สร้างกิจกรรม “กาวใจ” สานสายใยของครอบครัว

 

สายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นในครอบครัวส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัวไปตลอดชีวิต  หากสมาชิกสามารถพึ่งพากันได้ มีเวลาดีๆ ที่ใช้ร่วมกัน จะทำให้ความทรงจำที่มีต่อครอบครัวเป็นความทรงจำที่ดีและอยู่ไปตลอด

นี่เป็นผลจากการทบทวนงานที่ตีพิมพ์ในช่วง 50 ปี ในวารสารจิตวิทยาครอบครัวของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน  พบว่ากิจวัตรที่ทำร่วมกันส่งผลให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเข้มแข็งขึ้น ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวจะยั่งยืนเมื่อพวกเขาตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลในการยอมรับกันและกันและเป็นเจ้าของร่วมกัน

ในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ ส่งผลให้ครอบครัวจำนวนมากได้ใช้เวลาร่วมกัน หัวใจสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์ที่ยั่งยืนคือ การที่สมาชิกในครอบครัวพูดคุยกันได้อย่างเปิดอก มีการรับฟังความเห็นกันแบบ “สื่อสารสองทาง” และมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะร่วมกัน

ถือโอกาสที่โควิด-19 ยังอยู่กับเราไปอีกนาน มาลองทบทวนถึงกิจกรรมเพื่อสานสายใยครอบครัวให้เหนียวแน่นว่าครอบครัวของเรามีเรื่องเหล่านี้หรือไม่  

  1. กิจวัตรประจำวันและธรรมเนียม

เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าสมาชิกในครอบครัวมีพฤติกรรมที่ส่งผลให้มีสุขภาวะ โดยดูจากการเข้านอนของเด็ก และความรู้สึกของเด็กว่ามีความมั่นคง และรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังนั้นมีความหมาย มีคุณค่า ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองให้การดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ และทำแบบต่อเนื่องโดยเฉพาะการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งวัดได้จากการใช้คำพูดง่ายๆ ที่ได้ยินกันบ่อยในครอบครัวคือ “ได้เวลานอนแล้ว” “แปรงฟันหรือยัง”  หากเด็กได้ยินแล้วปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ นั่นหมายถึงเด็กมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยในครอบครัว

การไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ไปทำบุญร่วมกันทุกวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา การดูหนังทีวีด้วยกันทั้งครอบครัวทุกคืนวันเสาร์ หรือการฉลองวันเกิดสมาชิก การแสดงความยินดีเมื่อสอบขับรถผ่านและได้ใบขับขี่ หรือการกินข้าวเลี้ยงฉลองเมื่อแข่งกีฬาชนะ  ช่วงเวลาเหล่านี้คือความทรงจำที่เด็กๆ จะเก็บไว้ในชีวิตตลอดไป และช่วยปลูกฝังนิสัยด้านอื่นๆ ที่ดีให้เด็กด้วย

  1. เสียงหัวเราะและการเล่น

มีการศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดียยืนยันว่าการทำสันทนาการร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว เป็นกาวใจที่ผูกมัดสมาชิกไว้ได้หลายชั่วอายุ

การเล่นรวมถึงปู่ย่าตายายแบ่งปันงานอดิเรก เช่น ชวนหลานทำสวน ทำงานไม้ เพื่อปลูกหรือสร้างบางสิ่งสำหรับสมาชิกรุ่นต่อไป เมื่อเราหัวเราะขณะที่เราเล่นตั้งแต่การแบ่งปันงานเลี้ยงน้ำชาในจินตนาการจนถึงเกมกระดานและกีฬาส่งผลให้ครอบครัวเราสร้างความทรงจำที่มีความสุข การเล่นเกมในชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายและความสนุกในสวนหลังบ้านนั้นมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย

นอกจากนั้น การใช้เวลาทำกิจกรรมสันทนาการร่มกัน ยังช่วยลดโอกาสที่เด็กๆ จะเข้าไปมีพฤติกรรมเสี่ยงนอกบ้านอีกด้วย ผลที่ได้ตามมาคือ การลดความเครียดที่เป็นพิษในครอบครัว

