เพราะไม่มีใครอยากเปียกปอน “ที่หลบฝน” มุมพักฮีลใจและพื้นที่เรียนรู้ใหม่ของเด็กและเยาวชน จ.น่าน
“หลายๆ คนเวลานึกถึงน่าน ก็จะรู้สึกว่า น่านเป็นเมืองน่ารัก น่าอยู่ ชิลๆ เวลาพบเจอปัญหาชีวิต หรือไม่สบายใจก็มาเที่ยว มาฮีลใจที่น่าน แต่ในมุมกลับกัน ถ้าคนน่านมีเรื่องทุกข์ใจบ้าง พวกเขาจะสามารถไปที่ไหนได้ ?”คำถามที่ไนท์ – วัทธิกร ธนกิจกร และ อะตอม – วิชินันท์ สิงห์น้อย เปิดประเด็นเล่าในระหว่างการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป “ที่หลบฝน” ภายในงาน Learning Space Festival สร้างพื้นที่เรียนรู้ แก้ปัญหาเด็กเยาวชน สร้างรากฐานอนาคตประเทศ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park
ไนท์ – วัทธิกร ธนกิจกร
ทั้ง 2 คน ได้ย้ายตัวเองมาอยู่ที่จังหวัดแห่งนี้ด้วยหน้าที่การงาน สำหรับ เขาคืออดีตครูในระบบการศึกษา ที่ผันตัวสู่นักการศึกษา ขณะที่อะตอมเองก็มีประสบการณ์ทำงานเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ ทำให้ทั้งคู่คลุกคลีกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ จึงเริ่มมองเห็นบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาวะทางใจของเด็กวัยรุ่นที่นี่
ประกอบกับข้อมูลจากสถิติที่รายงานว่าจังหวัดอันแสนสวยสงบแห่งนี้ กลับมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 15-19 ปี มีสถิติพยายามฆ่าตัวตายสูงที่สุดคิดเป็น 63.70% (ข้อมูลจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน ประจำปีงบประมาณ 2566) ทั้งจากปัญหาด้านพ่อแม่เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ การขาดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชน รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสในการเข้าสังคมน้อย มีทักษะทางสังคมต่ำ และเกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
จากประสบการณ์ตรงของพวกเขาบอกว่า เด็กและเยาวชนที่น่าน เผชิญปัญหาทางด้านจิตใจ เพราะสภาพความเป็นจริงหลายโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หลังเลิกเรียน เด็กๆ ต่างต้องรีบเดินทางกลับบ้าน ไม่ได้ทำกิจกรรมตามความสนใจอื่นๆ หลังเลิกเรียน แม้แต่เด็กที่อยู่ในตัวเมืองเอง ก็ขาดพื้นที่ปลอดภัยทั้งการแสดงความสามารถ และพื้นที่ปลอดภัยที่ดีต่อใจพวกเขา
“เด็กๆ ที่อยู่นอกตัวเมืองต้องเดินทางหลายสิบกิโลเมตร เดินทางเป็นชั่วโมงเพื่อมาโรงเรียน พ่อแม่ไปทำงานในเมือง ทำให้พวกเขาต้องนั่งรถรับส่งประจำ เด็กๆ จะต้องกลับบ้านให้พร้อมกัน ไม่มีการเล่นดนตรี กีฬา หรือกิจกรรมนอกห้องเรียนอื่นๆ เพราะกลัวจะกลับไม่ทันรถ เด็กไม่ได้ปลดปล่อยความสุขหรือความเป็นตัวเองของเขา นั่นเป็นความเหลื่อมล้ำที่เราเริ่มเห็นเป็นสิ่งแรกๆ” ไนท์อดีตครูในระบบกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่สังเกตเห็นความต่างของเด็กในเมืองและนอกเมือง
สองหนุ่มสาวจึงจัดตั้ง ที่หลบฝน ขึ้นในปี พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้ทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าศิลปะด้านใน ที่ได้ร่ำเรียนมาจาก ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี” จิตรกรและนักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ผู้ที่ทำให้คนไทยได้รู้จักคำว่า ศิลปะด้านใน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นเป็นหลัก
เวิร์กช็อปศิลปะด้านใน
อะตอม – วิชินันท์ สิงห์น้อย
โดยใช้กรอบแนวคิด SEL MODEL (Social and Emotional Learning) ที่มี 5 องค์ประกอบดังนี้ 1.การตระหนักรู้ในตนเอง 2.การจัดการตนเอง 3.การตระหนักรู้ทางสังคม 4.ความสัมพันธ์ 5.การตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ
“การจัดกิจกรรมของเราเน้นกลุ่มวัยรุ่นมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะปัญหาสุขภาพจิตของวัยนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน แม้แต่ในโรงเรียนเองก็อาจยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ที่หลบฝนจึงชวนเด็กๆ เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้ศิลปะด้านใน เพื่อการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เกิดกระบวนการอธิบายเชิงลึก การรู้เนื้อรู้ตัว หรือ Self Awarness ทำให้เด็กรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีสาเหตุมาจากอะไร นำไปสู่การมองหาทางเลือก ทางออกได้” อะตอมกล่าว
จากแนวคิดดังกล่าว ที่หลบฝนจึงสนใจพัฒนาโครงการอย่างเป็นระบบด้วยการเข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ (Learning Space Incubation) โดย School of Changemakers โปรแกรมบ่มเพาะเพื่อสนับสนุนทีมที่ต้องการสร้างและขยายผลพื้นที่เรียนรู้สําหรับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ที่เด็กสามารถเข้าได้ถึงได้อย่างมีคุณภาพและส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กเติบโตสมวัย
