HOOK ชวนทุกคน “เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลก” พื้นที่ออนไลน์เพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว
เครียด กังวล หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ? ไม่รู้จะเรียนต่อด้านไหน ? พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เข้าใจลูกหลาน สารพันปัญหาที่เกิดกับเด็กเยาวชนและครอบครัว ที่ไม่มีตำราสอนในห้องเรียน
ไปรู้จักกับ “HOOK” หลักสูตรออนไลน์ ที่คัดสรรประเด็นสาระน่ารู้เชิงลึกและร่วมสมัยเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ถ่ายทอดโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมแบบฝึกหัดและอินโฟกราฟิกที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ ที่พัฒนาโดยสำนักพิมพ์ Bookscape ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)
ภายใต้กรอบแนวคิด “เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลก” กับการนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบคลิปวีดีโอผ่านหลายช่องทางทั้งเว็บไซต์ HookLearning.com , เฟซบุ๊ก และยูทูบ
ต่างวัย เปิดใจได้ กับ HOOK Talk
ภายในงานเปิดตัวแพลทฟอร์มดังกล่าวยังมีเวที HOOK Talk ชวนทั้งตัวแทนผู้ใหญ่และเด็กมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย เสริมสร้างความเข้าใจผ่านประเด็นร้อนแฮชแท็กในโลกออนไลน์ ทั้ง #ชุดนักเรียน #เด็กสมัยนี้ #ผู้ใหญ่สมัยนี้ และ #save…..
โดยมีผู้ร่วมวงเสวนาประกอบด้วย ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. , กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทนผู้ทำงานด้านการศึกษา , ผศ. นพ. พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจําภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรใน HookLearning และ ธนกฤต ขันธจิตต์ ตัวแทนเยาวชน
จากการแลกเปลี่ยนในหลากหลายประเด็นพบว่า การเกิดแฮชแท็กต่างๆขึ้น อาทิ #ชุดนักเรียน #เด็กสมัยนี้ #ผู้ใหญ่สมัยนี้ และ #save….. เป็นการแสดงความเห็นบนพื้นที่ออนไลน์ อันเป็นวิธีส่งเสียงสะท้อนไปในสังคมที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิด ความขัดแย้งระหว่างวัย ความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าและต่ำกว่า หนทางสำคัญคือการหาเวทีพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและทางออกร่วมกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกเสียงจะสามารถแสดงความเห็นได้ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สถานศึกษาและสังคม ที่จะเกิดฉันทมติและนำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเด็นขัดแย้งต่างๆ ในสังคมได้
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่าหัวใจสำคัญของการเสวนาและการเปิดตัวแพลทฟอร์ม HOOK เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ในการดูแลเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ครอบคลุมปัญหาทั้งความรุนแรง ความไม่เข้าใจระหว่างวัย เน้นกลุ่มคนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ไปจนถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน หรือบุคคลทั่วไป
“การมีแพลตฟอร์ม HOOK ถือเป็นการเรียนรู้โลกยุคใหม่ที่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีศักยภาพทุกช่วงวัย อยากจะชวนทุกคนมาร่วมวงแพลทฟอร์ม HOOK เพื่อความเข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลกไปด้วยกัน ” ณัฐยากล่าว
รู้จัก 3 หลักสูตรแรก HOOK
1.Depression in Youth: Help Heal Hope | โรคซึมเศร้าในเยาวชน : ช่วยเหลือ รักษาต้นกล้าแห่งความหวัง โดย ผศ. นพ. พนม เกตุมาน หลักสูตรนี้จะชวนผู้ชมมาเข้าใจสาเหตุของโรคซึมเศร้า กระบวนการรักษา แนวทางป้องกัน วิธีสังเกตสัญญาณของโรคทั้งในตนเองและเยาวชนรอบตัว และแนวทางการรับมือตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวินาทีชีวิต
ผศ.นพ.พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจําภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในฐานะผู้พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรนี้ว่า ปัจจุบันพบว่าเด็กวัยรุ่นกว่า 10-20% ที่มีภาวะซึมเศร้าและภาวะนี้ยังสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆตามมาได้ จึงพัฒนาหลักสูตรโรคซึมเศร้าในเยาวชนขึ้นมา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคนี้
“หลักสูตรโรคซึมเศร้าในเยาวชน ออกแบบมาให้ง่ายที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองได้ เนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านการเสริมสร้าง ป้องกันสำหรับคนที่ยังไม่เป็นโรคซึมเศร้า หรือถ้าเริ่มป่วยก็เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว และที่เรานำเรื่องโรคซึมเศร้าเข้ามาสอนเป็นหลักสูตรแรกๆ เพราะเป็นสิ่งที่พบเจอมากที่สุด และมีผลเสียรุนแรงในหลายด้านตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่” ผศ. นพ. พนมกล่าว
2.Design Thinking for Student Life | แนะแนวชีวิตด้วยแนวคิดนักออกแบบ โดย เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล วิชาแนะแนวทางเลือกสำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย เสนอวิธีการทำความเข้าใจตนเองและออกแบบเส้นทางการศึกษาและอาชีพที่ลงตัวผ่านกระบวนการคิดแบบนักออกแบบ เพื่อให้ทุกคนได้ลองค้นหาตัวเองให้เจอ
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล กล่าวถึงหลักสูตรดังกล่าวว่า นำเสนอวิธีทำความเข้าใจตนเองและออกแบบเส้นทางการศึกษาผ่านกระบวนการคิดแบบนักออกแบบหรือ Design Thinking ที่ทำให้ผู้เรียนมองเห็นแนวทางการเลือก การตัดสินใจได้หลากหลายมากขึ้น
“ที่ผ่านมาเราได้ไปบรรยายที่หลายโรงเรียน แต่การมี HOOK ทำให้เป็นแพลทฟอร์มที่เราได้รวบรวมเนื้อหาความรู้เรื่อง Design Thinking มาเก็บไว้เป็นเหมือนคลังข้อมูล ที่ใครจะสามารถหยิบไปใช้ก็ได้ ช่วยทำให้เด็กและเยาวชนออกแบบชีวิตของเขาเอง เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตได้ทันทีหลังเรียนหลักสูตรนี้ แต่จะเข้าใกระบวนการคิดแบบนักออกแบบที่สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียน การทำงาน การใช้ชีวิตต่อไปได้” เมษ์ ผู้พัฒนาหลักสูตรกล่าว
3.Child Psychology 101 | เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก โดย เมริษา ยอดมณฑป กับหลักสูตรทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็ก เบื้องหลังพฤติกรรม และปัจจัยที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างมั่นคง เป็นแผนที่ให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจความซับซ้อนของเด็ก และสะท้อนการเติบโตของตนเองเพื่อคลายปมที่ค้างคาด้วย
ด้านสุชาดา จันทะเหลา ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม HOOK กล่าวว่า ในฐานะคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่น ทำให้สนใจศึกษาในหลักสูตร “โรคซึมเศร้าในเยาวชน” เนื่องจากลูกของเธอซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นเคยเป็นโรคซึมเศร้าที่ได้รับการรักษาแล้ว แต่โรคดังกล่าวอาจกลับมาเป็นอีกได้ เนื้อหาที่ได้เรียนทำให้รู้จักวิธีการสังเกต การเฝ้าระวังไม่ให้กลับมาเป็นอีก หรือถ้าเป็นแล้วก็รู้แนวทางการรักษาด้วย
นอกจากนี้ยังศึกษาในหลักสูตร “เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กและวัยรุ่น ทำให้เข้าใจถึงเบื้องหลังพฤติกรรมของบุตรหลาน รับทราบถึงแนวทางการเลี้ยงดู ช่วยให้พวกเขาเติบโตได้อย่างมั่นคง
“เว็บไซต์ของ HookLearning มีเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย มีชุดข้อมูลที่มีเนื้อหาครอบคลุม และเป็นปัญหาที่พบในเด็กและวัยรุ่นเยอะมาก จึงมีประโยชน์ไม่ใช่แค่กับเด็ก แต่ยังเหมาะสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง แม้กระทั่งครูอาจารย์และสถานศึกษา ที่สามารถนำความรู้ตรงไปนี้ไปใช้ต่อได้ อยากแนะนำให้ลองเข้าไปศึกษาและใช้งาน HOOK กัน” คุณสุชาดากล่าว