“Learn เล่นเห็น Local” กลไกสภาเด็กและเยาวชนสร้างนวัตกรสังคมรุ่นจิ๋ว
เพราะเด็กและเยาวชนไม่ได้เติบโตในสุญญากาศว่างเปล่า เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างไร ล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว การเสริมสร้างความคิด ความรู้ และทักษะต่างๆ ผ่านการลงมือทำ ที่จะต้องเกิดจากผู้ใหญ่ที่เปิดโอกาสให้เด็กมีพื้นที่ในการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และมีส่วนร่วมการตัดสินใจทั้งในสถานศึกษาและชุมชนของตนเอง พร้อมสร้างระบบและกลไกทางสังคมที่อยู่รายรอบตัวเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
โครงการพัฒนาต้นแบบสร้างการเรียนรู้ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน โดยมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม – SIY ได้ขับเคลื่อนโครงการขยายผลท้องถิ่นต้นแบบด้านการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเพื่อการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นตำบลต้นแบบด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน พัฒนารูปแบบและทดลองศึกษาดูงานตำบลต้นแบบ สร้างความรู้และเครื่องมือ/คู่มือ ตลอดจนเป็นสร้างการสื่อสารและสร้างแรงจูงใจ ให้ อปท.อื่น ๆ
จึงพัฒนาผ่านระบบสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ระบบ 6+1 อันประกอบด้วย
1.การจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนท้องถิ่น
2.การพัฒนาพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชน
3.จัดตั้งเครือข่ายคณะทำงานด้านเด็กและเยาวชนท้องถิ่น
4.การจัดทำฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนรายปี
5.การสำรวจข้อมูลต้นทุนชุมชน
6.การจัดตั้งกองทุนคนรุ่นใหม่
2567 ปีแห่งการ “Learn เล่นเห็น Local”
ในปี 2567 เกิดโครงการขยายผลท้องถิ่นต้นแบบด้านการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ (Learning space) สำหรับเด็กและเยาวชนขึ้นในชุมชน เพื่อเป็นสถานีเรียนรู้ราคาถูกใกล้บ้าน เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ พัฒนาเด็กและเยาวชนเชิงบวก ที่เด็กและเยาวชนในสภาเด็กสามารถสร้างนวัตกรรมสังคม ตลอดจนให้แนะนำแนวทางการทำงานแก่หน่วยงานอื่นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้
เยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนผู้สร้างนวัตกรรมสังคม
สุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นว่า มีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการบริการสาธารณะที่เป็นเลิศ โดยหนึ่งในนั้นคือการสนับสนุนส่งเสริมเด็กและเยาวชนผ่านสภาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมการจัดกิจกรรมหลากหลายแนวทาง อาทิ ด้านกีฬา การศึกษา วิชาการ และสร้างสรรค์นวัตกรรม
สุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
โดยร่วมกับมูลนิธิพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) สสส. และ กรมกิจการเด็กและเยาวชนขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการพัฒนานักสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม จนเกิด อปท. พื้นที่ต้นแบบ 47 แห่ง
ในปีนี้จึงดำเนินกิจกรรมภายใต้หัวข้อ Learn เล่น เห็น Local การจัดตลาดนัดนวัตกรรม ที่แต่ละท้องถิ่นได้ออกบูธนำเสนอนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง นำเสนอผลงานที่ผ่านมาของสภาเด็กและเยาวชน จนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง การส่งเสริมศักยภาพเด็กและครอบครัวในระดับท้องถิ่นว่าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนและครอบครัว ซึ่งต้องดำเนิน 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
1.การเติมความเข้มแข็งให้ครอบครัวผ่านโครงการ งบประมาณต่างๆ
2.การสร้างพื้นที่เรียนรู้ ลานกิจกรรม ลานเล่น ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ด้วยกิจกรรมรองรับความสนใจของเด็กที่หลากหลาย ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว
3.เชื่อมกลไกในชุมชนเป็นระบบที่ไร้รอยต่อไม่ให้เด็กหลุดรอดไป
4.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย
โดยหนึ่งในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนคือ สภาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสส. ให้ความสำคัญพร้อมทั้งสนับสนุนนับตั้งแต่การกำหนดให้มีกลไกสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล เรียนรู้ผ่านการลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เลือกแก้ปัญหาตามบริบทชุมชนของตนเอง จนเกิดเป็นสภาเด็กและเยาวชนที่สร้างนวัตกรรมสังคมได้
