‘เล่น ฟื้น คืน พลัง’ สมาคมการเล่นนานาชาติร่วมมือภาคีเครือข่ายพาเด็กเล่นก้าวข้ามวิกฤต

             จากคอนเซ็ปต์ ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการสนับสนุนชุมชนให้มีศักยภาพดูแลเด็กครบทุกช่วงวัยและครบทุกมิติ

 

             หนึ่งในวิธีการดูแลเด็กให้มีพัฒนาการสมวัย คือการส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงการเล่นอิสระได้อย่างทั่วถึง การทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างโอกาสที่เหมาะสมต่อการเล่น เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ

 

             เป็นที่มาของการจัดงานเปิดตัว สมาคมการเล่นนานาชาติ หรือ International Play Association (IPA) สาขาประเทศไทย แห่งที่ 19 ของโลก ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังร่วมกับภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกจัดขึ้น เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการเล่นอิสระระหว่างนานาชาติและประเทศไทย สร้างโอกาสการเล่นให้กับเด็กทุกคน

 

             เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานด้านการเล่นระหว่างภาคีเครือข่าย ทั้งประเด็นสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้น ร่วมกันเสนอแนวทางการสร้างโอกาสผ่านการเล่น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการเล่นเพื่อป้องกันและฟื้นฟูเด็กจากวิกฤต รวมถึงสิ่งที่คาดหวังและความร่วมมือกับ IPA สาขาประเทศไทยต่อไป

ผู้แทน IPA ประเทศไทย

 

             พงศ์ปณต ดีคง ผู้แทน IPA ประเทศไทย กล่าวว่า IPA Thailand เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่เกิดจากการผลักดันของ สสส. และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก มีภารกิจการทำงานเพื่อส่งเสริมและปกป้องการเล่นของเด็ก ตามหัวข้อที่ 31 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ เพราะการเล่นไม่เพียงแค่เสริมพัฒนาการ แต่เป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตของเด็กก็ว่าได้

 

             เป้าหมายหลักของ IPA คือการส่งเสริมการเล่นอิสระ สร้างความตระหนักรู้ให้ครอบครัว ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การมีเวทีแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในระดับนานาชาติ  และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กเล่น ตลอดจนเป็นกระบอกเสียงขับเคลื่อนนโยบายด้านการเล่นร่วมกันตามอนุสัญญา ปัจจุบัน IPA มีสมาชิกกว่า 1,000 คนจาก 52 ประเทศทั่วโลก โดยมีสาขาทั้งหมด 19 สาขา ซึ่งประเทศไทยเป็นสาขาล่าสุด

 

             เช่นเดียวกับประสพสุข โบราณมูล ผู้แทน IPA ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า IPA ยังมองถึงเรื่องของความสุข ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเด็กในทุกด้าน  การเล่นที่พัฒนาเด็กได้ ต้องทำให้เด็กมีส่วนร่วม ตรงกับความต้องการของเด็กอย่างแท้จริง  IPA จึงให้ความสำคัญและสนใจในประเด็นการเล่นในภาวะวิกฤตมาโดยตลอด ปีนี้เป็นปีแรกที่จะเริ่มต้นการทำงาน เป้าหมายที่ตั้งไว้คือสนับสนุนให้เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเข้าถึงการเล่นอิสระ ผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ได้แก่

             1.การสร้างศักยภาพผู้เกี่ยวข้องให้มีความสามารถในการสนับสนุนและส่งเสริมการเล่นอิสระ 

             2.ปลุกพลังครอบครัวและชุมชนในการส่งเสริมการเล่นอิสระ 

             3.สื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการส่งเสริมการเล่นอิสระ และสิทธิในการเข้าถึงโอกาสการเล่น 

 

             “เพราะการเล่นช่วยเรื่องบุคลิกภาพ สติปัญญา และความสามารถทางอารมณ์ เราจึงมีความตั้งใจที่อยากส่งเสริมงานด้านผู้อำนวยการเล่น หรือ Play Worker ไปถึงระดับวิชาชีพ ให้เกิดขึ้น พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานที่ให้ความสำคัญเรื่องการเล่น สนับสนุนให้เด็กทุกคนได้เล่น โดยมีฐานสำคัญจากเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ซึ่งในวันที่ 22-24 พฤศจิกายน นี้ จะมีงานมหกรรมเล่นอิสระ Let’s play more festival ที่สวน 100 ปี จุฬาฯ ที่อยากให้ทุกคนได้มาร่วมงานกัน” ประสพสุขกล่าว

