โรงเรียนในภูเขา : โรงเพาะเมล็ดพันธุ์ความงามในจิตใจเด็ก ทางเลือกหนึ่งของการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา

ถ้าความสำเร็จของสถานศึกษาวัดผลกันด้วยผลคะแนน  จำนวนเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ชื่อเสียงของโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจองคิวจับสลากเพื่อให้ลูกๆ ได้เรียนกันข้ามปี “โรงเรียนในภูเขา” โรงเรียนเล็ก ๆ ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ แห่งนี้ ย่อมไม่เข้าข่ายโรงเรียนในกลุ่มนั้น เพราะที่นี่มีการวัดผลเป็นรอยยิ้ม อ้อมกอด และแววตาที่สดใสของเด็กทุกคน

ครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด ผู้ก่อตั้งและในฐานะ ครูใหญ่โรงเรียนในภูเขา เล่าถึงจุดกำเนิดโรงเรียนบ้านสีดินแห่งนี้ว่าเมื่อศิลปะถูกทำให้เป็นเรื่องไกลตัว ความสุขของมนุษย์ที่ควรจะเรียบง่ายกลับกลายเป็นการแข่งขัน รีบเร่งด้วยสิ่งเร้าต่าง ๆ  แม้แต่เด็กเองก็ถูกเร่งให้เรียนตลอดเวลา  

โรงเรียนในภูเขา ไม่มีตึกสูง ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีไม้เรียว ไม่มีครูทำหน้าเคร่งขรึมเรียบเฉย ไม่มีกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายหรือทรงผม แต่มีห้องโถงเป็นลานสำหรับร้อง เล่น ปั้น หรือวาดภาพ  มีสนามหญ้าสีเขียว มีเพื่อนร่วมห้องทั้งเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ หรือนักเรียนจากเมืองใหญ่ และมีครูทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีจุดร่วมคือความเชื่อว่าผู้ใหญ่คือผู้สนับสนุนเด็กให้เติบโตสู่โลกกว้างอย่างมั่นคง

 

บ่มเพาะความงามจากด้านใน เพื่อสมดุลในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ

การส่งเสริมด้านความคิดและจิตวิญญาณของเด็กตั้งแต่ช่วงก่อนเป็นวัยรุ่นเป็นรากฐานสำคัญต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่ หลักสูตรที่เรียกว่า “ศิลปะด้านใน” จึงเป็นคุณค่าหลักของการเรียนรู้ที่นำหลักศิลปะบำบัดมาพลิกแพลง ผ่านหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยพลังของศิลปะ จัดการเรียนรู้ตามช่วงอายุ เพื่อเน้นความสมดุลทั้งเด็กปกติและเด็กที่ควรได้รับการพัฒนาด้านจิตใจ

“เราทำงานศิลปะบำบัด แต่เราคิดกันว่าเราบำบัดคนจำนวนมากไม่ไหวหรอก งั้นกลับไปที่ต้นทาง กลับไปดูที่ดิน ที่เมล็ดพืช ถ้าอยากเห็นต้นกล้าแข็งแรง เราต้องรดน้ำพรวนดินตั้งแต่ตอนนี้ เพราะถ้าเราทำงานบำบัดก็ต้องบำบัดไปเรื่อย ๆ ก็เลยเกิดโรงเรียนในภูเขาขึ้นมา”

สิ่งที่โรงเรียนในภูเขาทำคือรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับเด็กที่ต้องการพื้นที่การเติบโตด้วยศิลปะ เรียนรู้ผ่านการลงมือทำมากกว่าการท่องจำ และช่วยสร้างพลังและความเข้มแข็งทางใจให้กับเด็ก สอดคล้องกับแนวคิดของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรที่ทำงานด้านการเสริมสร้างสุขภาวะ ทั้งสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม 

 

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.  กล่าวถึงการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้เช่นโรงเรียนในภูเขาว่า สสส. สนับสนุนโครงการศิลปะด้านในเพื่อพัฒนาสุนทรียภาพสำหรับผู้ทำงานด้านเด็กปฐมวัย มาตั้งแต่ปี 2560 เพราะเห็นพลังของศิลปะว่าสามารถทำหน้าที่ปูพื้นฐานจิตใจให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี มองเห็นความงดงามในตัวเอง เมื่อเด็กมีสุขภาพจิตที่ดี ทำให้เด็กอยากเรียนหนังสือ ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาโดยง่าย แนวทางของการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในภูเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการศิลปะด้านในฯ สอดคล้องกับสถานการณ์โลกยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงผันผวน ซับซ้อน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เด็กๆ จึงต้องมีทักษะการเรียนรู้แบบคิดนอกกรอบเพื่อแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์และมองเห็นโอกาสในวิกฤติเป็น”

