อาสาสมัครสาธารณสุขและแกนนำชุมชนกับผลจากการทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมพ่อแม่ดูแลเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้านใน กทม.

             กว่า 35 ปีบนเส้นทางของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอันเป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลก เพื่อปกป้อง คุ้มครอง ดูแลและเสริมสร้างสวัสดิภาพแก่เด็ก เป็นงานที่ต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีเด็กที่พบเจอปัญหาหลากหลายรูปแบบทั้งจากภายในครอบครัวและชุมชนที่อาศัยอยู่

             โครงการพัฒนาศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนและการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชน อีกฟันเฟืองในสังคมที่กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนการดูแลเด็กอย่างรอบด้าน ด้วยการใช้กลไกชุมชน ที่มีหัวใจสำคัญอย่าง อาสาสมัครสาธารณสุข และแกนนำชุมชนที่เป็นผู้เข้าไปสำรวจ วางแผน และร่วมแนะนำแนวทางการดูเด็กแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อประโยชน์แก่เด็กๆ และครอบครัว

             ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนและการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชน กล่าวถึงการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อพัฒนารูปแบบการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข และแกนนำชุมชนในกรุงเทพมหานคร เข้าหลักสูตรการอบรมเป็นบุคลากรเฉพาะทางด้านปฐมวัย ที่ครอบคลุมวิธีการดูแลและเลี้ยงดูเด็ก ทั้งด้านโภชนาการ การพัฒนาตามวัยตามหลักจิตวิทยา และการปกป้องคุ้มครอง สามารถนำความรู้พร้อมเครื่องมือต่างๆ ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่ในชุมชน เพื่อติดตาม สำรวจ คัดกรอง ให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง

             ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุข และแกนนำชุมชน สามารถพัฒนาตนเองเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้จากการอบรมและการปฏิบัติงานให้กับคนในชุมชนได้ รวมทั้งพัฒนาแนวทางให้เกิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ปรับสภาพภายในบ้าน สร้างความปลอดภัยสำหรับเด็ก กับกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กปฐมวัยในชุมชน หรือเด็กแรกเกิด – อายุ 6 ปี ที่อยู่ในครอบครัวรูปแบบต่างๆ ในชุมชน

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้รับผิดชอบโครงการ

 

             พื้นที่ดำเนินงานคือชุมชนเป้าหมาย 2 แห่ง ประกอบด้วยชุมชนวังทองหลางและลาดกระบัง โดยมีแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุข และแกนนำในชุมชนเป็นวิทยากรจำนวน 32 คน ซึ่งทำหน้าที่เข้าไปค้นหาครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัย และวางแผนในการเยี่ยมบ้าน รวมถึงการติดตามประเมินผล

             ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 18 เดือน มีการดำเนินงานตามลำดับดังนี้
                          1. การสำรวจครอบครัวในชุมชน จำแนกและระบุครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัย และระบุปัญหา สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อออกแบบงาน
                          2. วางแผนการทำงานจากข้อมูลการสำรวจ ทำตารางการเยี่ยมบ้าน
                          3. อาสาสมัครสาธารณสุข และแกนนำชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้ กับครอบครัวกลุ่มเป้าหมาย อาทิ การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย สิทธิเด็ก พัฒนาการเด็ก การสาธิตทำอาหารที่เหมาะสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย
                          4. การประเมินผลการทำงาน และติดตามลงพื้นที่ครอบครัวเป็นระยะ เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลง
                          5. สรุปถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน


             

กิจกรรมให้ความรู้ อสส.และแกนนำชุมชน

 

             “อาสาสมัครสาธารณสุข และแกนนำ ได้เข้าไปส่งเสริมความสามารถในการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ หรือเป็นพี่เลี้ยงของพ่อแม่ผู้ปกครอง นำเครื่องมือต่างๆ ไปใช้ 18 เดือนที่ผ่านมา เราพบว่าปัจจุบัน ข้อที่หนึ่งอสส.และแกนนำชุมชน รู้ข้อมูลของครอบครัวที่เข้าไปทำงานด้วย ข้อที่สอง เกิดความรู้และทักษะเพิ่ม ทั้งในด้านสิทธิเด็ก การทำของเล่น โภชนาการเด็ก การทำอาหารสมวัย เพียงพอปลอดภัย วิธีการสื่อสารเชิงบวก เกิดเป็นกลไกการทำงานในชุมชนจริงๆ” ฐาณิชชาผู้รับผิดชอบโครงการกล่าว

