‘โอบอุ้มและรับฟังเสียงของเยาวชน’ จุดเริ่มให้เด็กสมัยนี้ที่ไร้ความฝัน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยความหวัง
ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนในแต่ละรุ่น ปัญหาเด็กจำนวนมากหลุดจากการศึกษา ปัญหาความเครียดสะสมและภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปรากฏการณ์ที่เยาวชนลุกขึ้นมาเป็นแกนนำม็อบขับไล่รัฐบาล ส่งผลให้เด็กส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมชุมนุมถูกจับกุมดำเนินคดี ไปจนถึงกระแสอยากย้ายประเทศอย่างถาวรของคนรุ่นใหม่ เป็นเพียงปลายทางส่วนหนึ่งของปมปัญหาอันมาจากต้นทางเดียวกันคือการที่เด็กสมัยนี้กำลังอยู่ในภาวะไร้ความฝัน
เมื่อเยาวชนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติ ซึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ การที่คนต่อไปอยู่ในสถานการณ์ไร้ความฝันเลยหมายถึงเป็นฝันร้ายของทุกคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนต่างไม่ได้มองข้ามความสำคัญในเรื่องนี้ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง
จากวิสัยทัศน์ของ สสส. ในการสร้างเสริมสุขภาพของทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะวัยเด็กซึ่งเป็นต้นน้ำของพัฒนาการ การบ่มเพาะทุนชีวิตให้กับเด็กและเยาวชนจะช่วยพวกเขามีความสามารถในการตัดสินใจและสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง เมื่อเด็กมีโอกาสในการสร้างทุนชีวิตก็พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ แล้วเข้าร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสังคมที่เอื้อให้ทุกคนเข้าถึงสุขภาวะที่ดีต่อไป
สามวิกฤตที่ ‘คิดส์’ ต้องเผชิญ
ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับ 101 เปิดตัว ‘คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว’ เป็นศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้ที่มีหน้าที่หลักในการทำงานวิชาการเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ ซึ่งได้รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ต่อได้ผ่านเว็บไซต์ kidforkids.org โดย ‘คิด for คิดส์’ ใช้กรอบระบบนิเวศการพัฒนาเด็ก อันประกอบไปด้วยครอบครัว โรงเรียน แหล่งเรียนรู้ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นเส้นทางการพัฒนาชีวิตและศักยภาพของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเติบโต
จากแถลงรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565 ที่จัดทำโดย นายฉัตร คำแสง นายวรดร เลิศรัตน์ และนางสาวเจณิตตา จันทวงษา นักวิจัยจาก 101 PUB ที่ได้เก็บข้อมูลจากการสำรวจเยาวชนไทย (Youth Survey) อายุ 15-25 ปี จำนวน 19,237 คนทั่วประเทศ ผ่านสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ภาคีเครือข่าย และสื่อโซเชียงมีเดีย โดยการสอบถามใน 5 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ความสัมพันธ์กับสังคมวงกว้าง การศึกษาและการทำงาน คุณค่าและทัศนคติทางสังคม
โดยจากรายงานนี้ช่วยให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยยังเข้าใจเด็กและเยาวชนไม่มากพอ มีความรู้ด้านกายภาพพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังไม่รู้เรื่องความรู้สึก ความสัมพันธ์ รวมถึงไม่เข้าใจชุดคุณค่าและทัศนคติที่เด็กสมัยนี้ยึดถือ มากไปกว่านั้นนอกจากไม่มีผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาต้องการแล้วเด็กและครอบครัวไทยในตอนนี้ยังต้องเผชิญกับสามวิกฤตสำคัญ ได้แก่
หนึ่ง วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากมาตรการพิเศษและ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่งผลให้การเรียนรู้ของเยาวชนหยุดชะงักไปกว่า 2 ปี จากการปิดสถานศึกษานานกว่า 69 สัปดาห์ ทำให้เด็กนักเรียนหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และการทุ่มเททรัพยากรส่วนใหญ่ในเรื่องการจัดการโควิด-19 ที่กระทบกับการเข้าถึงบริการสุขภาพของแม่และเด็กจำนวนมาก จะเห็นว่าในช่วงโควิด-19 อัตราการฝากครรภ์และอัตราได้รับการดูแลสุขภาพก่อนคลอดได้ลดลงอย่างชัดเจน
