อาสาสมัครในสถานสงเคราะห์เด็ก จิตอาสาผู้สร้างโอกาสให้อนาคตของชาติ

‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ เคยคิดกันไหมว่าพรุ่งนี้ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าในวันนี้ความหวังของชาติบางส่วน ขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ที่พวกเขาควรจะได้รับอย่างเต็มที่

โชคดีที่หลายภาคส่วนในสังคมยังไม่ทอดทิ้งแล้วได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการรับรองเด็กที่ประสบปัญหา ทางสังคม หรือได้รับผลกระทบทางสังคม นั่นคือ สถานสงเคราะห์เด็ก หรือที่เรียกกันว่า สถานรับรองเด็ก

ด้วยปัญหาปริมาณเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับจำนวนเด็กที่ต้องการการดูแล จึงมีอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือในสถานสงเคราะห์ โดยทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งด้านร่างกาย สังคม พฤติกรรม และอารมณ์ และนี่คือที่มาของการจัดทำ โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมจิตอาสาเพื่อเด็กในสถานสงเคราะห์ โดย มูลนิธิสุขภาพไทย ที่เน้นให้อาสาสมัครได้เข้ามาดูแลและสร้างสุขภาวะให้กับเด็กในสถานสงเคราะห์อย่างยั่งยืน โดยทำงานในสถานสงเคราะห์  5 แห่ง เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่ตันแบบ ได้แก่ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านเพื่องฟ้า และสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิ

การทำงานอาสาทำให้รู้สึกได้ว่าให้อะไรกับชีวิตเรามาก ช่วยต่อยอดชีวิตให้เราได้พัฒนาตัวเองขึ้นอีกเยอะ งานอาสาระยะยาวที่เจอกันทุกวันอาทิตย์ ในหลายเดือน ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง แม้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเขา ช่วยให้เรามีรอยยิ้ม และความสุขจากข้างใน

สุธาสินี ใจสมิทธ์
อาสาสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี

นก-สุธาสินี ใจสมิทธ์ เป็น 1 ในอาสากว่า 78 คนของอาสาสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ที่ช่วยเตรียมความพร้อมเด็กเรื่องการพัฒนาการของเด็ก ผ่านการสอนหนังสือ การอ่านนิทาน เป็นเพื่อนเล่น รวมถึงการพาเด็กๆ ออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่

“เราช่วยน้องๆ ให้มีพัฒนาการทางด้านสมอง ด้วยการไปช่วยสอนหนังสือ เตรียมอุปกรณ์ และพาทำกิจกรรมที่น้องๆ สนใจ ทั้งการนับเลข ระบายสี หรือการสอนภาษาอังกฤษ ก็ใช้ crossword มาช่วย มีการเล่นต่อคำ เอาเพลงฝรั่งมาหัดร้องเพื่อฝึกภาษา เราพยายามคิดกิจกรรมที่ไม่ดูเป็นวิชาการมากเกินไปให้เด็กรู้สึกสนุกตามไปด้วย”

เนื่องจากเรียนจบมาทางอักษรศาสตร์ เลยมีทักษะด้านภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส รวมถึงการมีปริญญาโททางด้านจิตวิทยาสังคม เธอจึงนำทักษะนี้มาบวกกับประสบการณ์เป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือเด็กในสถานสงเคราะห์ โดยเข้าร่วมกับมูลนิธิสุขภาพไทยมาตั้งแต่ปี 2549 และใช้ประสบการณ์จากอดีตประธานนักเรียนมัธยม ทำให้รับรู้ว่าปัญหาที่เกิดกับเด็กในโรงเรียน เช่น ยาเสพติด  ท้องไม่พร้อม ว่าจะมีผลกับอนาคตของพวกเขาอย่างไร

ตอนนี้เธอเลือกเป็นอาสาระยะยาว คอยดูแลน้องซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี ซึ่งเธอบอกว่ามีความแตกต่างจากเด็กเล็กที่เคยได้ดูแลอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีการดูแล พฤติกรรมของน้องไปจนถึงกิจกรรมที่ทำร่วมกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้อจำกัดด้านอายุของตัวน้องเอง

“เราเข้าไปคุยเหมือนเป็นเพื่อน เพื่อให้น้องเปิดใจกับเรา ให้รู้สึกว่าเราพร้อมรับฟังทำให้เขาสบายใจและไว้ใจที่จะพูดคุยด้วย เนื่องจากสถานสงเคราะห์มีจำกัดช่วงอายุ เราเลยต้องพยายามเสริมเรื่องพื้นฐานการใช้ชีวิตในสังคมภายนอกแทรกเข้าไป ผ่านการเล่าข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองไปจนถึงสอนศิลปะ งานฝีมือ การพัฒนาทักษะอาชีพ วางแผนการเงิน การทำบัญชี รายรับรายใข้ การเก็บเงิน เผื่อเอาไว้ให้เขาได้เอาไปใช้ในชีวิตข้างนอก เพราะเราเชื่อว่าปัญหาสังคมหลายอย่าง แก้ได้โดยการเริ่มต้นให้โอกาสกับเด็ก”

นกเป็นนักวิจัยที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ ทำให้เธอมีเวลาว่างช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ในการมาทำงานอาสาสมัครเพื่อเด็กในสถานสงเคราะห์ เธอยังได้เชิญชวนเพื่อนในที่ทำงานให้ลองมาร่วมกันเป็นจิตอาสาหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานอาสาดูแลเด็กป่วย สอนหนังสือเด็กในสลัม การทำห้องสมุดชุมชน จนกลุ่มจิตอาสาของเธอเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ 

