เปิดใจผู้ปกครองเปลี่ยนไปเพราะเข้าห้อง “รอลูกเลิกเรียน”

ระหว่าง “รอลูกเลิกเรียน” ผู้ปกครองหลายคนอาจเลือกฆ่าเวลาด้วยการดูหนังดูซีรีส์ เสพละคร อ่านโซเชียล หรือทำงานเล็กๆ น้อยๆ แต่มีผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งใช้เวลาว่างเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจลูกที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น

ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะลูกถูกกดดัน เช่น เรื่องการเล่นมือถือ หลังจากได้เข้าห้องเรียนกับโครงการฯ เราเลยเปลี่ยนเป็นช่วยกันกับลูกตั้งกติกา ใช้วิธีแสดงความเป็นห่วงมากกว่าการห้าม และหากิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกทำมากขึ้น

แม่อ้อน 
อายุ 37 ปีจังหวัดเชียงใหม่

จุดเริ่มมาจาก “อยากเข้าใจลูก”

เราเข้าโครงการเพราะอยากรู้ว่าต้องเลี้ยงลูกอย่างไร  เพราะเราเพิ่งเคยเป็นแม่ ลูกเราเขาก็เพิ่งเคยเป็นลูกครั้งแรก จึงต้องมีการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้น

แม่อ้อน หนึ่งในผู้ปกครองบอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “รอลูกเลิกเรียน”  ซึ่งดำเนินงานโดย toolmorrow ด้วยการสนับสนุนจากสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สสส. ในรูปแบบคอร์สสอนอบรมออนไลน์ที่เรียกว่า “Self-help Group สำหรับครอบครัว”  จึงไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดในการเข้าร่วมเรียนรู้กับโครงการแม้เธออยู่ที่เชียงใหม่ก็ตาม

ก่อนหน้านั้นสังเกตเห็นว่าลูกน่าจะมีปัญหา เลยไปปรึกษาหมอ แล้วระหว่างนั้นเราก็ค้นหาในอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าใจลูกก็ไปเจอรายการ รอลูกเลิกเรียน เลยลองสมัครไปในหัวข้อลูกไม่ช่วยงานบ้าน

แม่อ้อนเปิดร้านแว่นตาอยู่ที่บ้านของเธอ เป็นแม่บ้านเต็มเวลา ดังนั้น เรื่องการไม่มีเวลาให้กับน้องอิง ลูกชายของเธอจึงไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน แต่ต้นเหตุคือเรื่องการควบคุมอารมณ์ตัวเองของตัวเธอเองมากกว่า ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกชาย  เช่น การตะโกนเรียกลูกเสียงดัง การขึ้นเสียงเมื่อเห็นลูกเล่นแต่มือถือ ตลอดจนการแสดงอารมณ์ต่างๆ ในทางลบ 

ขณะที่ลูกชายกำลังเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยเปลี่ยนผ่านทางอารมณ์ การที่แม่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเอง นำไปสู่การกดดันลูกทางอ้อม ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ 

เปลี่ยน You เป็น I เพื่อสะท้อนความรู้สึก

ทักษะสำคัญที่เธอได้รับคำแนะนำจากโครงการ รอลูกเลิกเรียน คือการรู้จักใช้ I-message หรือที่เรียกกันว่า ภาษาที่แทนผู้พูดด้วยคำว่าฉันในการสะท้อนความรู้สึก รวมทั้งวิธีการหัดชมลูก ทำให้เธอพยายามสื่อสารกับลูกด้วยวิธีใหม่ จนในที่สุด เธอก็เริ่มจับทิศทางอารมณ์ของลูกชายได้

ห้องเรียนออนไลน์ที่เข้าร่วมจะสอนเทคนิคการสื่อสารการควบคุมอารมณ์ตัวเอง เริ่มจากเลิกตะโกนเรียกลูกเสียงดัง เปลี่ยนมาสัมผัสตัวเขาแทน เปลี่ยนจากสั่งให้ทำงานบ้านมาเป็นการขอความช่วยเหลือมากกว่าการใช้งาน ผลที่ได้คือเราทะเลาะกันน้อยลงมาก จากที่หงุดหงิดใส่กัน เรียกแล้วไม่ยอมมา ก็เดินตามมาเองหลังจากเราไปแตะไหล่ขอร้องให้มาช่วยงานบ้าน

