สอนเด็กให้รู้จักวิธีรับมือเมื่อเจอปัญหา เพื่อสร้างภูมิต้านทางทางใจ

             หากไม่ได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะที่เหมาะสมต่อการรับมือกับปัญหา เด็กๆ จะไม่รู้วิธีแสดงออกว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้

             เด็กที่ไม่รู้วิธีจัดการกับความรู้สึกมีแนวโน้มที่จะหันมาใช้กลยุทธ์การรับมือที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเมื่อโตขึ้น เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น

             เช่นเดียวกัน วัยรุ่นที่ขาดทักษะการรับมือที่ดี ก็อาจหันไปหาสิ่งอื่นที่ส่งผลให้เกิดมีพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการรับมือ ตัวอย่าง แทนที่จะหาวิธีทำการบ้านคณิตศาสตร์ที่ยากให้ได้ วัยรุ่นกลับไปเล่นบาสเก็ตบอลกับเพื่อนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำการบ้านวิชานั้นเลย ซึ่งเป็นการเลือกใช้วิธีเผชิญปัญหาแบบหลีกเลี่ยง  จากนั้น การไม่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายบ่อยเข้า ย่อมทำให้ปัญหาการเรียนเพิ่มมากขึ้น วัยรุ่นเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเรียนตามเพื่อนไม่ทัน เพราะพวกเขาไม่ได้เรียนรู้ที่จะทำตามขั้นตอนวิธีรับมือกับความวิตกกังวลและความหงุดหงิดที่พวกเขาประสบเมื่อพยายามทำงาน

 

ผลกระทบต่อสุขภาพของการไม่รู้จักทักษะการรับมือ

             การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตวิทยาอเมริกา พบว่าวัยรุ่นที่ใช้การเผชิญปัญหาแบบหลีกเลี่ยงมีแนวโน้มที่จะหันไปใช้กัญชามากขึ้น และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ คนที่ขาดทักษะในการแก้ปัญหาก็จะมีแนวโน้มใช้กัญชาตลอดชีวิตสูงขึ้น นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าการขาดทักษะในการรับมืออาจนำไปสู่การพึ่งพาสิ่งอื่นที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

             ในทางกลับกัน เด็กๆ ที่เรียนรู้ทักษะการรับมือที่ดีต่อสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อยมีโอกาสที่จะมีสุขภาวะที่ดีเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Public Health พบว่ามีความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างทักษะทางสังคมและอารมณ์ในโรงเรียนอนุบาลและการกินดีอยู่ดีในวัยผู้ใหญ่

             นักวิจัยพบว่าเด็กที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เมื่ออายุ 5 ขวบ มีแนวโน้มที่จะได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย มีงานที่มั่นคงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กเหล่านี้ยังมีโอกาสน้อยที่จะใช้สารเสพติด หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งยังมีปัญหาสุขภาพจิตน้อยกว่ากลุ่มแรกที่ขาดทักษะในการรับมือที่ดีเมื่อมีปัญหา

 

กลยุทธ์ในการสอนเด็กให้รู้จักการรับมือกับปัญหาด้วยทักษะที่ดี

             ข้อสำคัญข้อแรกคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องช่วยให้เด็กมีความสามารถในการใช้ทักษะการรับมือได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เด็กสามารถจัดการกับความรู้สึกไม่สบายได้โดยไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพเมื่อเขาเติบโตขึ้น และเมื่อคุณไม่ได้อยู่เคียงข้างเพื่อชี้แนะ

             กลยุทธ์การรับมือมีสองประเภท คือ ทักษะการเผชิญปัญหาที่เน้นอารมณ์และทักษะการเผชิญปัญหาที่เน้นปัญหา ทักษะทั้งสองประเภทมีความสำคัญสำหรับเด็กในการเรียนรู้และนำไปใช้ในชีวิต ซึ่งเด็กจำเป็นต้องมีทั้งสองประเภท

             ทักษะการเผชิญปัญหาที่เน้นอารมณ์ ช่วยให้เด็กจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ เด็กจึงรู้สึกเครียดน้อยลง ทักษะเหล่านี้จำเป็นสำหรับสถานการณ์ที่เด็กไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง เช่น การรับมือกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยง การไม่ได้เข้าร่วมทีมบาสเก็ตบอล ทักษะเหล่านี้ยังสามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีอดทนต่อความเครียดได้ดีขึ้น

 

             ขณะเดียวกัน ทักษะการเผชิญปัญหาที่มุ่งเน้นปัญหา ทักษะด้านนี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ เช่น การยุติมิตรภาพที่ไม่ดี หรือการกล้าบอกครูเกี่ยวกับเรื่องอันธพาลในโรงเรียน ทักษะเหล่านี้จะมีประโยชน์เมื่อเด็กสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

