5 เหตุผลที่ทำให้การพูดแบบ I Message ไม่ได้ผล
I message คือ การบอกถึงความต้องการหรือความรู้สึกของผู้พูดแทนการใช้อารมณ์หรือคำสั่ง เป็นเทคนิคการสื่อสารที่ดี โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็กและวัยรุ่น แพราะทำให้คำพูดน่าฟังมากขึ้น ส่งผลต่อความรู้สึกเชิงบวก ทำให้คนฟังอยากที่จะปฏิบัติตาม
แต่การใช้ I Message หรือการพูดจากมุมมองของผู้พูด จะไม่ได้ผลถ้าประโยคที่ผู้พูดนั้นประกอบด้วย
- ข้อความไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้ทั้งสามส่วน คือ คำบรรยายพฤติกรรมแบบไม่กล่าวโทษ ผลกระทบต่อคุณ และความรู้สึกของคุณ หรือใช้สูตร “เมื่อฉันเห็น …..ฉันรู้สึก……..เพราะ……”
- ทางออก | ทุกครั้งที่ใช้ I Message ต้องเตือนตนเองว่าใช้ให้ครบทั้งสามส่วน
- ซ่อนการตำหนิไว้ในข้อความ ใช้ประโยคที่มีการกล่าวหาหรือประณามรวมอยู่ด้วย เช่น “เวลาลูกทำเลอะเทอะ…” หรือมีทางออกของคุณรวมอยู่ด้วย “แม่หงุดหงิดมากเพราะทำงานไม่ได้เวลาลูกเปิดดนตรีดังๆ เพราะงั้นปิดซะ”
- ทางออก | เปลี่ยนการกล่าวหาเป็นการบรรยายพฤติกรรม เช่น เปลี่ยนเลอะเทอะเป็น “เวลาของเล่นลูกเต็มพื้นไปหมด” ส่งคำเตือน “I Message” โดยไม่ต้องมีทางแก้ติดไปด้วย ไม่พูดว่า “เพราะงั้นปิดซะ” อย่าลืมว่าเป้าหมายคือให้เด็กคิดหาทางแก้เอง (ซึ่งเป็นทางที่คุณยอมรับได้)
- ใช้ถ้อยคำในระดับที่ไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์หลังมีพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ติดต่อกันหลายสัปดาห์ แต่คุณก็ยังพูดว่า “แม่ไม่ค่อยพอใจเพราะ…” หรือเลือกใช้คำพูดแรงเกินไปทั้งที่พฤติกรรมของลูกค่อนข้างเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คุณกลับบอกว่า “แม่โกรธมากเพราะ…”
- ทางออก | กรณีที่อ่อนไป ให้ส่งคำเตือนโดยใช้ “I Message” ที่แรงขึ้น เพื่อแสดงความสำคัญและหนักหนาของผลกระทบที่เกิดกับคุณและความรู้สึกของคุณ การส่งคำเตือนโดยใช้ “I Message” ไม่ได้หมายความว่าต้องใจเย็น มีสติ และพูดเบาๆ คุณสามารถส่งข้อความรุนแรงด้วยเสียงดังได้ตามสถานการณ์
- เด็กไม่สนใจและทำต่อแม้เด็กเข้าใจผลของการกระทำและเข้าใจความรู้สึกคุณ แต่ยังทำเหมือนเดิมต่อไป หมายความว่านี่เป็นปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหาวิธีตอบสนองที่ต่างกันไป
- ทางออก | รับฟังเด็ก ยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายมีความจำเป็น และใช้วิธีการแก้ปัญหาที่สามเพื่อหาสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ
- เด็กเริ่ม “เอียน” กับคำเตือน แม้คำเตือนแบบ “I Message” ไม่ได้กล่าวโทษหรือโจมตี แต่คนเราก็ไม่ชอบให้ใครมาตำหนิการกระทำของตัว ลูกคุณอาจรู้สึกว่าคุณจู้จี้จุกจิก ลูกอาจรู้สึกเจ็บช้ำ รู้สึกผิด ฯลฯ และโต้ตอบแบบปกป้องตัวเอง
- ทางออก | ฟังเด็กอย่างจริงจัง เพื่อลดความรู้สึก “เยอะ” ทางอารมณ์ ก่อนจะเอ่ยคำเตือนอีกครั้ง ใช้วิธีรับฟังเด็กอย่างใส่ใจ เพื่อทำให้เข้าใจว่าพฤติกรรมของเด็กมีผลต่อคุณอย่างไร