“เราทำงานกับเด็กมาโดยตลอด เพราะอยากช่วยให้เด็กที่ขาดทั้งเรื่องเวลา ความรัก และโอกาส ได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เหมือนกับเรากำลังสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับสังคม เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต”

นอกจากความรักและความตั้งใจที่นกมีให้กับเด็กแบบเกินร้อยแล้ว เธอยังได้พัฒนาทักษะการดูแลเด็กในหลายด้าน ผ่านการอบรมจากอาจารย์ทางด้านจิตวิทยาที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยจัดให้ เพื่อให้มีความรู้ด้านการวางตัวที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงอายุ สำหรับพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดกับเด็ก ที่แต่ละคนก็แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา รวมไปถึงการได้เจอเพื่อนจิตอาสาเพื่อเด็กในสถานสงเคราะห์จากหลากหลายอาชีพ ที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ นอกจากนี้ ยังมีการอบรมทางด้านศิลปะการสอน และการทำสื่อต่างๆ อีกด้วย แต่สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความสุขเล็กๆ ของการเป็นจิตอาสาของเธอคือ การใช้เวลาร่วมกันกับน้องๆ ระหว่างที่ไปเที่ยวทะเล และไปทัศนศึกษายังพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งทำให้ทั้งเธอและน้องๆ ได้มีโอกาสเจอโลกใหม่ๆ ไปพร้อมกัน

รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปมากเลยอยากให้คนอื่นๆ ลองมาทำงานจิตอาสาดูบ้างจะทำให้รู้ว่าตัวเราสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ ช่วยให้รู้สึกถึงเป้าหมายในการใช้ชีวิต การที่คนหนึ่งมาดูแลช่วยเหลือคนอื่น แค่คนเดียวก็ช่วยให้สังคมนี้ดีขึ้นได้แล้ว

วิภาดา แก่นนาคำ
อาสาสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต

ทุกวันเสาร์ก่อนเที่ยง ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คือเวลาที่หนิง-วิภาดา แก่นนาคำ พนักงานบริษัทเอกชนนำมาใช้สอนเด็กๆ อ่านเขียน ทำงานศิลปะ วาดรูป ระบายสีน้ำ รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ในการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กๆ   

“เราแค่อยากทำงานอะไรก็ได้ที่เป็นจิตอาสา ตอนแรกยังไม่ได้คิดจะทำงานเกี่ยวกับเด็ก แต่พอได้มาเห็นเด็กๆ ก็คิดว่าเราน่าจะพอทำอะไรให้พวกเขาได้ เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่พอได้ลองทำแล้วได้เห็นพัฒนาการของเขา เราก็มีความสุขไปด้วย”

จากการเริ่มต้นไปบริจาคของที่บ้านเด็กอ่อนพญาไท ทำให้หนิงได้เห็นว่าตัวเองน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ จึงลองมาทำงานด้านจิตอาสาผ่านทางมูลนิธิสุขภาพไทย จนมาถึงวันนี้ เด็กหลายคนที่เธอมีส่วนร่วมในการดูแล ต่างได้บ้านที่รับไปเลี้ยงดูแล้วหลายราย บางคนได้บ้านแห่งใหม่ไกลถึงต่างประเทศเลยทีเดียว

หนิงใช้ความรู้และทักษะที่ได้จากการอบรมต่างๆ ซึ่งเน้นการเปลี่ยนวิธีคิดว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก คือการพัฒนามนุษย์ บวกกับการสร้างพลังใจให้อาสาสมัคร และการบริหารจัดการที่ดีมีการทำงานเป็นทีมเพื่อเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาเด็ก ด้วยการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง เพื่อมาพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงเตรียมอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับน้องๆ ที่พี่หนิงบอกว่าช่วยดูแลมาตั้งแต่น้องอายุได้ 2 ขวบ จนตอนนี้อายุ 5 ขวบแล้ว

“การเป็นอาสาจะมีการจับคู่เด็กกับอาสาสมัคร เพื่อทำความรู้จักกับเด็ก ศึกษานิสัยใจคอ สร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน มีการเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ การใช้คำพูดน้ำเสียง การวางตัวที่เหมาะสม รวมไปถึงการระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับน้อง เช่น การหยิบของเล็กๆ เข้าปาก การหกล้ม หรือเอานิ้วแหย่พัดลมปลั๊กไฟ”

เนื่องจากมาตรการเพื่อความปลอดภัย ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้หนิงและจิตอาสาในสถานสงเคราะห์คนอื่นไม่สามารถเข้าไปดูแลน้องๆ ได้ เธอจึงหากิจกรรมอื่นๆ ทำ  เช่น เย็บหน้ากากอนามัย และเป็นตัวกลางในการกระจายหน้ากากไปยังผู้ที่ต้องการ การที่เธอไม่หยุดนิ่งพยายามทำอะไรอยู่ตลอดเวลาแม้ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ เพราะเธอเชื่อว่าการที่ชีวิตจะมีความหมายได้ คนเราต้องทำสิ่งที่มากกว่าแค่ประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความสุขของเธอช่วยยืนยันเรื่องที่เธอพูดได้เป็นอย่างดี

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