10 เรื่องที่ครูควรคำนึงในการออกแบบการเรียนยุค “ชีวิตวิถีใหม่”
โควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตทุกด้านของผู้คนเปลี่ยนไป สำหรับเด็กๆ ในวัยเรียน ผลกระทบที่เห็นได้ชัดยิ่งคือ การเรียนหนังสือ ซึ่งที่ผ่านมาเด็กส่วนใหญ่ต้องเรียนผ่านออนไลน์
แม้โรงเรียนกำลังจะเปิด แต่รูปแบบการเรียนในห้องเรียนก็จะไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ต้องมีการจัดเปลี่ยนหมุนเวียนการเข้ามาเรียนในห้องและการเรียนอยู่บ้าน
นักการศึกษาจำนวนหนึ่งได้รวบรวมแนวทางและข้อควรระวังต่างๆ สำหรับการเรียนหนังสือในยุค #โควิด-19 ที่ต้องคำนึงถึงการ #ใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยได้ให้คำแนะนำรวม 10 ข้อ แก่ครูผู้สอนดังนี้
1. อย่าส่งใบงานกองโตให้พ่อแม่ผู้ปกครอง
ควรให้กำลังใจและสนับสนุนให้พ่อแม่ผู้ปกครองเรียนรู้ด้วยสิ่งที่พวกตนมีอยู่แล้ว เช่น พืชสวนครัว ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน โดยให้แนวคิดกับผู้ปกครองว่าควรทำอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนช่วงนี้คือ ไม่ใช่การพยายามตามหลักสูตรที่กำหนดมาแล้วเรียบร้อยทุกขั้นตอน แต่ให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และแนวคิดของการเรียนรู้
2. ออกแบบโจทย์เพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เด็กในแต่ละวัน
โควิด-19 ทำให้ครูสามารถออกแบบให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ที่มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ท่องจำบทกวีที่เป็นมหากาพย์ ร้องคาราโอเกะกับยูทูป ประดิษฐ์สิ่งของ เขียนจดหมาย (บนกระดาษ) หาปู่ย่าตายายหรือเพื่อนๆ ที่ไม่สามารถออกไปเล่นด้วยหรือนัดเจอได้ การโยนและรับของหลายชิ้น เล่นดนตรี เรียนภาษาสมัยใหม่หรือภาษาคลาสสิก ถักนิตติ้ง กระโดด อบขนม ทำสวน (รวมถึงปลูกต้นไม้ในบ้าน) ช่วยพ่อแม่แขวนรูปและซ่อมแซมข้าวของในบ้าน
3. ทำให้โควิด-19 เป็นโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงช่วงหยุดพัก
ครูสามารถช่วยพ่อแม่ให้ทำการทดลองวิทยาศาสตร์กับสบู่เพื่อที่ลูกจะได้เข้าใจว่าสบู่สามารถฆ่าโควิด-19 อย่างไร วิธีสอนลูกเกี่ยวกับเชื้อโรค ถ้าคุณสามารถทำให้ไวรัสโคโรนากลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ไมใช่เป็นแค่อุปสรรค ก็จะสามารถทำอะไรๆ ทางคณิตศาสตร์ได้อย่างมากมายด้วยกราฟ ความน่าจะเป็นและสมการว่าโรคนี้แพร่ไปได้อย่างไรในเงื่อนไขที่แตกต่างกันผ่านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของโรคระบาดใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น ฝีดาษ ไข้หวัดสเปน เป็นต้น
4. แยกการเรียนออนไลน์กับการเรียนบนหน้าจอ
บางครั้งออนไลน์อาจจะเป็นการมีปฏิสัมพันธ์หน้าจอต่อเนื่อง เช่น เกมคณิตศาสตร์ หรือ เกมมายน์คราฟต์ แต่ก็สามารถสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำภาพตัดแปะจากพาสต้า หรือสร้างแบบจำลองจากโคลน หรือพับกระดาษแบบญี่ปุ่น หรือ สร้างหุ่นยนต์จากตัวต่อเลโก ผู้สอนควรทำความเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ทั้งหมดไม่ใช่การเรียนหน้าจอ และการเรียนทางไกลทั้งหมดก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนออนไลน์
5. จัดหาอุปกรณ์ให้ผู้ปกครองที่ขาดแคลน
สำหรับบางคนแล้วนี่หมายถึงแท็บเล็ตดิจิทัล แต่สำหรับครอบครัวอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่มีแหล่งทรัพยากรน้อยนิดและไม่มีอินเตอร์เน็ต นี่อาจจะหมายถึงดินสอดำ ดินสอสี แป้งสำหรับปั้นเล่น กาว กระดาษ เทปกาว หนังสือ นิตยสาร ฯลฯ มีตัวอย่างมากมายที่เล่าถึงครูที่นำอุปกรณ์การเรียนการสอนใส่กล่องพลาสติกไปส่งให้เด็กๆ ถึงบ้าน
6. พัฒนากลยุทธ์สำหรับเด็กที่แค่ “ผ่านเกณฑ์”