แลกเปลี่ยนความคิดภาคีเครือข่าย

 

             และเพื่อเป็นการชี้ให้เห็นประโยชน์ของการเล่นที่นำพาเด็กๆ ผ่านพ้นวิกฤตในหลายสถานการณ์ จึงมีจัดเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ ‘เล่น ฟื้น คืน พลัง – พาเด็กก้าวข้ามวิกฤต: Play More, Play Now’ ฉายภายให้เห็นการผลักดันให้เด็กเข้าถึงการเล่นเพื่อก้าวผ่านวิกฤต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคีเครือข่าย

 

             ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวถึงวิกฤตมิติด้านประชากรศาสตร์ว่า ประเทศไทยมีภาวะการเกิดลดลง ขณะที่เด็กที่เกิดใหม่มากกว่า 70% เกิดในครอบครัวยากจน และมาพร้อมกับปัญหาหลายอย่าง เช่น ระดับการศึกษาของผู้เลี้ยงดูหลักมีผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดูเด็ก ความยากจนที่มีผลเชื่อมโยงกับความเครียด และความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อพัฒนาการ สุขภาพจิตของเด็ก โภชนาการ และการเรียนรู้ของเด็ก

 

             สสส.จึงต้องคิดกลยุทธ์ที่ง่ายได้ผลในการแก้ปัญหา ซึ่งคำตอบคือ การเล่น มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ชัดว่า การเล่น โดยเฉพาะการให้เด็กเล่นเป็นธรรมชาติ เป็นวิธีการง่ายแต่ได้ผลมาก ทั้งในเชิงป้องกันและส่งเสริมสุขภาวะทั้งทางกายและทางใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงในตัวตน ระดับจิตวิญญาณ สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ช่วยสร้างเสริมและเป็นเกราะป้องกัน มีทักษะรับมือความผิดหวัง สูญเสีย มีความยืดหยุ่นทางจิตใจที่จะรับมือกับภาวะวิกฤตต่างๆ ได้ดีขึ้น

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการ สสส.

 

             ตัวอย่างการเปิดพื้นที่เล่นในการเยียวยาเด็กและผู้ใหญ่ อาทิ เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู พบว่าเวลาที่ผู้ใหญ่มีปัญหาจะเข้าไปพูดคุยกับนักจิตวิทยา แต่กับเด็กไม่ใช่วิธีการแบบนั้น สิ่งที่ Play Worker ทำ คือการเปิดพื้นที่เล่น ระหว่างที่เล่น เด็กก็อาจจะพูดหรือเล่าอะไรออกมา ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ แผลก็จะหายสนิท

 

             “เราอยากให้ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ทุกหย่อมบ้าน ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่ เด็กที่มีจำนวนเล่นต่อวันสูง จะมี Self-Regulation ที่จะสามารถกำกับตัวเองได้ ไม่ถูกอารมณ์บงการ เรามีความฝันที่อยากเห็นสังคมไทยมีพื้นที่เล่นให้กับเด็กๆ ไม่เกิน 15 นาที เด็กควรได้เข้าถึงพื้นที่นั้น และเพื่อให้เกิดสิ่งนั้นได้ คนแบบภาคีเครือข่ายต้องอยู่ในทุกพื้นที่ทุกชุมชน”  ณัฐยา กล่าว

 

             ทั้งนี้สิ่งที่อยากขับเคลื่อนต่อไป คือการยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านการเล่น หรือ Play Worker ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง สามารถสร้าง Play Worker ได้ทั้งในบุคลากรท้องถิ่น เช่น นักสันทนาการ กองการศึกษา หรือคนชุมชนเอง จะส่งเสริมการเล่นหรือพื้นที่เล่นให้เกิดได้ง่ายขึ้น

 

             สอดคล้องกับปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) ซึ่งได้ลงพื้นที่ทำงานในช่วงเกิดภาวะวิกฤต กล่าวว่า ในช่วงที่หลายปีที่ผ่านมา สภาวะวิกฤตที่เห็นชัดเจนคือการระบาดของโควิด-19 เด็กๆ ไม่สามารถออกจากบ้านไปเล่นตามปกติได้ กับอีกเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง อย่างกรณีกราดยิงศูนย์เด็กเล็กที่หนองบัวลำภู ที่ทำให้ครอบครัวห่วงเรื่องความปลอดภัย เก็บเด็กไว้ในบ้านอย่างชัดเจน ซึ่งกรมสุขภาพจิต ได้ทำงานร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ในการเข้าไปฟื้นฟูเยียวยา

