เลี้ยงดูลูกในยุคดิจิทัล โดยอ้างอิงผลการวิจัย
แม้จะยังไม่มีการตีพิมพ์งานวิจัยหลักว่านักเรียนใช้เวลาออนไลน์ในช่วงโควิด-19 มากขนาดไหน คำตอบของครอบครัวส่วนใหญ่เมื่อถูกบอกว่า “อย่าใช้หน้าจอเด็ดขาด” นั้น พบว่าทำไม่ได้จริงในยุคแห่งการเว้นระยะห่างทางสังคม การออกคำสั่งให้อยู่บ้าน การใช้เวลาเรียนออนไลน์มากกว่าการกลับไปหาชั้นเรียน ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองได้ว่าจะดูแลลูกให้ดีได้อย่างไรในยุคดิจิทัล เพื่อให้เวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอได้ผลทั้งการเรียนรู้ และสุขภาพที่ดีต่อร่างกาย
ต่อไปนี้คือแนวคิดสำหรับพ่อแม่ที่นำมาจากผลการวิจัย
เวลาหน้าจอเป็นเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ขณะที่เด็กใช้โปรแกรมประชุม โปรแกรมสนทนา หรือว่าเล่นแอพติ๊กต๊อกเพื่อให้ผ่านปีการศึกษาที่ถูกโรคระบาดทำร้าย ความคิดที่ว่าเราควรต้องจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์ต่างๆ อย่างเข้มงวด จึงทำได้ยาก (ตัวพ่อแม่เองวางโทรศัพท์ลงได้หรือเปล่า)
ผลการวิจัยบอกเราว่าเวลาที่เด็กใช้ไปกับหน้าจอ ไม่สำคัญเท่ากับว่าพวกเขาทำอะไรตอนออนไลน์ แน่นอน ต้องไม่ลืมว่ากฎจำกัดเวลาหน้าจอที่บ้านก็ต่างกันไปตามอายุด้วย สถาบันกุมารแพทย์อเมริกันบอกว่าไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ดีพอสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ จะใช้เวลาอยู่หน้าจอเลย แถมยังมีโทษอีกด้วย สมาคมและนักวิจัยอื่นๆ พบผลเสียระยะยาวของการใช้เวลาหน้าจอมากเกินไปตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ ทั้งด้านพัฒนาการทางภาษา ความสามารถด้านการอ่านและความจำระยะสั้น ข้อยกเว้นเพียงอย่างเดียวที่เราอาจยอมให้เจ้าตัวเล็กทำได้ผ่านหน้าจอคือ การติดต่อกับปู่ย่าตายายหรือญาติทางโปรแกรมเฟซไทม์หรือซูม แต่สำหรับเด็กโตโดยเฉพาะวัยรุ่น เราไม่อาจจำกัดเวลาหน้าจอของเด็กวัยนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งผลการวิจัยและประสบการณ์บอกเราว่าพวกเขาไม่สนใจข้อห้ามเรื่องนี้ และหาทางหลบเลี่ยงความพยายามที่จะควบคุมพวกเขา พร้อมกับทำลายความไว้ใจที่เขามีให้คุณ และความสัมพันธ์ที่แข็งแรงของพวกคุณไปด้วย
สอนเด็กอย่างจริงจังถึงเรื่องการเคารพความเป็นส่วนตัว
พ่อแม่ ผู้ใหญ่ต้องแสดงให้เด็กวิธีการเคารพความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูลให้มากกว่าที่ทำอยู่ตอนนี้ แล้วพูดคุยเรื่องนี้กับลูก ทางที่ดีที่สุดคือเริ่มคุยก่อนพวกเขาย่างเข้าวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่พวกเขาจะเริ่มใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นประจำ ไม่ว่าจะด้วยโทรศัพท์มือถือ หรือด้วยเครื่องมืออื่นทั้งนอกและในบ้าน
จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า การฝึกฝนเรื่องการเคารพความเป็นส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอช่วยให้เด็กพัฒนานิสัยปกป้องข้อมูลส่วนตัวได้ เราไม่อาจหวังพึ่งโรงเรียนอย่างเดียวให้สอนทักษะและนิสัยด้านข้อมูลที่เด็กจำเป็นต้องมี เพราะมีเครื่องมือสอนที่เน้นเรื่องข้อมูลนี้ให้อ่านฟรีตามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเยาวชนและสื่อ
