FamSkool เปลี่ยนครูและนักเรียนให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
เพราะเด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เด็กจึงเป็นประชากรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ว่าใส่ใจกับระบบการศึกษาเพื่อช่วยขัดเกลาเด็กให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมอย่างเพียงพอหรือยัง
นี่เองเป็นคำถามที่ทำให้ ดร.จุฑามณี ไกรคุณาศัย สนใจนำแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ในโรงเรียนสหวิทย์ และ วิทยาลัยเทคโนโลยีสหวิทย์บริหารธุรกิจ สุพรรณบุรี
ดร.จุฑามณี ไกรคุณาศัย
ผู้บริหารโรงเรียนสหวิทย์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสหวิทย์บริหารธุรกิจ สุพรรณบุรี
“สิ่งที่ส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนมีหลายปัจจัยที่เราไม่สามารถเปลี่ยนได้
เราคิดว่างั้นลองเริ่มต้นจากเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูก่อน ครูก็อาจไปเปลี่ยนแปลงนักเรียน กลายเป็นแรงผลักดันให้ครูได้พัฒนาตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย”
ด้วยความที่ ดร.จุฑามณี หรือ อาจารย์เอ๋ เป็นผู้บริหารที่สนใจศึกษาเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกมาก่อน เมื่อรู้จัก โครงการ FamSkool ที่ใช้แนวคิดนี้มาเป็นเครื่องมือทำความรู้จักและเข้าใจเด็กให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาก้าวผ่านช่วงของการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างราบรื่นที่สุด เธอจึงนำทีมอาจารย์ในโรงเรียนมาเข้าร่วมโครงการ
FamSkool พื้นที่เรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ
FamSkool เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับการทำงานร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และตัวเด็กนักเรียน ผ่านการใช้หลักของ 3 ป. คือ การปรับมุมมอง เปลี่ยนวิธีการสื่อสาร และ เปลี่ยนกิจกรรม ด้วยการนำเครื่องมือไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาเชิงบวก การนำเอา I-You message หรือการตอบสนองต่อพฤติกรรมหรืออารมณ์ในเชิงบวก (ACR) ไปจนถึง Character Strengths มาใช้ในกิจกรรม โดยทีมอาจารย์โรงเรียนสหวิทย์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสหวิทย์บริหารธุรกิจ ได้เข้าร่วมโครงการ FamSkool Module 1 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี จึงทำให้มีโอกาสได้เข้าร่วม FamSkool Module 2 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา
“FamSkool Module 1 ทำงานเรื่องปรับมุมมองเดิมสู่มุมมองบนพื้นฐานจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งโชคดีที่วิทยาลัยของเรา เริ่มเอาจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้สักพักแล้ว ทำให้พอมีพื้นฐาน การเข้าร่วมโครงการ จงเป็นโอกาสที่ทำให้ครูได้ทบทวนความรู้เรื่องนี้อีกครั้ง” อาจารย์เอ๋เล่าภาพรวมของ FamSkool โดยมีอาจารย์น้อง-นันทวรรณ คูณพงษ์ หนึ่งในอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการ ช่วยอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ Module 2 เพิ่มเติมว่า “FamSkool Module 2 เป็นภาคต่อของ Module 1 ซึ่งลงลึกในเรื่องการนำไปปฏิบัติมากขึ้น ทั้งการสื่อสารเพื่อปลุกพลังบวก ด้วยการใช้ Story Telling หรือการเล่าเรื่องเข้ามาช่วย นอกจากนั้น ก็ยังมีเรื่อง U & I message และ Deep listening ซึ่งการได้เรียนรู้กระบวนการด้านการสื่อสาร ถือเป็นหัวใจของการทำงานร่วมกับครอบครัวเชิงบวก”
อาจารย์น้อง-นันทวรรณ คูณพงษ์
หนึ่งในอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการ
