เมื่อสังคมไทยมีคน 7 รุ่น เรื่อง (ไม่) วุ่น ทำอย่างไรให้คนหลายวัยอยู่ร่วมกัน

             สังคมไทยประกอบไปด้วยโลกหลายใบของคนหลายรุ่น การผ่านประสบการณ์ที่ต่างกัน ทำให้มีโลกทัศน์หลากหลาย ผนวกกับโลกดิจิทัลยิ่งเร่งปฏิกิริยาช่องว่างระหว่างวัยให้ถ่างขยายมากขึ้น นำมาซึ่งความไม่เข้าใจไปจนถึงความขัดแย้งในสังคม

             โจทย์ใหม่ของสังคมหลากวัยในวันนี้ จึงเป็นการประสานโลกหลายใบของคนหลายรุ่น สร้างความเข้าใจแม้ต่างวัยกัน เปิดพื้นที่เพื่อความหลากหลาย ยอมรับคุณค่าความแตกต่าง พร้อมทั้งยกระดับบทสนทนาที่เป็นมิตรกับผู้คนและสังคมผ่านทั้งทางโลกดิจิทัลและโลกในชีวิตจริง

             สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Data Hatch จึงจัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “เล่นเรื่องรุ่น : ความวุ่นของโลกหลายใบ บนโจทย์ของคนต่างรุ่น ภายใต้โครงการ Thai Health Watch The Series 2024 เพื่อทำความเข้าใจปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในสังคมไทย และมองทางเลือก หาทางออก ด้วยผู้คนต่างวัยจากหลายแวดวง

ขยายเลนส์มองเรื่องของคนต่างรุ่น

             พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ นักจัดการด้านข้อมูลและสื่อสารความรู้ ได้กล่าวในหัวข้อ “เรื่องของคนต่างรุ่น กับความวุ่นของโลกหลายใบ” ว่าจากปี 2535 ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวนต่ำกว่า 10% จากจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ 20 ปีให้หลังคือในปี 2565 ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 22% กลายเป็นสังคมที่มีจำนวนรุ่นมากที่สุด ปัญหาที่ตามมาคือความไม่เข้าใจจากช่องว่างระหว่างวัย ที่ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งทั้งในครอบครัว หรือสังคม 

พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ นักจัดการด้านข้อมูลและสื่อสารความรู้

             จากการสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ที่ทำการสำรวจเยาวชนช่วงอายุ 15-25 ปี พบว่า ประเด็นที่เยาวชนมีความขัดแย้งกับครอบครัวมากที่สุดคือด้านการทำงานและการศึกษา และ รองลงมาคือ ปัญหาทั่วไปในชีวิตประจำวัน ตลอดจนความเห็นต่างทางการเมืองและศาสนา และเมื่อมีอายุมากขึ้น ข้อถกเถียงกับครอบครัวก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

             ตลอดจนการอยู่บนโลกข่าวสาร และ การใช้โซเชียลมีเดียที่ต่างกัน วัยรุ่นแสดงออกเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากที่สุด แต่กลับมีทักษะด้านการอ่านกรองข่าวเท็จอยู่ในอันดับรั้งท้าย คืออันดับที่ 78 จาก 79 อันดับทั่วโลก จากผลสอบคะแนนของ PISA รวมถึงสอบตกด้านทักษะดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์ด้วย 

             ด้านฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101Pub ได้เล่าถึงประเด็น “ช่องว่างระหว่างวัย : ภาพสะท้อนความห่างชั้นทางอำนาจของคนต่างรุ่น” ว่าในสังคมปัจจุบันมีคนถึง 7 รุ่น และติดกับดักในการใช้อายุเป็นตัวแบ่งความคิด รวมถึงการมีรุ่น หรือ อายุที่แตกต่าง เป็นสิ่งเร้าอารมณ์ปลุกระดมพวกเดียวกัน เกิดการลดทอนคุณค่าของความเห็นของคนอีกรุ่น อีกกลุ่ม และมองว่าคนที่ต่างวัยกัน นั้นเกินเยียวยา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นต้น

ซึ่งความคิดต่างล้วนมาจากประวัติศาสตร์ช่วงเวลา ประสบการณ์ชีวิต เกิดการหล่อหลอมคนในแต่ละรุ่น ที่ส่งผลต่อความคิดความเชื่อที่ทำให้คนแต่ละวัยเห็นต่างกัน

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101Pub

             อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวทางในการลดความขัดแย้งได้ ด้วยแนวคิดการใช้ “จินตนาการพลเมือง” ของ เฮนรี เจนกินส์ คือการถอดอัตลักษณ์ตัวตนในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ใช้บริบทโลกในจินตนาการเพื่อหาความเป็นไปได้ โดยไม่มีใครเป็นผู้กำหนดคุณค่าสูงสุด ไม่มีใครเป็นฝ่ายใช้อำนวจเพื่อบอกว่าสิ่งใดผิดหรือถูก 

             ยกตัวอย่างการตั้งคำถามสมมุติ หากต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือประเทศ ให้ใช้คำถามว่า ถ้าเราต้องย้ายไปอยู่บนดาวดวงอื่น เราจะออกแบบกฎ กติกา หรือ ออกแบบดาวดวงนั้นอย่างไร ?

