โครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนในเขตกทม. หนุนกลไกชุมชน สร้างพื้นที่เรียนรู้ – เติมเต็มระบบคุ้มครองเด็กในชุมชน
โครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนในเขตกทม. ในมิติสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว โดยมูลนิธิสุขภาพไทย ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) ให้ความสำคัญกับการทำงานบนฐานแนวคิดชุมชนนำ (community-led approach) ที่ภาคส่วนต่างๆ ในระดับชุมชนบูรณาการในกระบวนการเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน แก้ไขปัญหาครอบเปราะบาง ขาดความพร้อมในการดูแลเด็กทั้งในมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 5 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี , ชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา เขตประเวศ , ชุมชนสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกัลยาณมิตร จำกัด เขตบางซื่อ , ชุมชนพอเพียงพัฒนา เขตจตุจักร และ ชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้างริมทางรถไฟบางซื่อ เขตบางซื่อ
โดยชุมชนมีการตั้ง ตัวแทนชุมชน ทั้งผู้นำชุมชน และ อาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อเป็นคณะทำงานชุมชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลา 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 – เมษายน 2567 ที่ผ่านมาในหลายรูปแบบดังนี้
- การจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมแก่เด็กในชุมชน
- การอบรม/ประชุมปฏิบัติการ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง
- การประชุมถอดบทเรียนพื้นที่เรียนรู้
- การศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนต้นแบบที่มีพื้นที่เรียนรู้ (Learning Space) และการพัฒนาระบบปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ชุมชนวัดดวงแข และชุมชนจินดาบำรุง
เวทีถอดบทเรียน
1 ปีกับการถอดผลลัพธ์โครงการ
ภายหลังการดำเนินงานจึงจัด เวทีถอดบทเรียน โครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนในเขตกทม. ในมิติสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว โดยมีตัวแทนจากทั้ง 5 ชุมชนเข้าร่วมถอดบทเรียนผ่านการทำแบบสอบถาม และการนำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะแยกตามชุมชน ซึ่งในแบบสอบถามมีการสอบถามถึงกิจกรรมทั้งหมดอันประกอบด้วย กิจกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้เด็ก , กิจกรรมดูงานพื้นที่เรียนรู้ , กิจกรรมเรียนรู้สิทธิเด็กและการแยกกลุ่มเด็ก เขียว เหลือง แดง และกิจกรรมการอบรมเพื่อส่งเสริมบทบาทของครอบครัวต่อการส่งเสริมพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงวัย
การทำแบบสอบถาม
จากแบบสอบถามสามารถสรุปได้ว่าทุกชุมชนเห็นว่าการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรมมีความจำเป็น และต้องการให้จัดต่อไป อาทิ ประกอบด้วย กิจกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้สอนเด็กทำอาหาร รองลงมาคือ กิจกรรมพาเด็กไปทัศนศึกษา และ กิจกรรมสอนเด็กทำการบ้าน ให้ทำใบงาน และชุมชนมีความสนใจที่จะนำกิจกรรมดังกล่าวไปดำเนินการต่อไป
ด้านกิจกรรมดูงานพื้นที่เรียนรู้นั้น ทั้ง 5 ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญในการมีพื้นที่เล่น (Learning Space) ของเด็กและเยาวชนในชุมชน และมีความเข้าใจวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกวัย และบางชุมชน ก็จะนำองค์ความรู้การสร้างพื้นที่เรียนรู้ ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของชุมชนตนเองด้วย
หรือกิจกรรมเรียนรู้สิทธิเด็กและการแยกกลุ่มเด็ก เขียว เหลือง แดง ตัวแทนชุมชนเห็นว่าได้เข้าใจวิธีการแยกเด็กตามสี รองลงมาคือ การเข้าใจความหมายและความจำเป็นของสิทธิเด็ก และตั้งใจที่จะนำความรู้ไปใช้เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่มีปัญหา
กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ขณะที่กิจกรรมการอบรมเพื่อส่งเสริมบทบาทของครอบครัวต่อการส่งเสริมพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงวัย ตัวแทนชุมชนเข้าใจความจำเป็นของการรู้จักสิทธิเด็ก การพูดคุยกับเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น และสิ่งที่ประเมินว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้มากที่สุด คือแนะนำให้คนในชุมชนเลี้ยงเด็กด้วยการใช้ไอเมสเซจ (IMessage) หรือการสื่อสารเชิงบวก โดยไม่ใช้ความรุนแรง
นอกจากการสำรวจความเห็นต่อกิจกรรมแล้ว ยังมีการสอบถามถึงข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานเพิ่มเติมที่ทั้ง 5 ชุมชนเห็นตรงกันว่า สิ่งที่อยากแก้ไขมากที่สุดคือ การคัดเลือกตัวแทนชุมชนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างสม่ำเสมอและนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปต่อยอด รวมถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่เรียนรู้ดูงานให้เข้ากับบริบทของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการด้วย
จุฑาเนตร สาสดี ตัวแทนชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา เขตประเวศ กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการฯว่าตนเองรู้สึกว่าภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมดูแลเด็กในชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และประทับใจที่มีวิทยากรหรืออาสาสมัครภายนอก ร่วมลงพื้นที่ชวนครอบครัวและเด็กๆ ทำอาหาร วาดภาพ ทำใบงาน และพาไปทัศนศึกษา ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ ทำให้ตัวแทนชุมชนได้เรียนรู้การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะเด็ก รวมถึงช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ครอบครัวและเด็กด้วย
จุฑาเนตร สาสดี ตัวแทนชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา
ด้านชนากานต์ วงษ์สุวรรณ อสส.ชุมชนกัลยาณมิตร เขตบางซื่อ กล่าวว่า ประทับใจการจัดกิจกรรมเสริมทักษะให้เด็กในชุมชน ได้เข้าใจการสร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเด็ก ตลอดจนกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน และแนวทางการสร้างความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครองในชุมชน
“ตั้งแต่เราเข้าโครงการ ได้รับความรู้ที่นำมาใช้กับชุมชนได้จริงเพื่อช่วยเหลือเด็กในชุมชน มีเด็กหลายเคสที่เราไม่เคยทราบปัญหามาก่อน เช่น เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิ์เด็กแรกเกิดตามกฎหมาย แต่การเก็บข้อมูลและจัดกิจกรรม ทำให้เห็นปัญหาและช่วยเหลือเด็กได้อย่างทันท่วงที ผู้ปกครองก็ไว้วางใจ อสส.และคณะทำงานมากขึ้น”
ชนากานต์ วงษ์สุวรรณ อสส.ชุมชนกัลยาณมิตร
ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีภายหลังการดำเนินงานจากเดิมที่ชุมชนประสบปัญหาด้านคุณภาพชีวิตเด็ก ขาดระบบคุ้มครองเด็กและเยาวชนในชุมชน ไม่มีคณะกรรมการการทำงานด้านเด็กที่ชัดเจน และยังไม่มีพื้นที่เรียนรู้ (Learning Space) ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านและเป็นพื้นที่ปลอดภัย ก็ได้เกิดพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนขึ้น อาทิ ในชุมชนบุญร่มไทร และ ชุมชนกัลยาณมิตร
ชุมชนทั้ง 5 แห่งมีความรู้ความเข้าใจระบบการปกป้องคุ้มเด็ก สามารถแยกประเภทเด็กสี เขียว เหลือง แดง และส่งต่อ ประสานงานเพื่อช่วยเหลือเด็กในชุมชนของตนเองได้อันเป็นผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนในเขตกทม. ในมิติสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมโครงการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนในเขตกทม. ในมิติสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว โดยมูลนิธิสุขภาพไทย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaihof.org
ตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