SYSI คนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม ผู้เปลี่ยนโลกด้วยความคิด
“มีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละ ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำซาก แล้วหวังว่ามันจะให้ผลที่แตกต่าง”
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
นี่เป็นประโยคที่ครั้งหนึ่ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกเคยกล่าวเอาไว้ ซึ่งเราต่างรู้กันดีว่าไอน์สไตน์เป็นคนหนึ่งที่มีความคิดสร้างสรรค์ผู้คิดค้นทฤษฎีต่างๆ เอาไว้มากมาย ที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือสมการ E=mc2 ของทฤษฎีสัมพัทธภาพอันเป็นตำนานที่ทำให้โลกหลังจากนั้นไม่เหมือนเดิมไปตลอดกาล
ไม่เพียงแค่นวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำสมัยเท่านั้นที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับโลกของเราได้ แต่นวัตกรรมทางสังคมก็มีสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนวัตกรรมทางสังคมนั้น เกิดจากพลังของคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นปัญหาแล้วลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง
เครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ผู้อยากเห็นวันพรุ่งนี้ของพวกเขาดีขึ้นกว่าในวันนี้ ซึ่งดำเนินการผ่านสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (Society of Young Social Innovators: SYSI) อันเกิดจากรวมตัวกันขององค์กรคนรุ่นใหม่ที่มีทิศทางการขับเคลื่อนสังคมในแนวทางเดียวกัน
เอิร์ธ-ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย ผู้รับผิดชอบโครงการเครือนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ และ นายกสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม ได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาของสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคมว่าเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่ที่ต้องการพื้นที่ปฏิบัติการจริงเพื่อพัฒนาตนเองและเปลี่ยนแปลงสังคม
“สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม หรือ SYSI เป็นการรวมตัวของ 4 องค์กรคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคง ซึ่งตอนนี้มีโครงการเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ ที่เราทำขึ้นเพื่อเปิดโอกาสและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมของตนเองผ่านการทำนวัตกรรมสังคม โดยที่เราคอยช่วยเปิดพื้นที่การเรียนรู้ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ให้พวกเขาได้ลองทำโครงการจริงๆ”
เอิร์ธ-ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย
องค์กรคนรุ่นใหม่ 4 องค์กร ที่มารวมกันเป็นสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคมได้แก่
- เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
- ธุรกิจเพื่อสังคมอาชีพ (a-chieve)
- บริษัท Influencer จำกัด
- กลุ่ม Dot to Dot
โดยแต่ละองค์กรได้นำทักษะความสามารถที่แตกต่างกันออกไป มาทำงานร่วมกันให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องที่สุด ทั้งจุดเด่นเรื่องเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศของเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม การออกแบบทางเลือกให้เยาวชนได้ค้นพบตัวเองของ ธุรกิจเพื่อสังคมอาชีพ (a-chieve) ความชำนาญในการจัดอบรมสร้างการเรียนรู้ของ บริษัท Influencer จำกัด ไปจนถึงการจัด Workshop และงานวิชาการที่ทางกลุ่ม Dot to Dot ถนัดเป็นพิเศษ
“ตอนนี้ SYSI มีสมาชิกอยู่ 12 คน เป็นการรวมตัวของทีมงานจากแต่ละองค์กร อย่างผมเองก็ทำที่ a-chieve แล้วมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่นที่ 1 พอจบโครงการก็มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับรุ่น 2 รุ่น 3 จนได้พัฒนาต่อเป็นสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคมเมื่อสองปีที่แล้ว”
ความเป็นคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องของอายุ
นิยามคนรุ่นใหม่ที่ว่าอาจไม่ได้จำกัดเพียงแค่เป็นคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี แต่ยังหมายถึงคนที่เปิดกว้างรับความแตกต่างหลากหลาย เข้าใจสิทธิในการมีส่วนร่วม และมีความคิดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เพื่อเข้ามามีบทบาทพัฒนาชุมชนและสังคมของตนเองผ่านการมีส่วนร่วม โดยใช้นวัตกรรมและกระบวนการสร้างสรรค์สังคมช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งนวัตกรรมที่ทาง SYSI นำมาใช้เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้เปลี่ยนแปลงตนเองเป็น Active Citizen มีทั้งการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) และ การเรียนรู้โดยใช้โครงการเป็นฐาน (Project-based Learning) ที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในประเด็นที่สนใจ
อย่างเช่นการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ไปจนถึงบ้านพักผู้พิการ แล้วนำสิ่งที่ได้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ด้วยการมองจากมุมที่เรื่องราวในสังคมเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยงกับตัวเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหา แล้วนำมาพัฒนาศักยภาพในการแก้ไขให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางสังคมต่อไป
โดยทาง SYSI ได้สนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นำเสนอไอเดียนวัตกรรมทางสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม หรือขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ใน 4 ด้านคือ เงินทุน (Funding) ในการทําโครงการไปจนถึงการก่อตั้งองค์กร, ทักษะ (Training) พัฒนาความรู้และทักษะที่จําเป็นทั้งวิธีคิด เครื่องมือ ความรู้ทางสังคม และการบริหารโครงการ, ติดตาม (Monitoring) ลงพื้นที่ติดตามและให้คําปรึกษาแต่ละโครงการ และเครือข่าย (Network) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีความแตกต่างกันให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
ทีมงาน a-chieve