             ทุกครั้งที่สอนเด็กให้รู้จักการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งมีทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้  พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องชี้ให้เห็นกลยุทธ์ที่คุณใช้และพูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่เด็กสามารถจดจำเพื่อใช้กลยุทธ์เหล่านั้นด้วยตัวเองในอนาคต เช่น หากคุณพาเด็กไปสวนสาธารณะหลังจากถูกตัดออกจากทีมบาสเก็ตบอล ให้อธิบายเหตุผล ดังนี้

              “พ่อรู้ว่าหนู้รู้สึกเสียใจมาก และก็รู้ด้วยว่าหนูชอบการมาอยู่ในสวนสาธารณะ พ่อก็เลยคิดว่ามันคงจะดีถ้าได้พาหนูมาที่นี่เพราะช่วยให้หนูรู้สึกดีขึ้น แล้วยังมีอะไรอีกไหมที่สามารถช่วยให้หนูรู้สึกดีขึ้นเวลาที่หนูรู้สึกแย่ บอกพ่อได้นะ”

 

เคล็ดลับที่ควรคำนึงถึง เมื่อสอนเด็กให้รู้จักวิธีใช้ทักษะการรับมือ

  • บอกให้เด็กรู้ทันทีว่าพร้อมจะช่วย เช่น พูดประมาณว่า “ดูเหมือนหนูจะรู้สึกหงุดหงิดนะ มีอะไรจะช่วยให้หนูอารมณ์ดีขึ้นได้บ้าง” เป้าหมายของการพูดเช่นนี้ คือ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าอะไรใช้ได้ผลเมื่อต้องรับมือกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพื่อที่พวกเขาจะได้ระบุสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำ
  • ปล่อยให้เด็กรู้สึกแย่บ้าง ไม่จำเป็นที่เด็กต้องมีความสุขตลอดเวลา ความรู้สึกโกรธ เศร้า หรือกลัว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยา สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีอารมณ์ไม่ดีที่มารบกวนความสามารถในการทำงาน เด็กต้องรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นว่ามาจากอะไร และส่งเสริมให้เด็กเลือกใช้วิธีรับมือที่ถูกต้อง
  • ชมเชยเด็กเมื่อเห็นว่าเด็กใช้ทักษะในการเผชิญปัญหา ให้พูดว่า “ยายเห็นหนูเป่าฟองสบู่ที่สนามเด็กเล่นวันนี้ ทำได้ดีมาก การเป่าฟองสบู่ทำให้จิตใจหนูสงบลงได้จริงด้วย” การแสดงออกให้เด็กรู้ว่าคุณเห็นวิธีการใช้ทักษะของเด็ก เป็นการตอกย้ำว่าเด็กมีความสำคัญ
  • ช่วยเด็กเรียนรู้ที่จะระบุกลยุทธ์ที่เหมาะกับพวกเขาที่สุด การถามคำถามเช่น “การระบายสีช่วยให้รู้สึกดีขึ้นไหม” เป้าหมายคือ เป็นการสนับสนุนให้บุตรหลานของคุณระบุว่าสิ่งใดได้ผล และสิ่งใดไม่ได้ผลเมื่อเด็กรู้สึกเครียด หงุดหงิด หรือหนักใจ
  • ระวังการหลบเลี่ยง หลีกหนี ทักษะการรับมือใดๆ ก็ตามอาจไม่ดีต่อสุขภาพหากใช้มากเกินไป แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือต้องตระหนักว่าบุตรหลานของคุณใช้เวลากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานเท่าใด การใช้ที่เด็กชอบใช้เวลาอยู่หน้าจออาจกลายเป็นวิธีการหลบหนีที่ช่วยให้เด็กหลีกเลี่ยงปัญหา แทนที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านั้น
  • เมื่อเด็กทำผิดพลาด ให้ถือเป็นโอกาสในการสอน การที่เด็กขว้างปาทำลายสิ่งของด้วยความโกรธ หรือเลือกไม่ทำสิ่งที่พวกเขาต้องการทำ เป็นเพราะเด็กรู้สึกกังวล ผู้ปกครองต้องฝึกฝนทักษะเพื่อให้พวกเขารู้สึกพร้อมที่จะรับมือกับความรู้สึกไม่สบายใจเหล่านั้น โดยเลือกวิธีที่เหมาะสม ไม่ควรเลือกวิธีเพิกเฉย ละเลย หรือใช้วิธีด่าทอ ทำร้าย
Shares:
QR Code :
QR Code