 

             ส่วนเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ในขณะนั้นได้รวมกลุ่มคนทำงานเรื่องการเล่นและศิลปินในชุมชน เข้ามาจัดกิจกรรมฟื้นฟูเยียวยาให้กับผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จึงเข้าไปช่วยกันเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ออกมาเล่น ได้ระบาย ผู้ใหญ่ก็ได้ใช้พื้นที่นั้นในการค่อยๆ ฟื้นฟูจิตใจ เห็นได้ชัดว่าการเล่นช่วยคลี่คลายความตึงเครียดที่อยู่ในใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้

 

             “ในมุมมองคนทำงาน เรื่องเล่น ทำง่าย ถูก ไม่ยาก ไม่มีข้อจำกัด การเล่นเป็นวิถีที่ให้เด็กได้จินตนาการสร้างสรรค์ ที่ไหนก็เล่นได้ ใครก็ทำได้ เล่นกับอะไรก็ได้ แค่ต้องทำให้บ่อย ต่อเนื่อง นอกจากช่วยฟื้นคืนพลัง ทำให้เด็กก้าวข้ามผ่านวิกฤตได้เร็ว ฟื้นฟูผู้ใหญ่ไปในตัว ผู้ใหญ่ก็ได้เรียนรู้จักและเข้าใจเด็กมากขึ้น” ปรัชทิพากล่าว

 

             ด้านเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และสมาชิก IPA World ได้เล่าถึงสภาวะวิกฤตที่ส่งผลต่อเด็กว่ามีหลายรูปแบบ นับตั้งแต่วิกฤตระดับภัยธรรมชาติ วิกฤตที่มีขนาดเล็กลงมา เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า อาจทำให้เกิดการสูญเสียสภาวะที่ดีของเด็ก และวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของเด็ก อาจไม่เห็นความสูญเสียชัดเจน แต่ทำให้เกิดการทอดทิ้ง การละเลย หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิต ซึ่งล้วนมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็ก

 

             “แม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤต คนมักช่วยเหลือเรื่องอาหาร ที่พัก สิ่งเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้ช่วยไปที่เด็ก อยากให้องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้เห็นความสำคัญของการเล่น พอๆ กับอาหาร ที่พักอาศัย ซึ่งจริงๆ แล้วรูปแบบการเล่นมีอยู่หลายที่ แม้แต่การอยู่กับที่ เด็กก็สามารถเล่นผ่านจินตนาการได้ สิ่งสำคัญกว่านั้นคือโอกาสในการให้เขาได้เล่นอิสระ”  เข็มพรกล่าว

 

             แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ถ้า Talk Therapy ใช้กับผู้ใหญ่ การคุยกับเด็กก็ต้องทำผ่านการเล่น เวลาเกิดวิกฤตขึ้นมันจะมีผลกระทบทางใจ ก็ต้องปฐมพยาบาลทางใจ ตามหลักการ ‘รู้สึกปลอดภัย เชื่อมใจสัมพันธ์ ข้อมูลจำเป็น สงบ เย็น ผ่อนคลาย อยู่อย่างมีหวัง เติมพลังตนเอง’

 

             “สิ่งสำคัญที่เป็นความท้าทายคือต้องให้คนรอบตัวมี mindset ที่ดีต่อการเล่น จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงการเล่นได้ง่ายขึ้น เพราะการเชื่อมใจสัมพันธ์จะเกิดขึ้นตอนที่พ่อแม่เล่นกับเด็ก และเมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัย จะมองไปข้างหน้าต่อได้เลยว่าอยากทำอะไร อยู่อย่างมีหวัง เติมพลังให้ตัวเองได้ เด็กรู้สึกสงบสุขและปลอดภัยเมื่อไร นั่นคือเวลาที่ดีที่สุดในการฟื้นคืน เยียวยาตัวเอง ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากการเล่น”

 

             เหล่านี้คือเสียงสะท้อนของผู้ใหญ่ที่มองว่าการเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นทางออกสำคัญในการพาเด็กไทยก้าวข้าววิกฤตมิติต่างๆ เพื่อการเติบโตทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจอย่างเต็มศักยภาพ ตามแนวคิด “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” อันเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ไปจนถึงภาคประชาชน  ร่วมกันขับเคลื่อนงานต่อไป

การแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานด้านการเล่น

 

เวทีซักถาม

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