โดยมีระบบสนับสนุนจากทีมโค้ช และระบบติดตามความคืบหน้าของงานในการบริหารจัดการทีม ที่มีการออกแบบตารางทำงานจนครบโปรแกรมการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน ทำให้โครงการเดินหน้าได้อย่างมีแบบแผนและต่อยอดให้เกิดโมเดลความยั่งยืนได้
Rain Journey การเดินทางของเม็ดฝน
ทั้งไนท์และอะตอม เปลี่ยนบ้านให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย เริ่มทดลองชักชวนวัยรุ่นในพื้นที่มาชมหนังสั้นและทำกิจกรรมร่วมกัน ในระยะเวลาเพียงปีเศษ ที่หลบฝนได้ก้าวสู่การทำงานอย่างเข้มข้นขึ้น ด้วยหลักสูตร Rain Journey ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนอายุ 15-19 ปี ในจังหวัดน่าน ที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการทำความเข้าใจตนเองและทักษะการทำงานจากประสบการณ์จริง
การเข้าร่วมโปรแกรมจะใช้ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่โปรแกรมบ่มเพาะที่หลบฝนเพื่อเพิ่มทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมโดยการใช้เครื่องมือคือ SEL Workshop , กิจกรรมศิลปะด้านใน และ การเรียนรู้ผ่านการทำงาน (On The Job Learning) และกิจกรรม Self Awareness จำนวนครั้งละ 6 ชั่วโมงต่อวัน รวมระยะเวลา 4 วัน
จากนั้นจะมีการลงพื้นที่ทำกิจกรรมจำนวน 6 ครั้ง ทั้งการอีเวนต์ของที่หลบฝน การเข้าร่วมกิจกรรมบนพื้นที่สาธารณะจังหวัดน่าน โดยเยาวชนจะได้รับรายได้ในโครงการไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคน และยังมีการจ้างงานต่อเนื่องหลังจบโปรแกรมอีกด้วย
เมื่อที่หลบฝนเดินทางเข้าสู่ขวบปีที่ 2 ของการฝึกทักษะทางอารมณ์และสังคม ทำให้สุขภาพจิตของผู้เข้าร่วมกิจกรรมดีขึ้น สำรวจพบว่าเยาวชนได้ประเมินทักษะและความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 80 มีความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรมระดับดีมาก นอกจากนี้เยาวชนที่ผ่านโครงการ 6 ใน 7 คนคิดว่าตัวเองมีทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมที่พัฒนาขึ้นในระดับมากที่สุด
ทำให้ที่หลบฝนจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายคือการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมให้ครอบคลุมบริบทพื้นที่จังหวัดน่าน ทั้ง 3 รูปแบบ คือ
1.Issue Base การรับสมัครเยาวชนจากหลายพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ เทศกาลหนังสั้น การเรียนรู้ธรรมชาติและชุมชนใกล้ตัว ค่ายศึกษาธรรมชาติ ทำงานศิลปะเป็นต้น
2.School Base การทำกิจกรรมในโรงเรียน เริ่มจากการทดลองกับกลุ่มนักเรียนจำนวน 40 คน ในโรงเรียนศรีนครน่าน อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี
3.Community Base การขยายผลสู่การทำงานร่วมกับชุมชน
กิจกรรมดูหนัง
หมุดหมายปลายทางคือแผนในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า กับการพัฒนาสร้างหลักสูตร SEL LOCAL CURRICULUM เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่ทั้งจังหวัดน่าน และพื้นที่ภาคเหนือที่มีบริบทใกล้เคียงกัน พร้อมสร้างเยาวชนในโครงการที่พัฒนาตัวเองขึ้นเป็นลีดเดอร์กลับมาดูแลน้องในโครงการรุ่นต่อไปได้
เส้นทางที่พวกเขากำลังเดินไปนี้ หนึ่งในทรัพยากรที่มองข้ามไม่ได้คือ งบประมาณ หลายกิจกรรมมีค่าใช้จ่าย ทั้งการจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ ซึ่งเด็กและเยาวชนจากหลายครอบครัวไม่ได้มีกำลังพร้อมจ่าย ที่หลบฝนจึงต้องจัดหาเงินทุน โดยนำองค์ความรู้จากโปรแกรม Learning Space Incubation มาปรับใช้ อยู่ในช่วงการพัฒนาต้นแบบ (Prototype) จากไอเดียกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าสู่ระยะ Accelerator หรือการพัฒนาแนวทางและโมเดลความยั่งยืนกลายเป็น Social Enterprise ได้
กับการจัดหาเงินทุนจากหลากหลายช่องทาง ทั้งการเข้ารับทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจการขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน การเป็นวิทยากร การจัดเวิร์กช็อปแบบมีค่าใช้จ่าย บริการรับจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ โดยมีเยาวชนในโครงการเป็นทีมงาน ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นเอง อย่าง สีจากธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อทำให้ที่หลบฝนยืนระยะอยู่ต่อได้ ทำหน้าที่จุดพักใจเล็กๆ สำหรับเด็กวัยรุ่นทั้งใน จ.น่าน และพื้นที่อื่นๆต่อไป เพราะไม่มีใครอยากเปียกปอน
ขอขอบคุณ
ภาพ : www.facebook.com/teelobfon?locale=th_TH
https://www.facebook.com/schoolofchangemakers?locale=th_TH