  1. การผ่านวิกฤติไปด้วยกัน

การเผชิญวิกฤติโควิด-19 ร่วมกัน ถือเป็นการสร้างจิตวิญญาณของทีมที่ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความไว้วางใจว่าครอบครัวจะสามารถฝ่าความยากลำบากไปด้วยกันได้ กิจกรรมนี้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับแต่ละคน และก่อให้เกิดความผูกพันในครอบครัวในช่วงที่ทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกัน

การแบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บยังเปิดโอกาสให้เกิดการแบ่งปันอารมณ์ และเป็นการสอนเด็ก ๆ ให้ปรับตัว มีความยืดหยุ่น และวางใจครอบครัว การเผชิญหน้าและเอาชนะความท้าทายช่วยให้ครอบครัวมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น ซึ่งมักจะเป็นแรงบันดาลใจให้ครอบครัวเข้าถึงและช่วยเหลือครอบครัวอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือไปด้วย

  1. วางแผนวันหยุด ไปเที่ยวด้วยกัน

การวางแผนออกเดินทางไปในที่ใหม่ๆ ด้วยกันทั้งครอบครัว ถือเป็นการผจญภัยร่วมกัน ความโศกเศร้าและความสุขที่เกิดระหว่างการเดินทางยังทำให้เกิดความทรงจำเพื่อระลึกถึงเมื่อเวลาผ่านไป

การแบ่งปันประสบการณ์เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนการเดินทาง การถามว่าแต่ละคนต้องการไปไหน ทำอะไรในสถานที่ใหม่ๆ เหล่านั้น ถือเป็นการรวมความต้องการของสมาชิกไว้ด้วยกัน ทำให้ทุกคนตั้งตารอคอยที่จะได้เดินทาง ส่งผลให้ทุกคนลดความเครียดลง เพราะได้ออกจากกิจวัตรประจำวัน เพื่อมาคิดถึงแผนการเดินทางด้วยกัน

  1. เรื่องเล่าของครอบครัว

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานฟรานซิสโกเปิดเผยว่าการแบ่งปันวิถีชีวิตและแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของครอบครัวในช่วงที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายยังเป็นเด็กนั้น  เป็นการแบ่งปันเรื่องราวที่ช่วยเสริมสร้างสายใยครอบครัวและเชื่อมโยงสมาชิกเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการยอมรับค่านิยมของครอบครัวในหมู่สมาชิก

การที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าพ่อแม่ถูกหล่อหลอมให้โตขึ้นมาภายในครอบครัวด้วยเรื่องราวแบบไหน ต้องฟันฝ่าอุปสรรคอะไรมาบ้างกว่าจะมาเป็นพ่อแม่ในวันนี้ ทำให้เด็กมีความเข้าใจการใช้ชีวิตของพ่อแม่ และช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้

  1. งานรวมญาติ

งานคืนสู่เหย้าของครอบครัวอาจน่าเบื่อสำหรับเด็กวัยรุ่น แต่ลึกๆ แล้ว กิจกรรมนี้ช่วยเชื่อมโยงให้เกิดการรวมตัวกันเป็นครอบครัว สมาชิกได้มีโอกาสฟังเรื่องราวประวัติของสมาชิกคนอื่นๆ ได้แบ่งปันความทรงจำที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน เวลาเหล่านี้ยังช่วยให้เด็กตระหนักว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าและเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ที่สนับสนุนพวกเขา พวกเขามีสมาชิกที่พร้อมสนับสนุน ให้ความรักและความช่วยเหลือ ไม่ได้มีเพียงตัวเองอยู่ตามลำพัง

  1. กินข้าวด้วยกัน

อาหาร เป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ มื้ออาหารของครอบครัวทำให้สมาชิกต้องมาอยู่รวมกันแม้ว่าจะใช้เวลาประมาณยี่สิบนาทีเท่านั้น แต่การกระทำซ้ำ ๆ ของการนั่งด้วยกัน การแบ่งปันอาหารและการสนทนาถือเป็นประโยชน์มากมาย เราสามารถเปลี่ยนมื้ออาหารให้กลายเป็นมหกรรมหรือความสนุกสนานในครอบครัว เปลี่ยนอาหารธรรมดาให้กลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำและเสริมสร้างชีวิตของเรา มื้ออาหารอาจกลายเป็นไฮไลต์ของวันและเป็นวิธีการผูกมัดให้ลึกซึ้งขึ้น มื้ออาหารยังเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบในการวางแผนการเดินทางกิจกรรมและช่วงเวลาแห่งความผูกพันในอนาคต

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