10 ขั้นตอนการฟัง เพื่อให้พ่อแม่และลูกที่เห็นต่าง เข้าใจกันมากขึ้น

              สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่อยากทำความเข้าใจ เมื่อเกิดความคิดเห็นที่ต่างกันระหว่างลูกหลานและสมาชิกในครอบครัว วิธีการที่จะช่วยให้เข้าใจกันมากที่สุดคือ “การฟัง” แต่การฟังเพื่อให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เข้าใจกันจริงๆ ต้องมีการฝึกฝน จึงจะได้ผลจริง
และนี่คือเคล็ดลับที่จะนำไปสู่ “การฟังอย่างตั้งใจ” ที่เราอยากชวนทุกคนมาฝึกกันให้ชินไว้

              1. เตือนตัวเองก่อนว่าจะมุ่งมั่นตั้งใจจดจ่อกับการฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง ไม่รีบด่วนสรุป หรือสร้างความคิดเห็นของตัวเองในใจล่วงหน้าขณะที่ลูกหลาน หรือคู่สนทนาของคุณกำลังพูด


              2. ย้ำกับตัวเองว่า ต้องอดทน อย่ารีบร้อน เพราะการฟังด้วยหัวใจต้องใช้ความอดทน รอให้ความคิดของลูกหลานเป็นรูปเป็นร่างก่อน โดยให้เวลากับคำพูด รวมทั้งให้เวลากับตัวเองในการค้นหาวิธีการแสดงออก

              3. ย้ำเตือนกับตัวเองตลอดเวลา ให้แสดงออกชัดเจนว่าเคารพและแสดงความสุภาพเสมอระหว่างรับฟังสิ่งที่ลูกหลานของคุณพูดไม่ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับพวกเขาแค่ไหนก็ตาม


              4.ภาษากายของคุณเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่าลืมเตือนตัวเองให้สบตาคนพูด แสดงออกว่ากำลังให้ความสนใจอย่างเอาใจใส่ เช่น พยักหน้าเป็นระยะ จับมือผู้พูด ไม่กอดอก ไม่เบี่ยงตัวหันหน้าหนี ไม่ดูโทรศัพท์ระหว่างฟัง

              5. ระหว่างฟังลูกหลานพูด ขอให้ฟังอย่างปล่อยวาง ทำใจให้เปิดกว้าง ไม่หมกมุ่นหาคำตอบ อย่าคิดในใจว่าคุณจะตอบสนองอย่างไร เพราะจะทำให้คุณเสียสมาธิ และไม่ได้ยินสิ่งที่ลูกหลานพูดจริงๆ

              6. ฝึกสังเกตสีหน้า ท่าทาง อากัปกริยา ภาษากายของลูกหลาน รวมทั้งน้ำเสียง ระหว่างที่ลูกหลานพูด เพื่อให้เท่าทันอารมณ์ของผู้พูดว่ากำลังรู้สึกอะไร

              7. ย้ำกับตัวเองตลอดเวลา “อย่าขัดจังหวะลูก รอให้ลูกพูดจบก่อน” เมื่อเห็นลูกเงียบแล้ว ค่อยถามคำถาม หรืออธิบายสิ่งที่คุณอยากจะบอกกับลูกหลาน

              8. การสนทนาที่ได้ผล ต้องไม่ใช้อารมณ์ ดังนั้น คุณต้องเตือนตัวเองเสมอว่า ใจเย็นๆ ฟังลูกก่อน และอย่าแสดงความรู้สึกโกรธ หรือผิดหวังออกมาให้ลูกเห็นในระหว่างที่ลูกพูด อันนี้ขอย้ำว่า อย่าเชียวนะ

              9. บอกตัวเองว่าการรับฟังลูก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ลูก และช่วยให้ลูกเรียนรู้ตัวเองไปด้วย การฟังอย่างตั้งใจจึงเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งคุณและลูก


              10. การฟังอย่างตั้งใจจะไม่เกิดขึ้นถ้าคุณไม่ฝึกปฏิบัติด้วยหัวใจของคุณเอง อย่าลืมคำพูดที่ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เพราะนี่คือเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้คุณละลูกหลานมีสัมพันธภาพที่ดีขึ้น มีความเข้าใจกันอย่างแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