สอง วิกฤตความเหลื่อมล้ำ โดยมีข้อมูลว่า 61.4% ของเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปี อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำนี้กำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักและภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งอนาคตการทำงานที่ไม่แน่นอนจากการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
สาม วิกฤตสังคมความขัดแย้งทางการเมือง ผลสำรวจชี้ว่าเยาวชน 70% สนใจติดตามการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เกือบทั้งหมดเห็นว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ทั้งการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญ โดยข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ ปี 2020 เยาวชนได้มีการจัดการชุมนุมถึง 193 ครั้ง รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมอีกเกือบ 2,000 ครั้งในช่วงระหว่างปี 2021-2022 และมีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีแล้วกว่า 279 ราย
ที่ผ่านมารัฐมีการใช้อาวุธและเครื่องมือทางกฎหมายตอบโต้เด็กและเยาวชนจนเพิ่มความขัดแย้งในสังคม ส่วนในภาพรวมยังไม่มีการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายเท่าที่ควร อีกทั้งกลไกที่มีอยู่อย่างสภาเด็กและเยาวชนยังขาดความเป็นอิสระ เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมีการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ
7 แนวโน้มความท้าทาย
รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565 ได้วิเคราะห์ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ความท้าทายในการพัฒนาเยาวชนไทยท่ามกลางโลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็วเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางมีต้นทุนทางสังคมไม่สูง ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กและครอบครัวไทยใน 7 แนวโน้มสำคัญคือ
1. เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) พัฒนาการหยุดชะงัก จากการปรับมาเรียนออนไลน์ในช่วงวัยที่จำเป็นต้องมีการพบปะสังคม ซึ่งช่วยในเรื่องการพัฒนาการของเด็กไปตลอดชีวิต ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่าเด็กที่พัฒนาการช้าลงหรือหยุดชะงัก มีแนวโน้มที่จะสูญเสียความสามารถในการหารายได้ทั้งชีวิตคิดเป็น 850,000 บาท ซ้ำร้ายในเด็กไทยที่มีปัจจัยความท้าทายมากกว่าอาจสูญเสียความสามารถในการหารายได้ยิ่งไปกว่านั้น
2. เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด จากการที่รัฐทุ่มให้ความสนใจไปที่การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมากเป็นพิเศษ โดยไม่มองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นรอบด้าน
3. เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนผ่านออนไลน์ ทักษะและภูมิคุ้มกันในการใช้งานดิจิทัล ที่สำคัญผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นครูหรือผู้ปกครองบางส่วนก็ขาดทักษะที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน
4. เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น จากปัญหาหลาย ๆ อย่างที่รุมเร้า ที่น่าเป็นห่วงคือตอนนี้ยังไม่มีบริการสุขภาพจิตที่ครอบคลุมและเพียงพอต่อความต้องการของเด็กและเยาวชน
5. เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นการปิดกั้นช่องทางในการสื่อสารและแสดงออกถึงความต้องการของเด็กและเยาวชน อันอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต
6. โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น รวมถึงบางครอบครัวที่สูญเสียผู้ปกครองในวิกฤตโควิด-19 ทำให้มีจำนวนเด็กที่ถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น
7. ความไม่ลงรอยระหว่างรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งเกิดจากช่องว่างความเข้าใจระหว่างวัยที่ถูกถ่างออกเรื่อย ๆ จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายปัจจัย
เสียงสะท้อนจากเยาวชน
ในงานเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ประจำปี 2022” ได้เปิดเวทีให้กับ Youth Talk ฟังเสียงเยาวชนหลากภูมิหลังหลายประสบการณ์เกี่ยวกับสามปัญหาแห่งยุคสมัย