เด็กๆ มักทำผิดพลาดเมื่อเป็นเรื่องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองออนไลน์มากเกินไป เช่น บางคนไม่คิดถึงผลกระทบระยะยาวมากพอ เมื่อเผยแพร่ภาพของตัวเองบางภาพ หรือเข้าไปร่วมถกเถียงเรื่องที่อาจทำให้คนอื่นเจ็บปวด แต่ผลการวิจัยชี้ว่าพวกเขามีแนวโน้มจะมีทักษะรับมือที่ดีกว่าและฉลาดกว่าที่คุณคิด เมื่อเป็นเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม เราสังเกตเห็นความสามารถของนักเรียนในการเรียนรู้และสอนวิธีสื่อสารออนไลน์อย่างฉลาดโดยไม่สร้างปัญหาระยะยาวให้ตัวเองหรือเพื่อนให้กันและกัน สำคัญมากที่คุณและเด็กต้องเข้าใจตรงกันในเรื่องนี้ แบ่งปันเคล็ดลับและวิธีการไปพร้อมกับการร่วมกันสำรวจโลกใหม่แห่งสื่อสังคมออนไลน์ เกม และแอพพลิเคชั่นกระหายข้อมูลตัวใหม่ทุกครั้ง
ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะด้านความปลอดภัย แต่อย่าให้ความกลัวนำทาง
อันตรายที่เยาวชนรายงานบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นและก่อนวัยรุ่น จะเกี่ยวพันกับการบูลลี่ ออนไลน์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการบูลลี่ในโลกจริงแทบจะทั้งหมด วัยรุ่นที่ถูกบูลลี่ในโลกจริงรวมถึงเยาวชน LGBTQIA+ และเด็กที่มีความพิการ เด็กชนกลุ่มน้อย ต่างมีโอกาสถูกบูลลี่ออนไลน์เช่นกัน การแพร่หลายของการบูลลี่ในอินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็มากพอจะกล่าวได้ว่าความเสี่ยงทางจิตวิทยามีอยู่จริง และแทบจะผูกติดกับการปฏิบัติต่อกันในโลกจริง น้อยครั้งมากที่จะหยุดอยู่แค่ “ไซเบอร์บูลลี่” ผลการวิจัยของดาน่าห์ บอยด์แห่งดาต้าแอนด์โซไซเอตี้ และงานวิจัยอื่นๆ ระบุว่าคำว่า “บูลลี่” นั้นเหมาะกว่าในความหมายที่ว่าอันตรายทางจิตวิทยานั้นมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นข้ามสื่อ เวลา และสถานที่
คุณอาจคิดถึงการตั้งกฎง่ายๆ ประจำครอบครัวให้ทุกคนทำตาม หนึ่งในกติกาเหล่านั้นคือไม่ใช้เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์จนกว่าจะถึงอายุสมควร เช่น 18 ปีขึ้นไป) และด้วยความที่เรารู้ว่าคนที่ถูกบูลลี่มีแนวโน้มจะบูลลี่คนอื่น จึงต้องปลูกฝังความเมตตา เห็นอกเห็นใจคนอื่นให้เป็นคุณค่าประจำครอบครัวอย่างแข็งแรง หาวิธีฝึกใช้คุณค่านี้ทั้งในการติดต่อสื่อสารทั้งออนไลน์และในโลกจริงทุกชนิด
ทำทีละอย่าง การทำหลายอย่างพร้อมกันเป็นไปไม่ได้
ในเมื่อเด็กมากมายโตขึ้นมากับการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ วันละนานๆ ทุกวัน พอพวกเขาอยู่ชั้นมัธยม ก็เลยมักคิดว่าสามารถทำหลายอย่างพร้อมกันได้ แต่มนุษย์ทำอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้ ตามที่นักวิจัยของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน และนักวิจัยอื่นๆ บอกมาตลอดหลายปี สิ่งที่พวกเขาทำจริงๆ คือสลับงานไปมาอย่างรวดเร็ว แต่เด็กที่กำลังทำการบ้านนั้นควรมีสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่พยายามทำหลายอย่างพร้อมกัน
ปิดหน้าจอหนึ่งชั่วโมงก่อนเวลานอน
