Child Impact ดิจิทัลแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ ที่ส่งต่อผลกระทบด้านบวกไปไกลกว่าแค่ตัวเด็ก

Child Impact ดิจิทัลแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ ที่ส่งต่อผลกระทบด้านบวกไปไกลกว่าแค่ตัวเด็ก

 

‘Pick a flower on Earth and you move the farthest star.’ หรือคำแปลภาษาไทยที่คุ้นหูว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ เป็นวลีที่ พอล ดิแรก นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลหนึ่งในผู้ก่อตั้งฟิสิกส์สาขากลศาสตร์ควอนตัม ได้ใช้อธิบายทฤษฎีความอลวน ที่ทุกอย่างแม้คล้ายไร้ระเบียบ แต่กลับเชื่อมโยงส่งกระทบเกี่ยวเนื่องต่อกันไปอย่างเป็นระบบ
ตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ แต่สร้างผลกระทบขยายเป็นวงกว้างต่อไปอย่างไม่รู้จบนั่นคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของ Child Impact ที่มีจุดเริ่มจากความตั้งใจให้เด็กตัวเล็ก ๆ มีสุขภาวะที่ดีขึ้น แต่สุดท้ายส่งผลกระทบด้านบวกไปไกลยิ่งกว่าที่คิดไว้

ลองมาทำความรู้จัก Child Impact ดิจิทัลแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ ที่เกิดจากการเชื่อมโยง และระดมความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วนนี้ไปพร้อมกัน แล้วจะรู้ว่าทำไมผลกระทบด้านบวกที่ได้ถึงเกิดขึ้นมากกว่าแค่พวกเด็ก ๆ

เน้นผลลัพธ์วัดผลได้

โครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็ก และเยาวชนหลายโครงการมุ่งที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก แต่ยังไม่ได้เน้นการวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เป็นที่มาทำให้สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนโครงการ Child Impact ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้แนวคิดการกระจายทุนสนับสนุน แล้วมีการติดตามผลลัพธ์ที่วัดผลได้จริง ช่วยให้นำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงวิธีการได้อย่างรวดเร็ว

จิรนันท์ ขจรบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุวรรณ สำนักงานเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาหลายโครงการที่เกี่ยวกับเด็ก คุณครูต้องรับภาระในการทำเอกสารประกอบโครงการเล่มหนา ๆ บางครั้งหลายร้อยหน้า แต่สุดท้ายกลับเอามาใช้วัดผลที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ แตกต่างจากโครงการ Child Impact ที่ทางโรงเรียนวัดสุวรรณได้เข้าร่วม ซึ่งใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านออนไลน์ ช่วยลดขั้นตอนด้านเอกสารลงไปได้มาก ที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปเป็นฐานข้อมูลที่โรงเรียนอื่น ๆ สามารถเข้าถึง เพื่อนำไปศึกษาพัฒนาต่อยอดได้อีกด้วย

          “Child Impact เป็นโครงการที่เน้นผลลัพธ์ กระตุ้นให้เราทำอย่างต่อเนื่อง มีความรู้สึกรับผิดชอบกับกิจกรรมต่าง ๆ ว่าต้องเห็นผล ทำให้เงินสนับสนุนที่ได้เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์จริง ๆ”

ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุวรรณบอกว่า จากตอนแรกที่คิดว่าโครงการนี้จะทำให้ภาระงานของครูเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยความสะดวก และระบบการทำงานที่เข้าใจง่ายช่วยทำให้ครูรู้สึกสนุกไปกับการส่งข้อมูลการดำเนินงานทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอของกิจกรรมต่าง ๆ  นอกจากนี้การส่งข้อมูลเข้าไปในแพลตฟอร์มยังเป็นการสร้างเครือข่ายโรงเรียนที่ช่วยกันกระตุ้นให้โรงเรียนอื่น ๆ ตื่นตัวกับการหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนานักเรียนของตัวเอง

ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุวรรณ ได้เพิ่มเติมว่าข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ของ Child Impact ช่วยให้ทางโรงเรียนได้เห็นอีกปัญหาของนักเรียนทั้ง 465 คนในอีกมุมมองที่ต่างออกไปว่าปัญหาที่ควรแก้ไขเป็นอันดับแรกเป็นเรื่องกิจกรรมทางกาย เลยนำทุนสนับสนุนที่นี้ได้ไปใช้กับการพัฒนากิจกรรม และอุปกรณ์เพิ่มเติม

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม Sport Day ทุกวันพุธ, กิจกรรมเสียงตามสาย สุขภาพดี ชีวีมีสุข ช่วงเวลากลางวันสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ที่ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพอนามัย และจัดเครื่องมือที่ช่วยในเรื่องกิจกรรมทางกายให้เด็กสามารถ play and learn เล่นและเรียนไปด้วยในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมออกกำลังกาย ลดพุง ลดโรค เน้นนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานให้ได้ออกกำลังกายเป็นประจำทั้งในโรงเรียน และที่บ้าน

โดยทางโรงเรียนวัดสุวรรณได้มีการบันทึกข้อมูลแต่ละกิจกรรมเข้าไปในระบบของ Child Impact เป็นประจำ ซึ่งจะได้รับคำแนะนำผ่านที่ปรึกษาแล้วสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของเด็กนักเรียนที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เริ่มต้นที่ตัวเด็ก

วิธีสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดต้องทำให้รู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนวัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ สำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ภายใต้การดูแลของผู้อำนวยการประภัสสร มณีมาศ เลยใช้ทุนสนับสนุนที่ได้จากโครงการ Child Impact เน้นไปที่การสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางกายที่เป็นพื้นฐานของพัฒนาการด้านอื่น ๆ

