เวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทบทวนการทำงานและก้าวต่อไปกลไกปกป้องคุ้มครองเด็ก

             ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้เดินหน้าการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน โดยมีนโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กจนเกิดเป็นร่างแนวปฏิบัติเพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็กขึ้นมา แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้เข้มข้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเกิดงานเวทีสานพลังเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 (1/2567) BMA Connect Circle for Young People (BMA-CCYP) “สานพลังผู้ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน กทม.

             โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย , UNICEF ประเทศไทย , กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคม, UNFPA ประเทศไทย , มูลนิธิวายไอวาย , บริษัทเอดูเคชั่น เซอร์วิส แอนด์เทรนนิ่ง เอเจนซี จํากัด, มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นพื้นที่นำเสนอความคืบหน้าของการดำเนินงาน และการเชิญชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง เสนอแนะแนวทางการทำงานปกป้องคุ้มครองเด็กในมิติต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้แทนหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักงานเขต 50 เขต โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย และผู้ปฏิบัติงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าร่วมงาน

 

             ทบทวนการทำงานและก้าวต่อไปกลไกปกป้องคุ้มครองเด็ก กทม.

 

             นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานกล่าวเปิดงานกล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กว่า เป็นประเด็นที่กรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญมาต่อเนื่อง เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อเด็กทั้งในระดับครอบครัว สถานศึกษา และชุมชน

             โดยพื้นที่แรกที่กรุงเทพมหานครมุ่งหวังว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ คือ ในสถานศึกษา เนื่องจากกรุงเทพมหานครเข้าไปทำงานด้วยได้อย่างชัดเจน และยังเป็นพื้นที่สำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังสร้างกลไกเพื่อเข้าร่วมสอดส่องดูแลเด็กในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก การส่งต่อความช่วยเหลือและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

             “การทำพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาเรามีหลายหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก แต่นั่นแปลว่าเราไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงที่จะมาทำงานนี้โดยตรง หลังจากเวทีนี้คาดว่าจะสามารถพัฒนาคณะทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กขึ้นมาได้ เกิดเป็นกลไกที่เป็นตาสับปะรด เป็นล้านๆ ตาที่จะช่วยทำให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนได้จริง” นายศานนท์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าว

             จากนั้น ได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าการทำงานคุ้มครองเด็กในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาของทั้ง 4 สำนัก คือ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ พร้อมทั้งเปิดเผยถึงเป้าหมายแผนงานในอนาคตของแต่สำนักต่อไป

บุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงาน

 

             ตัวแทนสำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2566 ได้ดำเนินการด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก หลายด้าน ทั้งการพัฒนาบุคลากร ด้านกลไกการทำงานและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ การจัดอบรมด้านการปกป้องครองเด็กแก่เจ้าหน้าที่ทั้ง 50 เขต มีผู้ผ่านการอบรมด้านพนักงานคุ้มครองเด็ก 48 คน เพื่อเริ่มสร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจแก่เข้าหน้าที่เขต  และในปี 2568 จะดำเนินการอบรมพนักงานคุ้มครองเด็กรวมจำนวน 100 คนจาก 50 เขต และการอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กรวมถึงผู้เกี่ยวข้องอีก 300 คน

ตัวแทนสำนักพัฒนาสังคม

 

             “ในเมื่อเราจะทำงานด้านคุ้มครองเด็ก ก็ควรมีอาวุธติดมือให้เจ้าหน้าที่ จึงจัดการอบรมความรู้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กให้พื้นที่เขต มีการประเมินสุขภาพจิตของผู้ที่เข้ามาทำงานด้านนี้ เราอยากให้พนักงานรู้ว่าต้องจัดการเคสอย่างไร โดยมีกรมกิจการเด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เป็นงานอีกมุมที่เราขยับ และในปี 2568 จะเพิ่มการอบรมเป็น 100 คน ก็จะได้พนักงานเพิ่มขึ้นเป็นหูเป็นตาให้การทำงานคุ้มครองเด็กของเรา”

             นอกจากนี้ยังพัฒนากลไกการปกป้องคุ้มครองเด็ก ด้วยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กชุดใหม่ การเสนอปรับปรุงคณะอนุกรรมการในการคุ้มครองเด็ก ตลอดจนสนับสนุนเอกชนรวมถึงกรมกิจการเด็กและเยาวชนในการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในเขตด้วย

             พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA  , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. , กลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม (YIY)  และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.)  พัฒนาแพลตฟอร์มเติมเต็ม การบริการแบบแบ่งปันข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบางที่ใช้งานนำร่องในพื้นที่ 8 เขต  ที่จะขยายผลสู่พื้นที่ในกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขตต่อไป

