“เล่นกลางแจ้ง” ช่วยพัฒนาการในเด็กเล็กได้อย่างดี: บทเรียนจากโรงเรียนในสหรัฐฯ

การพัฒนาการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของเด็กเล็กเป็นเป้าหมายหลักของโรงเรียนนานาชาติบริติชแห่งบอสตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือการศึกษานอร์ดแองเกลีย มีเด็กๆ อายุตั้งแต่ 18 เดือนถึง 18 ปี และมีผู้คนจากชนชาติต่างๆ กว่า 80 ชาติ

เด็กวัยเล็ก หรือที่เรามักเรียกว่า วัยเตาะแตะ ที่โรงเรียนนานาชาติบริติชแห่งบอสตันสามารถเข้าออกพื้นที่กลางแจ้งได้อย่างอิสระ เพราะโรงเรียนมุ่งเป้าสนับสนุนพัฒนาการทางกายของเด็กทุกมิติ

การทำงานกับเด็กที่อายุ 18 เดือนถึงสองขวบเก้าเดือน ทำให้โรงเรียนตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของเด็กๆ ทั้งสองอย่างสำคัญมากสำหรับการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ดี จึงได้ปรับสถานที่กลางแจ้งของโรงเรียนให้สามารถช่วยเด็กสร้างทักษะสำคัญทั้งสองอย่าง และได้ผลดีมาก

การพัฒนาพื้นที่กลางแจ้งของโรงเรียนแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อ Every Child a Mover (เด็กทุกคนชอบเคลื่อนไหว) ซึ่งทำให้เห็นว่าระบบปรับสมดุลการทรงตัวของเด็กเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมพัฒนาการด้านการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ได้ดีมาก

เพื่อพัฒนาระบบนี้ เด็กๆ ต้องมีโอกาสเคลื่อนไหวไปรอบๆ ในทิศทางต่างๆ โรงเรียนจึงปรับปรุงสวน เพื่อให้เด็กมีพื้นที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบอิสระ นอกจากสามารถเคลื่อนไหวไปกับไม้ลื่น เนินเล็กๆ และจักรยาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว  ยังมองหาวิธีใหม่ๆ และสร้างสรรค์เพื่อชวนให้เด็กๆ เคลื่อนไหวและพัฒนาการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของตนเอง

สร้างเนินให้เด็กปีน

โรงเรียนได้รับฐานรองสินค้าไม้หลายขนาดมา จึงฝังฐานรองอันหนึ่งเข้าไปที่ด้านข้างเนิน และเมื่อเติมอิฐสำหรับปีนเข้าไปสองสามก้อน ก็ทำให้เด็กๆ มีที่ทางสำหรับพัฒนาการทรงตัวของตนด้วยการปีนเนิน

เด็กชั้นเล็กที่สุดรักการใช้หินช่วยปีนขึ้นเนิน ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาจะชอบการเดินไปตามฐานรองโดยไม่ตกร่องไม้ ความคิดง่ายๆ นี้ช่วยพัฒนาทักษะการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ทั้งหมดของเด็กๆ

ทำทางวิบาก

ฐานรองไม้ถูกนำมาทำเป็นทางวิบากให้เด็กๆ เล่นด้วย ครูสังเกตว่าแม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ยังคิดเกมใหม่ๆ เพื่อท้าทายตัวเองได้ ทั้งที่ฐานรองบนพื้นก็ท้าทายพอสำหรับการพัฒนาทางกายและการทรงตัวของเด็กเล็กแล้ว ส่วนเด็กโตก็สามารถขยายขอบเขตความสามารถของตัวเองออกไปได้ด้วยการเพิ่มโจทย์ท้าทายของตัวเองขึ้นมา เช่น วางคานทรงตัวไว้ระหว่างฐานรองสองชิ้นหรือทำให้ฐานรองสูงขึ้น หรือตั้งฉากกัน

เด็กๆ จะคิดหาวิธีทำให้สิ่งกีดขวางบนทางวิบากยากขึ้นสำหรับตัวเอง เพื่อนๆ และครูตลอดเวลา โรงเรียนจึงพยายามปรับปรุงทางวิบากอยู่เป็นประจำ เพื่อให้เด็กๆ ตื่นเต้นเสมอ

ของเล่นเคลื่อนที่ได้

โรงเรียนพยายามจำกัดจำนวนของเล่น “อยู่กับที่” ในบริเวณกลางแจ้ง เพราะพบว่าของเล่นที่เด็กๆ เคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้มักจะถูกมองข้าม เด็กๆ ชอบการได้เล่นวัสดุต่างๆ ที่สามารถจัดวางได้หลายรูปแบบมากกว่า

เมื่อสังเกตเห็นว่าเด็กๆ ชอบกระโดดลงแอ่งน้ำโคลน จึงหาแทงค์น้ำมาให้ ซึ่งจะรองน้ำฝนจนเต็มทุกครั้งที่ฝนตก การวางถังไว้ข้างแทงค์กระตุ้นให้เด็กๆ ตักน้ำและขนไปที่แอ่งทราย

