สร้างสมดุลชีวิต ให้ที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัว รัฐพร้อมนำ เอกชนหนุน ทุกมิติ

หาก “ครอบครัว” คือบ้านหลังที่ 1  “สถานที่ทำงาน” ก็เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผู้คน เนื่องจากปัจจุบันผู้คนใช้ชีวิตไปกับการสถานที่ทำงานกว่าครึ่งของเวลาในแต่ละวัน ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวจะมีความสุขได้ต้องสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในบ้านทั้ง 2 หลัง เพราะบทบาทของที่ทำงานสามารถช่วยเหลือพนักงานให้ดูแลครอบครัวได้ดี ด้วยสภาพแวดล้อมเอื้อต่อคนทำงานและครอบครัว มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงสวัสดิการที่ครอบคลุมถึงครอบครัว ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ เป็นผลให้องค์กรดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว จึงต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งการสร้างความอยู่ดีมีสุข สร้างสมดุลชีวิตและการทำงาน ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว ส่งเสริมสื่อให้มีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ต่อการพัฒนา สร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุม และสุดท้ายคือการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อทำให้ ครอบครัวสถาบันที่เล็กสุดของสังคม แต่มีความสำคัญมากที่สุด มีความเข้มแข็ง ช่วยบ่มเพาะสร้างคนคุณภาพสู่สังคมต่อไป 

ทำงานอย่างมี Well-being  งานดี ครอบครัวไม่พัง 

การจะสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรนั้นต้องอาศัยปัจจัยประกอบหลายส่วนเพื่อทำงานขับเคลื่อนหลายมิติ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฉายภาพถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัวว่า ความคาดหวังต่อการการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และเป็นมิตรต่อครอบครัว คือ เกิดการประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้แนวคิดกลายเป็นข้อปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงในหลายองค์กร

แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นหน้าที่ของนายจ้างเท่านั้น แต่ภาครัฐ ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ภาคประชาสังคม และครอบครัว ต้องจับมือกัน เชื่อมโยงเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นจริง

“ที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัวไม่ได้หมายความว่า นายจ้างจะต้องควักกระเป๋าเพื่อเพิ่มสวัสดิการให้พนักงาน แต่สามารถทำได้หลายแบบมาก เมื่อ Well-being หรือความอยู่ดีมีสุขของพนักงานเพิ่มขึ้น จากนโยบายที่สนับสนุนครอบครัวของพนักงาน ทำให้ทุกคนทำงานอย่างไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่ใช่อยู่ในสภาพที่ งานดี แต่พอหันไปแล้วครอบครัวพัง หลายประเทศจึงต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายจากภาครัฐร่วมกันกับภาคส่วนอื่น ๆ” ณัฐยากล่าว

รัฐนำ เอกชนหนุน สร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัว

สิ่งที่เป็นแกนหลักของการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในที่ทำงาน เริ่มต้นที่ กฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ แผนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ.2560-2564 โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งเสริมให้จัดสวัสดิการครอบครัวขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา อาชีพ และสิ่งแวดล้อม 

 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รัฐบาลมีนโยบายจัดสวัสดิการสำหรับคนทำงานที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว อาทิ การลาคลอดไม่เกิน 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง การจัดสถานที่ทำงานสร้างความสุขต่อการทำงาน และการยืดหยุ่นเวลาทำงานที่เอื้อต่อครอบครัวที่มีบุตรต้องดูแล 

         กฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 การจัดสวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดเป็นทางเลือกสำหรับสถานประกอบการเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดสถานเลี้ยงดูบุตรของลูกจ้าง การจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ การช่วยค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว  การช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตรของลูกจ้าง ถือเป็นการแบ่งเบาและสร้างหลักประกันชีวิตให้พนักงาน

นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในงานประชุม “สถานที่ทำงาน” ส่งเสริมการดูแลสวัสดิการและสร้างสุขภาวะที่ดีให้ครอบครัว ของสมัชชาครอบครัว ประจำปี 2565 ว่าหลัก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เป็นขั้นต่ำที่หน่วนงานหรือนายจ้างพึงปฏิบัติ แต่ปัจจุบันพบว่าหลายบริษัททำได้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานก็เปิดรับฟังข้อคิดเห็น นำไปสู่การทำประชาพิจารณ์เพื่อแก้ข้อกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อสวัสดิภาพของแรงงานและครอบครัวต่อไป 