สื่อสารอย่างตั้งใจเพื่อเข้าไปข้างใน
ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้จับคู่กันเพื่อเรียนรู้เรื่องการใช้คำพูดในสถานการณ์ต่างๆ ด้วยการลองสวมบทบาท เป็นเด็กนักเรียนที่เอาปัญหาไปปรึกษาคุณครู ซึ่งสิ่งที่อาจารย์น้องค้นพบจากกิจกรรมนี้คือ
“ได้ฝึกเปลี่ยนวิธีพูดด้วยการใช้ I message เพื่อสื่อสารความต้องการของเราที่เป็นการหาทางออกร่วมกัน มากกว่าวิพากษ์วิจารณ์ มีการเปลี่ยน Fixed mindset มาเป็น Growth mindset การคิดหาคำชมใหม่ ๆ ต้องบอกว่าก่อนที่จะเข้าร่วม FamSkool ก็ไม่คิดว่าจะมีเรื่องแบบนี้ เราเลยได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ” อาจารย์น้องเล่าย้อนถึงประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมอบรม
ใน FamSkool module 2 โครงการฯ เชิญ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีสื่อสาร ศิลปะแห่งการสื่อสารเพื่อเข้าไปข้างใน และเข้าใจความรู้สึก ตั้งแต่ตำแหน่งการยืนนั่ง ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกว่าครูเป็นใหญ่มีอำนาจเหนือในห้องเรียน และควรปรับลดตำแหน่งในการยืน นั่ง เมื่อสื่อสารกันอย่างไร เพื่อให้เกิดอำนาจร่วมเริ่มมองเห็นและยอมรับอำนาจภายในของเด็กมากขึ้น
อีกเครื่องมือหนึ่ง คือการให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับชมภาพยนตร์ เพื่อนำประเด็นที่ได้จากภาพยนตร์มาช่วยวิเคราะห์หาทางออกร่วมกัน “ภาพยนตร์เรื่อง Wonder ชีวิตมหัศจรรย์วันเดอร์ ที่โครงการฯ นำมาฉาย เพื่อให้เราได้เรียนรู้จากหนังแล้วลองเอามาปรับใช้ในชีวิตจริง เช่น เรื่องเด็กไม่อยากกลับบ้าน เพราะแม่จู้จี้จุกจิกขี้บ่น พอแม่เข้าหาเด็กก็ถอยห่าง แต่ลึก ๆ แล้ว เด็กมีความรู้สึกอยากกลับบ้าน เราก็นำสิ่งที่เรียนรู้จากหนังมาปรับใช้ในการพูดคุยกับผู้ปกครองและนักเรียน ให้สามารถเข้าใจมีการสื่อสารกันได้มากขึ้น” อาจารย์น้องเล่าให้ฟังถึงการนำจิตวิทยาเชิงบวกมาปรับใช้
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร
กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดีฯ
เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ตั้งเป้าเป็น Positive School
วิทยาลัยเทคโนโลยีสหวิทย์บริหารธุรกิจตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างบรรยากาศให้เป็นโรงเรียนเชิงบวก จึงจับมือกับอาจารย์ร่วมกันปรับแผนกิจกรรม ออกแบบ และลงมือปฏิบัติด้วยกันในการสื่อสารกับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตอารมณ์นักเรียนก่อนเริ่มการเรียนการสอน การสอดแทรกกิจกรรมเพื่อช่วยเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน การนำเอาสูตรเคล็ดลับในการสร้างสุขในการทำงานที่เรียกว่า PERMA (P คืออารมณ์ดี รู้สึกดี E คือมีส่วนร่วม สอดประสาน ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างลื่นไหล R คือมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความเชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างแท้จริง M คือมีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิต และ A คือการทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้) เข้ามาใช้สร้างสุขภาวะในห้องเรียน
ความพยายามขับเคลื่อนโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ในการใช้จิตวิทยาเชิงบวกนั้น ก็เพื่อช่วยเสริมพลังและสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับนักเรียน
“การแก้ไขพฤติกรรมเด็กต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและครอบครัว ครูต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเด็กต้องการความช่วยเหลืออะไร แล้วครูก็ช่วยสร้างความไว้ใจ เช่น เด็กต้องการความรักจากครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก โรงเรียนสามารถช่วยได้โดยสร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นสะพานเชื่อมไปสู่ครอบครัวที่ไม่สามารถสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาได้ เราจึงทำหน้าที่ช่วยเป็นสื่อกลางในการประสานความสัมพันธ์”
กระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดต้องใช้เวลา ต้องทดลองนำมาปรับใช้จนมีประสบการณ์เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แล้วเชื่อมั่นในแนวทางจิตวิทยาเชิงบวก เหมือนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสหวิทย์บริหารธุรกิจ สุพรรณบุรี นำมาใช้เป็นเวลากว่า 2 ปี จึงเริ่มเห็นผลเป็นที่ประจักษ์
หลังจากนำจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ นักเรียนที่ตัดสินใจลาออกระหว่างเรียนมีจำนวนลดน้อยลงมาก เพราะมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เปิดมุมมองใหม่ของผู้บริหารที่เคยเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นปัญหาภายนอก โรงเรียนไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ โรงเรียนเพียงแค่พยายามรั้งเด็กไว้เวลาที่ตัดสินใจลาออกกลางคัน แต่พอเข้าใจและค้นพบวิธีการต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มา ช่วยทำให้โรงเรียนเริ่มเปิดพื้นที่ต่างๆ ในการรับฟัง ช่วยให้เด็กยังอยู่ในระบบการเรียนของต่อ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ทีละจุด โดยเริ่มจากการทำให้นักเรียนค้นหาตัวเองให้เจอก่อน
“ผลสำเร็จที่เห็นคือ เด็กที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน กลับสามารถออกแบบผลงานเข้าร่วมในงาน Thaihealth inno award จนได้เข้ารอบสุดท้าย 20 ทีมจาก 319 ทีมทั่วประเทศ เรื่องนี้ช่วยให้เรารู้ว่าหน้าที่ของเรา คือต้องเชื่อมั่นแล้วผลักดันให้นักเรียนเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง”
นักเรียนที่เข้ารอบประกวดบอร์ดเกม
ความสุขของการเป็นคุณครู
การเข้าร่วมงานกับ famskool ช่วยให้ครูสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ซึ่งสุดท้ายช่วยให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้น
“วันใดที่เขามีปํญหา แล้วเขาตัดสินใจเดินเข้ามาหาเรา เพราะเห็นว่าเราเป็นครู แค่นี้ก็รู้สึกมีความสุขแล้ว การที่เด็กกล้าเล่าให้ฟัง แม้เราอาจช่วยเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราได้ช่วยเปิดโอกาสให้เขารู้ว่ามีทางเลือก จากเดิมอาจไม่รู้เลยว่ามีทางอื่นอีก ถ้าเราเปลี่ยน ห้องเรียนเปลี่ยน นักเรียนเราก็เปลี่ยน แล้วนักเรียนเราก็จะไปเปลี่ยนแปลงสังคม คือเราไม่ใช่ครูผู้เปลี่ยนโลก แต่เราจะเป็นครูที่เปลี่ยนนักเรียน แล้วให้นักเรียนไปเปลี่ยนโลกเอง”
ทั้งผู้บริหารและครูที่ร่วมโครงการ famskool ต่างเชื่อมั่นไปในแนวทางเดียวกันว่า สังคมเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้นั้น เป็นหน้าที่ของครูทุกคนที่เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักพัก เมื่อเมล็ดพันธุ์งอกเงยขึ้นมา ก็จะเติบโตเป็นรากฐานสำคัญ ที่ช่วยให้สังคมในอนาคตมีความสงบสุขต่อไป
“สังคมไม่สามารถเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้ภายในวันหรือสองวัน ต้องอาศัยเด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นคนขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลง การที่เราสามารถสอนและบอกกล่าวให้เด็กได้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในการช่วยให้พวกเขาเติบโต และพัฒนาขึ้นอย่างที่ถูกที่ควร สักวัน พวกเขาก็จะสามารถกำหนดสังคมที่เขาอยากจะให้เป็น เด็กจะเปลี่ยนสังคมได้ก็ต้องเริ่มต้นที่ห้องเรียนเปลี่ยนก่อน”