สร้างโลกจริงด้วยอิฐคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกมกลายเป็นเสียงของชุมชน

ในปี 2011 ยอร์เกน ฮอลสตรอม ผู้จัดการโครงการของการเคหะแห่งชาติสวีเดน กำลังออกแบบหมู่อาคารที่พักอาศัยทั่วสต็อคโฮล์มใหม่ เพราะตึกเก่าทรุดโทรมมากแล้ว พื้นที่ส่วนกลางก็ไม่น่าเข้าใช้ ฮอลสตรอม อยากได้ความคิดเห็นจากผู้อยู่อาศัยเช่นเดียวกับนักพัฒนาทั่วไป แต่เขารู้ดีว่าคงมีคนมารับฟังข้อมูลของโครงการน้อยมาก และคนที่มาก็จะต้องพบความยากลำบากในการทำความเข้าใจผังทางสถาปัตยกรรม ถ้าไม่ได้ฝึกฝนมา ก็ยากที่ใครจะดูออกว่าภาพวาดสองมิตินั้นมีความหมายแทนพื้นที่สามมิติได้อย่างไร  จึงน่าจะเป็นเสียงของคนเดิมๆ ที่ดังขึ้นในการประชุม

ขาจึงนำเรื่องนี้ไปคุยกับครอบครัวที่บ้าน ลูกชายอายุ 11 ปีของเขาเงยหน้าขึ้นจากเกมคอมพิวเตอร์ที่กำลังเล่น แล้วพูดว่า “พ่อไม่ลองใช้นี่ดูล่ะครับ”

เด็กชายกำลังเล่นไมน์คราฟต์ (Minecraft) เกมที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อนหน้านั้น โดยบริษัทสวีเดนชื่อโมแยง (Mojang) นี่ไม่ใช่วิดีโอเกมธรรมดาทั่วไป ในไมน์คราฟต์ฉบับดั้งเดิม จะไม่มีศัตรู เราไม่ต้องฆ่าใครหรืออะไร และไม่มีอะไรให้ชนะ เรียกว่ามันเป็นเลโก้ฉบับเสมือนจริงก็ว่าได้

ฮอลสตรอมโทรหาโมแยงในวันรุ่งขึ้น และด้วยความร่วมมือนี้ เขาได้ก่อตั้งโครงการทดลองขึ้นหลายจุดทั่วสต็อคโฮล์ม เรื่องแพร่กระจายออกไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 ผู้อาศัยในสลัมคิเบอราของกรุงไนโรบีที่เคนยาก็ใช้เกมนี้ออกแบบสนามกีฬาใหม่

หน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติที่ทำงานด้านพัฒนาเมือง ชื่อ โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (U.N.-Habitat) เป็นผู้นำไมน์คราฟต์ไปยังคิเบอรา

เวสเทอร์เบิร์กกล่าวว่าไมน์คราฟต์ไม่เหมาะกับการวางผังทั้งย่านหรือออกแบบอาคาร เพราะมันเทอะทะและความละเอียดต่ำเกินไป และยังมีรายละเอียดไม่พอด้วย (แหล่งแสงสว่างเดียวในเกมคือ คบไฟ) แต่มีประโยชน์มากในการวางแผนพื้นที่สาธารณะ เพราะสามารถให้คนมองไปที่คำถามหลัก ผู้พักอาศัยต้องตัดสินใจว่าจะติดตั้งแหล่งแสงไว้ตรงไหน ส่วนมันจะออกมาหน้าตาอย่างไรนั้นให้เป็นปัญหาของนักออกแบบในภายหลัง

วันนี้ ผู้คนทั่วโลกใช้ไมน์คราฟต์ออกแบบพื้นที่สาธารณะกันแล้ว โครงการเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติกับมูลนิธิบล็อกบายบล็อก ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากไมโครซอฟท์และโมแยง โดยทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในชุมชน  เช่น สลัมในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแค่พื้นดินเปล่าๆ หรือไม่มีพื้นที่สาธารณะเลย

ไมน์คราฟต์ยังช่วยให้คนเข้าใจโครงการด้วย ภาพวาดทางสถาปัตยกรรมมักมีเพียงภาพมองจากด้านบน แต่ในไมน์คราฟต์ ผู้เล่นสามารถเดินรอบตึก เข้าไปข้างใน มองออกไปนอกหน้าต่าง ปีนต้นไม้ หรือวิ่งไปรอบสนามฟุตบอลได้