เครือข่ายของคนมีฝัน
โครงการที่ทาง SYSI ให้การสนับสนุนจะแบ่งออกเป็น 3 รุ่นคือ
- รุ่น Rookie (เริ่มต้น) ระยะเวลาทำโครงการ 3 เดือน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียในการแก้ปัญหาสังคมที่ได้พบเจอ แล้วอยางลองแก้ปัญหานั้นให้ได้
- รุ่น Semi Pro ระยะเวลาทำโครงการ 6 เดือน สำหรับกลุ่มที่ต้องการขยายให้นวัตกรรมทางสังคมสร้างผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น
- รุ่น Turn Pro ระยะเวลาทำโครงการ 12 เดือน สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความจริงจังกับการแก้ปัญหาในประเด็นที่ทําและต้องการการสนับสนุน เพื่อสร้างองค์กรสําหรับทํางานในระยะยาวต่อไป
“เราต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองเหล่านี้ ตลอดระยะเวลาการทำงานของโครงการเราเลยให้พวกเขาต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการเรียนรู้ การทำ Workshop หรือการลงพื้นที่ แล้วมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมที่มีความหลากหลาย มีชุดประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเติมเต็มเป็นต้นแบบซึ่งกันและกันที่จะนำไปซึ่งการเติบโตร่วมกันในที่สุด นี่ถือว่าเป็นกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมของเรา”
กิจกรรม SYSI กลุ่ม Semi Pro
ที่ผ่านมามีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ แล้วมากกว่า 100 คน แบ่งเป็นรุ่น Rookie 17 ทีม ที่มีโครงการที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมอย่างทีมโปรแกรมแปลภาษามือเป็นภาษาไทยและภาษาสากล โดยปัญญาประดิษฐ์, ทีมเซนเซอร์ตรวจจับความเร็วรถช่วยในการตัดสินใจข้ามถนน, ทีมสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืน + สร้างสรรค์ ให้กับเด็กในพื้นที่ ไปจนถึงทีมพัฒนาศักยภาพคณะทำงานและกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในเชิงสร้างสรรค์
รุ่น Semi Pro 15 ทีม มีหลายโครงการที่น่าสนใจ ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากรุ่นรุกกี้ ได้แก่ ทีมปอเชอโพ ที่นำผ้าฝ้ายทอมือปกาเกอญอมาสู่ตลาดออนไลน์, ทีมกรีนเรนเจอร์นักปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมเมืองเชียงใหม่, ทีม Mikmay ที่ชวนทำแชมพูแฮนด์เมดเพื่อแก้ปัญหาเส้นผมและปากท้อง
รุ่น Turn Pro 5 ทีม เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ แล้วอยากสร้างความยั่งยืน ผ่านโครงการที่มีนวัตกรรมทางสังคมในการสร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น ทีมแลนเด้อ (Landers) ที่ใช้ข้อมูลในการต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนปัญหาที่ดินของประชาชนในพื้นที่ไปสู่ระดับนโยบาย, ทีม Fashion Revolution Thailand ซึ่งทำเรื่อง Fast Fashion กับความยั่งยืน, ทีม แอ็กนอส (Agnos) ที่เชื่อในเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง จะเป็นสิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน
ถ้าไม่ตั้งคำถามก็ไม่มีคำตอบ
“ความสำเร็จของทุกโครงการต้องยกเครดิตให้กับคนรุ่นใหม่ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเติบโตมากับปัญหาสังคมที่แวดล้อม แล้วกล้าตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ รวมไปถึงเริ่มลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงปัญหานั้นด้วยตัวเอง”
เอิร์ธ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการเครือนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ ยังบอกอีกว่าตัวโครงการทำหน้าที่เป็นเพียงส่วนกลางที่เอาความสนใจของคนรุ่นใหม่เหล่านี้มาขยายผล และเปิดพื้นที่สนับสนุนให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพของนวัตกรรมทางสังคมนั้นออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องการขับเคลื่อนโครงการแล้ว บ่อยครั้งพวกเขายังต้องให้คำปรึกษาในด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เป็นทั้งเพื่อนและพี่ที่ปรึกษา ไปจนถึงเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้ประคองให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตไปพร้อมกับความฝันได้อย่างที่ตั้งใจ
“เราเชื่อในเรื่องการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในขณะที่เราพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเราก็มองพวกเขาไปด้วยว่า ทำอย่างไรจะพัฒนาแล้วเติบโตไปพร้อมกับความฝันได้ ดังนั้นเราเลยต้องออกแบบกระบวนการที่มีความยืดหยุ่น เพราะทุกคนทุกโครงการล้วนแตกต่างกัน การคิดแบบ One size fit all เลยเป็นไปไม่ได้”
ทีมงาน SYSI
การเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่มีเป้าหมายเดียวกันในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาสังคมได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกัน นอกจากช่วยให้แต่ละทีมได้เรียนรู้ และเปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่จะพัฒนานวัตกรรมทางสังคมให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกันในเรื่องความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนสังคม รวมไปถึงทางทีมงานของ SYSI เองก็ได้รับพลังความมุ่งมั่นที่ถูกส่งมาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
การที่คนรุ่นใหม่ทุกคนได้มีส่วนช่วยส่งแรงบันดาลใจให้กันและกันจนเกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่ไม่สิ้นสุดและการเติบโตร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่มีใครเป็นผู้ออกแบบ และเป็นพลังขับเคลื่อนที่กำลังสร้างสรรค์ให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
“เราอยากจะเห็นภาพของสังคมที่เป็นพื้นที่ของที่ทุกคนเท่ากัน เคารพในสิทธิ และยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย มีรัฐสวัสดิการที่ดีซึ่งดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และมีความเป็นประชาธิปไตย ในฐานะของคนรุ่นใหม่พวกเราต้องช่วยกันสร้างกันขึ้นมาด้วยการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาที่มีความฝัน อยากเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เขาเชื่อต่อไป”