             ถอดบทเรียน เปลี่ยน ปรับ เพื่อไปต่อ

             ภายหลังการอบรมและการลงพื้นเยี่ยมบ้านที่มีเด็กปฐมวัยเกิดขึ้น จึงเกิดการถอดบทเรียนรูปแบบการดำเนินงานสร้างเสริมศักยภาพ อาสามสมัครสาธารณสุข และแกนนำในชุมชน และการส่งเสริมศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนในชุมชน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขและแกนนำชุมชนเข้าร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขและแกนนำชุมชนทั้ง 32 รายเข้าร่วม ผ่านการทำกิจกรรมทั้งการบอกเล่าความรู้สึกภายระหว่างสมาชิกของแต่ละชุมชน การทบทวนความรู้ เช่น ด้านสิทธิเด็ก การแบ่งกลุ่มแสดงความเห็นต่อประเด็นการทำงานที่ผ่านมา และนำเสนอข้อแนะนำต่างๆ

             ตัวแทนชุมชนชุมชนวังทองหลางและลาดกระบัง ได้ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อโครงการฯ ทั้งในด้านเนื้อหา โอกาส และอุปสรรคของการทำงาน สามารถสรุปได้ว่า ชุดความรู้ที่ได้เรียนรู้ประกอบด้วยประเด็นด้านสิทธิเด็ก การสื่อสารเชิงบวก การทำของเล่นจากของเหลือใช้ในบ้าน และด้านโภชนาการ โดยมี 2 ประเด็นที่คิดว่าเกิดความรู้ความเข้าใจหรือมีทักษะที่ดีแล้ว คือ การใช้สื่อโปสเตอร์ และการทำของเล่นจากของเหลือใช้

กิจกรรมจับกลุ่มถอดบทเรียน

 

             ตรงกันข้ามเนื้อหาที่ยังต้องการเรียนรู้เพิ่มคือ การฝึกทำความเข้าใจการสื่อสารเชิงบวก หรือ I-Message ด้วยวิธีการพูดที่หลากหลายตามสถานการณ์ต่างๆ  การจัดสันทนาการ ร้องเพลงและเล่นเกมสำหรับเด็ก  การศึกษาด้านกฎหมายคุ้มครองเด็กที่ละเอียดขึ้น รวมถึงการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กในครอบครัวเปราะบาง เช่น เด็กกำพร้า เป็นต้น

             นอกจากนี้ ยังต้องการให้ทางโครงการฯ เพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ ในอนาคต อาทิ การแสดงบทบาทสมมุติเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง เช่น การทำบทบาทสมมุติที่เกี่ยวกับการสื่อสารเชิงบวก  การทำของเล่นจากของเหลือใช้แบบใหม่ และการปรับปรุงการให้ความรู้ด้านโภชนาการ ผลิตสูตรอาหารสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยให้มีสัดส่วนชั่งตวงวัดชัดเจน พ่อแม่ผู้ปกครองทำตามได้ง่ายขึ้น

             ส่วนอุปสรรคในการทำงาน อาทิ ความยากลำบากในการลงพื้นที่บางส่วน ระยะเวลาการทำงาน รวมถึงความต่อเนื่องในการทำงานที่ยังต้องปรับปรุงต่อไป

การเขียนแผนภาพถอดบทเรียนแบบรายบุคคล

 

             ผลลัพธ์กับการทำงาน 18 เดือน

             นอกจากการถอดบทเรียนเชิงกลุ่มแล้ว เมื่อมีการสอบถามข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมพบว่ามีความเห็นต่อโครงการดังนี้

             ปรียาการณ์ รุจิเรืองชัย รองประธานเครือข่ายบ้านร่วมพัฒนาเด็ก มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม แกนนำชุมชนผู้เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า เข้าร่วมหลักสูตรนี้เป็นครั้งแรกจากการชักชวนของแกนนำที่ทำงานด้านเด็กในชุมชน ซึ่งแม้ตนเองจะทำงานคลุกคลีกับเด็กและครอบครัว เคยเปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กมาก่อน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กที่ต้องศึกษาเพิ่ม หลังเข้าร่วมหลักสูตรเกิดความเข้าใจรอบด้านขึ้น ทั้งด้านโภชนการ การทําอาหารสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย การทำของเล่น หรือประเด็นที่อาจจะจับต้องเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างด้านสิทธิเด็ก หรือวิธีการสื่อสารเชิงบวกด้วย I-Message เป็นต้น

             รวมถึงการมีทีมพี่เลี้ยง สาธิตทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ประกอบกับการมีสื่อโปสเตอร์ อาทิ โปสเตอร์ส่งเสริมให้เด็กช่วยทำงานบ้าน (ตารางติดดาว) การทำของเล่นอย่างง่าย หรือวิธีการพูดเชิงบวก เป็นสื่อกลางช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ชัดเจนเข้าใจง่าย จนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญและหันมาเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ

ปรียาการณ์ รุจิเรืองชัย แกนนำชุมชนผู้เข้าร่วมโครงการฯ (ขวา)

 

             “เนื้อหาที่เราได้อบรม มันตอบโจทย์การเลี้ยงเด็กยุคนี้ทั้งหมดเลย พอเราลงเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้ง รวม 3 ครั้ง เริ่มจากเอาโปสเตอร์ไปให้ เอาเรื่องการพูดคุยเชิงบวกกับเด็กไปแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง เข้าไปติดตามผลต่อเนื่อง ผู้ปกครองก็ลองทำ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตัวพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงเด็กเองที่มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น” ปรียาการณ์กล่าว

             ด้านปิยาพัชร สุขสงวน อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเขตวังทองหลาง กล่าวถึงผลลัพธ์การเข้าร่วมโครงการฯ ว่า ตนเองและอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน ได้ทำกิจกรรมเพื่อการดูแลเด็กในชุมชน อาทิ การเข้าไปสำรวจและร่วมดูแลเด็กที่บ้านรับเลี้ยงเด็กแรกเกิด การทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ปกครอง การแนะนำด้านการสื่อสารเชิงบวกหรือ I-Message และยังมีการชักชวนเด็กๆ ในชุมชนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันในทุกวันเสาร์ สอดแทรกการสร้างเสริมสุขภาพเด็กและให้ความรู้ด้านโภชนาการ

ปิยาพัชร สุขสงวน อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเขตวังทองหลาง

 

             “ตอนแรกคนในชุมชนยังไม่เข้าใจว่า อสส.เข้ามาทำอะไร มาจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กเพื่ออะไร แต่เราก็เก็บความรู้จากการอบรมไปเรื่อยๆ และรู้สึกภูมิใจมากที่เราเอาความรู้นำไปใช้ได้จริงกับตัวเอง คนรอบข้าง คนในชุมชน และเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองหรือเด็กๆ ที่เห็นเราทำงานต่อเนื่อง แล้วเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กในทางที่ดีขึ้น ตอนนี้เวลาเข้าไปชักชวนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี” ปิยาพัชรกล่าว

             ด้านเจนจิรา ตัวแทนผู้ปกครองจากชุมชนร่มเกล้าที่เข้าร่วมการอบรม กล่าวว่าสำหรับกิจกรรมการอบรมให้ความรู้ด้านการดูแลเด็กแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้เข้าใจว่ายังมีสิ่งที่หลายครอบครัวมองข้าม อาทิ ทักษะการสื่อสารเชิงบวก ที่เกี่ยวข้องกับด้านสิทธิเด็ก เนื่องจากอาจเคยชินต่อการออกคำสั่งหรือการลงโทษเด็ก ทักษะนี้จึงมีความสำคัญและนำไปใช้ได้ทันที ซึ่งช่วยปรับอารมณ์ของทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองไปจนถึงตัวเด็ก สร้างสัมพันธภาพที่ดีในบ้าน

เจนจิรา ตัวแทนผู้ปกครองจากชุมชนร่มเกล้า

 

             “เราดูแลเด็ก 2 คน อายุ 12 ปี และ 4 ปี ก่อนหน้าการอบรม ก็มีความรู้เรื่องการดูแลเด็กแบบเบื้องต้น แต่พอได้เข้ามาทำกิจกรรม รู้สึกว่าการเลี้ยงเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะได้เจอพ่อแม่ที่มีปัญหาแตกต่างกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งทักษะที่คิดว่ามีประโยชน์มากๆ คือ เรื่องการใช้คําพูดเชิงบวก จากที่ใช้คำสั่ง อยากให้ลูกทำตามต้องการ ก็ได้ดูตัวอย่างเคสจากเพื่อนๆ ช่วยเปลี่ยนแปลงความรู้สึกและมุมมองต่อการเลี้ยงเด็กพัฒนาขึ้นไปทีละขั้น อยากให้มีการทําโครงการเกี่ยวกับเด็กพัฒนาเด็กแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ” เจนจิรากล่าว

             สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลโครงการพัฒนาศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนและการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชน กลไกดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชน สามารถติดตามข่าวสารโครงการได้ที่ www.facebook.com/profile.php?id=100093107455849&locale=th_TH

 

             ข้อมูลประกอบการเขียน

SOPA ส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม

UNICEF THAILAND

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