สสส. สนับสนุนพื้นที่ต้นแบบสร้างสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ด้วย “ครอบครัวยิ้ม” โครงการที่ใช้ข้อมูลของเด็กรายคนเป็นหัวใจในการทำงาน

การจะเกิดเป็นชุมชนที่สามารถร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวในระดับตำบลได้อย่างเข้มแข็ง จำเป็นต้องมีกลไกการทำงานเข้ามาช่วยเกื้อหนุนและแก้ปัญหาให้กับครอบครัวเป็นรายๆ ไป ข้อมูลที่รายครอบครัวที่รอบด้านจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ชุมชนสามารถปกป้องและช่วยเหลือเด็กแต่ละคนได้อย่างทันสถานการณ์ ด้วยเหตุนี้ สสส. โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) จึงได้ร่วมมือกับคณะทำงานในรูปแบบกลไกระดับตำบลทั้งหมด 70 ตำบลใน 7 จังหวัด (พะเยา ลำปาง เลย กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และตรัง) ภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน  โดยคณะทำงานของ 70 ตำบลทั้ง 7 จังหวัด มาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในตำบลเดียวกัน ร่วมกันออกแบบกระบวนการทำงานเสมือนเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกด้าน ที่สำคัญ กระบวนการทำงานของทั้ง 7 จังหวัด เป็นอิสระ ในเรื่องการออกแบบใช้ฐานข้อมูลของแต่ละจังหวัด เพื่อนำมากำหนดแนวทางการจัดเก็บและนำมาวิเคราะห์อย่างสอดคล้องและใช้งานได้จริง โดยมีเป้าหมายคือ สู่การสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดกับเด็กทุกคนในตำบล  

เริ่มด้วยข้อมูลที่แม่นยำ ทำให้เป้าหมายการทำงานชัดเจนขึ้น

หลักปรัชญาการทำงานของโครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน คือ การรู้จักเด็กในทุกมิติของชีวิต ทุกภาคส่วนมองเห็นเด็กทุกคน และทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดรอยยิ้มภายในครอบครัว  ดังนั้น โครงการจึงมีชื่อเรียกกันง่ายๆ ว่า “ครอบครัวยิ้ม” 

โครงการฯ ตระหนักว่าเด็กทุกคนมีความสำคัญ การมีข้อมูลของเด็กในแต่ละครอบครัวจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน เปรียบได้กับการก่อสร้างบ้านจำเป็นต้องมีเสาเข็มมั่นคง การมีข้อมูลที่ละเอียดและครบทุกมิติของชีวิตเด็กแต่ละคนก็จำเป็นยิ่งสำหรับการดำเนินโครงการในลักษณะนี้ ทุกครั้งในการประชุมของคณะทำงานแต่ละจังหวัด เรื่องของวิธีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์แยกแยะเด็กเป็นรายบุคคล จึงเป็นหัวข้อที่ 7 จังหวัดให้เวลาอย่างมากก่อนจะเริ่มขยับก้าวต่อไปในการทำงาน  การค้นหาสถานการณ์ที่เด็กกำลังเผชิญอยู่คืออะไร เด็กคนนี้มีใครเกี่ยวข้องบ้างทั้งในระดับครอบครัว เครือญาติ และชุมชนที่เด็กอาศัย เหล่านี้คือหัวข้อในการใช้จัดเก็บเป็นฐานข้อมูลของคณะทำงานในโครงการ ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าแนวโน้มของสถานการณ์ที่เด็กกำลังเผชิญอยู่นั้น ส่งผลให้เด็กมีปัญหาอะไรบ้าง ก่อนนำไปออกแบบการทำงานว่าจะช่วยเหลือเด็กคนนี้ได้ด้วยวิธีการอย่างไร