เมื่อความสัมพันธ์ของเธอและลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เธอก็นำเทคนิคที่เรียนรู้จากโครงการฯ ไปปรับใช้ในการพูดคุยกับครอบครัว สามี รวมถึงลูกค้าที่มาใช้บริการร้านแว่นตาของเธออีกด้วย

เปลี่ยนจากแม่ใช้อารมณ์สู่การเป็น “แม่อาสา”

ความสุขของแม่อ้อนไม่ได้เป็นเพราะเธอและลูกเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้น แต่เพราะเธอยังช่วยผู้ปกครองคนอื่นให้มีโอกาสเริ่มต้นในเส้นทางความสุขเหมือนที่เธอได้สัมผัส จากการที่โครงการฯ ชวนเธอมาเป็นแม่อาสา เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ปกครองคนอื่น 

“หลังจากเข้าคอร์สลูกไม่ช่วยทำงานบ้านทาง TOOLMORROW ก็เชิญไปเป็นแม่อาสา โดยเข้าไปช่วยแชร์ประสบการณ์ที่เคยทำว่าได้ผลอย่างไร ใช้เทคนิคอะไร เป็นการยกตัวอย่างจริงๆ ในกลุ่มจะมีนักจิตวิทยาคอยให้ข้อมูลควบคู่ไปด้วย ผู้ปกครองหลายคนพอเข้าใจมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขากับลูกก็ดีขึ้นเรื่อยๆ”

ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทางรัฐบาลประกาศให้มีการล็อกดาวน์ ประสบการณ์ที่ได้จากโครงการนี้ทำให้เธอสามารถปรับตัวได้อย่างสบายเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกับลูกตลอด 24 ชั่วโมง 

“อยากให้พ่อแม่คนอื่นรับฟังปัญหาของบ้านอื่นบ้าง ลองเปิดใจกับลูก สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาอาจไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่เลยเมื่อเทียบกับข้อดีที่ลูกมี หากลูกเรียนดี

เป็นนักกีฬาโรงเรียน ช่วยทำงานบ้าน การเล่นมือถือเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็เพราะทำให้เขาสนุก และถือเป็นรางวัลของเขาก็ได้”

เมื่อน้องอิงเห็นความพยายามของแม่อ้อนที่เข้าร่วมโครงการ รอลูกเลิกเรียน เพื่อจะได้เข้าใจเขามากยิ่งขึ้น ก็ให้ความร่วมมือด้วย เช่น คอยมาเตือนแม่ว่าได้เวลาประชุมแล้ว เข้ามาคุยกับแม่มากกว่าแต่ก่อน ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่แค่นี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มความสุขอันยิ่งใหญ่ของคนแม่เป็นอย่างเธอ

จากการเข้ากลุ่มเรียนคอร์สนี้ ทำให้เราเรียนรู้ว่าต้องใช้วิธีการจับถูกแทนการจับผิด คอยมองหาข้อดี แล้วชมลูกบ่อยๆ พูดคุยในแบบเชิงบวกเพื่อให้ลูกรู้สึกดีแทนที่จะไปตำหนิตั้งแต่ต้น ที่สำคัญ ต้องหมั่นเตือนตัวเองให้มีสติ หยุดคิดประมวลผล ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป

แม่อ้อ 
อายุ 41 ปีกรุงเทพมหานคร 

เมื่อลูกเปลี่ยนวัยพ่อแม่ต้องพร้อมปลี่ยนตาม

แม่อ้อ คุณแม่ลูกสอง เป็นอีกคนที่เข้าร่วมโครงการ รอลูกเลิกเรียน ในช่วงที่ลูกสาวของเธอเริ่มเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่เธอรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเธอและลูกเริ่มเปลี่ยนไป พูดคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง 

จากเดิมมีอะไรบอกกันทุกอย่าง แต่ช่วงปีที่ผ่านมา เราสงสัยว่าทำไมความสัมพันธ์กับลูกเปลี่ยนไป เหมือนเขามีอารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย ระหว่างนั้นเราไปเจอคลิปโครงการ รอลูกเลิกเรียน เป็นเรื่องเหมือนที่เราเจอ พอเข้าไปทำแบบทดสอบที่โครงการฯ ให้มา ก็รู้ว่ามีปัญหา เราก็เลยส่งสมัครเข้าโครงการแล้วได้แอด LINE เข้าไปเรียนในกลุ่ม

ครั้งแรกที่เข้าไปในกลุ่ม แม่อ้อรู้สึกตื่นเต้น เพราะเธอไม่ค่อยพูดคุยกับคนแปลกหน้า แต่โชคดีที่ผู้นำกลุ่มเป็นนักจิตวิทยาที่มีความเข้าใจพฤติกรรมของเด็กและผู้ปกครองที่เข้าร่วมเป็นอย่างดี แล้วยังมีคุณพ่อคุณแม่อาสาที่เคยเข้ากลุ่มมาคอยช่วยเหลือ ทำให้เธอสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น

กิจกรรมในกลุ่มจะเน้นให้ทำแบบฝึกหัด โดยให้ลองสมมติว่าถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ ผู้ปกครองจะมีแนวทางแก้ไขแบบไหน เช่น ถ้าตอนเช้าปลุก แล้วลูกไม่ยอมตื่น จะทำอย่างไร ในช่วงท้ายก่อนหมดเวลาเรียน ผู้นำกลุ่มจะจัดให้มีการทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา แล้วสอบถามแนวทางการปฏิบัติตัวของพ่อแม่แต่ละรายเมื่อเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกัน 

จาการที่คำตอบของแต่ละบ้านแตกต่างกัน ทำให้พ่อแม่แต่ละคนได้เรียนรู้วิธีการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในการพูดคุย จะไม่มีการฟันธงว่าวิธีการไหนที่ถูกต้องที่สุด แต่เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้แต่ละคนนำกับไปปรับใช้กับครอบครัวของตัวเองมากกว่า

ห้องเรียนพ่อแม่ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่แม่อ้อสังเกตเห็นว่าเป็นแนวทางที่สามารถใช้ได้กับพ่อแม่เกือบทุกบ้าน คือ การทำความรู้จักตัวเอง ก่อนทำความเข้าใจกับลูก 

“คอร์สเรียนนี้เริ่มจากให้เราทำความรู้จักตัวเราเองเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราสะท้อนตัวเราเองอย่างไรบ้าง เราโมโหตัวเอง หรือว่าเราโมโหสิ่งแวดล้อมที่มารุมเร้า พอเริ่มเข้าใจ เราก็รู้ว่าการสื่อสารของเรากับลูกที่มีปัญหา เป็นเพราะเราอยากได้แล้วไม่ได้ดั่งใจ ก็เกิดอารมณ์แล้วไปลงที่ลูก”

เธอเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ เช่น การปลุกลูกทุกเช้า จากเดิมปลุกแล้วคาดหวังว่าลูกต้องลุกขึ้นจากที่นอนทันที ก็เปลี่ยนเป็นหาข้อตกลงร่วมกัน ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งกฎด้วยตัวเอง ทำให้พฤติกรรมการตื่นนอนของพวกเขาดีขึ้น

ที่สำคัญ แม่อ้อตระหนักว่าพฤติกรรมและอารมณ์ของเธอนั้นเป็นเหมือนต้นแบบที่ลูกๆ ต่างซึมซับและเลียนแบบอยู่ตลอดเวลา ทำให้เธอพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อพวกเขามีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว สิ่งนี้จะได้กลายเป็นพื้นฐานของพวกเขาต่อไป

หัวใจของการสื่อสารคือ ใจเย็นลงหน่อย

เราถูกเลี้ยงมาแบบที่ผู้ปกครองบ่นอย่างเดียว แต่ไม่บอกว่าจริงๆ ต้องการอะไร ในห้องเรียนออนไลน์จะสอนเรื่องการสื่อสารทางตรง แนะนำเราให้บอกลูกว่าอยากได้อะไร เมื่อลูกโมโหก็ให้พูดว่าเรารู้นะว่าเขาโมโห พอใจเย็นลงหน่อย เรามาคุยกันใหม่อีกครั้งนะ เมื่อได้เรียนรู้การสื่อสารที่ถูกวิธี ช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้” 

