เชื่อมร้อยพลังภาคีเครือข่ายผ่านกระบวนการเรียนรู้จาก ‘มูลนิธิสื่อชาวบ้าน’ จับมือสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ใช่ เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว
ภารกิจของสำนัก 4 ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส. นั่นคือการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนส่งเสริมพื้นที่สร้างสุขผ่านครอบครัวและชุมชน สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ
หนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จได้อยู่ที่ภาคีเครือข่ายที่จะออกไปทำหน้าที่ส่งเสริมเด็กและเยาวชน ไปพร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมร่วมกับครอบครัวและชุมชนให้เกิดการขยายผลต่อไป
จึงเป็นที่มาของการดำเนิน โครงการเสริมศักยภาพ สร้างพลังภาคี สนับสนุนนิเวศการเรียนรู้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่สำนัก 4 ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เสริมพลังคนทำงานกลุ่มภาคีเครือข่ายให้ใจฟู เรียนรู้ผ่านหลักสูตรที่จะพาผู้เข้าร่วมภาคีสำนัก 4 ซึ่งเป็นผู้ทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว เข้ามาถอดบทเรียนที่เริ่มต้นที่คนทำงาน ซึ่งเป็นหัวใจขับเคลื่อนงานและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
ภัทรภร เกิดจังหวัด ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
ภัทรภร เกิดจังหวัด ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เล่าให้ฟังในฐานะผู้ดำเนินโครงการว่า โครงการเสริมศักยภาพ สร้างพลังภาคีสนับสนุนนิเวศการเรียนรู้เด็ก เยาวชน และครอบครัว จัดทำเพื่อเสริมศักยภาพให้ภาคีเครือข่ายของสำนัก 4 ที่มีมากกว่า 300 คน จาก 40 หน่วยงาน ให้สามารถทำงานในพื้นที่ได้ ยกระดับคนทำงานและสนับสนุนให้เกิดนิเวศเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายให้ได้รู้จัก เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น
“รูปแบบกิจกรรมที่เราใช้ในโครงการฯ จะเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ ทดลองปฏิบัติการเรียนรู้จากกิจกรรม เพื่อสร้างประสบการณ์และเกิดแรงบันดาลใจ นำไปขยายผลในเครือข่ายระดับท้องถิ่น เป็นการเน้นที่วิธีคิด พาลงมือปฏิบัติ ทดลองทำแล้วถอดรหัส ผู้เรียนและผู้สอนเห็นอะไรบ้างจากกระบวนการนี้ และจะมีไอเดียในการนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้อย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือเราโฟกัสที่คนทำงาน ได้ชุบชูดูแลใจคนทำงาน ให้มีกำลังเพื่อออกไปทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนต่อไป” ภัทรกรกล่าว
กรณีศึกษาที่น่าสนใจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ คือ มีอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ประจำหมู่บ้าน ในจังหวัดชัยภูมิ ที่เข้าไปเป็น อสม.ของหมู่บ้านเพราะต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อได้ร่วมอบรมกับโครงการฯ ที่เชียงดาว หลังจบการอบรม เกิดแรงบันดาลใจเปิดบ้านเป็นลานเล่น ให้เด็กและเยาวชนในชุมชน ได้เข้ามาทำกิจกรรม
“จากเคส อสม.ชัยภูมิที่ทำลานเล่นนี้ มีเด็กอายุ 10 ขวบคนหนึ่งในชุมชน จากที่ไม่เอาใคร ชอบเก็บตัวเล่นเกม ก็ผันตัวมาเป็นแกนนำทำกิจกรรมที่ลานเล่น ทั้งอ่านหนังสือให้น้องฟัง เป็นคนคอยจัดการเพื่อนๆ มาทำกิจกรรม เป็นความภูมิใจที่ได้ทำลานเล่นให้เด็กมีที่อยู่ และผู้ใหญ่ได้มีส่วนร่วม” ภัทรภรกล่าวถึงผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของโครงการ
บรรยากาศหลักสูตรพื้นที่เรียนรู้
ในช่วงเริ่มต้นของโครงการฯ เริ่มจากหลักสูตรที่ทางมูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือมะขามป้อมจัดทำไว้ และเริ่มปรับไปตามความความต้องการของภาคีเครือข่าย วึ่งความท้าทายของการทำโครงการจึงขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ที่ต่างกัน ดังนั้น หากสามารถออกแบบหลักสูตรเฉพาะพื้นที่ได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน
ขณะเดียวกัน มีผู้สนใจร่วมโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมได้ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ซึ่งมีงบพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนให้บุคลากรหรือคนในชุมชนเข้าร่วมโครงการได้
“การสนับสนุนนิเวศการเรียนรู้ของเด็ก เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อก่อนนี้ในวงประชุมมีประโยคที่บอกว่า ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ แต่ส่วนตัวเห็นว่า เด็กไม่ใช่อนาคตของชาติ เด็กคือปัจจุบันของชาติ และอนาคตเป็นของเราทุกคน เด็กในวันนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่โดยตรง เพราะพวกเขาได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ผู้ใหญ่สร้างไว้ เป็นกลุ่มเปราะบางที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องเข้ามาทำอะไรบางอย่างเพื่อดูแลพวกเขาไปด้วยกัน” ภัทรกรกล่าว
ด้าน ปาณิศา อายะนันท์ ผู้จัดการโครงการศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ หรือกลุ่ม ‘พลังโจ๋’ กลุ่มที่เน้นการพัฒนาศักยภาพเชิงบวกของวัยรุ่น กล่าวถึงการได้เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯ พบว่ามีประโยชน์ต่อการนำไปขยายผลการทำงานในพื้นที่อย่างมาก จากในอดีตที่อาจจะทำงานอย่างขาดหลักการหรือแนวปฏิบัติ แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ กับสำนัก 4 และกลุ่มมะขามป้อม ทำให้เห็นหลักวิธีคิดในการทำกิจกรรม การออกแบบกระบวนการอย่างเหมาะสมนำไปใช้งานต่อได้
“พวกเราภาคีเครือข่ายต่างคนต่างมีชุดประสบการณ์ของตัวเอง พอเข้าไปร่วมโครงการ ก็ได้พูดคุย ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคีเครือข่าย ทำให้เห็นมิติทางความคิดที่หลากหลายมากขึ้น แต่ละวิธีคิดต่างมีหลักการ มีทฤษฎีรองรับ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในแบบของตัวเอง” ปาณิศา กล่าว
การสรุปบทเรียนเชิงผลลัพธ์
ขณะที่ โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง ประธานมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการยกระดับศักยภาพภาคี ให้ภาคีทุกคนมีสิทธิ์เลือกเติมความรู้ที่ต้องการและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของตัวเอง การเข้าไปร่วมกับมะขามป้อมทำให้ได้เครื่องมือและเทคนิคในการมาทำงาน
เช่น การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนพร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกันได้ การตรวจสอบความรู้สึกของคนในทีม การสร้างการเรียนรู้ที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ เมื่อก่อนจะคิดถึงประโยชน์ของโครงการฯ ทำให้อัดข้อมูลเต็มที่ พอเข้ากระบวนการทำให้ได้เห็นจังหวะของการย่อยความรู้ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่พบปะสร้างความสัมพันธ์ของคนที่ทำงานในประเด็นเด็ก เยาวชน และครอบครัว เหมือนกัน ทำให้มีเพื่อนและสนิทกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนทรัพยากรซึ่งกันและกันได้
โชติเวชญ์ เสริมว่า หากจะต่อยอดโครงการฯ ไปอีกระดับ อยากให้ทางกลุ่มมะขามป้อมที่มีความเป็นครูในตัวสูง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการการเรียนรู้ ที่สามารถช่วยจัดการให้เกิดการ Matching ความต้องการของผู้เรียนได้ด้วย แม้บางองค์ความรู้ที่มะขามป้อมไม่มีก็อาจจะเป็นตัวกลางจัดหาคนที่มีองค์ความรู้นั้นมาให้ได้
การสรุปบทเรียนเชิงผลลัพธ์
ศักดิ์ชัย ไชยเนตร’ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการโครงการและฝึกอบรม มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ (HealthNet) สำนักงานภาคอีสาน กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการฯ กับกลุ่มมะขามป้อมเหมือนเป็นการเติมเต็มองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมให้สมบูรณ์มากขึ้น ส่วนตัวได้เรียนรู้การออกแบบกระบวนการ เทคนิคการจัด Workshop การจัดกลุ่ม จับประเด็น และการเขียนถอดบทเรียน ที่ช่วยเติมเต็มความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
“กิจกรรมนี้เหมือนเป็นการปรับ mindset ให้กับเราด้วย อย่างหลักสูตรละคร เป็นอะไรที่เราไม่เคยทำ และไม่คิดว่าตัวเองจะเล่นละครได้ แต่มะขามป้อมชี้ให้เห็นว่า เราสามารถสะท้อนตัวเองผ่านละครสะท้อนปัญหาสังคม ที่มีคนโดนกระทำ การกลั่นแกล้ง หรือความเหลื่อมล้ำในสังคม ช่วยสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ก็ขำกันมากว่าเล่นได้ยังไง (หัวเราะ) เป็นแรงบันดาลใจให้เราไปต่อยอดในการลงพื้นที่ต่อไป” ศักดิ์ชัยกล่าว
หลักสูตรติดตามเสริมพลังคนทำงาน
ล่าสุดจึงได้นำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการออกแบบจัด workshop 1 วัน ทั้งการดึงความสนใจ ทำให้คนมีส่วนร่วมมากที่สุด รวมถึงการปรับใช้การทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักทำความเข้าใจตัวตนของทีม เข้าใจความต่างระหว่างเจเนอเรชั่น เพราะถ้าเข้าใจ Mindset ของพวกเขา ก็จะดูได้ว่าอะไรตอบโจทย์ ใช้ได้ทั้งการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และครอบครัว
“ตอนนี้คิดว่าหลักสูตรที่โครงการฯ ทำอยู่ค่อนข้างดีเลย อยากให้คงไว้ ถ้ามีอะไรอยากเสนอแนะ คงเป็นการจัดโครงการฯ ที่อยากให้ทำบ่อย มีความถี่มากขึ้น อย่างหน่วยงานของผมมีคนอยู่ 5-6 คน แต่มีโควต้าร่วมอบรมได้เพียง 2 คน เพราะทุกคนอยากไปเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน” ศักดิ์ชัย กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลโครงการเสริมศักยภาพ สร้างพลังภาคี สนับสนุนนิเวศการเรียนรู้เด็ก เยาวชน และครอบครัว สามารถติดตามข่าวสารและสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://makhampom.org/