แนวคิดเพื่อสร้างสมดุลชีวิต บ้าน-ที่ทำงาน

เมื่อข้อกฎหมายมีความชัดเจนแล้ว การจะสร้างสถานทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัว ต้องอาศัยแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบไปด้วย แนวคิดเกี่ยวกับสุขภาวะในครอบครัว แนวคิดครอบครัวที่ดี และแนวคิดการจัดสวัสดิการ

หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ เพื่อความสุขและสวัสดิภาพของผู้คนในองค์กร   สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ก็มีเป้าหมายสร้าง “องค์กรแห่งความสุข” ที่มุ่งหวังให้มีการจัดสมดุลชีวิตของมนุษย์ผ่านความสุขในโลกสามใบที่ทับซ้อนกัน โลกส่วนตัวของมนุษย์ โลกครอบครัวของมนุษย์ และโลกสังคมของมนุษย์ จะเห็นได้ว่าให้ความสำคัญกับ โลกครอบครัวด้วย และได้จัดองค์ประกอบของครอบครัวสุขภาวะเป็น 8 ด้าน ได้แก่ 1 ความสัมพันธ์ที่ดี 2 ปัญญาดี 3 สุขภาพดี 4 ผ่อนคลายดี  5 สุขสงบดี 6 น้ำใจดี 

7 เศรษฐกิจดี และ 8 รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ได้ดี

สำหรับภาคเอกชนก็มีเสียงสะท้อนถึงปัญหาของพนักงานที่อาจส่งผลกระทบต่อครอบครัว คือด้าน สุขภาพจิตของคนทำงาน และปัญหาด้านการเงินและหนี้สิน เช่น  นายโกศล สงเนียม ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการทรัพยากรมนุษย์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  ได้สะท้อนถึงปัญหาที่พบในฐานะองค์กรสื่อ ชั่วโมงการทำงานจะแตกต่างจากงานทั่วไป รูปแบบการทำงานต้องเร่งรีบและกดดัน ปัญหาที่พบได้บ่อย คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิตใจ พนักงานเกิดความเครียดจากการทำงาน และปัญหาด้านการบริหารจัดการเงินและหนี้สินของพนักงาน

จึงควรเพิ่มสวัสดิการเพื่อคนทำงาน การบูรณาการหรือมีกลไกให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อดูแลสิทธิ์และสวัสดิภาพของพนักงาน เพื่อให้คนในองค์กรมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ลดความกังวลที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว เพื่อให้พร้อมทำงานอย่างเต็มศักยภาพ 

จัดสวัสดิการอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อครอบครัว 

 การจะสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัวได้ ต้องอาศัยการจัดสวัสดิการเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้ครอบครัวดังนี้ 

  • สถานที่ทำงานที่มีการรักษาพยาบาลสำหรับสมาชิกในครอบครัว เช่น การจัดให้มีห้องน้ำสำหรับแม่และเด็ก การจัดมุมนมแม่ บริการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ เป็นต้น
  • ด้านการศึกษาและเรียนรู้ เช่น การจัดสถานที่เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน การสนับสนุนทุนการศึกษาบุตร
  • ด้านสถานที่ทำงานและสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียว จัดให้มีการทำงานแบบ work from home  
  • ด้านกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ เช่น กิจกรรมวันเกิด การให้พนักงานเที่ยวประจำปีพร้อมครอบครัว
  • ด้านเวลาการทำงาน  เช่น การลาคลอดบุตร วันลาเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัว หรือ การยืดหยุ่นเวลาทำงาน
  • ด้านความมั่นคงการเงินและรายได้ เช่น กองทุนกู้ยืมสำหรับพนักงานโดยไม่คิดดอกเบี้ย เงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตรให้พนักงาน เป็นต้น