การหิ้วถังน้ำหนักๆ ไม่เพียงช่วยพัฒนาความแข็งแรงของเด็ก แต่ยังทำให้ได้ใช้ทักษะการประสานสัมพันธ์ เพื่อจะไม่ทำน้ำหก

พาเล่นลงเนิน

มีเนินแห่งหนึ่งห่างจากห้องเรียนไม่ไกล ซึ่งพวกเด็กๆ ชอบกลิ้งลงมามาก ครั้งแรกที่พาไปเนิน เด็กๆ ยังไม่กล้ากลิ้ง แค่เดินขึ้นๆ ลงๆ และนั่งไถลลงมา แต่เมื่อไปที่เนินบ่อยขึ้น เด็กๆ ได้พัฒนาสัมผัสด้านการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ในสวนบ่อยขึ้น พวกเด็กก็มั่นใจความสามารถในการเคลื่อนไหวของตัวเอง ตอนนี้เด็กๆ มั่นใจที่จะกลิ้งลงมาตามเนิน และชอบแข่งกันว่าใครจะกลิ้งเร็วที่สุด

ครูและผู้ดูแลต้องเปลี่ยนทัศนคติ

เมื่อมีการเปลี่ยนแผนปฏิบัติ แน่นอนว่าต้องมีปัญหาเรื่องความมั่นใจของผู้ปฏิบัติงาน การเปิดคลิปจากการประชุมด้านเด็กเล็กว่าด้วยพัฒนาการทางร่างกาย ช่วยให้ผู้ช่วยสอนในโรงเรียนเข้าใจความสำคัญและสาเหตุของการให้เด็กๆ เล่นกลางแจ้งได้

ครูและผู้ดูแลจำนวนมากมักเป็นพวก “หลีกเลี่ยงความเสี่ยง” โดยเฉพาะในเด็กที่เล็กมากๆ และเกี่ยวข้องกับการวิ่งเล่นกลางแจ้ง

โรงเรียนจึงเปลี่ยนแปลงภาษาที่ใช้กับเด็กๆ เวลาที่ให้เข้าร่วมการเล่นที่มีความเสี่ยง โดยพยายามพูดในแง่บวกมากขึ้น ให้เด็กได้รับผิดชอบความปลอดภัยของตัวเองมากขึ้น แทนที่จะพูดว่า “อย่าทำอย่างนั้น” หรือ “ครูว่ามันไม่ปลอดภัยนะ” ครูจะพูดว่า “เวลาเหยียบตรงไหนดูดีๆ ด้วย” “ตรงนั้นมั่นคงดีไหม” หรือ “ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ครูอยู่ตรงนี้นะ”

คำพูดแบบนี้ช่วยให้เด็กๆ มีอิสระในการเล่นและจัดการความเสี่ยงเอง แน่นอนต้องมีผู้ใหญ่หนึ่งคนอยู่กับเด็กเสมอ พวกเขาจะได้ไม่เจ็บตัวจริงๆ จังๆ แต่การปรับภาษาและส่งเสริมเด็กๆ จะมีประโยชน์ต่อความมั่นใจและความสามารถของพวกเขา

ผลที่ได้

ตั้งแต่เพิ่มโอกาสให้เด็กๆ เคลื่อนไหวในหลายทิศทาง ครูสังเกตเห็นพัฒนาการในทักษะทางการพูดของเด็กด้วย เพิ่มเติมจากความสามารถทางร่างกาย เมื่อมาส่งเด็กๆ ในตอนเช้า พ่อแม่เองก็ชอบดูว่ามีอะไรให้เด็กๆ เรียนรู้บ้าง และก็สังเกตเห็นเช่นกันว่าความสามารถทางกายของลูกๆ ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

เคล็ดลับในการออกแบบพื้นที่และกิจกรรมกลางแจ้ง

  • จำกัดจำนวนของเล่น “อยู่กับที่”  และให้มีชิ้นส่วนที่เด็กสามารถเคลื่อนย้ายได้เอง  เช่น ท่อพีวีซี ลัง ฐานรองไม้ และกล่อง
  • ทำทางวิบากชั่วคราวด้วยอุโมงค์ คานทรงตัว ลัง และห่วง
  • จัดหาถังน้ำชนิดต่างๆ ไว้ โดยมีหูหิ้วให้เด็กๆ เคลื่อนย้ายได้
  • ติดตั้งระบบรอกแบบง่าย ซึ่งงก็มีเพียงเชือก ต้นไม้ และถัง
  • พาเด็กเดินเล่น และกระตุ้นให้สำรวจสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ เนินเขา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ปีนป่ายและสำรวจด้วยตัวเอง
  • เป็นต้นแบบการเคลื่อนไหวไปตามทิศทางต่างๆ ให้เด็กเห็น เด็กจะตื่นเต้นอยากเข้าร่วมมากกว่า ถ้าเห็นครูพยายามและทำให้ดูก่อนว่าสนุกขนาดไหน

 

เรียบเรียงจาก Enabling Environments: Outdoors – In the balance

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