“Social Spark” จุดไฟคนรุ่นใหม่ ลงทุนความฝัน
โมเดลส่งเสริมนักนวัตกรเปลี่ยนแปลงสังคม
เมื่อผู้คนเล็งเห็นปัญหาสังคม หลายคนส่งเสียงสะท้อน หลายคนเริ่มลงมือแก้ไขด้วยตัวเอง แต่การดำเนินการจะมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเกิดผลได้ดียิ่งขึ้น หากได้รับความร่วมมือจากคนที่คิดเห็นตรงกันและอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขตามแนวทางที่ตนเองถนัด และยิ่งเมื่อมีหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ร่วมผลักดัน สนับสนุนอย่างเป็นระบบ ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคมประสบความสำเร็จสูงขึ้น
โครงการ Social Spark : ลงทุนความฝัน จุดไฟนวัตกรรมเปลี่ยนสังคม โดยการสนับสนุนของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. และ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) เป็นอีกโครงการที่ต้องการผลักดันคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้น ด้วยกระบวนการบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีฝัน มีไอเดีย หรือมีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อสังคม ได้มาเรียนรู้กระบวนการทำงาน พร้อมทดลองทำโครงการนวัตกรรมทางสังคม
ก่อนจะต่อยอดสู่ ตลาดนัดนวัตกรรม แหล่งรวมความฝันและไอเดียเปลี่ยนแปลงสังคม กับการนำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมจาก 21 นวัตกรรม ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นมืออาชีพ ที่เปิดโอกาสให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ที่มีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม ได้ร่วมติดตามการนำเสนอ พูดคุย แลกเปลี่ยน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งลงทุนความฝันกับทีมที่สนใจได้ เพื่อให้หรือเกิดการต่อยอดในอนาคตได้
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า โครงกล่าว “Social Spark จุดไฟคนรุ่นใหม่ ลงทุนความฝัน เป็นความร่วมมือของ สสส.และ SYSI ที่ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โครงการที่แต่ละทีมนำเสนอเข้ามาร่วมในตลาดนัดนวัตกรรมครั้งนี้ มีรูปแบบที่หลากหลายและเปิดกว้าง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใกล้ตัวหรือเกิดในชุมชนของคนรุ่นใหม่ ทั้งด้าน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ ซึ่งทุกทีมนวัตกรรมจะได้รับทั้งการอบรมเพิ่มศักยภาพ เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากโครงการ และอีกส่วนคือการเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่ต้องการสนับสนุนในแต่ละนวัตกรรมได้ร่วมระดมทุนเพื่อสนับสนุนแนวคิดหรือความฝันของแต่ละทีมได้
“โครงการ Social Spark สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่มองเห็นถึงปัญหาอะไรก็ตามในสังคมที่อยากแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะแก้ไขปัญหาต่างๆได้ ถือเป็นการยกระดับสุขภาวะในชีวิตให้ดีขึ้นด้วย ทั้งประเด็นในระดับครอบครัว ชุมชน หรือสังคม ด้วยการเปิดกว้างทางความคิดโดยที่เราไม่ได้หรือตีกรอบประเด็นปัญหาขึ้นมา สำหรับทั้งนวัตกรตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน เพื่อเป็นพื้นที่อิสระทางความคิดให้ทุกคนได้เรียนรู้และลงมือทำอย่างเป็นระบบ” น.ส.ณัฐยากล่าว
โมเดลการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่
โครงการ Social Spark จุดไฟคนรุ่นใหม่ ลงทุนความฝัน เปิดรับเยาวชนตั้งแต่อายุ 15-30 ปีซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น ( Rookie) ระดับพัฒนา (Pre Turn Pro) และระดับเชี่ยวชาญ (Turn Pro) ดำเนินโครงการไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งประดิษฐ์ ผลิตสื่อ แอพลิเคชัน เทคโนโลยี หรือเครื่องมืออื่นๆ สำหรับการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งมีกระบวนการสนับสนุนดังนี้