การสนับสนุนดังกล่าวทำให้โรงเรียนในภูเขามีอิสระ เป็นการศึกษาทางเลือก ที่ไม่มีสังกัด ไม่มีกรมกอง ทุกคนที่มารวมตัวกันล้วนเชื่อว่าศิลปะไม่ใช่สิ่งของขึ้นหิ้งจนไม่อาจจับต้องได้ ศิลปะไม่ใช่เพียงวิชาเรียน แต่คือสื่อลงไปที่หัวใจเด็ก ไม่มีการเรียนเพื่อวัดผลตัดเกรด ในห้องเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ จึงไม่ได้เห็นเด็ก ๆ นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดฟังการบรรยาย ก้มหน้าก้มตาอ่านตำราเรียน  ท่องจำสารพัดวิชา เพื่อนำไปใช้สอบแข่งขันชิงความเป็นที่หนึ่ง

โรงเรียนแห่งนี้เกิดขึ้นอย่างไม่มีสังกัด ไม่มีกรมกอง ทุกคนที่มารวมตัวกันล้วนเชื่อว่าศิลปะไม่ใช่สิ่งของขึ้นหิ้งจนไม่อาจจับต้องได้ ไม่มีการเรียนเพื่อวัดผลตัดเกรด ในห้องเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ จึงไม่ได้เห็นเด็ก ๆ นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดฟังการบรรยาย ก้มหน้าก้มตาอ่านตำราเรียน  ท่องจำสารพัดวิชา เพื่อนำไปใช้สอบแข่งขันชิงความเป็นที่หนึ่ง

สิ่งที่นักเรียนจะได้เรียนรู้เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกในโรงเรียนแห่งนี้มีตั้งแต่การวาดภาพระบายสี การปั้น การฝึกเคลื่อนไหวในแบบไม่เน้นความสวยงาม แต่ออกมาจากความคิด ความรู้สึกและความต้องการผ่านทางร่างกาย ร้องเพลง การศึกษาธรรมชาติ ไปจนถึงการเล่าเรื่อง (Story telling)

และทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเพียงเท่านั้น แต่นักเรียนจะเรียนรู้ทั้งที่สนามหญ้า ในครัว สวนหลังบ้านของครูอาสา ไปจนถึงในป่าใหญ่ ทั้งหมดเป็นกระบวนการเรียนรู้ 4 ระยะ เริ่มด้วยการวาดภาพและการศึกษาธรรมชาติ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ที่ไม่ได้กำหนดวิชาตายตัว โดยค่อย ๆ ให้เด็กเปิดใจกับวิชาที่โรงเรียนทั่วไปไม่ได้สอน   

ต้นอ่อนที่ดี ควรจะเติบโตงอกงามตามเส้นทางที่พวกเขาเป็น ผู้ใหญ่หลายคนในวันนี้เกิดจากระบบการศึกษาที่มีครูยืนอยู่หน้ากระดาน กับเด็กตั้งใจเรียนที่อยู่ด้านหน้า และเด็กที่ดูไม่ไม่สนใจเรียน นั่งอยู่ด้านหลังเป็นเด็กหลังห้องที่ถูกลืม แต่กับที่โรงเรียนในภูเขา ด้วยจำนวนนักเรียนเพียงไม่กี่คน ทำให้ครูใกล้ชิดเด็กทุกคน ใกล้มากพอจนเกิดการเชื่อมต่อ ทลายกำแพงต่อกันลง ใกล้มากพอจนเด็กมอบอ้อมกอดแก่คุณครูของพวกเขาได้เสมอ

“รูปแบบก็เหมือนโรงเรียนประจำหรือโรงเรียนกินนอน มีเรียน 4 เทอม เราก็จะเจอกันปีละ 4 ครั้ง ครั้งละ 6 – 7 วัน ตอนที่เปิดปีแรก ต้องบอกว่าความต่างของเด็ก ๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งเด็กในเมือง เด็กจากโรงเรียนนานาชาติ ไปจนถึงเด็กชาติพันธุ์ที่อาจจะไม่ได้เรียนในโรงเรียนทั่วไป ก็ตีกันยับเลยครับ (หัวเราะ) แต่เมื่อเกิดการเติบโต เรียนรู้จากเพื่อน กิน นอน ร่วมกัน ทำให้เด็กอยู่กันฉันท์มิตร” ครูมอสกล่าว

