เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน สภาเด็กฯ เขาพระงาม สู่ตำบลต้นแบบ
จากเสียงของเด็กที่เคยไร้พลังในวันนั้น สู่ต้นแบบด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนในวันนี้ นี่คือความเปลี่ยนแปลงของ สภาเด็กและเยาวชน เทศบาลตำบลเขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี ที่หากย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เด็กและเยาวชนในชุมชนรวมกว่า 10,000 คน ไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน พวกเขาต่างคนต่างคิด และเก็บซ่อนพลังคนรุ่นใหม่ไว้ กระทั่งเกิดการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลเขาพระงาม จึงเกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งขึ้น
สภาเด็กและเยาวชน เทศบาลตำบลเขาพระงาม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้มีสภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ อันเป็นความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY)
แต่สภาเด็กและเยาวชนเขาพระงาม ไม่ได้มีการจัดตั้งตามหน้าที่เท่านั้น แต่ยังดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หลังเทศบาลตำบลเขาพระงาม ตั้งคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบล (กดยต.)
และได้รับความร่วมมือจากมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) มาเป็นทีมพี่เลี้ยงช่วยดำเนินงาน ชักชวนเยาวชนในท้องที่มาร่วมกิจกรรมในชุมชน ต่อยอดสู่การทำงานในฐานะสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน เกิดโครงการพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสภาเด็กและเยาวชน
สภาเด็กและเยาวชนเขาพระงาม ดำเนินงานตามระบบสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชน หรือที่รู้จักกันว่า 6+1 คือ
1.การมีแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบลบรรจุกิจกรรมหรือโครงการเด็กไว้ในเทศบัญญัติ
2.จัดสรรพื้นที่ทำงานสำหรับเด็ก ด้วยศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน
3.จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบล (กดยต.)
4.การใช้ต้นทุนชุมชน ทรัพยากร ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม
5.มีฐานข้อมูลเด็กและเยาวชน เก็บข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนรายปี
6.สร้างกองทุนคนรุ่นใหม่ หารายได้เพื่อนำมาทำกิจกรรม
และ +1 การพัฒนานวัตกรรมของตนเอง ทั้งหมดนี้เกิดจากการความร่วมมือของทั้งเด็กและเยาวชน เทศบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน หัวใจสำคัญคือการให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการส่งเสียง สะท้อนปัญหา มีส่วนร่วมออกแบบนโยบายแก้ไขปัญหาในชุมชน เพื่อสร้างท้องถิ่นแห่งอนาคต
ญาณิกา เหลี่ยมวัฒนกุล นักพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลเขาพระงาม หรือ พี่แอม พี่เลี้ยงของน้อง ๆ กล่าวว่า เดิมสภาเด็กและเยาวชนตำบลเขาพระงามยังไม่มีความเข้มแข็ง แต่เมื่อเกิดการรวมกลุ่มชักชวนเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมทำงานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีแกนนำในการดำเนินกิจกรรมโครงการและนวัตกรรมต่าง ๆ ราว 15 คน เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ส่วนผู้ใหญ่เป็นฝ่ายสนับสนุน ตามหลัก “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”
“การดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนเขาพระงาม เกิดจากการที่ทางเทศบาลและผู้บริหารให้ความสำคัญกับสภาเด็กฯ ตั้งแต่ต้น ในช่วงแรกเรายังไม่มีเด็กมาเข้าร่วมก็ค่อย ๆ สร้างการรับรู้ว่ามีสภาเด็กที่พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมได้ จนเกิดกิจกรรมและนวัตกรรมที่มาจากความคิดของเด็ก 100 % โดยมีผู้ใหญ่ใจดี มีภาคเอกชน ภาคประชาชน คอยช่วยหนุนเสริม เราไม่ดับฝันเด็ก ทำให้เห็นว่าเสียงของพวกเขามีความหมาย” ญาณิกากล่าว
ระดมทุนหนุน “Make My Dream”
การดำเนินกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชน นอกจากมีทรัพยากรบุคคล แรงหนุนจากเทศบาลแล้ว ยังต้องอาศัยเงินทุนในการขับเคลื่อน สภาเด็กและเยาวชนเขาพระงามจึงจัดตั้งกองทุนคนรุ่นใหม่ในชื่อ “Make My Dream เด็กเท่ เด็กทำ” เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านการจัดหาแหล่งเงินทุน มีการตั้งกฎระเบียบข้อบังคับ การตั้งประธานคณะกรรมการกองทุน ร่างระเบียบกองทุนต่าง ๆ โดยเก็บค่าสมาชิกคนละ 20 บาทเพื่อเป็นทุนเริ่มต้น
จากนั้นหาเงินเข้ากองทุน ที่สมาชิกในกลุ่มร่วมกันออกความเห็น เสนอแนวคิดการจำหน่ายสเปรย์แอลกอฮอล์กากเพชรเพื่อจำหน่ายเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างด้วยการใส่ผงกากเพชรลงไป จำหน่ายผ่านหลายช่องทาง ทั้งหน้าร้านกาแฟ เดินขายที่โรงเรียน และทางโซเชียลมีเดียของเด็กและเยาวชนด้วย
ผลกำไรจะนำเงินเข้ามาหมุนเวียนในกองทุน ใช้เพื่อการสนับสนุนการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับคนในชุมชน การช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ การจัดอบรมสร้างอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อต่อยอดกองทุนต่อไป เมื่อสมาชิกต้องการนำเงินไปใช้ประโยชน์จะต้องกรอกแบบฟอร์มการขอทุน พร้อมแนบเอกสารและส่งหลักฐานการใช้เงินภายใน 15 วันนับจากสิ้นโครงการ
“จอดไหนใสใจเด้อ”
วัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน คือการสร้างนวัตกรรมทางสังคม สภาเด็กและเยาวชนเขาพระงามได้สร้างนวัตกรรม “จอดไหนใส่ใจเด้อ” หนึ่งนวัตกรรมที่เด็กและเยาวชนในชุมชนเขาพระงามได้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด เริ่มจากการเล็งเห็นถึงปัญหาของตำบลที่มีตลาดสด บริเวณแยกไฟแดง มีรถจอดบนถนนอย่างไม่เป็นระเบียบจำนวนมาก กีดขวางการจราจรและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัญหาที่กระทบต่อทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป
สมาชิกสภาเด็กฯ นำเสนอประเด็นปัญหาในที่ประชุม รวบรวมข้อมูลไปปรึกษาผู้ใหญ่บ้าน หาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ หมวดทางหลวงเขาพระงาม เพื่อตีเส้นแบ่งการจราจร มีการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายโดยใช้เสียงเด็กและเยาวชนให้มีความสนใจในการรณรงค์ระเบียบวินัยทางจราจร การจัดทำข้อความสร้างสรรค์ให้คนใช้รถใช้ถนนอ่านและคิดก่อนจอด การเดินรณรงค์และแจกถุงผ้าแก่คนในชุมชน ในชื่อ “หนึ่งคำสัญญา แลกกระเป๋าผ้าหนึ่งใบ” เพื่อเป็นสัญญาใจว่าจะมีวินัยในการจอดรถ นวัตกรรมดังกล่าวก็ได้รับการตอบรับจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี เนื่องจากเล็งเห็นถึงความตั้งใจของเด็กและเยาวชน
ลิงจั๊ก ๆ รักลิงนะ แต่ต้องวางแผน
นอกจากปัญหาการจราจรแล้ว บริบทพื้นที่ตำบลเขาพระงาม ยังเป็นพื้นที่ที่มีลิงอาศัยอยู่ชุกชุม โดยเฉพาะบริเวณภูเขา แม้ลิงจะเป็นสัตว์ที่เป็นเหมือนภาพจำของจังหวัดลพบุรีไปแล้ว แต่หลายครั้งที่สัตว์แสนรู้นี้ลงมาหาแหล่งอาหารในชุมชน และสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวบ้าน เด็กและเยาวชนตำบลเขาพระงามหลายรุ่นเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ พวกเขาจึงมองหาแนวทางการด้วยการผลิตอาหารลิงสำเร็จรูป และนำไปวางตามจุดให้อาหารลิง อาทิ บริเวณวัดเขาพระงาม เพื่อให้ลิงกินอาหารเป็นที่ ไม่ต้องลงมาหาอาหารจากชุมชน
รวมถึงมีการขอความร่วมมือไปยังปศุสัตว์ เกิดการทำหมันลิง ควบคุมปริมาณลิงไม่ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งสัตวแพทย์ในชุมชนก็ทยอยดำเนินการทำหมันลิงให้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
พวกหนูว่าดี Happy Creator
ไม่เพียงแค่คิดนวัตกรรมจากปัญหาภายใสชุมชนเท่านั้น แต่นวัตกรรมใหม่ล่าสุดอย่าง Happy Creator นั้นเกิดจากการสำรวจความเห็นของเด็กและเยาวชนในพื้นที่พบว่าชื่นชอบการเล่นเกมและใช้โซเชียลมีเดีย จึงต้องการต่อยอดความชอบดังกล่าว ปรึกษาผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการทำสื่อ มาช่วยสอนเทคนิคการทำสื่อออนไลน์ การถ่ายทำคลิปวิดีโอ การตัดต่อ จนสามารถถ่ายทำและตัดต่อคลิปวิดีโอ เพื่อเผยแพร่ในแฟนเพจ “สวัสดีเขาพระงาม” ได้ด้วยความสามารถของพวกเขาเอง
เพ็ชรรัตน์ โพธิ์แสง ประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลเขาพระงาม หรือ น้องบิ๊ก กล่าวว่านวัตกรรมทั้ง 3 ส่วนนั้น เป็นโครงการที่เขาและแกนนำสภาเด็กและเยาวชนเขาพระงามเล็งเห็นถึงปัญหาในชุมชน มีการรับฟังเสียงของสมาชิก เด็กและเยาวชน เพื่อนำปัญหามาขบคิด หาแนวทางแก้ไข ทำงานร่วมกัน รวมถึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ทำงานอย่างจริงจัง จนได้รับผลตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี
“การทำงานในสภาเด็กทำให้เราได้แสดงความคิดเห็น สะท้อนมุมมองของพวกเราออกไป อย่างนวัตกรรมที่เห็นผลชัดเจนและเป็นความภูมิใจของพวกเราคือ จอดไหนใส่ใจเด้อ ที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้คนในชุมชนเห็นถึงความตั้งใจแก้ไขปัญหาการจราจรของพวกเรา หรืออย่าง การบริหารจัดการลิง ก็เป็นอีกปัญหาที่เด็กหลายรุ่นคิดเห็นตรงกันว่าอยากให้ลิงมีอาหารสำเร็จรูปกิน หรือมีจุดให้อาหาร ทั้งเพื่อให้ลิงไม่ต้องลงมารบกวนชาวบ้าน และยังเป็นจุดท่องเที่ยวได้ ส่วน Happy creator ก็เป็นโครงการใหม่ ที่เราไปสำรวจความชอบของสมาชิกและเด็กในชุมชน เอามาต่อยอดเป็นนวัตกรรมของเราได้ครับ” เพ็ชรรัตน์กล่าว
ดูให้รู้ ทำให้เห็น สู่การเป็นตำบลต้นแบบ
ความเข้มแข็งทั้งด้านความร่วมมือร่วมใจของหลายฝ่าย มีการประชุมประชาคม การใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม การหาแหล่งเงินทุน และมีนวัตกรรมของตนเอง ทำให้สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลเขาพระงามมีศักยภาพพัฒนาสู่การเป็น ตำบลต้นแบบด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนได้
เกิดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูงาน ตำบลต้นแบบบด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด้กและเยาวชน ณ เทศศาลตำบลเขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2565 มีเด็กและเยาวชนจาก สภาเด็กและเยาวชนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 8 พื้นที่ทั่วประเทศมาศึกษาดูงาน ทั้งการเรียนรู้แนวทางการพัฒนาการทุนคนรุ่นใหม่ การสร้างสรรค์นวัตกรรมตามบริบทของพื้นที่ และถอดแนวคิดการดำเนินงาน
ด้วยรูปแบบกิจกรรมที่หลากลหลายผ่านการพูดคุย ฟังบรรยาย ลงมือทำ และการเล่น อาทิ การทดลองทำผลิตภัณฑ์สเปรย์แอลกอฮอล์ที่เป็นสินค้าจากโครงการกองทุนคนรุ่นใหม่ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษาดูงานโคกหนองนาโมเดล ที่โรงเรียนอนุบาลเขาพระงาม จากความร่วมมือของชุมชน หน่วยงานราชการและสภาเด็กที่จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง มีการแบ่งกลุ่มเพาะชำต้นกล้าผักสวนครัวต่าง ๆ ที่จะนำไปปลูกลงดินต่อไป
กิจกรรมแรลลีที่วัดเขาพระงาม ทำให้เยาวชนจาก 8 อปท. ได้ระดมความคิดหาไอเดียแก้ปัญหาลิงรบกวนชุมชน การลงพื้นที่จริงที่วัดเขาพระงาม เพื่อศึกษาบริบทของพื้นที่ตำบลเขาพระงาม ดูการให้อาหารลิงและแนวทางการบริหารจัดการลิง
นันท์นภัส โอ๊ตตะนะ หรือ น้องหลิว และ ศรินยา เสาร์ทะ หรือ น้องแป้ง ทั้งสองสาวมาจาก สภาเด็กและเยาวชนป่าแดด จังหวัดเชียงใหม่ พวกเธอเห็นตรงกันว่าอยากมาร่วมเรียนรู้การดำเนินงานของสภาเด็กในพื้นที่อื่น ๆ บ้างเพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานของพื้นที่ตนเอง และเกิดความประทับใจต่อสภาเด็กและเยาวชนเขาพระงามคือ การจัดตั้งกองทุนคนรุ่นใหม่ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทั้งสภาเด็ก เทศบาล ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ทำให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นและมีการนำความคิดนั้นไปปฏิบัติจริง เกิดสภาเด็กฯ ที่มีความเข้มแข็ง โดยทั้งสองคนต้องการนำจุดเด่นด้านนี้ไปปรับใช้กับการทำงานของตนเองต่อไป
ด้านธนาธิป เทียมราษฎร์ นักสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (Social Innovation for creative society หรือ SIY) กล่าวว่า โครงการพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสภาเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาคประชาชน ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนท้องถิ่น โดยทั่วประเทศมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,700 แห่ง และมีชุมชนต้นแบบทั้งหมด 30 พื้นที่
“เราเน้นว่าอยากให้มีผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน เด็ก ๆ ได้ใช้ต้นทุนทางสังคม เรามาสร้างเรื่องเหล่านี้ให้กับท้องถิ่นในโครงการ เป้าหมายการดำเนินงานมี 2 กลุ่ม คือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตั้งแต่ผู้บริหาร สภาเทศบาล สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และข้าราชการ ที่จะเข้าใจการทำงานด้านสภาเด็ก และอีกกลุ่ม คือเด็กและเยาวชน ที่อยากให้เขารู้ว่า เขามีสิทธิ์ มีเสียง สามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นได้ และเป็นพลเมืองที่มีพลัง” ธนาธิปกล่าวถึงภาพรวมโครงการ
สภาเด็กและเยาวชน – โครงการตำบลต้นแบบ คืออะไร ?
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 กำหนดบทบาทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น