ตัวอย่างการออกแบบกิจกรรมห้องเรียนออนไลน์สำหรับครูผู้สอน
ช่วงเวลาแห่งการปิดภาคเรียนยังอีกยาวไกล และไม่รู้เมื่อไหร่ ครูกับนักเรียนจะได้กลับมาเรียนร่วมกันในห้องเรียนเหมือนเดิมได้อีก ช่วงนี้ จึงถือเป็นโอกาสของครูที่จะได้พัฒนาแนวทางการสอนเด็กๆ ผ่านออนไลน์ โดยใช้วิดิโอ หรือแอพสำหรับการประชุมกลุ่ม
สำหรับการสอนออนไลน์ สิ่งที่ครูต้องระมัดระวังอย่างมากคือ การเรียนของเด็กต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองมากเกินไป และต้องเน้นให้เป็นการเรียนแบบสนุกสนาน เด็กๆ ได้มีโอกาสฝึกพัฒนาการด้านต่างๆ ไปพร้อมกับเพื่อนๆ
มีคำแนะนำจากครูชาวจีนที่อยู่ในสภาวะ “ปิดเมือง” ทำให้เธอต้องหาวิธีการสอนเด็กเล็กให้เด็กรู้สึกว่าทุกอย่างยังดำเนินไปตามปกติ จึงขอนำมาแบ่งปันกันเพื่อให้ครูและผู้ปกครองได้เห็นตัวอย่างและนำไปปรับใช้ตามสไตล์ของแต่ละคน
กระตุ้นพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์
การใส่ใจเรื่องพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็กเป็นเรื่องสำคัญเป็นพิเศษในช่วงเวลาสับสนวุ่นวายอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้
ในการสอน ครูควรตั้งเป้าหมายว่าต้องช่วยให้เด็กๆ เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง และพัฒนาวิธีการที่จะยอมรับได้อย่างไร ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้
- ให้เด็กบอกเล่าความรู้สึกสั้นๆ ทุกวัน อาจจะพูดว่า “หนูมีความสุข” หรือ “หนูเศร้าเพราะฝนตก” แล้วให้ผู้ปกครองถ่ายวิดิโอ หรือถ่ายภาพโพสต์ลงในกลุ่มโรงเรียน หรือกลุ่มที่ใช้เพื่อการสื่อสารของห้องเรียนที่มีครูอยู่ด้วย จากนั้น ครูควรตอบทุกโพสต์ด้วยเสียงคอมเมนท์ อาจใช้การถามคำถามต่อเนื่องให้เด็กๆ ตอบถ้าทำได้
- สอนผู้ปกครองให้ทำ “ขวดสงบใจ” เพื่อให้เด็กไว้เขย่าเวลางุ่นง่าน หงุดหงิด กระฟัดกระเฟียด สมาธิแตก ส่งขวดให้เด็กเขย่าๆ แรงๆ ตามใจชอบ เวลาโมโห เขย่าๆ แล้วนั่งมองกากเพชรตกตะกอน เขย่าสักสามรอบ ใจจะสงบลงกว่า 90% (คนที่ต้องเขย่า อาจกลายเป็นผู้ใหญ่ก็ได้) ค่อยกลับมาพูดคุยหรือทำกิจกรรมที่ผู้ปกครองเตรียมไว้
วิธีการทำ “ขวดสงบใจ”
- เตรียมขวดแก้วใส หรือขวดพลาสติกใส เลือกแบบที่ฝาปิดสนิท ใส่น้ำเขย่าแล้วน้ำไม่รั่วออกมาเลอะมือ
2. กาวน้ำใส ใช้ปริมาณ 1 ส่วนต่อน้ำ 9 ส่วน ใส่ลงไปในขวด อย่าเพิ่งใส่น้ำ
3. กากเพชร กลิทเตอร์ สีตามชอบ ยกเว้นสีขาว ประมาณ 1/2 ช้อนชา หรือมากกว่านั้น (อย่าใส่เยอะเกิน เพราะทำให้ใช้เวลานานกว่าจะตกตะกอน) ใส่ลงไปผสมกับกาวน้ำ แล้วคนให้เข้ากัน รอให้กระจายตัวทั่วกาว
4. ใส่น้ำลงไปจนถึงปากคอขวด แต่อย่าเต็มมาก เหลือที่ให้เขย่าด้วย
คำนึงถึงพัฒนาการทางกาย
ครูสามารถสร้างกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้เด็ก โดยให้ทำสิ่งต่อไปนี้ที่บ้าน
