ครอบครัวยิ้ม สร้างรอยยิ้มด้วยความใส่ใจเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน
ปัญหามีอยู่สองแบบ คือปัญหาที่แก้ได้ กับปัญหาที่แก้ไม่ได้ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าปัญหาแบบหลังนี้ไม่มีทางแก้ไข แต่จริงๆ แล้วปัญหาที่แก้ไม่ได้หลายปัญหาเป็นเรื่องที่เราอาจไม่พยายามมากพอ หรือยังไม่ได้ลองใช้วิธีการที่ต่างออกไปจากเดิมอยู่หรือเปล่า
เหมือนปัญหาเด็กและเยาวชนที่แบ่งเป็น 3 สีตามระดับความรุนแรง สีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยหลังจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ลองพยายามตามแนวทางและขั้นตอนที่ได้เรียนรู้มา คนส่วนใหญ่จะมองว่าปัญหาเคสสีแดงที่อยู่ในระดับเสี่ยงมากเป็นเรื่องที่แก้ไขยากหรือแทบจะเป็นไม่ได้เลย
พี่ออด-เสาวนีย์ ค้าดี ผู้รับผิดชอบโครงการครอบครัวยิ้มจังหวัดสุรินทร์ กับ พี่ญา-กัญญานันท์ ตาทิพย์ คณะทำงานโครงการ ได้เล่าถึงภาพรวมที่ผ่านมาให้ฟังว่า
“ปัญหาเด็กและเยาวชนในเคสสีแดง หลายคนที่เข้าไปช่วยบอกว่าได้ลองทำหมดแล้วทุกวิธีแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เราเลยเอาโครงการครอบครัวยิ้มเข้าไป โดยทำให้หน้าเป็นคนประสานกับกลไกในชุมชนเพื่อค้นหาคำตอบร่วมกัน”
โครงการครอบครัวยิ้มเป็นการทำงานต่อยอดจากโครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน โดย
สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจังหวัดสุรินทร์เป็นหนึ่งใน 7 จังหวัดต้นแบบ ที่ได้นำแนวคิดนี้มาช่วยทำให้เด็กและครอบครัวมีความปลอดภัยและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยรอยยิ้ม
ซ้าย: พี่ออด-เสาวนีย์ ค้าดี ผู้รับผิดชอบโครงการครอบครัวยิ้ม จังหวัดสุรินทร์
ขวา: พี่ญา-กัญญานันท์ ตาทิพย์ คณะทำงานโครงการ
“เราใช้การทำงานด้วยความเข้าใจ มีการปรับเป้าหมายร่วมกันในระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดภาพของจังหวัดต้นแบบที่เราอยากเห็น โดยการวิเคราะห์ต้นทุนที่เรามี และเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด แล้วผลักดันโครงการให้ขึ้นไปเป็นแผนพัฒนาจังหวัด ที่สำคัญคือออกแบบการทำงานร่วมกับกลไกในพื้นที่ซึ่งมีต้นทุนที่แตกต่างกันเพื่อสร้างความร่วมมือกันในระดับจังหวัด ขั้นแรกเราเริ่มต้นจากการหาคนที่เป็นแกนนำในแต่ละพื้นที่ แล้วเข้าไปสร้างความเข้าใจ เราไม่ทำงานเป็นแบบสูตรสำเร็จต้องปรับให้เข้ากับแต่ละพื้นที่”
เครือข่ายสร้างรอยยิ้ม
เครือข่ายองค์กรที่มาเข้าร่วมกับโครงการครอบครัวยิ้มจังหวัดสุรินทร์มีทั้ง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคอีสานตอนล่าง, มูลนิธิชุมชนอีสาน, มูลนิธิพัฒนาอีสาน, สวนนิเวศน์เกษตรศิลป์ และมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน
“พวกเราเติบโตมาจากพื้นฐานของห้าเครือข่าย แม้รูปแบบการทำงานแต่ละองค์กรจะต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมากก่อน หลังรวมตัวกันได้ก็มานั่งคุยกันว่าใครจะดูแลพื้นที่ไหน แบ่งพื้นที่การทำงานกันยังไง มีกลไกระดับตำบลอย่างไร ข้อดีคือทุกองค์กรทำงานในพื้นที่มากกว่าสิบปี ร่วมกับหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้คนรู้จักพวกเราอยู่แล้วซึ่งเป็นต้นทุนที่เรามีช่วยในเรื่องตัวตนที่ชัดเจนในช่วงเริ่มต้นทำงาน”
โครงการครอบครัวยิ้มวางตัวเองเป็นคนประสานงานในการค้นหาคำตอบร่วมกัน โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ต้นทุน ศักยภาพของแต่ละพื้นที่ แล้วเข้าไปปรึกษากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่จนได้แกนนำที่จะเป็นกลไกระดับตำบล เพื่อเสนอแนวทางที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงกับเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหา