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษา ที่สะท้อนจาก วิว-มุกริน ทิมดี เยาวชนที่ต้องออกจากมหาวิทยาลัยในช่วงโควิด และตัวละครภาพยนตร์สารคดี School Town King โดยวิวได้บอกเล่าชีวิตและความฝันที่อยากเป็นอยากเปิดร้านซักรีดและอยากเป็นครูอาสา ซึ่งเป็นความฝันที่ยังไม่ตกตะกอนเพราะเธอกำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง การที่เธอไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้วต้องออกมาประกอบอาชีพซักรีด ทำให้เธอมีอีกความฝันคือการได้เห็นนโยบายเรียนฟรีที่จะช่วยให้ทุกคนได้เข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม
ประเด็นความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นในครอบครัว ที่นำเสนอโดย ภูผา-ภูริภัทร ณ สงขลา Project Manager สมัชชา Intern ทำงานผลักดันสิทธิของนักศึกษาฝึกงาน ที่ได้เล่าถึงประสบการณ์ความไม่ลงรอยที่มีสาเหตุจากเรื่องความหลากหลายทางเพศซึ่งภูผาไม่ได้เป็นผู้ชายที่ตรงกับค่านิยมของสังคม แม้ภูผาจะอยู่ในครอบครัวที่เปิดกว้าง แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงความขัดแย้งนี้ไปไม่ได้ ทำให้เขาเคยพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ครอบครัวสบายใจ แต่สุดท้ายนั่นเป็นทางเลือกที่นำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบต่ออารมณ์และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ทุกอย่างเริ่มแย่ลงไปอีก ภูผาเลยตัดสินใจเปิดใจคุยกับครอบครัว ท้ายที่สุดทุกคนก็เข้าใจพร้อมจับมือผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน
ภูผาเลยสรุปว่า การทำความเข้าใจกันและกันโดยไม่ต้องยกประเด็นความขัดแย้งขึ้นมาอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด และสิ่งสำคัญในการปรับตัวเข้าหากันก็คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยมากพอที่จะทำให้เด็กกล้าเปิดใจคุยกับผู้ปกครอง ซึ่งหมายถึงการที่พ่อแม่ต้องลดความเป็นผู้ปกครองลง เพิ่มโอกาสให้เด็กได้เติบโตด้วยตัวเองมากขึ้น เพื่อจะปรับตัวให้เข้ากับลูกที่อยู่ในเจนเนอเรชั่นใหม่
ทางด้าน อันนา อันนานนท์ เยาวชนอายุ 16 ปี ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาในสถานศึกษาและประเด็นการเมือง ได้ขึ้นมาถ่ายทอดประสบการณ์ประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน เธอได้บอกว่าเหตุผลที่ต้องออกมาเรียกร้องอาจมีจุดเริ่มมาจากที่โรงเรียน เพราะโรงเรียนมีกฎระเบียบจำนวนมากที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และบุคลากรส่วนมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งการกล้อนผมนักเรียนที่ผมยาว หรือการตรวจเครื่องแบบนักเรียน ทำให้พวกเธอต้องออกมาเรียกร้องปัญหาของโรงเรียนกับหน่วยงานที่ใหญ่กว่า แต่เมื่อเยาวชนส่งเสียงกลับถูกรัฐคุกคามและดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม
ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็กและเยาวชนไทย
ปัญหาของเด็กและเยาวชนในวันนี้ จะเติบไปเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยบาดแผลในวันข้างหน้า การการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กคนหนึ่ง เลยเป็นโจทย์ร่วมของทุกคนในสังคม ในงานเสวนา “ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็กและเยาวชนไทย” โดยตัวแทนผู้ใหญ่ในวันนี้ที่คลุกคลีกับเด็กสมัยนี้ ทั้ง หมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนจากมุมมองของกุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น อาจารย์มหาวิทยาลัย และเจ้าของสถาบันกวดวิชา
หมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร ได้หยิบประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำมาเป็นตัวอย่างของการที่เด็กและเยาวชนถูกจำกัดความฝัน เพราะต้องเลือกอาชีพที่มีรายได้ดีแทนอาชีพที่อยากเป็น ทำให้สูญเสียบุคลากรคุณภาพไปมากเพราะสังคมที่ไม่พร้อมโอบอุ้มความฝันของทุกคน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด ยิ่งทำให้เด็กหลายคนหลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากรัฐไม่มีหลักประกันสุขภาพหรือสวัสดิการ สำหรับครอบครัวที่ขาดรายได้เพราะต้องออกจากงานมาเพื่อดูแลคนในครอบครัวที่ติดโควิด เมื่อขาดรายได้เด็กเลยจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษา ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า ทั้งตัวเด็กเองที่ไม่มีโอกาสได้ทำตามฝัน และผู้ปกครองที่รู้สึกผิดที่ไม่สามารถดูแลเติมเต็มโอกาสให้กับเด็กได้