             รัชฎาพร บุตรเพ็ชร  หัวหน้ากลุ่มงานกิจการนักเรียน กองเสริมสร้างสมรรถนะนักเรียน สำนักการศึกษา ได้กล่าวถึงการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า ในกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต มีโรงเรียนในระบบภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง ที่ได้พัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในโรงเรียน มีการผ่อนปรนเรื่องเครื่องแบบและทรงผม การร่วมมือกับมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก  และ มูลนิธิวายไอวาย (YIY)  อบรมครูเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กจำนวน 124 คน จากโรงเรียน 62 แห่ง

รัชฎาพร บุตรเพ็ชร  หัวหน้ากลุ่มงานกิจการนักเรียน

 

             ในปี 2568 จะเพิ่มการอบรมสภานักเรียนจากโรวเรียน 109 แห่ง แบ่งเป็นเด็ก 218 คน และครู 109 คน เพิ่มการอบรมครูเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กจำนวน 750 คน ในโรงเรียน 375 แห่ง   รวมถึงการประกาศใช้คู่มือ นโยบาย และแนวปฎิบัติด้านการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนด้วย

             ขณะที่สุภา อุ่นยืนยง หัวหน้ากลุ่มสงเคราะห์ทางสาธารณสุขสำนักอนามัย กล่าวถึงการดำเนินงานว่า ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวด้านสาธารณสุขเพื่อดูแลปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่อยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ที่มีทีมสหวิชาชีพ อาทิ นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลวิชาชีพ และนักจิตวิทยา ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ส่งต่อ และดูแลปัญหาความรุนแรงร่วมกัน

             การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและให้คำปรึกษาแก่นักเรียน ชุมชน และหน่วยงานรวม 7,887 คน การสำรวจเด็กเสี่ยง 1,682 คน ที่ช่วยเหลือแล้ว 1,295 คน ขณะที่แผนงานในปี 2568 คือ การพัฒนาทีมวิทยากรกระบวนการ และจัดทำแนวทางป้องกันเฝ้าระวังความเสี่ยง และจัดอบรมนักเรียน 600 คน เรื่องการป้องกันความรุนแรง เป็นต้น

สุภา อุ่นยืนยง หัวหน้ากลุ่มสงเคราะห์ทางสาธารณสุขสำนักอนามัย

 

             นายแพทย์สมเกียรติ อัศวโรจน์พงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ สำนักการแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานว่า ได้ร่วมกับภาคเอกชนคัดกรองและให้ความช่วยเหลือเคสเด็กผ่านเติมเต็มโมเดลและบางแคโมเดล สนับสนุนการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพในการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมดำเนินการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กใน 8 เขตนำร่องด้วย

นายแพทย์สมเกียรติ อัศวโรจน์พงษ์

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ สำนักการแพทย์

 

             ระดมสมองกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงาน

             นอกจาการนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของทั้ง 4 สำนักแล้ว ภายในงานยังมีการแบ่งกลุ่มมย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานปกป้องคุ้มครองเด็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย

  • การพัฒนานโยบาย โดย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการคุ้มครองเด็ก โดย เพ็ญศรี สงวนสิงห์ ผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.)
  • การพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก โดย วราภา สยังกูล กรมกิจการเด็กและเยาวชน
  • หน่วยเฉพาะกิจและสหวิชาชีพเพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็ก โดย ดารณี นฤตมพงศ์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสิทธิเด็ก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 

             โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เข้าร่วมรับฟัง ข้อเสนอแนะภายหลังการแบ่งกลุ่มอภิปรายและให้ข้อคิดเห็นถึงแนวทางการทำงานปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานครว่า การปกป้องคุ้มครองเด็กเป็นงานเร่งด่วน เมื่อพบเคสความเสี่ยงต่างๆ หรือ เกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กจะเข้าถึงเด็กและครอบครัวรวดเร็วกว่าการรวบอำนวจอยู่ที่ส่วนกลาง การกระจายอำนาจ ด้วยการพัฒนาบุคลากรและมีกลไกพื้นที่ในแต่ละเขต ถือเป็นนโยบายที่ทำให้แต่ละพื้นที่เข้าถึงปัญหาและทำงานได้รวดเร็ว

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

             การดำเนินงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็ก 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าคณะทำงานเริ่มมีการเชื่อมร้อยการทำงานต่างๆ เข้าด้วยกันได้ดีขึ้น มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกเพื่อขับเคลื่อนงานปกป้องคุ้มครองเด็กต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code