มีเด็กบางคนที่แค่ผ่านเกณฑ์ หรือเด็ก “กลางห้อง” เด็กเหล่านี้มักมีความเสี่ยงมากที่สุดเนื่องจากไม่ได้เป็นเป้าหมายอย่างชัดเจนและโดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการสนับสนุนพิเศษ เด็กกลุ่มนี้อาจมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่อ่านหนังสือไม่ออกโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ พ่อแม่แยกกันอยู่เพราะความขัดแย้ง หรือครอบครัวที่อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียดโดยไม่มีพื้นที่ให้เล่นกลางแจ้ง ดังนั้น ครูควรให้ความสนใจและออกแบบการเรียนโดยคำนึงถึงกลุ่มนี้ด้วย
7. เน้นความสนใจเรื่องทรัพยากรและเวลาของครูที่จะต้องใช้กับเด็กที่ต้องการมากที่สุด
พ่อแม่ผู้ปกครองชนชั้นกลางหลายคนสามารถจัดให้มีการเรียนการสอนได้เองที่บ้านโดยอาศัยความช่วยเหลือออนไลน์เล็กน้อย สามารถสนับสนุนลูกหลานเรื่องความรู้ว่าจะสามารถหาแหล่งทรัพยากรและแพล็ตฟอร์มได้ที่ไหน ชนิดใดคือสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดและเมื่อหาเว็บไซต์เจอแล้ว จะท่องผ่านและเลือกสิ่งที่ต้องการเป็นพิเศษได้อย่างไร แต่คนจำนวนมากไม่มีความรู้ดังกล่าว ดังนั้นแทนที่จะพยายามทำชั้นเรียนออนไลน์สำหรับทั้งชั้นตลอดเวลา ควรจะใส่ใจเรื่องปริมาณของเนื้อหา เวลาและการสนับสนุนในการสอนของครูต่อกลุ่มเด็กความเสี่ยงสูงซึ่งเป็นนักเรียนที่ต้องพยายามอย่างหนักในการเรียนรู้
8. ตั้งเป้าสนับสนุนนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนและอารมณ์
สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการที่ครูโทรหาพ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนทีละคน ส่งอีเมล์ ทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล รักษาความสัมพันธ์ส่วนบุคคลผ่านไลน์หรือแพล็ตฟอร์มอื่นๆ เมื่อทำได้ (นี่คือสิ่งสำคัญสำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงสูงสุด) ให้ความเห็นรายบุคคลกับงานที่ทำผ่านออนไลน์ (อาจจะเขียนด้วยมือ ใช้สี หรือสร้างขึ้น จากนั้นก็ถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนและส่งกลับไปเมื่อเป็นไปได้) เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนเหล่านี้เรียนทันและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ไม่ล้าหลังเด็กคนอื่น
9. ลองคิดดูว่าทำอย่างไรให้การสื่อสารสามารถครอบคลุมถึงนักเรียนและครอบครัวทุกประเภทได้
โทรทัศน์แคนาดารายงานข่าวเรื่องพ่อแม่ผู้ปกครองจะรับมือกับการเรียนที่บ้านได้อย่างไร ครอบครัวในข่าวเป็นคู่หญิงรักหญิงลูกครึ่งที่มีลูกคนเดียว มีการนำเสนอนักเรียนและความเห็นของพวกเขาในการสื่อสารผ่านทางโทรทัศน์ของรัฐบาล นอร์เวย์ แคนาดา และนิวซีแลนด์ นี่คือตัวอย่างว่าอย่ายึดติดอยู่แต่กับนักเรียนชั้นกลางที่เป็นค่ากลางอย่างเดียว การทำให้การสื่อสารครอบคลุมวงกว้างไม่ใช่แค่สิ่งที่เราควรทำเฉพาะตอนที่อะไรๆ ไปได้ดีและเรามีเวลาว่างเท่านั้น แต่ควรจะเป็นตัวนิยามว่าเราควรสื่อสารกับใครอย่างไรตลอดเวลา
10. จัดลำดับของกลุ่มผู้เรียนที่มีความเสี่ยงสูงสุดให้เริ่มเรียนก่อน
เด็กจำนวนมากต้องห่างเหินจากกิจวัตรประจำในห้องเรียนเป็นเวลานานมาก หลายคนอาจลืมการเข้าแถว นั่งล้อมวง ฟังคนอื่นและการเข้าคิวรอ บางคนอาจอยู่ในพื้นที่ปิดเป็นเดือนๆ ครอบครัวลำบากยากจนและตกอยู่ในความเครียด โรงเรียนจึงควรต้องเริ่มปีปฏิทินการศึกษาให้เร็วขึ้น เปลี่ยนเวลาที่เคยเอาไว้ให้ครูใช้พัฒนามืออาชีพตามแบบ “ปกติ” ให้เป็นการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับนักเรียนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด (จากการที่ครูติดต่อกับครอบครัวอยู่ตลอดเวลาในช่วงการกักตัว) โดยให้เด็กกลุ่มนี้เริ่มเรียนก่อนคนอื่น ๆ ครูต้องทำตัวให้เหมือนติดพลังเทอร์โบสำหรับการจัดการในแบบมืออาชีพเหมือนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มต่างๆ ที่มีความต้องการต่างกันให้สามารถเรียนรู้ด้วยกันได้ทัน
| ข้อมูลประกอบการเขียน : https://www.washingtonpost.com/education/2020/04/07/complete-list-what-do-not-do-everyone-teaching-kids-home-during-coronavirus-crisis/