สวนนิเวศเกษตรศิลป์ พื้นที่สร้างสรรค์ที่ผสมผสานวิถีเกษตรเข้ากับความงามได้อย่างกลมกลืน
กุญแจสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลายทางธรรมชาติจำนวนมากมาย สามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มานานหลายร้อยล้านปีคือความสมดุลระหว่างกันและกัน ซึ่งช่วยให้ทุกชีวิตสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
การใช้ชีวิตอยู่บนความสมดุลของระบบนิเวศ จึงเป็นแนวคิดหลักที่สวนนิเวศเกษตรศิลป์นำมาปรับใช้ โดยให้ผู้มาเยือนพื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้ได้เข้าถึงพลังของผืนดินผ่านการทำเกษตรด้วยตัวเองเพื่อตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่อยู่รายรอบ และสัมผัสการแสดงอารมณ์ความรู้สึกจากงานศิลปะที่เป็นตัวแทนจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์
“สวนนิเวศน์คือบริบทพื้นที่ที่เอื้อกันอย่างสมดุลย์ เกษตรคืออาชีพที่ทำมาแต่ดั้งเดิม ส่วนศิลปะคือสิ่งที่พวกเราชื่นชอบ ก็เลยรวมเป็นนิเวศเกษตรศิลป์ ศิลปะกินได้คือหัวใจสำคัญ ทำเกษตรอย่างไรให้สนุกคือโจทย์หลักที่เราต้องชวนกันคิด จึงสร้างให้เป็นพื้นที่นำร่องหรือเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่เด็กๆ สามารถมาใช้พื้นที่ของเราได้”
สัญญา ทิพบำรุง
พี่หยา-สัญญา ทิพบำรุง ผู้ก่อตั้งสวนนิเวศเกษตรศิลป์ เป็นพื้นที่เรียนรู้ ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย ผ่านกระบวนการศิลปะบนที่ดินกว่า 3 ไร่ ได้อธิบายแนวคิดที่นำศิลปะมารับใช้เกษตร แล้วเอาเกษตรมาเสริมศิลปะว่า ทำอย่างไรให้ศิลปะกับเกษตรอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลบนระบบนิเวศที่จัดการกันเอง
โดยพวกเราที่พี่หยาหมายถึงนั้นครอบคลุมไปถึง เด็ก เยาวชน โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน เป็นทุกส่วนของความเป็นครอบครัว ซึ่งจะสังเกตความตั้งใจนี้ได้จากบริบทบ้านและพื้นที่ที่พี่หยาพยายามใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ที่สุด แล้วยังประกอบด้วยสิ่งของและกิจกรรมต่างๆ จำนวนมากเพื่อให้มีความหลากหลายมากที่สุดอีกด้วย
ก่อสร้างสร้างสวน
ถ้าย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของสวนนิเวศเกษตรศิลป์ เกิดจากพี่หยาที่มีโอกาสทำงานด้านเด็กและเยาวชนมานานกว่า 16 ปี ได้ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่ อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ ในปี 2553 เพื่อก่อร่างสร้างสวนในฝันขึ้นมา แล้วนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในองค์กรมาลองปรับใช้ด้วยตัวเอง จนในปี 2555 ก็เริ่มเปิดตัวพื้นที่ สวนนิเวศเกษตรศิลป์ อย่างเป็นทางการ
จากความตั้งใจแรกที่อยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ที่นำเอาการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนพื้นที่โดยรอบ มาผสมผสานเข้ากับงานศิลปะที่เธอรัก และโจทย์สำคัญคือพื้นที่นี้ยังต้องสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวคิดของการเป็นระบบนิเวศน์ ซึ่งบ้านดินที่ตั้งเด่นอยู่กลางทุ่งที่พวกเธอช่วยกันสร้างขึ้นน่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งช่วยยืนยันคำพูดนี้ได้เป็นอย่างดี
“เราได้ถอดบทเรียนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างนำมาใช้ที่นี่ เราชวนชุมชนที่เราเคยทำงานด้วยกันมานั่งพูดคุย ลองเอาของที่มีในชุมชนมาขาย แล้วชวนเครือข่ายในพื้นที่มาเข้ามามีส่วนร่วม จนตรงนี้เป็นพื้นที่ใหม่ที่เราอยากสร้าง”
พี่หยาได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดการทำงานออกมาในรูปของกิจกรรมศิลปะอย่างการทำ workshop วาดรูป การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ การปั้นดิน ทำสมุดทำมือ การเรียนรู้สมุนไพร และที่ขาดไม่ได้เลยคือการเรียนรู้การทำการเกษตรที่เป็นตัวตนของเธอ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จะนำไปวางขายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำรายได้เหล่านั้นกลับมาสนับสนุนกิจกรรมภายในสวนต่อไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้สวนนิเวศเกษตรศิลป์ยังมีการจัดงานแลนด์อาร์ตเป็นงานประจำปีของที่นี่ในกลางวันมีการทำ workshop ส่วนในเวลากลางคืนจะจัดเป็นงานดนตรีเล็กๆ เพื่อให้เด็กๆ และชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม
ทำให้รู้อยู่ให้เห็น
ในตอนแรกผู้คนในชุมชนรอบข้าง อาจยังไม่เข้าใจในสิ่งที่พี่หยาพยายามทำ เพราะเห็นทั้งการทำเกษตรทำนา แล้วก็กิจกรรมอะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งเธอก็ไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม เพียงแค่พยายามทำตามความเชื่ออย่างมุ่งมั่นให้พวกเขาได้เห็น ซึ่งผลผลิตที่ผลิดอกงอกงามของสวนนิเวศเกษตรศิลป์ คือการเติบโตของเด็กในแต่ละรุ่น ที่ผ่านเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นเด็กในชุมชนที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก จนทำให้ผู้ปกครองในชุมชนเริ่มเข้าใจมากยิ่งขึ้น