โดยทางโรงเรียนได้มีการจัดนิทรรศการโครงงานอาหารเพื่อสุขภาพ ด้วยการนำความรู้ที่ได้จากแพลตฟอร์ม Child Impact และจาก Thai School Lunch For BMA มาปรับใช้ แล้วได้มีการเชิญเจ้าหน้าสาธารณสุขมาให้ความรู้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่มีผลเสียต่อร่างกาย กิจกรรมที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สร้างสรรค์เมนูอาหารเพื่อสุขภาพแบบง่าย ๆ อย่างซูชิจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ธัญพืช, น้ำผักปั่น, โยเกิร์ต ไปจนถึงพิซซ่าแบบไม่ใช้ครีม ที่เป็นเมนูอาหารที่มีประโยชน์แล้วยังมีรสชาติที่อร่อย ซึ่งสามารถทำกินเองได้ที่บ้าน

          “โครงการนี้ดีกับเล็ก เพราะเด็กได้รับประโยชน์โดยตรง นอกจากเด็กแล้วผู้ปกครองก็มีความสุขไปด้วย อย่างตอนที่ผู้ปกครองได้เห็นลูกตัวเองทำซูชิ หรือพิซซ่าก็อิ่มใจจนลืมกินอาหารที่เด็กทำเลย” ผู้อำนวยการประภัสสร มณีมาศ เล่าให้ฟังถึงความประทับใจของนิทรรศการโครงงานอาหารเพื่อสุขภาพที่ผ่านมา

หลายเมนูนอกจากจะได้รับการตอบรับที่ดีจากเด็กนักเรียนแล้ว การตื่นตัวของเด็กนักเรียนที่เอาใจใส่เรื่องสุขภาพมากขึ้น ยังช่วยสร้างกระตุ้นให้คุณครู ผู้ปกครอง ไปจนถึงกรรมการสถานศึกษาที่ได้มาร่วมงาน หันมาเห็นความสำคัญในเรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ไปด้วย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เพียงทำให้สุขภาพทางกายของเด็กดีขึ้น แต่ยังส่งผลไปถึงสุขภาวะที่ดีขึ้นของผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็กอีกด้วย

แม้นิทรรศการโครงงานอาหารเพื่อสุขภาพของโรงเรียนวัดประดู่ธรรมาธิปัตย์จะจัดขึ้นเป็นปีแรก แต่แนวคิดที่แตกต่างจากเดิมของ Child Impact ที่ได้เปลี่ยนการทำงานเชิงรับมาเป็นเชิงรุก ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไปนี้ ยังเป็นการช่วยสื่อสารให้ผู้ปกครองได้เห็นตัวอย่างว่า เมื่อความตั้งใจบวกกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ และการได้รับแรงสนับสนุนที่ดีนั้นช่วยสร้างผลกระทบไปในวงกว้างที่มากกว่าแค่ตัวเด็กได้อย่างไร

“กิจกรรมที่เราจัดขึ้นเปิดโอกาสให้ชุมชนรอบข้างได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเด็กไปพร้อมกับทางโรงเรียน ช่วยเพิ่มโอกาสในการที่เด็กของเราจะมีสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น”

ผลกระทบที่ส่งต่อไม่ที่สิ้นสุด

ด้วยการที่ Child Impact เป็นแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้มีอิสระในการเลือกกิจกรรมที่สนใจได้เอง แล้วยังมีพื้นที่สำหรับให้ทางโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ด้วยการส่งข้อมูลกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติจริงเข้ามาในระบบได้จากทุกที่ทุกเวลา

ทำให้แพลตฟอร์ม Child Impact เป็นเครือข่ายชุมชนของโรงเรียนจากทั่วประเทศที่มีความตั้งใจพัฒนาเด็กนักเรียนของตัวเองให้มีสุขภาวะที่ดี

กิจกรรมดี ๆ จากหลายโรงเรียนที่อยู่ในแพลตฟอร์ม Child Impact เลยเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้เข้าไปศึกษาแล้วนำไปต่อยอดแล้วประยุกต์การใช้งานไปตามรูปแบบของตัวเองได้อย่างไม่จำกัด

บางทีการปั้นซูชิข้าวไรซ์เบอร์รี่ธัญพืช ของเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ในวันนั้น อาจกลายเป็นเมนูอาหารกลางวันสุดโปรดของนักเรียนทั่วประเทศไทยในวันข้างหน้า ที่นอกจากเป็นอาหารอร่อย ๆ ที่ช่วยในการพัฒนาด้านสุขภาพกายแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใหญ่จำนวนมากนำไอเดียที่เกิดจากความตั้งใจของเด็ก ๆ ไปต่อยอดเป็นโครงการดี ๆ อีกหลายโครงการได้อีกด้วย

มากไปกว่านั้นการเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นคลังเก็บรวบรวมชุดความรู้ และบันทึกข้อมูลกิจกรรมของโรงเรียนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบนี้ ช่วยให้คุณครูที่ดูแลด้านการพัฒนาสุขภาวะของนักเรียน สามารถส่งต่อข้อมูลของเด็กในโรงเรียนให้กับคุณครูที่เข้ามารับช่วงต่อได้อย่างไม่มีสะดุด โดยที่ไม่ต้องเริ่มเก็บข้อมูลทั้งหมดใหม่ตั้งแต่ต้น เพราะผลกระทบด้านบวกที่ดีต้องไม่เพียงแค่ขยายวงกว้างออกไป แต่ต้องมีการส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ เพื่อขยายโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชนไทยต่อไปอย่างไม่รู้จบ

#########

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