“หากดอกไม้ไม่บาน ต้องแก้ที่สภาพแวดล้อม” เปิดวงเสวนาของผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่เติบโตเต็มศักยภาพ
จากแนวคิด ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ ที่สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ได้ใช้เป็นแนวทางแบบชุมชนนําในการทำงานในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยดำเนินโครงการนำร่องมาตั้งแต่ปี 2561 เกิดเป็นผู้นำธรรมชาติและทีมกลไกในพื้นที่ต่างๆ รวม 200 ตำบลทั่วประเทศ
เมื่อมองเป้าหมายของการทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาได้อย่างเต็มศักยภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมรอบตัวเด็กเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้าง Next Generation ที่มีคุณภาพให้กับประเทศได้
วงเสวนา Co-Creating Next Generation จึงถูกจัดขึ้นภายในงาน Relearn Festival 2024 เพื่อร่วมพูดคุยถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก’ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดการร่วมกันสร้าง Next Generation โดยมี ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว (สำนัก 4) สสส. พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล และฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB และ คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ร่วมเสวนาในครั้งนี้
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว (สำนัก 4) สสส.
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวว่าถึงการดำเนินงานของ สสส. ว่าได้วางแนวคิด ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ เป็นแนวทางในการทำงานลงพื้นที่ชุมชนเพื่อผลักดันให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งหมู่บ้านไม่ได้หมายถึงแค่คนรอบตัวเด็กหรือคนในชุมชนเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงรัฐบาลและนโยบายมหภาคที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวอีกด้วย เพราะถ้าหมู่บ้านยึดถือว่าเด็กหนึ่งคนเป็นลูกของทุกคน เด็กก็จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
“หากดอกไม้ไม่บาน ไม่ได้เป็นความผิดของดอกไม้ แต่เราต้องแก้ที่สภาพแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น เด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 6 เดือน ย่อมต้องการนมแม่ และความใกล้ชิดกับแม่ แต่ สิทธิในการลาคลอดของแม่ ลาได้เพียง 90 วัน และเป็นการลาโดยยังได้รับค่าจ้างเพียง 45 วันเท่านั้น มากกว่า 80% ของเด็กเล็กในต่างจังหวัดต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย ในขณะที่พ่อแม่ต้องเข้าไปทำงานหาเงินในกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้เด็กเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งเราอยากเห็นเจตจำนงของผู้บริหารที่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหา และเราพร้อมเป็นพลังร่วมในการผลักดันให้สังคมดีขึ้น” ณัฐยากล่าว
พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล
พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการเติบโตของเด็กต้องเริ่มต้นจากหลายปัจจัยดังนี้
ครอบครัวไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเด็กสามารถรับรู้ได้ถึงความกังวลเหล่านั้น เด็กได้มีเวลาเพียงพอ ทั้งเวลาอยู่กับคนในครอบครัวจากการปรับเพิ่มวันลาคลอดจาก 90 วันเป็น 120 หรือ 180 วันให้กับแม่เด็ก หรือการลดเวลาเรียนลง เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กค้นพบตัวเอง ตลอดจนการกระจายงานอย่างทั่วถึง ไม่ให้งานกระจุกแต่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ เพื่อให้พ่อแม่ได้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น และการมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุและความรุนแรงในโรงเรียน กำหนดบทลงโทษครูที่กระทำเกินกว่าเหตุอย่างจริงจัง เช่น การยึดใบประกอบวิชาชีพ รวมทั้งการทำให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีเวทีในการแสดงความเห็นไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจ สภาเด็กและเยาวชนมีอำนาจในการเสนอกฎหมาย การปรับเกณฑ์ให้เด็กและเยาวชนอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ใหญ่ได้ เช่น ถ้ามีสิทธิ์เลือกตั้งก็มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีได้ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนให้พวกเขามีบทบาทจริง ไม่ใช่แค่ภาพฉาบฉวยของ Youth Watching ซึ่งปัจจุบันสภาเด็กและเยาวชนของไทยยังไม่มีความเชื่อมโยงไปในระบบที่สามารถส่งข้อเสนอถึงผู้มีอำนาจได้
“การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยส่งเสริมให้พ่อแม่กล้าที่จะมีลูก เพราะตอนนี้การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยกำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ในไม่ช้า” พริษฐ์กล่าว
ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB และ คิด for คิดส์
ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB และ คิด for คิดส์ ซึ่งได้นำนโยบายเพื่อเด็กและเยาวชนมาจัดแสดงในงาน พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนร่วมพับดอกไม้นโยบายเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงนโยบายที่ต้องการให้เกิดขึ้นจริง โดยนำไปติดเรียงร้อยด้านหลังเวทีเสวนา
“เด็กและครอบครัวล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีพื้นที่ในการเรียนรู้ และให้เขามีสิทธิ เสรีภาพ ไปในทางที่เลือก จะมีส่วนให้เขาเติบโตอย่างมีศักยภาพ และเป็นการเติมทรัพยากรให้ครอบครัว ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของการเมือง ที่เป็นการรวบรวมความเห็นเพื่อการต่อรองหาความเป็นไปได้ เราทุกคนจึงต้องช่วยกันสาดแสงเข้าไป เพราะถ้าเราไม่สาดแสงเข้าไป ก็อาจเกิดการใช้อำนาจที่ไม่ตอบโจทย์ทุกคนได้” นายฉัตรกล่าว
พื้นที่จัดกิจกรรมพับดอกไม้นโยบายเพื่อร่วมแสดงพลังสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
เด็กๆ นำดอกไม้นโยบายที่ตัวเองชื่นชอบมาเรียงร้อยต่อกัน
ทั้งนี้ยังมีข้อคิดเห็น อาทิ การสนับสนุนให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องเริ่มจากการลงทุนในเด็ก ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่าการลงทุนกับเด็กเป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด โดยลงทุนเด็กเล็ก 1 บาท ให้ผลตอบแทน 7-9 บาท
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เร่งด่วนคือเงินอุดหนุนช่วยเหลือเด็กเล็ก ควรอยู่ที่ 2,500 บาท โดยในทางปฏิบัติ สามารถทำได้จริงเพียง 600 บาท หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ส่วน ไม่เพียงพอให้เด็กเติบโตมาเป็นเดอะ แบกของสังคมสูงวัย นอกจากนี้ โรงเรียนควรเน้นให้เด็กค้นพบตัวเองมากกว่าเน้นเรื่องวิชาการเป็นหลัก รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในเชิงการเมือง เพื่อช่วยสร้างความเป็นพลเมือง รู้จักหน้าที่และการใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเอง เป็นต้น
พื้นที่ที่เปิดให้เด็กๆ ระบายสีทับคำที่แสดงถึงการตัดสิน และเปลี่ยนเป็นดอกไม้สีสันสดใสแทน