“ตอนแรกเรายังไม่ได้รับการยอมรับ เพราะคนสงสัยว่ากลับมาทำนาทำไมทั้งที่เรียนสูงๆ แล้วเอาเงินมาจากไหน เราอยากให้เขารู้ว่าที่ต้องทำนาเพราะทุกคนต้องกินข้าว ถ้าเราพึ่งตัวเองได้ก็ไม่ต้องไปซื้อ ที่สำคัญเราได้รับการหนุนเสริมจากพ่อแม่ที่เข้าใจและคอยช่วยเหลือ รวมถึงคนที่เห็นเราทำด้วยใจจริงได้เข้ามาช่วยเต็มที่”
นอกจากนี้พี่หยายังได้เชิญผู้ปกครองในชุมชนเข้ามาดูกิจกรรมของสวนนิเวศเกษตรศิลป์ เพื่อให้รับรู้ด้วยตัวเองว่าทำไมเด็กๆ หลายคนถึงมาคลุกคลีกับกิจกรรมต่างๆ ที่นี่ได้ทั้งวัน ซึ่งสิ่งที่พวกเขาเห็นคือพัฒนาการด้านสมาธิจากการทำงานศิลปะ และเครื่องมือต่างๆ ที่เด็กแต่ละคนจะสนใจไม่เหมือนกัน บางคนชอบวาดรูป หลายคนสนใจดนตรี รวมถึงวิธีการสอนทางอ้อมของพี่หยาที่ช่วยให้เด็กซึมซับเรื่องเหล่าได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมโดยรวมของเด็กทั้งเรื่องความนิ่ง และช่วยให้ความก้าวร้าวลดลง
พี่หยาเล่าว่าเด็กหลายคนที่เคยผ่านกิจกรรมจากสวนนิเวศเกษตรศิลป์ไปแล้ว รู้สึกอยากกลับมารวมรุ่นกันอีกครั้ง เพราะรู้สึกคิดถึงแล้วขอบคุณพื้นที่ตรงนี้ที่มีส่วนช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการบอกต่อว่าสิ่งที่ช่วยกันสร้างนี้เกิดผลทำให้คนเข้าใจสิ่งที่พื้นที่แห่งนี้พยายามสื่อสารมากยิ่งขึ้น
ตอนนี้มีเด็กและเยาวชนที่ผ่านสวนเกษตรนิเวศศิลป์ไปแล้วกว่า 10 รุ่น นอกจากเด็กในชุมชนแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเด็กจากญี่ปุ่นที่มาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งเด็กประถมไปจนถึงเด็กในระดับมหาวิทยาลัย ที่มาใช้ชีวิตในสวนนี้นาน 15-30 วัน เพื่อเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆ
สิ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบที่นี่คือการได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต กิจกรรมที่พวกเขาไม่เคยเห็นทั้งการขุดปูนา ตกปลา เรียนรู้ชุมชนอาศัยอยู่กับชาวบ้านในแบบวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติ พวกเขาเลยรู้สึกสนุกแล้วยังได้เพื่อนใหม่ที่มาร่วมกิจกรรม เด็กและเยาวชนหลายคนที่ผ่านสวนเกษตรนิเวศศิลป์ได้นำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปพัฒนาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง จนอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างกลมกลืน
“ทั้งเกษตร ศิลปะ ชุมชน ทุกอย่างรวมกันเป็นที่นี่ เอาศิลปะมารรับใช้เกษตร รับใช้ชุมชน เราไม่ได้อยากให้เขามองว่าเราเป็นครูแต่อยากชวนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม แล้วให้มองว่าเราเป็นคนหนึ่งที่อยากทำงานในพื้นที่ ในฐานะลูกหลานคนหนึ่งในชุมชน”
เติบโตไปพร้อมกัน
เด็กหลายคนเข้ามาในสวนนิเวศเกษตรศิลป์ต่างก็ผ่านกระบวนการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน โดยพี่หยาบอกว่าจะทำพื้นที่ให้มีความน่าสนใจ และความหลากหลายมากที่สุด เพื่อเชิญชวนทุกคนให้เข้ามาเรียนรู้ โดยเธอพร้อมจะเปิดเป็น homestay ให้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตแบบเกษตรศิลป์ หรือแค่จะลองมานั่งกินข้าวพูดคุยงานกันก็สามารถทำได้ เพราะที่นี่เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน
พื้นที่สวนนิเวศเกษตรศิลป์ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกันที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกัน ด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กทุกคนมีความถนัดและสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านห้องเรียนเท่านั้น การหยิบยื่นพื้นที่แห่งนี้ให้เด็กๆ ได้มาค้นหาสิ่งที่รักและแสดงศักยภาพที่ตัวเองมีออกมาผ่านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการทำมัดย้อมหรือการดนตรีจนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
“เราอยากให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ และได้รับการยอมรับจากสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดีและต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง เหมือนที่สิ่งที่เรากลับมาทำที่นี่ เราต้องเลี้ยงตัวเองและครอบครัวของเราได้ด้วย เรามีพื้นที่ต้องทำให้มีประโยชน์สูงสุด เราใช้ศิลปะทำให้เด็กนิ่ง และกระบวนการทำซ้ำเพื่อช่วยให้กรอบความคิดที่เห็นภาพชัดเจน ช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพได้รับการยอมรับจากสังคม แล้วต่อไปพวกเขาก็จะไปช่วยทำงานให้กับสังคมไม่ว่ารูปแบบไหนก็ตาม ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เราอยากให้เป็น”
สัญญา ทิพบำรุง