คำถามสำหรับพ่อแม่ชวนเด็กคุย เพื่อรู้ถึงความเครียดของเด็ก
โลกอย่างที่เด็กๆ เคยรู้จักกลับตาลปัตรไปหมด อันเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนตั้งนาน พอได้ไป กลับไม่ได้เล่นกับเพื่อนเหมือนที่เคยทำ ไม่ได้นั่งกินข้าวกับเพื่อนๆ หยอกล้อกัน หัวเราะ กอดคอกัน ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างที่เคยได้ทำ
แน่นอนว่าเด็กต้องเครียดและกังวลกับความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ละคนแสดงออกถึงความเครียดในรูปแบบที่ต่างกันไปตามบุคลิกของเด็ก การจะทำให้เด็กเปิดใจให้พูดถึงความรู้สึกทำนองนี้ได้จึงขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่ก็ต้องแสดงความสนใจ และมีทักษะการสื่อสารกับเด็ก
ถามคำถามอะไรดีนะ เพื่อให้เด็กเปิดใจคุยได้มากขึ้น
ไม่ว่าคุณจะอยู่บ้านเดียวกับเด็ก หรืออยู่ห่างไกล ต้องใช้การคุยผ่านโทรศัพท์ก็ตาม ขอให้เตือนตัวเองเสมอว่าในการพูดคุย เด็กไม่ได้ต้องการคำตอบเฉพาะเจาะจง แต่อยากได้ความมั่นใจว่าตนยังเป็นที่รักและจะมีผู้ดูแลเขาเสมอ การคุยกับเด็กจึงต้องมีเป้าหมายว่าเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไม่ว่าจะเล็กหรือโต ได้เข้ามาร่วมในกระบวนการแก้ปัญหา เพื่อทำให้พวกเขารู้สึกมีพลังมากขึ้น และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ปัญหา
ถ้าคุณถามคำถามกว้างๆ คุณจะได้คำตอบกว้างๆ รวมถึงคำว่า “ก็ดีค่ะ” (คำตอบทำนองนี้เป็นทางตันของการสนทนาไปทันที)
นักจิตวิทยาแนะนำว่า ในการพูดคุยเพื่อสำรวจความรู้สึกของเด็กเมื่อเห็นเด็กมีความกังวล หรือต้องการรู้ว่าเด็กกำลังรู้สึกอย่างไร ควรใช้คำถามชี้นำที่แสดงความอยากรู้อยากเห็น และถามคำถามปลายเปิดแต่เจาะจง เช่น
- วันนี้หนูได้เรียนอะไรบ้าง
- วันนี้ได้ยินอะไรน่าสนใจหรือขำๆ บ้าง
- เรื่องสนุกที่สุดที่ทำวันนี้คืออะไร
- หนูตั้งตารออะไรในวันพรุ่งนี้มากที่สุด
- วันนี้เจอเรื่องอะไรที่ยากที่สุดบ้าง
- วันนี้มีอะไรไม่ชอบไหม
- เจออะไรที่ทำให้วันนี้ไม่สนุกบ้าง
- มีอะไรที่เราจะช่วยกันทำให้มันดีขึ้นได้บ้าง
- วันนี้พ่อ/แม่ได้อ่านเรื่องน่าสนใจมา จะเล่าให้ฟังเพราะอยากรู้ว่าหนูคิดยังไงกับเรื่องนี้บ้าง
คุยให้ได้ผล ก็ต้องใช้จังหวะหรือเวลาที่เหมาะสม
นักจิตวิทยาเตือนพ่อแม่ ผู้ปกครองในเรื่องการพูดคุยเพื่อร่วมกันแก้ปัญหากับเด็กว่า ต้องคำนึงถึงเวลา โดยเน้นย้ำว่าเวลานอนไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เด็กกำลังเริ่มผ่อนคลายยามสิ้นสุดวัน เด็กขี้กังวลจะมีเรื่องให้คิดมากขึ้นตอนกลางคืน อย่าดึงให้พวกเขาต้องมีความกังวลมากขึ้นอีก และอย่าพูดถึงเป็นเรื่องแรกตอนตื่น
ให้หาช่วงเวลาสบายๆ เวลาที่ต่างคนต่างกำลังอารมณ์ดี บรรยากาศสงบ เช่น ในช่วงมื้อเย็น ตอนไปเดินเล่นด้วยกัน หรือตอนเดินทางกลับบ้านจากโรงเรียน
หากไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองใช้เทคนิคเกมชื่อ “กุหลาบ” เพื่อให้การพูดคุยทำได้ลึกขึ้น โดยนึกภาพตามไปว่า ดอกกุหลาบมีส่วนประกอบสามอย่าง คือ กลีบดอก (เริ่มด้วยการใช้คำถามที่ทำให้เด็กบอกเรื่องที่ชอบในวันนี้) หนาม (ตามมาด้วยการถามคำถามเพื่อให้บอกเรื่องที่ไม่ชอบในวันนี้) และ ดอกตูม (สุดท้ายใช้คำถามเพื่อให้เด็กบอกเรื่องที่เฝ้ารอในอนาคต)
หัวใจสำคัญของการพูดคุยกับเด็ก คือ อย่ายืดเรื่อง คุยสั้นๆ ตรงประเด็น อย่าเน้นเรื่องร้ายๆ ตั้งเป้าว่าเราจะพูดคุยเพื่อคลายความกังวลให้เด็ก ต้องช่วยให้เด็กอยู่กับปัจจุบัน
ถ้าเด็กไม่สามารถบอกความรู้สึกออกมาได้ ลองใช้ ภาพสีหน้าแทนความรู้สึก เพื่อให้เด็กบอก และค่อยๆ ตะล่อมถามต่อไป เด็ก 5 ขวบบางคนสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าอะไรทำให้อารมณ์เสีย และทำไม แต่วัยรุ่นบางคนอาจถามคำตอบคำ และจะไม่ตอบให้ลึกลงไปถ้าไม่ถูกกระตุ้นเบาๆ พ่อแม่ในฐานะผู้นำการสนทนาจึงต้องพูดเจาะจงเรื่องความรู้สึกให้มากที่สุด เพราะถ้าเราระบุได้ชัดเจนก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด