
กระชับ 3 ขุมพลัง มหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจร จังหวัดอุบลราชธานี
โครงการพัฒนาระบบและกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่ต่อยอดออกมาเป็นโครงการ “ครอบครัวยิ้ม” สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ได้ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ต้นแบบ 10 จังหวัด และจัดให้มีมหกรรม “ครอบครัวยิ้มสัญจร” ที่แวะเวียนไปเยี่ยมเยียน เติมเครื่องมือ ความรู้ เสริมพลัง ให้แก่คนทำงานด้านเด็กในแต่ละจังหวัดเป็นประจำทุกปี
เริ่มประเดิมพื้นที่ต้นแบบแรกกับมหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจร จังหวัดอุบลราชธานี ที่เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2561 ในพื้นที่ 10 ตำบล คือ ตำบลในเมือง ขามใหญ่ ปทุม หนองบ่อ ยางขี้นก เหล่าบก นาพิน เอือดใหญ่ คำไฮใหญ่ และตำบลดอนมดแดง
งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้เข้าร่วมจากคณะทํางานพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัวตําบลต้นแบบ กลุ่มภาคี เครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชนและครอบครัวในระดับจังหวัด พร้อมยกขบวนเครื่องมือและชุดความรู้ไปร่วมออกบูธกิจกรรม
ไฮไลต์ของกิจกรรมตลอด 3 วัน คือ ตลาดเครื่องมือและชุดความรู้เกี่ยวกับการทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว, กิจกรรม Workshop เชิงลึกกับภาคีเจ้าของประเด็นและการทำงานแบบชุมชนนำ และเวทีแลกเปลี่ยนนโยบายระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อแบ่งปันเครื่องมือ ความรู้ในการพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัวไปปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่
“การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้านมีความสำคัญเพื่อให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมดูแลและพัฒนาเด็กให้เติบโตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพในอนาคต” ว่าที่ร้อยตรี กรกฏ ประเสริฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในระหว่างเปิดงาน
“ครอบครัวยิ้ม คือโมเดลของการทํางานด้านเด็กแนวใหม่ที่ สสส. ชวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเด็กหนึ่งคนที่อยู่ในชุมชนมาร่วมมือกันเรียนรู้เครื่องมือการทำงานของโครงการต่างๆ ที่สำนัก 4 ให้การสนับสนุน เพื่อให้รู้จักกัน และเชื่อมเครือข่ายการทำงานในท้องถิ่น ผลักดันให้ลุกขึ้นทํางานด้านสุขภาวะเด็ก โดยใช้โมเดลใหม่ที่เราเรียกว่า ‘เครือข่ายครอบครัวยิ้ม’ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 7 จังหวัดและจะขยายไปอีก เราจึงจัดมหกรรมครอบครัวยิ้มขึ้น ซึ่งเริ่มครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน
คณางค์ กงเพชร ผู้ประสานงานครอบครัวยิ้ม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดงานในรูปแบบเป็นพื้นที่ให้ภาคีเครือข่ายนำเสนอเครื่องมือและความรู้ของตนเอง ได้ทำความรู้จักกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อื่นๆ และยังได้รับความรู้ด้านการประสานและส่งต่อเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กเพิ่มขึ้น
“ประทับใจมหกรรมครอบครัวยิ้ม ตรงที่ได้มาเรียนรู้แพลตฟอร์มเติมเต็ม เพราะสอดคล้องกับงานที่เราทําอยู่แล้ว คือการเก็บและสํารวจข้อมูล ได้เห็นว่าการเก็บข้อมูลเด็กหนึ่งคน ครอบครัวหนึ่งครอบครัว สามารถส่งต่อได้กับทุกคนและทุกหน่วยงานสหวิชาชีพในพื้นที่ สามารถร่วมมือกันดําเนินการแก้ไขช่วยเหลือเด็กและครอบครัวได้รอบด้าน ก็อยากเอาเรื่องนี้ไปทำต่อที่บ้านของเรา”
วิภารัตน์ ปานรัตนะ ครูโรงเรียนบ้านดอนชาด กล่าวถึงการเข้าร่วมกิ
มีใครบ้างอยู่ขุมพลังทั้ง 3 นี้
มหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจรในปี 2568 นี้ตอกย้ำพลังชุมชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ และการทำงานร่วมกันของชุมชนและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในรูปแบบของ 3 ขุมพลัง คือ:
ขุมพลังที่ 1 ประกอบด้วยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กคือ ครอบครัวและคนชุมชน
ขุมพลังที่ 2 หน่วยงานบริการที่อยู่รอบรอบตัวเด็ก อาทิ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบล โรงพยาบาล และ วัด
ขุมพลังที่ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ สวัสดิการ ตลอดจนกฎหมาย หรือข้อบังคับต่างๆ อาทิ สสส. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เชื่อมร้อยกลุ่มพลัง ไม่มีใครต้องโดดเดี่ยว
ถ้า 3 ขุมพลังข้างต้น คือ เครื่องยนต์และฟันเฟืองที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการทำงานด้านเด็ก ก็ย่อมต้องมีตัวกลางที่ช่วยประสานการทำงานของกลไกทั้งหมด ที่เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญให้เครื่องยนต์ทำงานสอดประสานกันได้ไม่ติดขัด
ลัดดา ไวยวรรณ์ จากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน ผู้ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนนําสร้างเสริมสุขภาวะ ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2562 มีบทบาทหลักคือการเชื่อมร้อยประสานทั้ง 3 พลัง ให้สามารถร่วมมือกันได้ ด้วยการเสริมพลังให้กับกลุ่มขุมพลังที่ 1 คือการสร้างพลังในชุมชน มีการจัดกิจกรรมที่ให้สมาชิกในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่เปราะบาง ตลอดจนประสานการทำงานกับขุมพลังที่ 2 และ 3
“เราเชื่อมกลุ่มพลังชุมชน ดึงเอาทรัพยากรในชุมชนเข้ามาทํางานกับเด็ก เริ่มตั้งแต่พาแกนนำชุมชนไปรู้จักเด็กทุกคน ถ้าพบเจอปัญหาเกี่ยวกับเด็ก เมื่อรับเคสมา จะส่งต่ออย่างไร เราก็ช่วยจับมือให้แต่ละส่วนเข้าใจว่าตัวเองไม่ได้ทํางานแบบโดดเดี่ยว เลยเกิดเป็นโมเดลของการทํางานแบบขุมพลัง” ลัดดา ไวยวรรณ์กล่าว
3 ขุมพลังกับการแก้ไขเด็กและครอบครัวสีแดง
ในงานมีการจัดเวิร์กช็อปเชื่อมร้อยพลังภาคี และได้แบ่งปันกรณีศึกษาของคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่มีลูก 2 คน มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดและใช้ความรุนแรงในครอบครัว คณะทำงานในชุมชนพบปัญหาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และได้ดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอนดังนี้:
1. การเก็บข้อมูลและลงพื้นที่ – คณะทำงานลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้านและพูดคุยกับผู้ปกครองและเด็ก เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์
2. การประสานส่งต่อ – เกิดการรวมตัวของทีมสหวิชาชีพ (ขุมพลังที่ 2) เช่น ครู ตำรวจ และพยาบาล ตำรวจเข้าไปแยกเด็กจากพ่อ พยาบาลตรวจสุขภาพพ่อผู้ติดสารเสพติด ผู้นำชุมชนเกลี้ยกล่อมให้พ่อเข้ารับการบำบัด
3. การช่วยเหลือในระยะยาว – องค์การบริหารส่วนตำบลจ้างงานพ่อตามความเหมาะสมเพื่อให้มีรายได้ดูแลครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุขช่วยรับยารักษาอาการจิตเวชแทนเมื่อพ่อติดภารกิจ
กรณีศึกษานี้สะท้อนความเข้มแข็งของกลไกชุมชนที่อาศัย 3 ขุมพลังในการสนับสนุนและดูแลเด็กตามฐานชุมชนนำ และแนวคิด “เลี้ยงเด็ก 1 คน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ที่อยากเห็นการบูรณาการการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวแบบองค์รวม และการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กที่เชื่อมต่อกับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