นักวิทยาศาสตร์การนอนหลับ เช่น แมรี คาร์สคาดอน แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ กล่าวว่าวัยรุ่นควรจะได้นอนเก้าชั่วโมงสิบห้านาทีทุกคืน แต่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่เป็นไปตามนี้คือการใช้งานหน้าจอจนดึกดื่น วิธีง่ายๆ คือตั้งกฎให้ปิดหน้าจออย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ลองสักครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
เก็บหน้าจอออกไประหว่างทำการบ้านและเวลานอน
เรารู้ว่าผู้เรียนตั้งแต่อายุน้อยที่สุดจนถึงมัธยมปลายจะเสียสมาธิเวลามีจออยู่ตรงหน้า และถ้าพูดกันจริงๆ พวกเราก็เป็นกันทุกคน ไม่ว่าจะเด็กหรือแก่ ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะคนออกแบบสื่อสังคมออนไลน์และเกมออนไลน์ใช้ผลการวิจัยทางจิตวิทยาเพื่อประกันว่าบริการของพวกเขาจะตรึงความสนใจของเราไว้ได้
เมื่อไหร่ที่การเรียนไม่ต้องใช้หน้าจอ ให้เก็บเครื่องมือสื่อสารทั้งหมดให้พ้นสายตาตอนทำการบ้านหรือสอนกันตัวต่อตัว เมื่อพบกันในห้องเรียนจริง ครูควรขอให้นักเรียนทั้งหมดปิดโทรศัพท์ แล้วเอามาวางในตะกร้าให้พ้นสายตา ซึ่งนั่นเป็นไปไม่ได้ในการเรียนออนไลน์ แต่ก็อาจเป็นเคล็ดลับที่ดีสำหรับนักเรียนทุกช่วงวัย ที่ควรวางโทรศัพท์ไว้ในลิ้นชักหรือที่อื่นที่พ้นสายตา ระหว่างทำการบ้าน
เด็กเรียนรู้จากการเล่นเกมได้จริง
พ่อแม่มากมายบอกว่ากังวลเรื่องผลกระทบต่อชีวิตเด็กของเกมออนไลน์ ถึงอย่างไรงานวิจัยส่วนใหญ่ก็บอกว่าเยาวชนกว่าร้อยละ 90 ทั้งสองเพศ และอายุตั้งแต่เลขตัวเดียวไปถึงวัยรุ่น เล่นเกมออนไลน์มากน้อยต่างกันไป
แน่นอนว่าสำหรับเยาวชนบางคน การเล่นเกมอาจเป็นความหลงใหลที่กินเวลาจนผลักกิจกรรมอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าออกไป แต่ผลการศึกษาก็ยังบ่งบอกอยู่ตลอดว่าความกลัวเรื่องการเล่นเกมออนไลน์ถูกปั่นกระแสเกินจริง มีหลักฐานน้อยมากที่จะมายืนยันข้ออ้างที่พบบ่อยๆ ว่าเยาวชนจะก้าวร้าวขึ้นหรือเมตตาต่อกันน้อยลง ซึ่งเป็นข้อหาที่คนรุ่นนี้มักจะถูกกล่าวหา ส่วนหลักที่งานวิจัยที่บอกว่าคำพูดนี้มีความเป็นจริงอยู่บ้าง คือในเกมและสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศและรุนแรง ซึ่งทำให้เด็กผู้ชายมีพฤติกรรมทางเพศที่ก้าวร้าวขึ้น
ตรงกันข้าม เกมสามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้ได้ทั้งในด้านความคิด สังคม และอารมณ์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยา ในปี 2015 โดยเกรกอรี ดี. คลีเมนซัน และเคร็ก อี.แอล. สตาร์ค บ่งชี้ว่านักเล่นเกมสามมิติที่ซับซ้อนจะพัฒนาความจำขึ้นในการทดสอบที่ยาก การออกแบบคอมพิวเตอร์และโจทย์ด้านการเขียนโปรแกรมทำให้เกิดการเรียนรู้ในทางบวกหลายด้านในเยาวชนที่ใช้โปรแกรม Scratch (ระบบเรียนรู้ที่ออกแบบโดยแล็บข้อมูลของเอ็มไอที สำหรับเด็กอายุ 8 ถึง 16 ปี) จนถึงนักเรียนอายุมากกว่าที่ทำโจทย์ซับซ้อนขึ้น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2019 โดยยีมายา เจ. ฮอลบรูค และคณะ แสดงให้เห็นผลดีทางสังคมและอารมณ์มากมายจากการเล่นเกม โดยศึกษาจากเด็กวัยเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์กับเยาวชนอื่นๆ และเมื่อร่วมกับกิจกรรมทางกายอื่นๆ
เด็กชอบมีส่วนร่วมทางสังคมผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ
บางคนอาจคิดว่าเด็กสมัยนี้เฉยชาเรื่องการเมือง พ่อแม่บางคนกังวลเรื่องอัตราการออกเสียงเลือกตั้งที่ลดลงในหมู่เยาวชน คนมักโทษความคิดเรื่อง “คลิกเปลี่ยนโลก” ที่เยาวชนคลิก “ชอบ” เพจสักเพจ แล้วคิดว่าทำหน้าที่ช่วยสังคมเรียบร้อยแล้ว
ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้วยการลงมือของเด็กๆ เครื่องมือดิจิทัลสามารถเป็นส่วนสำคัญของเยาวชนในการเข้าไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยเฉพาะในโรงเรียนมัธยมปลาย มีงานวิจัยยืนยันอย่างต่อเนื่องว่าการมีส่วนร่วมทางสังคมในวงกว้างนั้นเพิ่มขึ้น เช่น สถาบันวิจัยการศึกษาระดับสูงของยูซีแอลเอ พบว่าการมีส่วนร่วมในชุมชนขึ้นถึงจุดสูงสุดตั้งแต่เคยมีมา งานวิจัยเดียวกันยังแสดงว่าการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นแอฟริกันอเมริกันและละตินในโรงเรียนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ธรรมชาติของการมีส่วนร่วมพวกนี้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย เด็กสมัยนี้มีแนวโน้มจะทำงานอาสา ร่วมเดินขบวน หรือเริ่มต้นอะไรของตัวเองออนไลน์ ในเวลาเดียวกัน ก็มีแนวโน้มจะเชื่อถือและลงทุนลงแรงกับสถาบันแบบอดีต และเข้าร่วมกิจกรรมตาม “หน้าที่พลเมือง” หัวข้อแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นทั่วโลกตามที่ยูนิเซฟและองค์กรอื่นๆ รายงาน
พักบ้าง! กระโดดตบ เดินเล่น ช่วงเวลาปลอดหน้าจอ
เมื่อเด็กผูกติดกับหน้าจอเพื่อทำเรื่องสนุก มีส่วนร่วมทางสังคม ทำการบ้าน และบ่อยครั้งก็เรียนหนังสือช่วงโรคระบาด ความจำเป็นต้องให้พวกเขาขยับเคลื่อนไหวก็ยิ่งมากขึ้น ในช่วงพักระหว่างการเรียนในโปรแกรมซูม ลองกระตุ้นให้พวกเขากระโดดตบ เต้นกับเพลงหนังอินเดีย หรือไปเดินเล่นแถวบ้านหรือในสวน
เรื่องแบบนี้จะต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่เวลาที่ปลอดเครื่องมือสื่อสารก็จำเป็น ต่อให้เราเริ่มด้วยการพูดว่าอย่าเครียดมากนักเรื่องจำนวนเวลาหน้าจอ แต่ความสำคัญของการเชื่อมต่อในโลกภายนอกและพักจากหน้าจอก็สูงมากในตอนนี้ และยังเป็นวิธีที่ดีที่จะเปรียบเทียบดูว่าคุณเองก็ใช้เวลาออนไลน์มากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งนั่นก็นำเรามาสู่เคล็ดลับสุดท้าย ซึ่งอาจสำคัญที่สุด คือ การที่ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบ
ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบ
ไม่ต้องอาศัยงานวิจัยก็รู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำสำคัญกับลูกมาก สำนวนที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” เกี่ยวข้องกับการที่ลูกๆ เฝ้าดูคุณมากพอๆ กับกรรมพันธุ์ เด็กเฝ้าดูผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ ถ้าคุณบอกเด็กให้ระวังข้อมูลส่วนตัว แต่ตัวคุณเองกลับแจกจ่ายไว้บนหน้าเฟซหรือแอพหาคู่ พวกเขาจะต้องรู้อย่างแน่นอน ถ้าคุณบอกให้พวกเขาจำกัดเวลาใช้เครื่อง และออกไปเล่นข้างนอกบ้าง คุณก็ไม่ควรเล่นเกมบนโทรศัพท์อยู่ตอนพูด ไม่มีอะไรสำคัญต่อการชี้แนะและสนับสนุนลูกด้านนิสัยดิจิทัลเท่ากับการกระทำของคุณอีกแล้ว
เรียบเรียงจาก Ten Research-Backed Tips on Parenting in a Digital Era