“โรงอาหารชุมชน” ตัวอย่างการทำงานที่เข้าถึงความต้องการเร่งด่วนในวิกฤตโควิด-19
“พอเกิดสถานการณ์โควิด งานที่เตรียมไว้ เราก็ต้องรีบปรับทันทีให้เข้ากับความเดือดร้อนของพื้นที่ ซึ่งในจังหวัดที่เราทำงานนั้น พบว่าส่วนหนึ่งคือแรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้างเพราะผลจากไวรัสโควิด คนที่ลำบากก็คือเด็กๆ ในครอบครัวที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้ เราจึงต้องทำการสำรวจชุมชนกันใหม่ แล้วก็พบว่า ความมั่นคงทางอาหารคือทางรอดฉุกเฉินสำหรับชุมชนในพื้นที่ทำงานของเรา”
วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ หรือ “แม่ชมพู่” ผู้ก่อตั้งกลุ่มลูกเหรียง บอกเล่าถึงการจัดตั้งโรงอาหารสำหรับเด็กๆ ในชุมชนที่เธอใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งวิธีการทำโรงอาหารของเธอนั้นมาจากการนำ ”ถุงอาหาร” ไปส่งมอบให้ครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน แล้วพบว่าอาหารในครัวแต่ละบ้านที่เธอไปเยี่ยมเยียนนั้นล้วนขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อนโยบายของรัฐที่ให้ทุกบ้าน “เก็บตัว” นานกว่า 10 วัน แม้จะมีความช่วยเหลือในรูปของถุงยังชีพจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลแต่ละตำบลตามหน้าที่อยู่แล้วก็ตาม แต่ถุงยังชีพเหล่านั้นสามารถให้แต่ละครอบครัวอยู่ได้เพียง 4-5 วัน เนื่องจากจำนวนสมาชิกส่วนใหญ่แต่ละบ้านมีมากขึ้นจากการที่ทุกคนต้องกลับบ้านเพราะถูกเลิกจ้างงาน
“จากที่ลงสำรวจ เราพบว่า มีเด็กหลายคนกินข้าวแค่วันละมื้อ บางครอบครับต่อให้ได้ข้าวสารมา แต่ก็ไม่มีคนปรุงอาหารให้เด็กรับประทาน เพราะเด็กส่วนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่กันตามลำพัง ในส่วนของเด็กเหล่านี้ เราจึงมาคิดคำนวณว่า ถ้าต้องให้เด็กกินอาหารวันละ 2 มื้อ เราต้องมีปริมาณวัตถุดิบจำนวนเท่าไหร่ เช่น จำนวนข้าวสาร ไข่ไก่ ซึ่งถือเป็นอาหารพื้นฐาน แม้ อบต. จะนำไก่มาช่วยอาทิตย์ละ 10 ตัว เพื่อให้เด็กได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนการ แต่ก็ยังต้องคำนวณค่าแก๊ส ค่าเครื่องปรุงอาหาร เช่น น้ำปลา น้ำตาล ทำให้ได้ออกมาว่า เราต้องมีเงินอย่างน้อย 20,000 บาทในการซื้อหาวัตถุสำหรับปรุงอาหารให้ครอบครัวเด็กเหล่านี้ ทำให้เราคิดว่าจะทำโครงการโรงอาหารให้กับชุมชนซึ่งมีทั้งหมด 16 ชุมชน”
เมื่อได้รู้จำนวนเด็กในครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนแล้ว โจทย์ต่อมาคือ จะหาใครมาทำอาหารให้เด็กได้รับประทานทุกวัน จึงเกิดการพูดคุยและสำรวจความสมัครใจของผู้ใหญ่ในแต่ละชุมชนที่ว่างงาน หรือมีรายได้ลดลงจากการที่ชุมชนปิดกั้นชั่วคราวไม่ให้คนในออก ไม่ให้คนนอกเข้า ทำให้มีผู้ใหญ่หลายคนยินดีทำอาหารให้ โดยได้ค่าแรงวันละ 100 บาท จึงเกิดเป็นการช่วยเหลือกันแบบครบวงจรในชุมชน
“เดิมเราตั้งใจจะทำโรงอาหารในชุมชนที่อยู่รอบๆ ตามที่บอกคือ 16 ชุมชน แต่เราพบว่า โครงการฯ นี้ประสบความสำเร็จในแง่ของการช่วยเหลือได้หลายระดับทั้งตัวเด็กและผู้ใหญ่ ก็เลยคุยกันต่อกับ อบต. 3 ตำบล ที่อยู่ใน โครงการเด็กเยาวชนอยู่ดีมีสุขต้นแบบ จังหวัดยะลา กลายเป็นการขยายผลเพิ่ม โดยเราจะทำรูปแบบนี้ในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลายก่อนจะลงสำรวจครอบครัวใหม่อีกครั้งว่า จำนวนครอบครัวที่เคยเป็นสีแดง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือจากสีเขียวลดเป็นสีแดงมีจำนวนเท่าไหร่ แล้วก็จะปรับโครงการฯ นี้ ให้เป็นเหมือนต้นแบบในการทำงานพัฒนาศักยภพคณะกรรมการกลไกปกป้องคุ้มครองเด็กระดับตำบล ให้สามารถดำเนินงานช่วยเหลือและพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว ยกระดับเป็นตำบลเด็กเยาวชนอยู่ดีมีสุขต้นแบบ ภายในปี 2565”
โครงการเด็กเยาวชนอยู่ดีมีสุขต้นแบบ จังหวัดยะลา ดำเนินงานโดยสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับ อบต. แกนนำภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ 3 ตำบลนำร่อง คือ อบต. บาโงยซิแน, อบต.ปุโรง และเทศบาลตำบลท่าสาป จังหวัดยะลา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส.