สอนเด็กผ่านการเล่น กรณีศึกษา: โรงเรียนอนุบาลในญี่ปุ่น

โรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่นสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องการลองเสี่ยงและความยืดหยุ่นด้วยวิธีการอย่างไร

โรงเรียนอนุบาลโคโฮขุ ในแถบที่เป็นเนินของโยโกฮามา ซ่อนอยู่ระหว่างทางยกระดับที่การจราจรขวักไขว่ อพาร์ทเมนต์ และถนนชานเมือง ตอนขยายโรงเรียน โคโฮขุดึงสถาปนิกเฉพาะทางมาสร้างอาคารที่ซับซ้อนและน่าสนุก แทรกเข้าไปในพื้นที่ที่ท้าทายอย่างเหมาะเจาะ

ด้วยความมุ่งมั่นจะใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศตามธรรมชาติให้มากที่สุด นักภูมิสถาปัตย์ ดร. โค เซนดะ ได้ทำงานกับสถาปนิกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดมอบความท้าทายทางร่างกาย และหล่อเลี้ยงความสุขทางอารมณ์ของเด็ก

อาคารใหม่นี้คู่ควรเป็นกรณีศึกษาด้วยตัวเอง ไม่เพียงซอกมุมต่างๆ ที่เด็กชอบค้นหาจะมีอยู่ทั่วสวน แต่ยังมีในชายคาของอาคาร ใต้ยกพื้นขึ้นเหนือทางเดิน และซ่อนอยู่หลังบันไดด้วย ผนังเลื่อนได้และช่องประตูติดกระจกทำให้มีแสงและความโปร่ง ความแตกต่างระหว่างในอาคารกับกลางแจ้งพร่าเลือนได้อย่างน่าตื่นเต้น

พื้นผิวกลางแจ้งหลักที่โคโฮขุเป็นดิน มีพื้นที่ขนาดเล็กกว่าที่ทำพื้นและปูแผ่นยางเพื่อป้องกันการสึกหรอในบริเวณที่มีการใช้งานมาก แต่มีการจัดชุดสีและวัสดุอย่างเรียบง่าย ใช้เนินดินและตลิ่ง ต้นไม้และเครื่องเล่นเก่าที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ เช่น การใช้พื้น “ดิน” เด็กสามารถขุดได้ ใช้ชอล์กขีดเขียนได้ ขี่จักรยานผ่านได้ และจุดที่พื้นผิวเรียบและแข็งแรง ก็เหมาะกับการเล่นก่อสร้างและเล่นน้ำ

แต่สิ่งที่โดดเด่นจริงๆ คือความสำคัญของการร่วมกันทำกิจวัตรประจำ และครูกับเด็ก ที่ถูกทำให้เป็นเรื่องง่าย

อากิโกะ ฮายาชิได้อธิบายแนวคิด มิมาโมรุ ซึ่งแปลคร่าวๆ ได้ว่า “เฝ้ามองและดูแล” และอธิบายว่าชาวญี่ปุ่นใช้วิธี “ปล่อยมือ” มากกว่าในหลักสูตร “ในห้องเรียนก่อนปฐมวัย แนวคิดทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “มิมาโมรุ” คือการที่ครูเข้าไปแทรกแซงกระบวนการพัฒนาการรับรู้ สังคม และอารมณ์ของเด็กน้อยมาก เพราะความที่กระทรวงศึกษาไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้มากนัก ผู้อำนวยการ ครู และเด็ก จึงได้รับการส่งเสริมให้หาวิธีการของตัวเอง ไม่ใช่โดยลำพัง แต่เป็นกลุ่ม

รองเท้า

แต่เดิมในญี่ปุ่นจะไม่ใส่รองเท้าจากข้างนอกเข้าในบ้าน แม้สถานที่สาธารณะบางแห่งอย่างเช่นห้องสมุดยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังทำกันอยู่ในโรงเรียนและบ้านเรือน รอบอาคารเนิร์สเซอรี่ที่โคโฮขุล้อมด้วยยกพื้นไม้เนื้อแข็งแคบยาว มีบันไดขึ้นไปชั้นสูงขึ้น พื้นที่โดยรอบนี้ถือเป็น “ในบ้าน” แม้จะอยู่กลางแจ้งก็ตาม

พื้นที่เชื่อมต่อนี้สะอาด ไม่มีสิ่งของวางเกะกะ สิ่งเดียวที่มีคือที่วางรองเท้าและรองเท้าแตะ ผู้ใหญ่ เด็ก และแขกที่มาเยือน จะเปลี่ยนรองเท้าที่ริมยกพื้นนี้ก่อนเข้าสู่อาคารคหรือพื้นที่ เด็กบางคนนั่งฟังนิทานกับครู โดยใช้ผ้าห่มและหมอนอิงแบบในอาคาร

เพราะการเปลี่ยนรองเท้าเกิดขึ้นบ่อยตลอดทั้งวัน แม้แต่เด็กที่เล็กที่สุดจึงสามารถทำได้ดี พ่อแม่จะเลือกรองเท้าที่ถอดง่าย เช่นรองเท้าแบบสวมได้เลยหรือแบบติดผ้าหนาม และโรงเรียน (หรือพ่อแม่) จะจัดหา รองเท้าแตะผ้าสีขาวซักได้ ที่เรียกว่า อุวาบากิ ไว้ให้ ซึ่งมีสายรัดเป็นยางยืด และมักมีส่วนเสริมตรงปลายเท้า

ที่วางรองเท้าและอุวาบากิจะตั้งอยู่ที่พื้นที่เชื่อมต่อ มีความสูงเหมาะกับเด็ก ความคาดหวังที่เห็นได้ชัดคือ ให้เด็กๆ จัดการรองเท้าของตัวเอง

หน้าที่รับผิดชอบ

ที่โคโฮขุ เด็กถูกคาดหวังให้มีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่การเล่นกลางแจ้งอย่างราบรื่น และพวกเขาก็ทำอย่างเต็มใจ นอกจากเวลาที่ครูตั้งใจจะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ฝึกถีบจักรยานแล้ว ในตอนต้นของการเล่นกลางแจ้ง แทบไม่มีการจัดเตรียมอะไรไว้ให้เด็กเลย

เด็กๆ จะเป็นฝ่ายเข้าไปในพื้นที่ที่ใช้เก็บของ และหยิบวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องการเอง เมื่อมีการเล่นกลางแจ้ง ซึ่งก็คือส่วนใหญ่ของวัน เด็กมีอิสระจะเข้าหรือออกจากอาคารได้ และเราก็ได้เห็นเด็กที่เล็กมากๆ ตัดสินใจว่าอยากอยู่ที่ไหน และกับใคร

การเก็บกวาดหลังจบวันเป็นการทำงานร่วมกัน และอาจกินเวลาถึง 20 นาที ครูจะเริ่มย้ายอุปกรณ์ไปยังที่เก็บของ และเด็กจะเข้ามาช่วย เราจะเห็นพวกเขาเก็บชิงช้า จอดจักรยาน คราดดินให้เรียบ ขนชิ้นส่วนต่างๆ ไปยังชั้นวาง และจัดเก้าอี้ที่นั่นที่ถูกย้ายไปรอบพื้นที่

น่าประทับใจมากที่ได้เห็นพวกเขาประสานงานกันอย่างดี และการจัดการ “ภาระ” เหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่องสนุก เพราะไม่มีเด็กคนไหนต้องหยุดเล่นตามที่ถูกกำหนด แต่จะเข้าร่วมการเก็บกวาดเมื่อพร้อม

สุขอนามัย

ทุกโรงเรียนมีรางล้างมือหลายรางในพื้นที่กลางแจ้ง ตั้งอยู่ในจุดที่ใช้สะดวก และคาดหวังให้เด็กใช้ก่อนกลับเข้าสู่อาคาร แต่ละรางจะมีก๊อกน้ำสามก๊อกหรือมากกว่า พร้อมสบู่ในถุงตาข่ายห้อยอยู่ข้างๆ และหลายรางยังมีสายยางติดอยู่สำหรับล้างขาหรือรองเท้าด้วย

รางพวกนี้ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี เด็กและผู้ใหญ่จะไม่มีทีท่ากลัวสกปรกเลย จะมีการล้างมือเมื่อจำเป็น แต่เด็กมีอิสระที่จะเล่นกับพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าพวกเขาจะเลอะเทอะเพียงใดก็ตาม

เราเห็นอย่างนี้ตลอดในโรงเรียนที่ไปเยือน เราสังเกตดูเด็กเล็กและครูไปที่รางด้วยกัน เด็กที่โตกว่าจะมีความสามารถในการล้างมือที่ดีเยี่ยม และใช้เวลานานเพื่อความมั่นใจว่าสิ่งสกปรกออกไปแล้วจริงๆ

คิดเรื่องพื้นที่เชื่อมต่อเสียใหม่

ที่โคโฮขุ พื้นที่ “เชื่อมต่อ” จะอยู่ติดกับห้องเรียน โดยมีพื้นต่างชนิดกัน เช่น มียกพื้นหรือการปูพื้นที่มีพื้นผิวขรุขระ บางที่ยังรวมบันไดขั้นเล็กหนึ่งขั้นก่อนลงไปยังพื้นที่เล่นด้วย สิ่งเดียวที่เก็บไว้ในพื้นที่เชื่อมต่อ (ซึ่งนับเป็น “ในอาคาร”) คือรองเท้าและ อุวาบากิ เป็นสิ่งเน้นย้ำความแตกต่างระหว่างภายในและภายนอก

ที่เก็บของกลางแจ้งที่ดีกว่า

ที่เก็บของกลางแจ้งจำนวนมากเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน และการเข้าถึงได้ก็สำคัญ เด็กสามารถหยิบอุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง และมีส่วนในการเก็บกวาดประจำวัน ที่เก็บของต้องเหมาะกับอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน และอุปกรณ์ที่ต้องใช้โดยมีผู้ใหญ่ช่วยเหลือก็ต้องเก็บไว้ในที่เด็กเอื้อมไม่ถึง

การเก็บกวาดเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน และทำไปตามจังหวะของเด็ก ไม่มีการเร่งหรือตื่นตระหนก ผู้ใหญ่และเด็กทำงานด้วยกันเพื่อย้ายของชิ้นใหญ่ กวาดใบไม้ และนำชิ้นส่วนเคลื่อนย้ายได้กลับเข้าที่เก็บตามกำหนด

คิดเรื่องกิจวัตรประจำเสียใหม่

กิจวัตรประจำสำคัญต่อโครงสร้างของวันมาก และมีผลต่อคุณภาพของเวลาที่ใช้อยู่กลางแจ้ง เด็กมักเริ่มวันที่พื้นที่เล่นกลางแจ้ง เมื่อพ่อแม่มาส่งและไม่ได้เข้าในอาคารเลย พอจบวัน เด็กจะเอากระเป๋าออกมาวางบริเวณที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อ เปลี่ยนรองเท้ากลับเป็นของตัวเอง และรอเจอพ่อแม่ที่มารับกลับบ้าน

เครื่องแบบ

โรงเรียนมีเครื่องแบบง่ายๆ สำหรับเด็ก ที่พื้นฐานที่สุด เด็กจะสวมหมวกหรือหมวกแก๊ปที่มีสีตามกลุ่มอายุ ในโรงเรียนอื่นมักเป็นเสื้อโปโลกับกางเกงขาสั้น

ไม่มีเครื่องแบบครูที่โคโฮขุ แต่ผู้ใหญ่ทุกคนแต่งตัวเหมาะกับกลางแจ้ง และสวมผ้ากันเปื้อนหรือเสื้อคลุมในแบบของตัวเองเพื่อป้องกันเสื้อผ้า

ครูเกือบทุกคนที่เห็นในโรงเรียน จะสวมผ้ากันเปื้อนหรือเสื้อคลุมที่มีลายหรือผ้าน่ารักๆ แม้แต่เมื่อครูต้องใส่เครื่องแบบ พวกเขาก็ยังสวมผ้ากันเปื้อน ซึ่งดูจะทำให้พวกเขามีอิสระที่จะเปื้อนได้เช่นกัน

สรุป

  • ครูเชื่อมั่นว่าเด็กในความดูแลเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถและดูแลตัวเองได้ และช่วยสร้างความกระตือรือร้นให้เด็ก เมื่ออยู่ในพื้นที่ท้าทายของโคโฮขุ เนินชัน เครื่องเล่นสูง พื้นผิวดิน และระดับความสูงที่เปลี่ยนแปลง หมายถึงความมั่นใจและยืดหยุ่นของเด็กในทุกก้าว
  • เด็กที่โคโฮขุต่างโอบรับความเสี่ยงและความท้าทายอย่างยินดี ตั้งแต่เด็กชายที่โตกว่าลากม้านั่งยาวหนักๆ ในตอนท้ายชั่วโมงไปถึงเด็กน้อยที่ยังเดินไม่แข็งไถลลงมาตามเนินดิน
  • ผู้ใหญ่จะร่วมเล่นสนุกกลางแจ้งกับเด็กอย่างจริงจัง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยึดเกมหรือบงการกิจกรรมส่วนใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะแสดงความเข้าใจในเชิงปฏิบัติถึงความแตกต่างระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์กับการก้าวก่าย และใช้คำพูด ภาษากาย และการกระทำเพื่อสาธิตว่าความสนใจและการกระทำของเด็กๆ สำคัญเพียงใด
  • พื้นที่ต้องท้าทายทั้งร่างกายและภูมิปัญญา มีทางลาด ที่สูง มุมหลบซ่อน และอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยง ทั้งหมดถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าพื้นที่กลางแจ้งจะมีขนาดเท่าใดก็ตาม
  • สุขอนามัยและกิจวัตรประจำเป็นเรื่องสำคัญมาก ธรรมเนียมปฏิบัติของญี่ปุ่นเป็นตัวกำหนดวิธีการจัดการการเล่นกลางแจ้งและกิจวัตรประจำอย่างการล้างมือ เปลี่ยนรองเท้า และเก็บกวาดช่วยให้เด็กๆ หัดพึ่งพาตัวเองได้ ฉลาด และยืดหยุ่น
  • พื้นที่เป็นทรัพยากรทรงคุณค่าในตัวเอง ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะมีชิ้นส่วนเครื่องย้ายได้หรืออุปกรณ์การเล่นดั้งเดิมมากมาย แต่ทุกที่ก็ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศ ระบบอากาศท้องถิ่น และพืชพันธุ์สร้างพื้นที่เล่นที่น่าตื่นเต้นขึ้นมาได้
  • เด็กทุกอายุจะเล่นด้วยกัน และสามารถไปได้ทั่วพื้นที่กลางแจ้งอย่างอิสระ ไม่ว่าจะกว้างขวางเพียงใด เด็กๆ ใช้พื้นที่เล่นเดียวกัน แต่สามารถแยกแยะได้ด้วยสีของหมวกกันแดด แม้ทารกจะมีพื้นที่เล่นต่างหากนอกเหนือจะพื้นที่หลักก็ตาม
  • การเสี่ยงและความท้าทายมีลำดับขั้น เพื่อให้เด็กสามารถสร้างเสริมความมั่นใจและความแข็งแรงทางกายได้ในสถานการณ์จริงที่ยากเหมาะสมกับระดับพัฒนาการ และเด็กๆ สามารถเห็นได้ก่อนตลอดว่าความท้าทาย “ต่อไป” คืออะไร มองดูเด็กที่โตกว่าเป็นต้นแบบ ผู้ใหญ่ประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำให้เกิดการเล่นที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น ไม่ใช่ขัดขวาง

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • อ่านบล็อก ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยและกรณีศึกษาได้ที่ Play Learning Life www.plloutdoors.org.uk
  • กรณีศึกษาเพิ่มเติม ดู Learning through Landscapes ได้ที่ www.ltl.org.uk
  • ข้อมูลเกี่ยวกับสหพันธ์สนามโรงเรียนนานาชาติและเดือนสนามโรงเรียนนานาชาติที่ www.internationalschoolgrounds.org
  • มูลนิธิซาซากาวะบริเตนใหญ่ www.gbsf.org.uk
  • ดูงานสำหรับอนุบาลของดร. โค เซนดะที่ http://www.ms-edi.co.jp/works/ (แปลเว็บไซต์ของโรงเรียนญี่ปุ่นโดยไปที่ http://translate.google.com เลือก “ภาษาญี่ปุ่น” และวางลิ้งค์เว็บไซต์ของโรงเรียนในช่อง “ตรวจหาภาษา” แล้วกดเพื่อแปลในช่อง “ภาษาไทย”
  • โรงเรียนอนุบาลโคโฮขุ www.kohoku-yochien.ed.jp
  • กรณีศึกษาเรื่อง “กิจวัตรประจำ” www.plloutdoors.org.uk/casestudies

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