             “ถ้าเราชวนคนมาแล้วถามคำถามว่า เราจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างไร เราจะคุยและเถียงกันไม่จบ และอาจไม่ได้ข้อสรุปครับ แต่ถ้าเราปรับคำถาม ชวนทุกคนคุยว่า ถ้าวันหนึ่งจะต้องสร้างดาวดวงใหม่ขึ้นมาแทนโลก เราอยากให้ดาวดวงนั้นเป็นอย่างไร วิธีการแบบนี้เราจะได้คำตอบครับ เพราะคนได้ถอดอัตลักษณ์ของตนเองออกไป ไม่ได้ยึดจากตัวตนหรือความเป็นจริง”  ฉัตรกล่าว

              การใช้คำถามเช่นนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นที่หลากหลาย เพราะไม่ได้เชื่อมโยงกับความจริง แต่ก็ยังคงสะท้อนมุมมองของผู้พูดได้ดี นำไปสู่การหาข้อสรุปร่วมกันได้ ซึ่งการใช้ การจินตนาการพลเมืองเหล่านี้ นับเป็นสารตั้งต้นที่ดีเพื่อการพูดคุยท่ามกลางความแตกต่าง 

เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในโลกหลากรุ่น 

             ภายในงานเล่นเรื่องรุ่นฯ มีวงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวิธีการสื่อสารกับคนต่างวัย จากผู้เข้าร่วมทั้ง 4 ท่าน ที่เป็นเหมือนตัวแทนจากคนแต่ละช่วงวัย ประกอบด้วย เรไร สุวีรานนท์ (น้องต้นหลิว) – นักเขียนบันทึกรอยยิ้มจากเพจเรไรรายวัน วรเกียรติ นิ่มมาก (คุณเก้า) – เจ้าของเพจตายายสอนหลาน ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) – เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน และเพลินพิศ เรียนเมฆ (ป้าพิม) – เจ้าของร้านกาแฟสุดฮิป Mother Roaster

             โดยทั้ง 4 ท่านมาแลกเปลี่ยนใน 2 ประเด็นหลักดังนี้

  • ช่องว่างระหว่างวัย ภาพสะท้อนความห่างชั้นทางอำนาจของคนต่างรุ่น 
  • แก้ไขโจทย์ช่องว่างระหว่างวัย ด้วยความเข้าใจ การสื่อสารโลกดิจิทัล

             เรไร สุวีรานนท์ หรือ ต้นหลิว กล่าวว่า ในครอบครัวของตนเองเป็นครอบครัวใหญประกอบไปด้วยสมาชิกหลายช่วงวัย แต่คุณตาคุณยายเป็นผู้เลี้ยงดูมาทำให้มีความสนิทสนมและผูกพัน สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ทุกเรื่อง และยังมีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ อย่าง การไปเที่ยว การชวนผู้สูงอายุทดลองทำอะไรใหม่ๆ เมื่อใช้เวลาร่วมกันจึงได้เห็นวิธีคิด หรือ มุมมองของอีกฝ่ายมากขึ้น เกิดเป็นบทสนทนาและช่วงเวลาที่มีคุณภาพ

             “ล่าสุดหนูเพิ่งกลับมาจากระนอง ชวนคุณตาไปเที่ยว พาไปดําน้ำซึ่งคุณตาก็อายุมากแล้ว แต่ว่าพอได้ไปจริงๆ เห็นว่าเขาดูมีความสุข ลุยทำทุกอย่าง ทำให้รู้ว่าผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมร่วมกับเราได้ แค่ลองชวนเขาไปทำ” ต้นหลิวกล่าว

 เรไร สุวีรานนท์  

              วรเกียรติ นิ่มมาก เป็นตัวแทนวัยรุ่น กล่าวว่า จากการที่ชักชวนคุณตาคุณยายมาทำคอนเทนต์ลงในโซเชียลมีเดีย ทำให้ได้พูดคุยกันมากขึ้น ซึ่งคุณตาและคุณยายเป็นผู้สูงวัยยุคใหม่ที่พร้อมเปิดใจเรียนรู้โดยมีลูกหลานช่วยสนับสนุนทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสุขและความภูมิใจ ขณะที่ลูกหลานก็ต้องประเมินและเข้าใจขีดจำกัดของผู้สูงอายุด้วย

             “ผู้สูงวัยกับตัวเรา สิ่งที่แตกต่างกันมันคือชุดความคิดหรือประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเรารู้สึกว่าผู้สูงอายุมีความสำคัญ เราอยากจะเข้ากันได้ ก็เริ่มจากพูดคุยถึงเรื่องที่ชอบคล้ายๆ กัน เปิดใจคุย หากเกิดการใช้อารมณ์ ก็ควรจัดการกับอารมณ์ของตนเองก่อน และหากมีฝ่ายไหนทำผิดพลาดก็จะไม่ซ้ำเติมกัน” วรเกียรติกล่าว

 วรเกียรติ นิ่มมาก

             ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กล่าวว่า ในฐานะหมอเวชศาสตร์วัยรุ่น พบว่าเด็กในยุคปัจจุบันมีชุดคุณค่าคนละชุดกันกับผู้ใหญ่ในแทบทุกเรื่อง ทำให้พบเจอประเด็นความขัดแย้งระหว่างวัยในครอบครัวอยู่เสมอ แต่เรื่องที่เห็นเด่นชัดคือความเห็นต่างทางการเมือง รวมถึงค่านิยม ด้านความกตัญญูที่คนต่างวัยก็มักจะมองประเด็นเหล่านี้ในมุมที่ต่างกัน

             การจะอยู่ร่วมกันได้เกิดจากการทำให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัย ในการแสดงความคิดความเห็น สื่อสารและรับฟังกัน พยายามสร้างความเข้าใจในคนต่างวัย หากมีความเห็นต่างไม่ควรเพิกเฉยหรือถอดใจต่อความขัดแย้งนั้น เพราะก่อให้เกิดอคติที่ทำให้คุยกันยาก เมื่อเริ่มมีการใช้อารมณ์ควรรอเวลาเพื่อจัดการอารมณ์ของตนเองก่อน ไม่ถกเถียงทันทีเพียงเพื่อเอาชนะ แต่หาเหตุผลคุยกันในเชิงความคิด ทำให้ครอบครัวเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ 

              “เราพูดเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก มันท้าทายวัฒนธรรมเชิงอํานาจนิยมในประเทศไทย เช่น พ่อแม่ที่ตี ด่า ตําหนิ เปรียบเทียบ เราก็จะบอกว่าสมองของเด็กมันไม่ได้ทํางานได้ดี ในภาวะการเลี้ยงดูแบบนั้น ต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเรากับลูก การฝึกวินัยเชิงบวก ไม่ได้มีใครถูกเสมอหรือผิดเสมอไป” ผศ.พญ.จิราภรณ์กล่าว

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋

             ด้านป้าเพลินพิศ เรียนเมฆ เจ้าของร้านกาแฟวัย 70 ปี ที่ลุกขึ้นมาเปิดร้านกาแฟในวัย 70 ปี ที่พบเจอคนต่างวัยทั้งในครอบครัว หรือ ลูกค้าที่ร้าน กล่าวว่า ผู้สูงอายุเอไม่ควรจะเป็นผู้ตัดสิน ตำหนิคนที่อายุน้อยกว่า ด้วยประสบการณ์หรือมุมมองตัวเองเป็นใหญ่ เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ประสบการณ์ของผู้ใหญ่อาจไม่สามารถนำมาใช้กับโลกยุคปัจจุบันได้ทุกด้าน

             พร้อมแนะนำวิธีการสื่อสารกับผู้สูงอายุว่า การพูดคุยกับผู้สูงอายุที่ดีที่สุด คือการสื่อสารด้วยภาษาเรียบง่าย เข้าใจง่าย ไม่อ้อมค้อม พูดคุย ปรึกษากันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสื่อสารถึงความต้องการที่แท้จริง 

 

เพลินพิศ เรียนเมฆ เจ้าของร้านกาแฟ

              “สิ่งที่ผู้สูงวัยไม่อยากได้ยินคือ การพูดว่า พวกเขาแก่แล้ว ไม่รู้เรื่องหรอก ฟังแล้วอาจทำให้สะเทือนใจ เพราะบางครั้งเราก็อยากรู้เหมือนกันว่าเด็กๆ คิดอย่างไร การได้พูดคุยกับคนต่างวัย ทำให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะคุณจะอยู่วัยไหนก็แล้วแต่ อายุ 70 กับอายุ 15 แม้จะคุยต่างกัน แต่ก็หาจุดร่วมในการพูดคุยกันได้”   เพลินพิศกล่าว

นิทรรศการภายในงาน

             ผู้สนใจข้อมูลจากผู้บรรยายและวงเสวนางาน “เล่นเรื่องรุ่น : ความวุ่นของโลกหลายใบ บนโจทย์ของคนต่างรุ่น ภายใต้โครงการ Thai Health Watch The Series 2024 สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. https://www.youtube.com/watch?v=Ap0elUU6ss4   

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