การทำงานของโครงการนี้จะมีการสอบถามความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่ ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้เมื่อเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อทุกคนเข้าใจร่วมกันก็เริ่มประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือ
ระหว่างดำเนินงานจะมีการปรับรูปแบบวิธีการตลอดการ รวมถึงการเติมทักษะ เพิ่มความรู้และพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน โดยใช้เคสเด็กและเยาวชนที่เข้าไปช่วยเหลือเป็นตัวตั้งให้คณะทำงานและกลไกใช้เป็นจุดร่วมในการเรียนรู้ไปพร้อมกัน
“การลงพื้นที่ทำงานไปเรียนรู้ไปช่วยเหลือเคสต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะทำให้รู้ว่ามีหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจึงจะช่วยเหลือพวกเขาได้ เรารู้สึกว่าการกางหนังสือทำงานจะไม่ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” พี่ออด-เสาวนีย์ ค้าดี ผู้รับผิดชอบโครงการครอบครัวยิ้มจังหวัดสุรินทร์ อธิบายถึงสิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมา
คำตอบที่อยู่นอกตำรา
แม้ทีมงานของโครงการครอบครัวยิ้มจะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับเด็กและเยาวชนในแต่ละชุมชน แต่สุดท้ายพวกเขาก็รู้ว่าเป็นเพียงคนนอก จำเป็นต้องมีคนในชุมชนที่ใส่ใจเข้าใจปัญหาแล้วพร้อมที่จะลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง
นอกจากเป็นคนประสานหน่วยงานและสนับสนุนกลไกในพื้นที่แล้ว โครงการครอบครัวยิ้มยังเพิ่มเติมความรู้ สร้างความเข้าใจ ผ่านการออกแบบการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กลไกในชุมชนเชื่อมั่นว่าสามารถที่จะลงไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนได้
“การทำงานเรื่องเคสเป็นเรื่องยากเพราะต้องทำงานต่อเนื่องและประเมินหน้างานไปเรื่อยๆ บางเคสที่รุนแรงกลไกในพื้นที่ได้พยายามทุกอย่างที่ต้องทำแล้วแต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราต้องเป็นตัวช่วยในการค้นหาแสงเทียนที่ปลายอุโมงค์ร่วมกัน จัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลไกแกนนำ ครอบครัว ชุมชน และตัวโครงการ แต่ทั้งนี้เราต้องประเมินความปลอดภัยของตัวเราเองด้วยเวลาที่เข้าไปคลุกคลีกับปัญหา”
ทั้งพี่ออดและพี่ยา ยังได้บอกอีกว่าการกระบวนการในการแก้ไขปัญหา ไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียวและจบ ต้องทำอย่างต่อเนื่องแล้วเรียนรู้ไปพร้อมกับกลไกในพื้นที่ ช่วยกันคิดแก้ไขและตัดสินใจร่วมกัน โดยคำนึงถึงความต้องการของครอบครัวเป็นที่ตั้ง มีการติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายเคสที่โครงการครอบครัวยิ้มเข้าไปช่วยแก้ปัญหา แล้วคนในชุมชนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของเด็กและเยาวชน ได้ช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้กับโครงการถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการนี้สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
“แกนนำในโครงการครอบครัวยิ้ม เป็นกลไกระดับตำบลที่ช่วยปิดช่องว่างของเคสต่างๆ หลายครั้งเราไม่รู้เลยว่าเด็กคนไหนถูกละเมิด บางทีคนที่มาบอกเราไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปู่ย่า แต่เป็นเสียงจากพื้นที่ เสียงจากเพื่อนบ้านในชุมชน อันนี้สะท้อนเรื่องการเป็นธุระให้กับเด็กในชุมชน ช่วยให้เราได้ยินเสียงเบา ๆ ของกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น”