จากปัจจัยทั้ง 6 ด้าน จึงเห็นได้ว่าการทำให้สถานที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัวได้นั้น ไม่ใช่พันธกิจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเกิดการประสานความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน เข้ามามีบทบาท

เปลี่ยนเสียงจากผู้คน เป็นมติข้อเสนอสมัชชาครอบครัว

นอกจากข้อกฎหมาย การกำหนดนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัวแล้ว ยังต้องมีการสร้างเครือข่ายอีกด้วย กับการจัดตั้งเครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว โดยมีแม่งานคือกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมติข้อเสนอสมัชชาครอบครัว

หากลองสำรวจมติข้อเสนอสมัชชาครอบครัวในระยะที่ผ่านมา พบว่าส่งเสริมให้สถานที่ทำงานมีสวัสดิการสำหรับครอบครัว เช่น มีการจัดตั้งสถานดูแลเด็กในที่ทำงาน มีกองทุนส่งเสริมครอบครัว การบริการให้คำปรึกษาหรือคลินิกครอบครัว รวมถึงการลดหย่อนภาษีสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น

สำหรับการประชุม “สถานที่ทำงาน” ส่งเสริมการดูแลสวัสดิการและสร้างสุขภาวะที่ดีให้ครอบครัว ของสมัชชาครอบครัว ประจำปี 2565 มีการจัดเสวนาและอภิปรายกลุ่ม การจัดนิทรรศการ การเสวนาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประเด็น “สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว : สร้างสุข ทุกพื้นที่ปลอดภัย” มีการจัดประชุมแยกย่อยในแต่ละหัวข้อ รวมถึงหัวข้อ  “สถานที่ทำงาน” ส่งเสริมการดูแลสวัสดิการและสร้างสุขภาวะที่ดีให้ครอบครัว

และมีข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัวของปี 2565 ได้เพิ่มเติมประเด็นใหม่ ๆ อาทิ . ส่งเสริมการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และครอบครัว  สนับสนุนให้สถานประกอบการมีนโยบายหรือสวัสดิการที่เสริมพลัง ให้พนักงานมีขีดความสามารถในการดูแลครอบครัวมากขึ้น เป็นต้น

 (ล้อมกรอบ)

ข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัว “สถานที่ทำงาน” เพื่อส่งเสริมการดูแลสวัสดิการและสร้างสุขภาวะที่ดีให้ครอบครัว ในปี 2565  

ข้อเสนอเต่อไปนี้เกิดขึ้นจากผู้คนหลากหลายภาคส่วนที่ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะ ก่อนจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ เพื่อพิจารณายื่นต่อคณะรัฐมนตรี ใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายบริหารหรือการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างคนทำงานสร้างครอบครัวที่มีสุขภาวะที่ดีต่อไป

  1. ส่งเสริมการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและครอบครัว รวมถึงสวัสดิการสำหรับการดูแลครอบครัว เช่น สิทธิ์การลาคลอดควรมากกว่า 6 เดือน เพิ่มประเภทการลาดูแลสมาชิกในครอบครัว การยกร่าง ข้อกฎหมาย การทำงานที่ยืดหยุ่น
  2. ขอให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการสนับสนุนให้สถานประกอบการมีนโยบายหรือสวัสดิการที่เสริมพลัง ให้พนักงานมีขีดความสามารถในการดูแลครอบครัวได้มากขึ้น เช่น มีวันลาดูแลสมาชิกในครอบครัว สวัสดิการรักษาพยาบาล
  3. ส่งเสริม สนับสนุน ให้มีกฎหมายที่เอื้อให้องค์กรและสถานประกอบการสามารถส่งเสริมสวัสดิการและสร้างสุขภาวะที่ดีให้ครอบครัวของพนักงาน/คนทำงาน อาทิ การลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับลูกจ้างชาย การลดหย่อนภาษีและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้กับครอบครัวที่มีภาวะเปราะบาง
  4. จัดให้มีระบบการดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียงในครอบครัวของประชากรวัยแรงงานเพื่อลดผลกระทบต่อครอบครัวและป้องกันการสูญเสียแรงงานจากระบบ  
Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