เด็กและเยาวชนได้รับการส่งเสริมทักษะการเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม ประกอบด้วยการมีความคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างความร่วมมือ
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว
“เรามีพื้นที่ อปท.ต้นแบบ 47 แห่ง ที่เด็กสามารถหยิบปัญหาในชุมชน และสร้างนวัตกรรมสังคมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาขึ้นมา ตามคำที่พูดกันว่า เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง เชื่อว่าไม่ว่านโยบายประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ถ้าทุกท้องถิ่น ทั้ง 7,000 ท้องถิ่น สามารถดำเนินยุทธศาสตร์นี้ต่อไปได้ เราเปลี่ยนประเทศไทยได้แน่นอน” ณัฐยากล่าว
พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า เด็กและเยาวชนควรมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศในฐานะพลเมือง สถานการณ์การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน มีความตื่นตัวต่อประเด็นสาธารณะในรอบหลายสิบปี มีคะแนนจากการสำรวจสูงเป็น 5 อันดับแรกของโลก สิ่งสำคัญคือการรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนอย่างจริงจังในทุกกระบวนการตัดสินใจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนเด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในสถานศึกษา สังคม ตลอดจนนโยบายสาธารณะต่างๆ อย่างกว้างขวาง ปลดล็อกให้เยาวชนมีส่วนเชื่อมการทำงานในชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่มากขึ้น
พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ
47 พื้นที่ อปท.ต้นแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม
ภายในงานตลาดนัดนวัตกรรม มีเด็กและเยาวชนจากสภาเด็กใน 47 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วม โดยมีการนำเสนอนวัตกรรมสังคมที่หลากหลาย โดยมีภาคีเครือข่ายกว่า 30 องค์กรมาเข้าร่วมชมผลงานของสภาเด็กและเยาวชนแต่ละแห่ง พร้อมกับให้คำแนะนำเพื่อต่อยอดแนวคิด สำหรับทุกท้องถิ่นได้นำไปพัฒนาและสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงในชุมชนของตนเอง
สภาเด็กและเยาวชนบางตีนเป็ด จ.ฉะเชิงเทรา เป็นอีกตัวอย่างผลงานสภาเด็กและเยาวชน ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจนคว้ารางวัลไอเดียนวัตกรรมสุขภาวะยอดเยี่ยม จาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว , lnfluencer และบริษัท สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล
ขณะที่น้องตอง ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชน องค์การบริหารส่วนตำบลบางตีนเป็ด จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าถึงโครงการนวัตกรรมสังคมแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในชื่อ “ร่วมมือ ร่วมใจ เปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเยาวชน” ว่า ทางสภาเด็กและเยาวชนบางตีนเป็ดได้เลือกหัวข้อบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน เด็กในวัยประถมศึกษาเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเข้าถึงได้ง่าย จึงร่วมมือกับเพื่อนๆในสภาฯ เริ่มทำแบบสอบถาม รวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งในแง่การตรวจสอบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายต่อไป
“การมาเข้าร่วมในกิจกรรมนวัตกรรมสังคม ทำให้พวกเราเกิดความรู้ ความเข้าใจ การเก็บข้อมูล การตั้งเป้าหมายการทำงาน และการออกแบบนวัตกรรม ก่อนที่จะนำไปใช้จริงในชุมชน และทำให้รู้ว่ายังมีผู้ใหญ่ใจดีหลากหลายหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการทำงานของเรา” น้องตองกล่าว
น้องตอง ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชน อบต.บางตีนเป็ด จ.ฉะเชิงเทรา
นายพิษณุ เพ็ชรกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนบางตีนเป็ด จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่าได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ขั้น คือ การรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจ การอบรมเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในทุกมิติ การรวบรวมข้อเสนอทางกฎหมาย จัดทำรายงานเพื่อส่งต่อให้เกิดการประชุม นำเสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้แทนราษฎรในพื้นที่ หรือพรรคการเมืองต่อไป
พิษณุ เพ็ชรกูล ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนบางตีนเป็ด (ริมซ้าย)