- ปั้นรูปสมาชิกในครอบครัว ให้ผู้ปกครองเตรียมกระดาษฟอยล์ ดินน้ำมัน หรือวัสดุอื่นๆ ที่หาได้ในบ้านมาให้เด็กปั้น เพื่อช่วยให้เด็กได้ใช้ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก แล้วถ่ายรูปส่งแชร์กันในกลุ่ม โดยครูตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กตอบ
- จัดวิ่งแข่งขันในบ้านพร้อมกัน โดยผู้เข้าแข่งเลียนแบบสัตว์ต่างๆ (เลื้อยเหมือนงู โดดเหมือนกระต่าย เดินเตาะแตะแบบเป็ด) จะใช้วิธีไปให้เร็วกว่าคนอื่น หรือใช้การจับเวลาว่าใครเร็วแค่ไหนก็ได้
- สอนฝึกการทรงตัว โดยครูทำท่าโยคะท่าต่างๆ และให้เด็กทำตาม ผู้ปกครองถ่ายวิดิโอไว้เพื่อนำมาแบ่งปันกันในกลุ่ม
ฝึกพัฒนาการทางการรับรู้
การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ ในช่วงเวลา “รักษาระยะห่าง” ด้วยการอยู่กับบ้านนี้สำคัญมาก เพราะเด็กเรียนรู้จากเพื่อนๆ ขณะที่เล่นกับเด็กคนอื่น เด็กจะรู้สึกสบายใจที่จะลองสิ่งใหม่ๆ มากกว่าเวลาเล่นคนเดียว ตัวอย่างกิจกรรมที่สนับสนุนปฏิสัมพันธ์ของเด็ก เช่น
- สร้างกิจกรรมเล่าเรื่องจากภาพ กิจกรรมนี้จะทำให้เด็กสามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนๆ เรียนรู้กันและกัน ถามคำถาม และรับคำตอบได้ โดยครูให้เด็กส่งภาพสิ่งของมา และนำมาประกอบกันเป็นอินโฟกราฟฟิก แชร์กลับไปให้ทุกคนในกลุ่มดู และตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งของที่เพื่อนๆ นำมาเล่า (เช่น ใครให้มา ใช้งานอย่างไร ชอบของชิ้นนี้ตรงไหน) และให้ผู้ปกครองช่วยแปลงคำถามเพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้นและสามารถตอบกลับได้
- เชิญครอบครัวจัดวันนัดเล่นกันด้วยแอพ Zoom โดยครูสาธิตผ่านวิดีโอให้ครอบครัวดูว่าจะตั้งค่าแอพ Zoom ของตัวเองอย่างไร เด็กคนอื่นจึงจะเห็นและพูดคุยกับเพื่อนร่วมชั้นและเล่นร่วมกันออนไลน์ได้
ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและการอ่านเขียน
เด็กเล็กทุกคน จำเป็นต้องสะสมคำศัพท์ทุกวัน โอกาสสะสมทักษะภาษาและการอ่านเขียนสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการเป็นพิเศษ ครูสามารถลองใช้กิจกรรมด้านภาษาและการอ่านเขียนเหล่านี้ไปปรับใช้ได้
- จัดรายการอ่านออกเสียง เพื่อให้เด็กดูและเข้าร่วมการอ่าน โดยผ่านแอพ Zoom ใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 15 นาทีต่อสัปดาห์ โดยครูอ่านหนังสือ สรุปความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านเป็นตัวอย่าง และถามคำถามเด็กๆ หลังจากอ่านหนังสือเล่มโปรดแบบออกเสียงแล้ว ขอให้เด็กลองแต่งตอนจบแบบใหม่ให้เรื่องด้วยวิดีโอหรือด้วยเสียงคอมเมนท์
- ให้เด็กตีความเรื่องราวในหนังสือ ตามที่เด็กดูจากภาพประกอบ และให้ผู้ปกครองส่งเสริมให้เด็กอัดวิดีโอตัวเอง เพื่อเล่าความคิด จากนั้นก็โพสต์วิดีโอให้เพื่อนๆ ดูและใส่เสียงคอมเมนท์ได้
อ้างอิงจาก https://www.naeyc.org/resources/pubs/tyc/apr2020/play-child-development-and-relationships
ขอบคุณเพจ เล่นกับเด็ก สำหรับคำแนะนำในการทำ “ขวดสงบใจ”