ให้ทุกคนรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน
การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้โครงการนี้มีส่วนช่วยเหลือเคสต่างๆ ไปแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะเคสรุนแรงสีแดงที่ดำเนินการไปแล้วกว่า 20 เคส
ความละเอียดละออ อดทน ใจเย็น และการใส่ใจลงรายละเอียดในทุกเคส ต้องใช้พลังใจที่มากพอ เพราะเกือบทุกปัญหาที่เกิดขึ้นมีรายละเอียดปลีกย่อย ตั้งแต่วิธีคิดของคนในชุมชน ครอบครัว ซึ่งมีผลกับการออกแบบ ทำให้ต้องคิดวิธีแก้ไขใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ต้องทำให้คนในชุมชนเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาร่วมกัน
พี่ออดได้พูดถึงเป้าหมายที่โครงการครอบครัวยิ้มจังหวัดสุรินทร์ตั้งเอาไว้ว่า “ถ้าเราสามารถทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเด็กในชุมชนเป็นลูกของคนทั้งชุมชนไม่เฉพาะแค่ลูกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ถึงเราจะอยู่หรือไม่อยู่ทุกคนจะโอบอุ้มเด็ก เราเชื่อว่าทุกคนต้องช่วยกันตั้งคำถามและลุกขึ้นมามีส่วนแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แต่มองเห็นปัญหาเพียงอย่างเดียว ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นว่า ทุกคนมีส่วนร่วม ความใส่ใจและตั้งใจ ไม่นิ่งดูดายในการแก้ปัญหา ซึ่งตัวอย่างนี้จะเป็นภาพจำให้เด็กในระยะยาว ที่สุดท้ายเขาก็จะลุกขึ้นมามีส่วนในแก้ไขปัญหาสังคมและชุมชนของตัวเองต่อไป”
พี่ออดได้พูดถึงเป้าหมายที่โครงการครอบครัวยิ้มจังหวัดสุรินทร์ตั้งเอาไว้ว่า “ถ้าเราสามารถทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเด็กในชุมชนเป็นลูกของคนทั้งชุมชนไม่เฉพาะแค่ลูกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ถึงเราจะอยู่หรือไม่อยู่ทุกคนจะโอบอุ้มเด็ก เราเชื่อว่าทุกคนต้องช่วยกันตั้งคำถามและลุกขึ้นมามีส่วนแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แต่มองเห็นปัญหาเพียงอย่างเดียว ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นว่า ทุกคนมีส่วนร่วม ความใส่ใจและตั้งใจ ไม่นิ่งดูดายในการแก้ปัญหา ซึ่งตัวอย่างนี้จะเป็นภาพจำให้เด็กในระยะยาว ที่สุดท้ายเขาก็จะลุกขึ้นมามีส่วนในแก้ไขปัญหาสังคมและชมุชนของตัวเองต่อไป”
พี่ยาเสริมว่า “เราต้องทำให้ทุกคนมาเป็นส่วนร่วมกับเรา มากกว่านั้นต้องให้ทุกคนมองว่าเด็กเป็นลูกของชุมชน เห็นแล้วไม่เพิกเฉยมาหาคำตอบร่วมกันในการช่วยเหลือ”
ตอนนี้โครงการครอบครัวยิ้มกำลังถูกผลักดันไปสู่แผนจังหวัด ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จริงจะขยายผลจากแค่ในชุมชน เป็นภาพใหญ่ที่ส่งผลกระเพื่อมถึงกัน โดยท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นกับเด็กและเยาวชน คนในชุมชนจะไม่นิ่งดูดาย และมีกลไกต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้เด็ก เยาวชนและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข เมื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัวมีความสุข จะส่งต่อสิ่งดีๆ ต่อไปในภาพใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
“จากตอนแรกที่เริ่มงานเรามีความกังวลใจ แต่ผ่านมาสามปีแล้วหันหลังกลับไปมองแล้วเห็นความสุขบางมุมของคณะทำงานแล้วก็รู้สึกดี เรารู้สึกถึงคุณค่าความหมายของการทำงานแต่ละเคสที่เราได้ช่วยเหลือจนสำเร็จ มันกลับมาเติมพลังและสร้างความมั่นใจให้กับคนทำงานได้ เรารู้สึกว่านี้คือความสุขที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้คนทำงานมีพลังในการทำงานนี้ต่อไป”