“เลี้ยงเด็กเล็ก” ไม่ใช่เรื่องของครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคม “สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” จึงต้องเกิดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

                 “อนาคตของหนู อยู่ที่สวัสดิการถ้วนหน้า” คือคำขวัญที่คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า จำนวน 341 องค์กร ร่วมกันประกาศก้องในงานวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566

                 การจัดงานวันเด็กของคณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า  มีเป้าหมายที่มากกว่าการสร้างกิจกรรมและแจกของขวัญให้แก่เด็กที่มาร่วมงานเหมือนเช่นงานวันเด็กที่จัดกันทั่วไป รวมทั้งการเลือกมาจัดงานที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็กใน 6 ชุมชนใกล้เคียงมาร่วมงาน ก็เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและได้รับรู้ถึงข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อชีวิตของครอบครัว นั่นคือ ระบบสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า โดยมีข้อเสนอให้รัฐเพิ่มเงินอุดหนุนให้เด็กเล็กทุกคนจากเดิม 600 บาท เป็น 3,000 บาท เพื่อให้ถ้วนหน้าและเท่าเทียม

เพื่อระบบสวัสดิการที่สมบูรณ์ของสังคมไทย

ต้องให้ “ถ้วนหน้า” แก่เด็กเล็กด้วย

                 ประเทศไทยมีการผลักดันในเรื่องสวัสดิการมายาวนานจนเกิดเป็นหลักการที่ยอมรับและรู้จักกันดีกับคำว่า “สวัสดิการถ้วนหน้า” เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ บริการสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งสวัสดิการที่ให้แก่คนกลุ่มเหล่านี้ไม่มีเงื่อนไขในการตรวจสอบเรื่องรายได้ จึงได้รับการยอมรับว่า “ถ้วนหน้า” จริง

                 แต่เมื่อมาถึงกลุ่มเด็กเล็ก กระบวนการคัดกรองตรวจสอบความยากจนที่ยุ่งยาก ส่งผลให้เด็กไทยอายุ 0-6 ขวบที่มีอยู่ประมาณ 4.2 ล้านคน  ได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กจากรัฐ 600 บาทต่อเดือน มีจำนวนเพียงประมาณ 2 ล้านคน ทั้งที่สังคมตระหนักดีว่าการดูแลและพัฒนาเด็กในวัย 0-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับชีวิต เพราะวัยนี้คือต้นทางที่จะส่งผลต่อการเติบโตทุกด้าน แต่กลับละเลยการให้คุณค่าต่อครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เพราะรัฐใช้แนวคิดสงเคราะห์คนจน กลายเป็นจุดอ่อนและเป็นช่องโหว่ของระบบสวัสดิการพื้นฐานในสังคมไทย

                 ทั้งที่การคุ้มครองทางสังคมพื้นฐานแบบถ้วนหน้า เป็นสิทธิและสวัสดิการของเด็กทุกคน คณะทำงานฯ จึงร่วมกันผลักดันเพื่อให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสวัสดิการ โดยไม่ปนเปสับสนระหว่างนโยบายการสร้างความคุ้มครองทางสังคมในเรื่องสิทธิและสวัสดิการกับมาตรการพิเศษในนโยบายเพื่อคนจน

ลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยเงินอุดหนุน 3,000 บาทต่อเดือน

ต้องให้เด็กเล็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย

                 คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าทำงานเพื่อผลักดันให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559  จนถึงปัจจุบัน และพบว่ารัฐมีการกำหนดให้เงินอุดหนุนเฉพาะกลุ่มเป้าหมายในครอบครัวยากจนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ทั้งที่มีมติจากคณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหลายกระทรวงเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เห็นชอบให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าทุกคนมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 แต่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่จัดสรรเงินก้อนนี้ให้ ส่งผลให้เด็กเล็กอายุ 0-6 ปี ได้รับเงินอุดหนุนไม่ครบถ้วน เพราะได้รับเพียง 2.2 ล้านคน จาก 4 ล้านคน

                 ข้อเรียกร้องในการให้รัฐเพิ่มเงินอุดหนุน จาก 600 บาท เป็น 3,000 บาท ต่อเดือน และให้กับเด็กเล็กทุกคน มาจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) ที่พบว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ทั้งค่านม ค่าอาหาร เสื้อผ้า ค่าเดินทาง  ท่องเที่ยว และค่าของเล่นเพื่อการเรียนรู้ รวมทั้งการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่แออัดนั้น ครัวเรือนต้องมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,373 บาทต่อเดือน  ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พบว่า เด็กเล็ก 0-6 ปี ซึ่งมีอยู่กว่า 4.2 ล้านคนในประเทศ มีโอกาสได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการเข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลที่รัฐสนับสนุนครูพี่เลี้ยง และอาหารกลางวัน รวมทั้งนม มีอยู่เพียง 2.4 ล้านคน ทำให้เด็กเล็กจำนวนมากขาดโอกาสในการได้รับการพัฒนาและการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ

3 ข้อเสนอจากคณะทำงานและภาคีเครือข่ายเนื่องในวันเด็ก 2566

                 ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดงานวันเด็กภายใต้คำขวัญ  “อนาคตของหนู อยู่ที่สวัสดิการถ้วนหน้า”  ซึ่งคณะทำงานฯ เลือกใช้สถานที่จัดงานคือ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน และมีภาคีเครือข่ายร่วมจัดอีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ สหภาพแรงงานการรถไฟ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงาน

                 ในการจัดงาน นอกเหนือจากการจัดซุ้มกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กหลากหลายวัยได้มาเล่น เช่น ต่อเลโก อ่านนิทาน ปั้นดินน้ำมัน วาดภาพระบายสี และจับฉลากแจกของขวัญตามธรรมเนียมปฏิบัติของการจัดงานวันเด็กแล้ว  คณะทำงานฯ ร่วมกับภาคี ได้ถือโอกาสเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2566 ประกาศข้อเสนอต่อรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้

1. เด็กเล็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าและเท่าเทียม ได้รับการคุ้มครองทางสังคมจากรัฐ เพื่อการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ – อายุ 6 ปี

2. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาทต่อเดือนตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ – อายุ 6 ปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นขั้นพื้นฐานในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก

3. รัฐต้องมีนโยบายจริงจังในการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกรุงเทพมหานคร ในการรับผิดชอบจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ทั้งเงินอุดหนุนเด็กเล็ก การจัดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ทั่วถึง และพัฒนานโยบายให้สามารถรับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน โดยมีความหลากหลายสอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำงานของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