การทำงานที่ใช้ข้อมูลของเด็กแต่ละคนเป็นฐานสำคัญของคณะทำงานในโครงการฯ คือสิ่งที่ สสส. ในฐานะภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนโครงการ คาดหวังว่าจะนำมาซึ่งแบบอย่างของวิธีคิดในการออกแบบการเก็บข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กและครอบครัวได้เห็นตัวอย่างว่าหากเราเริ่มต้นทำงานโดยให้ความสำคัญและให้เวลากับการเก็บข้อมูลเด็กรายบุคคลอย่างรอบด้าน โดยชุมชนเป็นผู้ออกแบบการเก็บข้อมูลเอง จะทำให้ข้อมูลที่ได้มานั้นใช้ได้จริง และทันต่อสถานการณ์

ประสานวิธีช่วยเหลือเด็กอย่างยืดหยุ่น เป็นอิสระ และสร้างสรรค์ 

เมื่อได้ข้อมูลครบรอบด้านของเด็กรายคนในตำบลที่คณะทำงานรับผิดชอบแล้ว ก้าวต่อไปคือออกแบบการทำงานช่วยเหลือเด็กโดยเชื่อมโยงปัญหาจากข้อมูลของเด็กแต่ละคนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการให้ความช่วยเหลือเกิดการถ่ายเทไปยังหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องและสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ประโยชน์ที่ได้จากการมีข้อมูลของเด็กและคนที่อยู่รอบด้านเด็ก ส่งผลให้ต่างหน่วยงานในชุมชนร่วมกันหาวิธีการเพื่อ “ทะลุทะลวงเงื่อนไขข้อจำกัด” ให้ได้มากที่สุด เมื่อโครงการฯ มุ่งให้ความช่วยเหลือเด็กกรณีเด็กตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกกันว่า “เจอเคส” อย่างไม่มีเงื่อนไข คณะทำงานจึงคำนึงถึงความยืดหยุ่น เป็นอิสระ และทำงานแบบหาทางออกที่สร้างสรรค์ในการช่วยเหลือเด็กทุกคน 

 “หากจะทำงานกลไกได้ต้องรู้จักเด็กทุกคนในชุมชน และรู้จักเด็กในทุกมิติ ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบในการทำงานร่วมกัน ต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่าทุกครอบครัวไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว” คือภาพสะท้อนของคณะทำงานระดับจังหวัดที่สามารถเชื่อมโยงปัญหาจากการเก็บข้อมูลทุกด้านและนำมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบการทำงานระดับตำบลได้เป็นอย่างดี ผลลัพธ์ของกระบวนการทำงานนี้ทำให้เห็นการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ และบูรณาการแก้ปัญหา เกิดเป็นกลไกได้จากการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่การนั่งประชุมที่โต๊ะ  แต่มีกระบวนการลงมือทำแก้ปัญหาร่วมกัน แม้อาจจะช่วยเด็กไม่ได้ทุกคน แต่คณะทำงานก็ตั้งใจว่า “เจอเมื่อไหร่ ช่วยเหลือทันที ไม่มีเงื่อนไข”  และนี่คือหนึ่งในจุดแข็งที่เห็นชัดของโครงการฯ  

ไม่ใช้สูตรสำเร็จ แต่ตัดเย็บให้เข้ากับแต่ละพื้นที่

เมื่อการทำงานร่วมกับระบบสนับสนุน ได้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเด็ก สามารถก้าวผ่านเงื่อนไข หรือกฎระเบียบบางข้อได้ โดยมุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือเด็กให้สำเร็จ  เช่น เด็กเจอความรุนแรงในครอบครัว การใช้แรงงานเด็ก หรือการที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ปัญหาเหล่านี้ทำให้คณะทำงานตระหนักและเรียนรู้ว่าการทำงานต้องใช้เครื่องมือหลายรูปแบบทั้งรุกและรับ และแน่นอน หากจะให้การทำงานช่วยเหลือเด็กประสบผล ย่อมต้องให้ชุมชนยอมรับในข้อมูลที่คณะทำงานได้รับมา และเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้วย