1.การให้ทุนสนับสนุนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานจริง เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำ
2.การพัฒนาศักยภาพแก่คนรุ่นใหม่ผ่านการทำเวริ์คช็อป ทั้งด้านความรู้ ทักษะการบริหารจัดการโครงการ และการทำงานเป็นทีม รวมถึงช่วยค้นหาศักยภาพ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
3.กระบวนการติดตามและให้คำปรึกษาทางรูปแบบออนไลน์และออนไซต์เพื่อเป็นการติดตามหนุนเสริมพลัง
4.การสร้างเครือข่ายตั้งแต่ระดับรุ่นทีมและระดับบุคคลสานต่อเป็นชุมชนนวัตกรรมที่ให้คำปรึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน
เปลี่ยนปัญหาให้เป็นนวัตกรรม
สำหรับนักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน ที่นำเสนอนวัตกรรมเพื่อเข้าร่วมโครงการ Social Spark : ลงทุนความฝัน จุดไฟนวัตกรรมเปลี่ยนสังคม จะผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้งในขั้นตอนการเข้าใจปัญหา การออกแบบวิธีแก้ปัญหา และการบริหารโครงการ ก่อนที่จะโครงการไปปฏิบัติบนพื้นที่ จนนวัตกรรมต่างๆ พร้อมใช้งานได้จริง และนำเสนอโครงการในวัน Pitching Day ในงาน Social Spark ดังเช่นโครงการดังต่อไปนี้
- ทีม Pimhai Young Blood ที่เล็งเห็นถึงการเป็นชุมชนเล็กๆ ใน จ.นครราชสีมา ซึ่งไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเกิดความร่วมมือกันสร้าง PoonPin พื้นที่สร้างสรรค์ แห่งการเรียนรู้ สนับสนุนให้เกิดการกระจายพื้นที่สร้างสรรค์ออกจากกรุงเทพ ฯ และหัวเมืองใหญ่ เปิดโอกาสให้เด็กๆในพื้นที่ ได้ค้นหาความถนัด ผ่านการเรียนรู้ ด้วยการทำเวริ์กช็อป อาทิ การทำหนังสั้น งานศิลปะ การเสวนา การผลิตของที่ระลึกสำหรับจำหน่ายนักท่องเที่ยว การทำสารคดี ผ่านพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทพิมาย และเกิดการสร้างคุณค่าจากพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของชุมชนขึ้น
- ทีม GreenDot.
จากการเล็งเห็นถึงปัญหาต้นไม้ในเมืองที่ไม่ได้มีระบบฐานข้อมูลทำให้ไม่ทราบถึงอายุของต้นไม้ หรือ ความเสี่ยงที่ต้นไม้จะโค่นล้ม การขาดความเข้าใจในความสำคัญของการประเมินไม้ยืนต้นสาธารณะในพื้นที่ กทม. ทีม GreenDot. จึงเข้ามาผลิตเครื่องมือเพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ได้สามารถดูแลไม้ยืนต้นสาธารณะตามหลักการเดียวกับรุกขกร ในรูปแบบของโมบายแอพลิเคชัน GreenDot. จนมีไม้ยืนต้นที่ได้รับการประเมินความเสี่ยงแล้วกว่า 40,000 ต้น
โดย 4 ทีมในรุ่น Pre-Turn Pro ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็น Turn-Pro ประกอบด้วย
- EV Choices เปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาป เป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า กับรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้ ได้ช่วยโลกประหยัดพลังงาน และไม่สร้างขยะเพิ่ม
- Homeroom อาณาจักรพิทักษ์ความสุข ห้องเรียนศิลปะในอ่างทอง ศิลปะเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและค้นหาความสุขอย่างสมดุลที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข
- KOPI PRO สื่อการเรียนรู้ศาสนาในรูปอื่นๆ เช่น บอร์ดเกม ที่ตอบโจทย์เด็กและเยาวชน เพื่อให้เรียนรู้ควบคู่ความสนุก
- THE STORY อุทุมพรพิสัย แหล่งเรียนรู้เรื่องราวของอุทุมพรพิสัยผ่านคนในพื้นที่
ด้วยความร่วมมือของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. และ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ผู้เข้าร่วมโครงการ และภาคีเครือข่าย ทำให้ Social Spark จึงเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่สนับสนุนนักนวัตกรรุ่นใหม่ที่ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ร่วมผลักดันและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้พร้อมเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น