร้อมประสานความร่วมมือจากเครือข่ายในพื้นที่จำนวน 8 ภาคี
โดยนิยามการทำงานของคณะทำงานว่าเป็น “ป้าข้างบ้านมืออาชีพ” ที่สอดส่อง ทำความรู้จักเด็กผ่านการลงพื้นที่อย่างเข้าถึง และรู้จักคนในชุมชนของตนองเป็นอย่างดี มีการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย เด็กและเยาวชนในพื้นที่กว่า 762 คน สามารถแบ่งแยกสถานการณ์เด็กและครอบครัวออกเป็น 3 สีได้ สีแดง จำนวน 67.63% สีเหลือง 31.58% และ สีแดง 0.79%
จินตนา สามทอง หัวหน้าคณะทำงานครอบครัวยิ้ม ต.ตะเสะ จ.ตรัง
ภาพที่คนในชุมชนคุ้นเคย คือช่วงวันหยุด เด็กๆ จะซ้อนมอเตอร์ไซค์พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือสมาชิก คณะทำงาน มาร่วมกิจกรรมลานเล่นริมทะเลที่เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ช่วยกันเสนอความคิดและลงผลโหวต มีการละเล่นพื้นบ้าน การทำของเล่นจากวัสดุหรือของที่หาได้ง่ายในชุมชน โดยมีคณะทำงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมดูแลความปลอดภัย ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกไปรับ-ส่งเด็ก ให้เข้าถึงพื้นที่ลานเล่นได้ โดยไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ผู้ปกครองที่ติดภารกิจทำงานหาเลี้ยงชีพ
“ตอนแรกๆ ที่เรารวมตัวกันเยี่ยมบ้าน เพื่อคัดแยกสถานการณ์เด็กเป็นสีต่างๆ หรือจัดลานเล่นให้เด็กๆ ในชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครองเขาไม่เข้าใจว่าจะทำไปเพื่ออะไร เราก็เดินหน้าทำไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นป้าข้างบ้านที่สอดส่องดูแลเด็ก พอเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก คือ เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุมหรือติดยาเสพติด ตอนนี้เวลาเราจะจัดกิจกรรมอะไรพ่อแม่ผู้ปกครองก็อยากมีส่วนร่วม อยากเข้ามาสนับสนุนคณะทำงาน” จินตนากล่าว
รวมไปถึงการลงเยี่ยมบ้านสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ด้วยเครื่องมือต่างๆ ของ สสส. ทำให้หลังดำเนินงานและเก็บข้อมูลอีกครั้งพบว่า สามารถลดความรุนแรงในครอบครัวลงได้ 20% และพ่อแม่ผู้ปกครองเอาใจใส่ลูกเพิ่มขึ้น 30%
ส่วนอีกพื้นที่ทำงานครอบครัวยิ้มที่น่าสนใจคือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน จ.ตรัง กับการประสานความร่วมมือไปกับหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อจัดทำฐานข้อมูล ตลอดจนนักพัฒนาชุมชนที่ถือเป็นแกนนำของโครงการ จัดทำตัวชี้วัดสถานการณ์เด็กขึ้นเอง เพื่อให้คนที่จะเข้ามาเป็นคณะทำงานสามารถเข้าใจได้ง่าย
ลานเล่นริมทะเลของเด็กๆ ต.ตะเสะ
อุดมศักดิ์ ปริวัตรพันธ์ นักพัฒนาชุมชน อบต.บ้านควน จ.ตรัง กล่าวถึงการดำเนินงานครอบครัวยิ้มในพื้นทั้ง อบต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง ว่า ในฐานะนักพัฒนาชุมชนได้เข้ามาทำงานในโครงการครอบครัวยิ้ม ของ อ.บ้านควน ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนกว่า 80-90% เข้าเป็นคณะทำงาน
โดยแรกเริ่มใช้ฐานข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านควน เป็นข้อมูลนำร่องก่อน และลงเยี่ยมบ้านเพื่อเก็บข้อมูลจนรู้จักเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จากนั้นทางคณะทำงานได้จัดทำตัวชี้วัดสถานการณ์เด็กขึ้นเอง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ทำให้ อสม.เข้าใจง่าย สามารถแบ่งแยกสถานการณ์เด็กออกเป็นสี เขียว เหลือง และแดง รวมถึงการเก็บข้อมูลอัพเดทเป็นประจำทุกปี เกิดฐานข้อมูลเด็กที่เป็นปัจจุบัน และฐานข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ของภาครัฐในการเป็นฐานข้อมูลสำหรับส่งต่อความช่วยเหลือต่างๆ ได้ด้วย
นายอุดมศักดิ์ ปริวัตรพันธ์ นักพัฒนาชุมชน อบต.บ้านควน จ.ตรัง
กลไกการทำงานจึงมีชุมชนนำ และมีหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ สนับสนุนพัฒนาศักยภาพคณะทำงานตำบล เมื่อมีกิจกรรมการจัดอบรมจากหน่วยงานหรือภาคีเครือข่ายภายนอก ก็มีตัวแทนคณะทำงานที่สนใจเข้าไปร่วมอบรมด้วยความสมัครใจ ได้นำความรู้มาต่อยอดและใช้งานจริงในชุมชน จนสามารถจัดเวทีการเรียนรู้สำหรับทั้งเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง การจัดทำถุงปันสุข และ กล่องของเล่นเพื่อมอบให้เด็กในชุมชน เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนอีกทาง
ทั้ง 2 พื้นที่จึงนับเป็นต้นแบบของคณะทำงานโดยมีชุมชนเป็นฐาน ที่มองหาต้นทุนที่มีทั้งในแง่การมีจิตอาสาของคนในชุมชน หรือการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง สามารถต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และเชื่อมร้อยการทำงานกับภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ทำให้สามารถออกแบบกิจกรรม หรือ การค้นหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนตัวเองได้