เครือข่าย “เล่นเปลี่ยนโลก” จับมือ กทม. จัดมหกรรมเล่นอิสระกลางเมืองเพื่อเด็กและครอบครัว
“เล่นดี เล่นฟรี เล่นเลย” ป้ายเชิญชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าสู่พื้นที่เล่นอิสระขนาดใหญ่ใจกลางสวนเบญจกิติ สวนสาธารณะกลางกรุงที่เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย แต่ได้ขยับขยายมา (ทดลอง) เป็นพื้นที่เล่นอิสระเพื่อเด็กทุกคน
บนสนามหญ้าจึงเต็มไปด้วยกิจกรรมความสุข ความสนุกที่หลากหลาย ตั้งแต่สถานีปีนป่ายเชือก นั่งสไลเดอร์กล่องกระดาษ ประดิษฐ์เรือจากกาบมะพร้าว ดูนกและสิ่งมีชีวิตในสวน ระบายสีปูนปลาสเตอร์หัวโขน ร้อยลูกปัดทำพวงกุญแจจากวัสดุธรรมชาติ วาดชอล์กบนพื้น เล่นทราย ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก ให้พวกเขาได้วิ่งเล่น ปีนป่าย กระโดด จินตนาการ ขีดเขียน ไปจนถึงทำงานฝีมือกับครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากเด็กและครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมตลอด 2 วันเต็ม
ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่าย “Let ‘s Play More เล่นเปลี่ยนโลก” สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เล่นอิสระตามทฤษฎี Loose parts Play คือ การเล่นกับวัสดุ สิ่งของ หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่หาได้ง่าย ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และสติปัญญา สำหรับเด็กปฐมวัย
ผู้ว่าชัชชาติ กับการติดตามกิจกรรมเล่นเปลี่ยนโลก
ภายในงานเล่นเปลี่ยนโลก มีรูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.พื้นที่เล่นอิสระ
นำวัสดุที่หาได้ง่ายในบ้านหรือในชุมชน มาประยุกต์เป็นของเล่น อย่าง กระบะทราย ห้องครัวจำลอง ปีนป่ายเชือก ต่อบล็อกไม้ สไลเดอร์จากลังกระดาษ และอื่นๆ
2.กิจกรรมเรียนรู้ด้านภูมิปัญญา
การเชิญชวนครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น มาเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม อย่าง การประดิษฐ์เรือจากกาบกล้วย การระบายสีหัวโขนจากปูนปลาสเตอร์ การร้อยลูกปัดและทำพวงกุญแจจากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น
เด็กๆ กับสถานีปีนป่าย
กิจกรรมเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาที่ทำได้ทั้งครอบครัว
ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน (ครูกุ๋ย) กลุ่มไม้ขีดไฟ ผู้ขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัว กล่าวถึงการจัดพื้นที่เล่นอิสระของเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกว่า ทางเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกที่ประกอบไปด้วยภาคีเครือข่าย 4-5 กลุ่ม ได้ขับเคลื่อนการเล่นอิสระมาอย่างต่อเนื่องทั้งในโรงเรียน ชุมชน และ พื้นที่สาธารณะ
ครูกุ๋ย – ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน กลุ่มไม้ขีดไฟ
ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแลเด็ก มีความเข้าใจถึงความสำคัญของการเล่นสำหรับเด็กเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่กิจกรรมเล่นอิสระยังอยู่ในรูปแบบของการจัดอีเวนต์ คือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นชั่วคราวและผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่างๆ
ในปี 2567 จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันการเล่นอิสระ ให้เป็นกิจกรรมที่มีความยั่งยืน โดยการร่วมกับกรุงเทพมหานครเพื่อจัดหาพื้นที่เล่นสำหรับเด็กและครอบครัวที่สามารถจัดได้ต่อเนื่อง
โดยได้เริ่มสำรวจพื้นที่สาธารณะหลายแห่งในกรุงเทพฯ ไปพร้อมกับการสร้างผู้อำนวยการเล่น หรือ Play Worker ขึ้น เพื่อส่งมอบความสุข ความสนุก และการเรียนรู้จากการเล่น ให้เด็กได้เลือกเล่นตามความสนใจ และดูแลการเล่นให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก
“ถ้าจะทำการเล่นอิสระให้เกิดขึ้นถาวร ผมมองว่าเราและเพื่อนๆ ในเครือข่ายทําได้ ทาง กทม. เอง ก็มีความเข้าใจและมียุทธศาสตร์ที่พร้อมจะร่วมทำ แต่หัวใจสำคัญคือการสร้าง ผู้อำนวยการเล่น หรือ Playworker เพิ่ม เราจึงรับสมัครและจัดอบรมการเป็นผู้อำนวยการเล่นใครๆ ก็สามารถทําได้ทั้งที่บ้านหรือในชุมชนของตนเอง หรือมาร่วมจัดในพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น” ศรัทธา ในฐานะหัวเรือใหญ่กลุ่มไม้ขีดไฟกล่าว
และในอนาคตก็มีความสนใจปรับเพิ่มรูปแบบการเล่นอิสระให้หลากหลายขึ้น เช่น การเพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะ การจัดพื้นที่เล่นทรายขนาดใหญ่เพื่อให้เด็กๆ เล่นสนุกมากขึ้น
สุรนาถ แป้นประเสริฐ (คุณตัน) ผู้จัดการบางกอกนี้ดีจัง กล่าวว่า บางกอกนี้ดีจังเน้นทํากระบวนการกับเยาวชน ไปสู่การค้นหาของดีในชุมชน การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ สู่การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น ที่มาร่วมกิจกรรมกับโครงการเล่นเปลี่ยนโลก
สำหรับความร่วมมือกับเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก คือการจัดกิจกรรมบนพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ โดยมีการเล่นอิสระเป็นแกนหลัก และเสริมด้วยกิจกรรมเรียนรู้จากครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านทั้งการเล่นและการลงมือทำ ตลอดจนได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมากขึ้น
“เราชวนเด็กมาดูของหรือศิลปะที่เขาไม่ค่อยได้เห็น ได้มีส่วนร่วมลงมือทํา และฟังเรื่องราวจากคุณลุง คุณป้า เจ้าของภูมิปัญญา ทำให้เด็กรู้สึกถึงคุณค่างานฝีมือและเรื่องราวในท้องถิ่น เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่”
สุรนาถ แป้นประเสริฐ (คุณตัน) ผู้จัดการบางกอกนี้ดีจัง
ด้านศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทางกรุงเทพมหานครเล็งเห็นว่า ยังขาดพื้นที่เล่นสำหรับเด็ก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องใช้บริการพื้นที่เล่นของเอกชนและมีค่าใช้จ่าย กทม.จึงมีหน้าที่ในการประสานกับเจ้าของพื้นที่ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคีเครือข่ายได้เข้ามาจัดกิจกรรมเล่นอิสระทั้งรูปแบบถาวรและงานอีเวนต์ โดยแผนคือการเพิ่มจำนวนพื้นที่เล่นอิสระแบบถาวรให้มากขึ้น
“กทม. จะมีการปรับปรุงสนามเด็กเล่นของเราเอง 10 แห่ง และตอนนี้ได้ประสานไปกับหลายๆพื้นที่ หลายสวนสาธารณะ เพื่อจัดพื้นที่เล่นอิสระ ซึ่งพร้อมทำได้เลย อย่าง สวนเบญจกิตติ สวนรถไฟ สวนลุมพินี ตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้มีพื้นที่เล่นอิสระในทุกๆ สวนสาธารณะทั้ง 50 แห่งทั่วกรุงเทพ”
สร้าง Playworker หัวใจสำคัญของพื้นที่เล่น
จากโจทย์ในการเพิ่มพื้นที่เล่น นอกจากสถานที่ และของเล่นแล้ว หัวใจสำคัญคือการมีผู้อำนวยการเล่น หรือ Play Worker ซึ่งหากแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน มีผู้อำนวยการเล่นอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ก็สามารถจัดพื้นที่เล่นอิสระได้ง่าย เนื่องจากใช้ของเล่นที่หาได้ง่ายในชุมชน