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ บอกว่าส่วนหนึ่งของปัญหามาจากการนโยบายด้านเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ที่ผู้ใหญ่เป็นคนคิดแทนเด็กโดยไม่ฟังเสียงของเด็กจริง ๆ แต่กลับคาดหวังการมีทักษะและความสำเร็จจากเด็กที่ไม่ได้มีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการเรียนรู้ โดยในมุมมองของ รศ.ดร.ประจักษ์ การออกมาชุมนุมของเด็กเลยเป็นปลายทางของปัญหาที่สะสมมา การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการออกนโยบายจริง ๆ เลยเป็นทางออกที่ช่วยการแก้ปัญหานโยบายที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็กได้ เพราะถ้าสังคมปกติ เสียงของเด็กจะถูกสะท้อนไปในกลไกต่าง ๆ ได้เอง ไม่ต้องออกมาชุมนุมประท้วงอย่างที่ผ่านมา
นอกจากนี้เรื่องนโยบายด้านเด็กและเยาวชนแล้ว ยังต้องหาวิธีชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปจากนโยบายและมาตรการในช่วงโควิด-19 ที่กระทบกับการเรียนการสอน ทำให้ทักษะการปฏิบัติของบางสายงาน ทักษะการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน ทักษะการทำงานกลุ่มและการนำเสนองานต่าง ๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งต้องมีมาตรการเพื่อรองรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วอีกด้วย
ทางด้าน ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยหยิบยกการต่อสู้ในเรื่องเพศสภาพของตัวเองที่ไม่ได้รับการยอมรับในอดีตมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งลูกกอล์ฟบอกว่าการมีพื้นที่ปลอดภัยที่เด็ก ๆ ได้เป็นตัวของตัวเองและได้แสดงความเห็นโดยที่มีคนรับฟังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่การรับฟังและการฟังไม่เหมือนกัน การรับฟัง คือการฟัง รับ และเข้าใจ ซึ่งอำนาจของการฟังนั้นจะทำให้เราได้เรียนรู้จากกันและกันจริง ๆ บางครั้งการเปิดประเด็นพูดคุยด้วยเหตุผลบางทีอาจทำให้ไม่เข้าใจเด็กขึ้นไปอีก เพราะเด็กรู้ตัวว่าไม่ได้ถูกทุกเรื่อง เขาเพียงต้องการการรับฟัง ที่ช่วยยืนยันว่ามีคนที่ใส่ใจและเข้าใจพวกเขาจริง ๆ
คิด for คิดส์
เพราะโลกเป็นผู้สร้างเด็ก และเด็กกำลังเป็นผู้สร้างโลกต่อไปในอนาคต การเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กคนหนึ่งคือโจทย์ของสังคมทั้งสังคม และยังสัมพันธ์กับโลกทั้งโลก จากแนวโน้มการเป็นพลเมืองโลกที่พวกเราทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้
ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมายนี้ ทางออกหนึ่งที่สำคัญอาจเริ่มต้นมาจากการวางทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่ ด้วยการวางแผนงบประมาณในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาที่ถูกต้อง และกำหนดนโยบายที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แทนที่จะให้ความสำคัญกับการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่ใช้งบกว่า 75% ไปกับการก่อสร้างถนนหนทาง ส่วนในด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ก็ใช้งบไปกับสิ่งก่อสร้างมากถึง 63%
ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องสร้างชาติด้วยถนน พัฒนาคนด้วยตึก การลงทุนในอนาคตจึงควรเปลี่ยนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้ เป็นการลงทุนในคน เพราะการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่คุ้มค่าที่สุด การที่เด็กมีพัฒนาการที่ช้าลง หรือหยุดชะงัก โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยที่การพลาดช่วงโอกาสทองในการพัฒนาสมองส่วนหน้ายิ่งทำให้เด็กมีต้นทุนที่ต่ำลงตลอดชีวิต
การสร้างการเปลี่ยนแปลง ต้องปรับจากวิธีคิดและกระบวนการตั้งต้นเริ่มต้นจาก ‘คิด for คิดส์’ เปลี่ยนมาคิดเพื่อเด็ก คิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องนโยบาย เพราะนโยบายเด็กและครอบครัว คืออนาคตของเด็กทั้งชีวิต แล้วยังเป็นอนาคตของทุกคนในสังคม เพื่อไปยังเป้าหมายปลายทางร่วมกัน ต้องเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง
ทั้งหมดนี้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ด้วยการโอบอุ้มและเปิดใจรับฟังเสียงเยาวชนอย่างจริงใจ เพื่อให้เด็กสมัยนี้กลับมามีความฝัน แล้วเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยความหวังต่อไป
ที่มา:
https://www.facebook.com/kidforkids.center
https://www.the101.world/opening-kid-for-kids/
######