เทคนิคการสื่อสารโดยตรงมีส่วนช่วยแม่อ้อในช่วงล็อกดาวน์ที่ครอบครัวต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา และยังได้ใช้วิธีการที่ได้จากการอบรมมาสื่อสารกับสามี รวมถึงถ่ายทอดวิธีการนี้ให้คนอื่นสามารถสื่อสารกับเด็ก ด้วยความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เคล็ดลับอยู่ที่การรับฟัง

แม่อ้อ ก็เป็นอีกคนที่เข้าร่วมเป็นคุณแม่อาสา ทำให้เธอมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ปกครองคนอื่นในโครงการ  และค้นพบเคล็ดลับสำคัญในการเป็นแม่อาสาของเธอว่าคือ การรับฟัง

“หน้าที่ของแม่อาสาคือการเป็นผู้ฟังที่ดี เราเคยเข้ากลุ่มมาก่อนเราเข้าใจเลยว่า คนที่เข้ากลุ่มมาเจอปัญหาถึงอยากเข้ากลุ่ม เราเองก็เหมือนกัน แค่อยากเล่าให้ใครสักคนฟัง ก็ช่วยทำให้เรารู้สึกสบายใจแล้ว” 

สิ่งสำคัญที่แม่อาสาต้องทำก็คือ การจับประเด็นปัญหาของแต่ละบ้าน แล้วช่วยดูว่าสามารถช่วยในส่วนไหนได้บ้าง ซึ่งประสบการณ์จากการเป็นผู้รับฟังที่ดี ทำให้ได้รับรู้ปัญหาและแนวทางแก้ไขจากนักจิตวิทยาที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยให้เธอสามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้เข้าร่วมโครงการได้เป็นบางครั้ง

คนเข้าร่วมโครงการครั้งแรกก็จะนึกว่าบ้านเราต้องมีปัญหาเยอะมากแน่ๆ เพราะเข้าใจทุกปัญหา แต่จริงๆ เป็นเพราะเราเอาใจเขามาใส่ใจเราต่างหาก ทำให้สามารถเห็นปัญหาจากมุมมองของเขาได้

รู้เท่าทันอารมณ์ คือวิธีการที่ดีที่สุด

ผู้ปกครองที่มาเข้าร่วมอบรมหลายคนไม่ใช่พ่อแม่โดยตรง แต่เป็นคุณน้าคุณยายที่อยากเข้าใจลูกหลานมากขึ้น ปัญหาทั่วไปที่ทุกบ้านมีเหมือนกันคือ ทำอย่างไรเมื่อเด็กเริ่มติดมือถือ ซึ่งแนวทางการแก้ไขที่เหมาะคือ ผู้ปกครองควรให้เวลากับเด็กมากขึ้น ไม่ปล่อยเด็กไว้กับโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานในช่วงที่ไม่ว่าง หรือไม่อยากดูแล

แก่นของวิธีการแก้ปัญหาเรื่องเด็กติดโทรศัพท์มือถือ จึงเหมือนการแก้ปัญหาเรื่องอื่น นั่นคือผู้ปกครองต้องพยายามทำความเข้าใจเด็ก และให้เวลากับเด็ก รวมทั้งคอยอยู่เคียงข้าง ให้เด็กรู้สึกว่าผู้ปกครองเป็นพวกเดียวกับเขา 

จากการเข้ากลุ่มเรียนคอร์สนี้ เราเรียนรู้ว่าต้องใช้วิธีการจับถูกแทนการจับผิด คอยมองหาข้อดีแล้วชมลูกบ่อยๆ พูดคุยในแบบเชิงบวก เพื่อให้ลูกรู้สึกดี แทนที่จะไปตำหนิตั้งแต่ต้น ที่สำคัญต้องหมั่นเตือนตัวเองให้มีสติ หยุดคิดประมวลผลก่อนที่จะพูดอะไรออกไป” 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