Stop Sexual Harassment สร้างสังคมปลอดการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

                    จากการสำรวจสถานการณ์ด้านการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน  สสส. ร่วมกับ นิด้าโพล พบว่า มี 23.5% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน ในกลุ่มอาชีพข้าราชการ ลูกจ้างรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน เคยเจอกับตัว กอด-จูบ-ลูบ-คลำ มีครบ

                    มากสุด คือ สายตาแทะโลม 86.21% คุกคามด้วยคำพูด ถึงรูปร่าง-สัดส่วน 50% ขั้นชักชวนมี sex 2.88% หนักสุดใช้กำลัง และ อีก 6.3% หรือ 126 คน เคยถูกคุกคามในที่ทำงาน  แต่เหยื่อ-ผู้พบเห็น ส่วนใหญ่เลือกนิ่งเฉย  

                   ผู้คุกคามทางเพศอันดับหนึ่ง คือ เพื่อนร่วมงาน 81.75% หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา 16.67% ลูกค้า/ผู้รับบริการ 8.73% ลูกน้อง/ผู้ใต้บังคับบัญชา 5.56% ผู้บริหาร/เจ้าของบริษัท 3.17% ตามลำดับ โดยมีผู้ที่ถูกคุกคาม 38.10% ที่ไม่ทำอะไรเลย และมีเพียงไม่ถึง 3%  เท่านั้นที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกหรือแจ้งความ

                    นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้ที่เคยพบเห็นการคุกคามทางเพศ อีก 55.32% ที่ไม่ทำอะไรเลย จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศภายในที่ทำงานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทุกคนต้องให้ความสำคัญและไม่เพิกเฉยต่อการคุกคามในทุกเหตุการณ์ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาความรุนแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจต่อไป

                    จึงเป็นที่มาของการเรียกร้อง เชิญชวนทุกภาคส่วน ร่วมสร้าง สานพลัง ภาคีเครือข่าย “สังคมปลอดจากการคุกคามทางเพศ”  พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ แนวทางยกระดับตามมาตรฐานสากล  การอบรมให้ทุกองค์กร จาก นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เมื่อ วันที่ 4 มิ.ย. 2567 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ แสดงเจตนารมณ์การป้องกันการคุกคามทางเพศ ชัดเจน  ที่ว่า…

                    …ในที่ทำงานจะมีทั้งเจ้านาย-ลูกน้อง ในบางครั้งผู้มีอำนาจก็อาจจะใช้อำนาจในการเอาเปรียบหรือคุกคามผู้มียศตำแหน่งต่ำกว่า  เราอาจจะมองปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ว่าจะด้วยวาจา สายตาท่าทาง ซึ่งในการละเมิดหลาย ๆ ครั้ง อาจทำให้คนอื่นอึดอัด ไม่พึงพอใจและมีความเสี่ยงที่ส่งผลต่อจิตอีกด้วย

                    “เรา สสส. มีเจตนารมณ์ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคคล และสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี มีความปลอดภัย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ปราศจากการล่วงละเมิด  โดยให้เกียรติซึ่งกันและกันและการทำงานพร้อมสร้างกลไกกระบวนการป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการล่วงละเมิดคุกคามทางเพศในการทำงานด้วย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                    สอดรับกับ นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวเสริมถึงช่องโหว่สำคัญของปัญหาการคุกคามทางเพศว่า หลายคนผู้พบเห็นมองว่า ปัจจุบันสังคมมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น องค์กรจำเป็นต้องมีแนวทางและกระบวนการรับมือการคุกคามทางเพศ  คือ เพิ่มทักษะความรู้ และแนวทางรับมือป้องกันให้กับพนักงาน ทั้งช่องทางตรวจสอบ ร้องเรียนที่เป็นธรรม เพื่อให้เกิดสังคมการทำงานที่เป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งการเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในองค์กร จะสามารถทำให้สังคมรับรู้และต่อต้านการคุกคามทางเพศอย่างเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน

                    ขานรับจาก รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  อธิบายถึงลักษณะการคุกคามทางเพศว่า  การร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมคุกคามทางเพศนั้นเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาผู้ถูกกระทำเลือกที่จะเพิกเฉยต่อการถูกคุกคามจากคำพูด และอาจไม่ต้องการรับรู้  แต่เราต้องทำให้ เรื่องการต่อต้านคุกคามทางเพศ ในองค์กรมีความเข้มแข็ง เพื่อให้ผู้ถูกกระทำมีความกล้าที่จะเรียกร้องความยุติธรรมด้วย

                    “ ผู้นำองค์กรต้องมีวิสัยทัศน์ต่อต้านการคุกคามทางเพศที่ชัดเจน และเป็นแบบอย่างที่ดี มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และใช้ข้อมูลสถานการณ์ภายในองค์กรมาออกแบบระบบเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นด้วย” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว

                    ขณะเดียวกัน  นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ได้เผยประสบการณ์เคยถูกคุกคามทางเพศว่า “เคยถูกชาวต่างชาติ ละเมิดด้วยการเอามือมาลูบ จับร่างกาย โดยผู้ที่กระทำคิดว่าเขาทำได้ และภรรยาของเขาก็ยิ้มเหมือนรู้สึกชอบใจด้วย  ในสังคมอื่นอาจจะมองเป็นเรื่องปกติ เช่น ทักทายว่าอ้วนจัง เซ็กซี่จัง ก็ไม่ควร” เธอกล่าวเสริม

สำหรับกลไกและกระบวนการในการป้องกันการคุกคามทางเพศ ของ สสส. ในองค์กรตามมาตรฐานสากล

             1. ตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภายนอกคุ้มครองเหยื่อ

             2. มีแนวปฏิบัติการรักษาความลับ

             3. สสส.จัดอบรม เรื่องการปกป้อง คุ้มครองการคุกคามทางเพศ ให้ความรู้แก่บุคลากร และ จะขยายผลไปถึงภาคีเครือข่ายกว่า 2,000 องค์กร ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบ โดยจะไม่สนับสนุน หรือร่วมดำเนินงาน

                    ทั้งนี้ สสส. มีภาคีเครือข่ายที่ทำงานป้องกันการคุกคามทางเพศ พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งองค์ความรู้ ชุดข้อมูลวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ และจัดอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการคุกคามทางเพศในทุกรูปแบบ ติดต่อที่ 02 343 1500 Facebook : สสส. หรือ Facebook นับเราด้วยคน

                    สสส. พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศ และเพศวิถีต่อไป  ไม่สนับสนุนการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบและมุ่งกระจายความรู้สู่สังคม

 
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งานแถลงข่าวเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจการป้องกันการคุกคามทางเพศ

และ ประกาศเจตนารมณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศในการทำงาน  4 มิ.ย. 2567

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