 

ประเมินผลการเรียนผ่านรอยยิ้มและกล้าคิดนอกกรอบ

บรรยากาศการเรียนที่นี่ เกิดขึ้นท่ามกลางต้นไม้ บ่อน้ำ สนามหญ้า และห้องเรียนโถงใหญ่ เราอาจเห็นนักเรียนบางคนร้องเพลงอย่างร่าเริงในช่วงเช้า แล้วผล็อยหลับในช่วงบ่าย หากเป็นโรงเรียนในภาคการศึกษาปกติ เด็กคนนั้นอาจถูกครูตำหนิหรือปลุกให้ตื่นขึ้นมาเรียนได้ 

แต่ใช่ว่าจะไร้กฎเกณฑ์เสียทีเดียว เพราะวิธีการสอนของศิลปะด้านในไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญ แต่เป็นการตั้งกติการร่วมกัน 

“หาที่ที่เราชอบก่อน เลือกพื้นที่ทำงานของตัวเองได้เลย แล้วค่อยมาเอาดินปั้น ถ้าไม่พอมาเอาใหม่ได้นะครับ เวลาทำงาน เราใช้มือทำนะครับ เราไม่จำเป็นต้องพูดคุย” เสียงของครูมอสกล่าวกับเด็ก ๆ อย่างใจเย็นในคลาสเรียนการปั้น ที่ทุกคนใช้สายตาจับจ้อง สมาธิจดจ่อกับก้อนดินเหนียวที่อยู่ตรงหน้า ห้องเรียนที่เคยมีเสียงร้อง พูดคุยหยอกล้อ ก็แทนที่ด้วยความเงียบสงบในทันที  เป็นช่วงเวลาที่ต้นอ่อนเหล่านี้เรียนรู้จังหวะการเติบโตภายในด้วยการทำงานผ่านสายตา สมอง และมือของพวกเขาเอง 

แม้จะไม่มีการสอบข้อเขียน แต่ครูมอสกล่าวว่าผลการเรียนของนักเรียนที่นี่สามารถประเมินผลได้ โดยวัดจากกระบวนการทำงานของนักเรียน ผลงานของพวกเขาต้องไม่เดินตามกระแสหลัก มีความแตกต่างจากงานศิลปะแบบที่เห็นอยู่ในตลาด

“ศิลปะสะท้อนถึงสุขภาพของจิตวิญญาณ เราดูงานของเด็กได้ตั้งแต่ความมีสุขภาวะของสีที่ใช้ สิ่งที่เด็กวาด เราจะบอกเด็กว่ามือเปื้อนได้นะ แต่ต้องไม่เลอะ ถึงจะมีอิสระแต่มันยังมีขอบเขตอยู่ และต้องทำงานอย่างมีวินัย” ครูใหญ่กล่าวถึงวิธีการวัดผลของเด็กที่นี่  

พื้นที่เรียนรู้นอกระบบ ที่ช่วยให้เด็กกลับไปอยู่ในระบบได้

เมื่อโครงสร้างโรงเรียนที่เป็นเหมือนรากแก้วแผ่ขยายลงดินอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ภารกิจนี้ยังไม่จบ เพราะหากต้นไม้นี้ยิ่งแผ่ขยายออกไปมากเท่าไร ก็จะสร้างเมล็ดพันธุ์ เติบโตสู่ต้นไม้ที่มีประโยชน์และงดงามได้อีกมาก โรงเรียนนี้จึงไม่ได้สอนเพียงแค่เด็ก แต่ยังสอนผู้ใหญ่อีกหลายคน เพื่อนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ให้แผ่ขยายในวงกว้าง

“เราพูดเรื่องเดิมไปตลอดไม่ไหวหรอก ต้องให้คนที่เชื่อเหมือนกันมาช่วยทำงานนี้” ครูมอสย้ำถึงก้าวที่อยากไปให้ถึง เราจึงได้เห็นผู้คนจากหลายวงการเข้ามาเรียนรู้ด้านศิลปะด้านใน เพื่อนำแนวคิดไปแผ่ขยายสู่ภายนอกมากยิ่งขึ้น