“คณะทำงานจังหวัดใช้การทำงานด้วยความเข้าใจ มีการปรับเป้าหมายร่วมกันในระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดภาพของจังหวัดต้นแบบที่เราอยากเห็น โดยการวิเคราะห์ต้นทุนที่เรามีและเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด แล้วผลักดันโครงการให้ขึ้นไปเป็นแผนพัฒนาจังหวัด การทำงานเราจึงเริ่มต้นจากการหาคนที่เป็นแกนนำในแต่ละพื้นที่แล้วเข้าไปสร้างความเข้าใจ เราไม่ทำงานเป็นแบบสูตรสำเร็จ แต่ต้องปรับให้เข้ากับแต่ละพื้นที่” คำบอกเล่าถึงกระบวนการทำงานจากหนึ่งในคณะทำงานของจังหวัดสุรินทร์ สะท้อนว่าการทำงานในรูปแบบที่ต่อเนื่องเป็นสายธารนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่คณะทำงานต้องมีทั้งความรู้และเครื่องมือในการนำมาปรับแต่งให้เข้ากับพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นพื้นฐานคือ ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก และสิทธิมนุษยชน และสามารถเชื่อมโยงความรู้เหล่านี้ให้กลายเป็นโอกาสสำหรับเด็กได้จริง

เป้าหมายคือพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก ไม่ใช่สงเคราะห์เด็ก เพราะเด็กไม่ใช่เหยื่อ

กระบวนการทำงานที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องของคณะทำงานในทั้ง 7 จังหวัด ที่เริ่มเมื่อปี 2563 จนเข้าสู่ปีที่ 3 ของโครงการฯ ในปี 2565 นี้ส่งผลต่อมุมมองของคณะทำงานให้เปลี่ยนไปจากเดิม หลายคนเคยมองว่าเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง ถูกทอดทิ้ง ถูกล่วงละเมิด ถูกทำร้าย ว่าเด็กเหล่านี้คือเหยื่อที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ จำต้องได้รับการช่วยเหลือในรูปแบบสงเคราะห์ เมื่อคณะทำงานได้รับความรู้และเครื่องมือจากการเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพในเวทีต่างๆ ที่ทาง สสส. จัดให้กับภาคีเครือข่าย และนำเครื่องมือความรู้เหล่านั้นไปใช้กับการทำงานในพื้นที่ของแต่ละคน กลายเป็นว่ามุมมองต่อการทำงานช่วยเหลือเด็กเปลี่ยนไป ทุกคนมีเป้าหมายในการช่วยเหลือเด็กเพื่อให้พวกเขาสามารถลุกขึ้นยืนได้ด้วยตนเอง ดังนั้น ในปีที่ 3 และปีต่อๆ ไป การทำงานของคณะทำงานโครงการฯ นี้ จึงจะมุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้มาบูรณาการร่วมกับการระดมทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ของแต่ละตำบลเพื่อช่วยเหลือเด็กให้ตรงกับปัญหาที่เด็กเผชิญได้มากขึ้น นอกจากนั้น จะยังมีการพัฒนารูปแบบการทำงานเชิงรุกให้หลากหลาย  เช่น เกิดพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนหลายวัยในชุมชน เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย  

กระบวนการทำงานที่เน้นการช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข และออกแบบการทำงานด้วยการตัดสินใจร่วมกันโดยคำนึงถึงความต้องการของครอบครัวเป็นที่ตั้งของ 7 จังหวัด ที่กำลังพัฒนาไปสู่พื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว นี้  สสส. และภาคีเครือข่ายโครงการฯ หวังให้ชุมชนตระหนักว่า การเลี้ยงดูเด็กเป็นหน้าที่ของทุกคนในชุมชน เพราะทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน และความคิดนี้จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ถูกนำไปหว่านโปรยลงในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป 

ตัวอย่างกระบวนการทำงานของ “ครอบครัวยิ้ม” จากจังหวัดกาฬสินธุ์ 

หนึ่งใน 7 จังหวัดภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ

เพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน

ตัวอย่างกระบวนการทำงานของ “ครอบครัวยิ้ม” จากจังหวัดสุรินทร์

หนึ่งใน 7 จังหวัดภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ

เพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน

ตัวอย่างกระบวนการทำงานของ “ครอบครัวยิ้ม” จากจังหวัดเลย

หนึ่งใน 7 จังหวัดภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ

เพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