ที่ฮานอย เด็กนักเรียนหญิง 45 คน ใช้ไมน์คราฟต์ออกแบบพื้นที่คนเดินใหม่เพื่อสร้างเส้นทางเดินไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย ที่มิโทรวิกา ในโคโซโว ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกแม่น้ำแบ่งออกเป็นเขตชาวอัลเบเนียและเขตชาวเซิร์บ คนจากสองเชื้อชาติมารวมตัวกันเพื่อใช้ไมน์คราฟต์พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำและย่านตลาดที่สะพาน ซึ่งเป็นที่เดียวที่สองชุมชนใช้ร่วมกัน ส่วนที่เอ็มดันซาเน เมืองในมณฑลอีสเทิร์เคพของแอฟริกาใต้ เด็กนักเรียนใช้ไมน์คราฟต์พัฒนาโรงเรียนสำหรับเด็กชายผู้พิการทางร่างกาย ผู้อพยพชาวซูดานที่คาโลเบเยในเคนยาใช้ไมน์คราฟต์ออกแบบบางส่วนของค่ายอพยพ คือจุดที่ผู้อพยพและคนท้องถิ่นมาปฏิสัมพันธ์กันโดยมีหลังคา สนามเด็กเล่น และวินมอเตอร์ไซค์

บล็อกบายบล็อกเปิดรับใบสมัครจากกลุ่มในชุมชนที่สามารถแสดงว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น ทางมูลนิธิจะเลือกโครงการมาให้ทุนปีละ 10 ถึง 20 โครงการ ใน 35 ประเทศ บล็อกบายบล็อกอาจให้ทุนส่วนใดส่วนหนึ่งของกระบวนการ หรือทั้งกระบวนการ คือการปรึกษาหารือสาธารณะโดยใช้ไมน์คราฟต์ การอภิปรายในขั้นต่อไปเพื่อจัดลำดับความสำคัญ ผังทางสถาปัตย์ ใบอนุญาต และสุดท้ายคือการก่อสร้าง บล็อกบายบล็อกยังให้คู่มือวิธีการแก่โครงการที่ไม่ได้รับเลือกฟรีๆ ด้วย

เมื่อผู้อยู่อาศัยมารวมตัวกัน พวกเขาจะไปศึกษาพื้นที่จริง และกลับมาพร้อมภาพถ่ายและบันทึก จากนั้นจะนั่งลงหน้าคอมพิวเตอร์ที่มีโมเดลของพื้นที่อยู่ในไมน์คราฟต์แล้ว ที่ดีที่สุดคือหนึ่งเครื่องต่อสามคน

แล้วพวกเขาก็เรียนรู้วิธีเล่นเกม ซึ่งออกแบบมาให้ใช้ได้ง่ายด้วยความรู้สึก “ถ้าคุณมีทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐาน การฝึกอบรมสองชั่วโมงก็มากพอแล้ว” หลุยส์ มิเกล อาร์เตียดากล่าว เขาเป็นผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิอาบีนาที่กรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช่วยให้ทุนโครงการออกแบบใหม่ด้วยไมน์คราฟต์ในลาตินอเมริกา เวสเทอร์เบิร์กและคนอื่นๆ กล่าวว่าแม้แต่คนที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน ก็สามารถสร้างแบบจำลองด้วยไมน์คราฟต์ในเวลาสามหรือสี่ชั่วโมง

โครงการใหญ่ที่สุดของอาบีนาอยู่ที่สลัมบีญาเอลซัลวาดอร์ในลิมา ได้มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ชื่อปาร์เกมาม่าลูซินดา สร้างขึ้นบนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ทิ้งขยะมาหลายทศวรรษ มันได้ชื่อจากผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นคนหนึ่ง ลูซินดา แตร์ราซาส ซึ่งปัจจุบันอายุ 80 เธอต่อสู้เพื่อให้มีสวนสาธารณะอย่างนี้มา 40 ปีแล้ว “นี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้ใช้คอมพิวเตอร์แน่ๆ” อาร์เตียดากล่าว “เธอนั่งหน้าคอมพิวเตอร์กับคนอีกสองสามคน เธอก็เลยไม่ต้องจับเมาส์เอง”

หลังแต่ละทีมออกแบบเสร็จ ก็จะนำเสนอทีละทีม ทั้งกลุ่มจะถกกันว่าต้องนึกถึงอะไรก่อน กระบวนการออกแบบนี้อาจกินเวลาตลอดทั้งสุดสัปดาห์ หรือยืดยาวหลายสัปดาห์ เช่นหกเสาร์ติดต่อกัน

ในการปรึกษาหารือด้วยไมน์คราฟต์ มีคนเข้าร่วมและเสนอไอเดียมากกว่าในการหารือแบบดั้งเดิมในชุมชน “มีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ” นิโคเล็ตต์ พิงโก ผู้จัดการฝ่ายขับเคลื่อนการพัฒนาขององค์กรพัฒนาโจฮันเนสเบิร์กกล่าวถึงการปรึกษาหารือแบบดั้งเดิม “ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ชายจะเป็นคนพูดเสียมาก” เธอว่า “เราไม่ได้ยินเสียงของผู้หญิงเลย” หรือของเยาวชน หรือคนไร้บ้าน ที่สนใจการออกแบบพื้นที่สาธารณะอย่างมาก “แต่ในไมน์คราฟต์ ไม่ว่าจะขี้อายแค่ไหน คุณก็เสนอประเด็นได้” หรือต่อให้คุณไม่รู้ภาษาที่ใช้เป็นหลักก็ตาม

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