วิชาดา ภักดี (คุณเชียร์) ผู้อำนวยการเล่น กลุ่มไม้ขีดไฟ กล่าว ถึงบทบาทของการเป็น ผู้อำนวยการเล่นว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้เด็กได้เล่นอย่างสนุกสนาน สร้างสรรค์ และปลอดภัย การเป็น Play Worker สามารถทำได้ทุกที่ เริ่มตั้งแต่การสร้างพื้นที่หรือมุมเล่นอิสระในบ้านของตนเองไ ปจนถึงในโรงเรียน ชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะได้
เพราะการเล่นอิสระมีประโยชน์ต่อเด็ก โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิดถึง 6 ปี ทั้งในแง่ของพัฒนาการทางด้านร่างกาย การเรียนรู้ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และลดการใช้เวลาหน้าจอลง
วิชาดา ภักดี (คุณเชียร์) ผู้อำนวยการเล่น
“การเป็น Play Worker ไม่ยากเลย ทุกวัย ทุกเพศ ทุกอายุ ทุกคนเป็นได้หมด แค่รู้หลักว่าเราจะไม่พูดว่า ห้าม อย่า หยุด ไม่บังคับให้เด็กทำอะไรหรือเล่นอย่างไร แต่จะคอยดูแลให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่และคอยดูแลรักษาความปลอดภัย”
พัฒนากุล ทวีสากร (ป้าหมี) ครูภูมิปัญญาชุมชนวัดโพธิ์เรียง กล่าวถึงการเป็นครูภูมิปัญญาในกิจกรรมเล่นเปลี่ยนโลกว่า ตนเองเกิดมาในครอบครัวที่ประดิษฐ์เรือจากกาบมะพร้าว เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนได้เป็นครูภูมิปัญญาของชุมชนวัดโพธิ์เรียง เปิดบ้านเป็นสถานีเรียนรู้ กระทั่งได้รับการชักชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมสอนประดิษฐ์เรือจากกาบมะพร้าว พร้อมกับถ่ายทอดประวัติของการทำเรือกาบมะพร้าว ที่มาของวัสดุธรรมชาติที่ใช้
“เรือกาบมะพร้าวแบบนี้ ปกติเราก็จะทำขายในช่วงงานลอยกระทง ป้าน่าจะเป็นรุ่นสุดท้ายในชุมชนที่ยังทำแบบนี้ ก็รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มาเป็นครูภูมิปัญญา ตั้งใจที่จะสอนเด็กๆ ได้ลองทำ เจอเด็กแล้วก็สนุกสนานและเราได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย” พัฒนากุลกล่าว
พัฒนากุล (ป้าหมี) กับการเป็นครูภูมิปัญญาทำเรือจากกาบมะพร้าว
ด้านผู้ปกครองที่พาลูกเข้าร่วมงานในงานเล่นเปลี่ยนโลก กล่าวว่า กิจกรรมเล่นอิสระในพื้นที่สาธารณะเป็นกิจกรรมที่ดีทุกคนในครอบครัวเนื่องจากพ่อแม่ไม่ต้องพาลูกไปเล่นในพื้นที่เอกชนที่เสียค่าใช้จ่ายสูง เด็กได้เล่นของเล่นที่หลากหลายตามจินตนาการ มีโอกาสพัฒนาทักษะทุกด้าน ได้พบเจอเพื่อนจากหลากหลายวัย มีทักษะในการเข้าสังคม และได้ทำกิจกรรมงานฝีมือต่างๆ ร่วมกับพ่อแม่ จึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้เป็นประจำตลอดทุกสัปดาห์
“พอได้มาร่วมกิจกรรมเล่นอิสระ ลูกมีความสุขในทุกๆ ฐานกิจกรรมที่เขาเลือกเล่นเอง ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะที่นี่มีของเล่นหลากหลาย และเขายังบอกให้คุณแม่พาทำกิจกรรมร้อยลูกปัดจากวัสดุธรรมชาติ ทำให้เราได้เห็นทักษะใหม่ๆ ของเขาที่อาจไม่เคยเห็น ได้รู้ถึงความสุข ความชอบ ความสนใจของลูกมากขึ้น” คุณแม่กล่าว
คุณแม่และลูกเข้าร่วมกิจกรรมงานฝีมือร้อยลูกปัด
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้อำนวยการเล่น (Play Worker) หรือเข้าร่วมกิจกรรมเล่นเปลี่ยนโลก สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.facebook.com/letsplaymoreTH?locale=th_TH