เครือข่ายการสอนศิลปะด้านในเกิดขึ้นเพื่อยึดโยงผู้คน ศิลปะด้านในถูกไปใช้กับเด็ก ๆ ต่างภูมิหลัง ต่างพื้นที่ หลักสูตรนี้ไม่ใช่ข้อบังคับกฎเกณฑ์ตายตัว แต่สามารถแทรกซึมไปกับการเรียนการสอนให้กับใครก็ ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ และไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องมีโรงเรียนในภูเขาอีกกี่สาขา แต่ควรเป็นการเติบโตอย่างออแกนิค

“เด็กมีภารกิจในการเติบโต โรงเรียนมีหน้าที่ทำทางเพื่อการเดินนี้ เดินไปกับเขาสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นเหตุ สร้าง View, Field และ Things สร้างความงามและความจริง เพราะความงามคือความจริง ถ้าเด็กเกิดการตระหนักรู้ในด้านความดี ความงาม เขาจะเรียนรู้ว่าจะอยู่เพื่ออะไร โลกของเขาจะไม่มืดมน” ครูใหญ่กล่าวถึงหน้าที่ของเขาและครูอีกหลายคนในนามโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งเทือกเขาเชียงดาว โรงเรียนที่ชื่อว่า “โรงเรียนภูเขา” 

 

เสียงจากนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

“ตอนไปที่เชียงดาวชอบเรียนศิลปะครับ มันมีวิธีที่ไม่เหมือนที่บ้าน เวลาจะระบายสีเทียน เราต้องเอาสำลีมาถู ๆ ก่อน แล้วก็คิดถึงเพื่อน ๆ ที่นู่นด้วย เพื่อนที่นู่นพูดเรื่องกีฬา เรื่องธรรมชาติ แต่เพื่อนที่นี่พูดถึงเกม คิดถึงเพื่อนๆที่นู่นมากกว่า เพราะไม่ได้เจอเพื่อนที่เชียงดาวเยอะ แต่เจอเพื่อนที่โรงเรียนเยอะอยู่แล้ว” น้องควินน์ เด็กชายวัยประถม หนึ่งในนักเรียนโรงเรียนภูเขากล่าวเมื่อถูกถามถึงสิ่งที่เขาชอบจากการเรียนที่โรงเรียนซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเขาไปกว่า 700 กิโลเมตร

คุณแม่ขจรมาศ นาฎนวัตทรัพกูล ที่เห็นลูกใช้ชีวิตทั้งหมดไปกับการอยู่ในเมือง เมื่อคุณแม่รู้เรื่องราวโรงเรียนเล็ก ๆ (เกือบ) ลับแห่งนี้จากเพื่อนผู้ปกครอง จึงสนใจและอยากให้ลูกชายได้สัมผัสธรรมชาติ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือเด็กชายกลายเป็นคนที่ชอบงานศิลปะ มีสมาธิ และใจเย็นขึ้นจนคนรอบข้างสังเกตได้

เช่นเดียวกับครูสายลม-พลวัฒน์ ล้วนศรี แห่งศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จาก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่เคยส่งเด็กเข้าร่วมเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ช่วงแรกที่ก่อตั้ง

  “มุมมองของครู เราเห็นว่าจังหวะการใช้ชีวิตเขาเปลี่ยนไป มีความนุ่มนวล มีจุดหมายมากขึ้น มั่นคงขึ้น มีจังหวะชีวิตที่ดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ด้วยความที่เขาเป็นเด็ก ก็จะเฮ้วๆ แต่ตอนนี้นิ่งขึ้น เด็กของเราเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าเจอคนแปลกหน้าเขาจะไม่ค่อยกล้าพูด แต่ตอนนี้กล้าพูดมากขึ้น เขาได้เรียนรู้โลกที่มันกว้างขึ้น หลากหลายขึ้น” ครูสายลมกำลังกล่าวถึงเด็กชายหลายคนที่กำลังผ่านพ้นวัยเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หลังรดน้ำพรวนดินด้วยการเข้าเรียนที่โรงเรียนในภูเขาในช่วง GAP YEAR พวกเขาก็กลับมาในแบบที่ทำให้ครูผู้ดูแลแปลกใจ

ผลงานของนักเรียน โรงเรียนในภูเขา

ผลงานของนักเรียน โรงเรียนในภูเขา

“มือ“ หนึ่งในอุปกรณ์การเรียนที่สำคัญยิ่งสำหรับนักเรียน

  จำลองภาพกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนในภูเขา

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