รู้จัก School of Changemakers พื้นที่บ่มเพาะภาคีเครือข่ายสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อให้เป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง

              เมื่อเอ่ยถึงพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน หลายคนอาจนึกถึงโรงเรียน ห้องสมุด หรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ใครๆ ก็ร่วมสร้างพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ เป็นพื้นที่บ่มเพาะความสุข สนุก ส่งเสริมพัฒนาการ และทำให้เด็กๆ มีสุขภาวะที่ดีได้

              ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ยังมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ทั่วประเทศไทย โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สสส. ที่อยากเห็นเด็กและเยาวชนมีพัฒนาการเหมาะสมตามช่วงวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะชีวิต ทักษะสุขภาพที่ดี จึงอยากเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การทำงานร่วมกับ School of Changemakers องค์กรที่ช่วยบ่มเพาะและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจและมีความตั้งใจริเริ่มทำโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมที่มองหาความรู้ เครื่องมือและการสนับสนุน มีภารกิจในการทำหน้าที่บ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ให้สามารถนำระบบสนับสนุนที่เตรียมไว้ มาช่วยบ่มเพาะนักสร้างการเปลี่ยนแปลง ต่อยอดไปสู่การเป็นผู้นำแก้ไขปัญหาสังคมได้

 

บทบาทของ School of Changemakers คือการเป็นกิจกรรมร่วมของทีมพื้นที่เรียนรู้

              “คุณมิน” ตัวแทนของ School of Changemakers  เล่าให้ฟังถึงปัญหาเรื่องพื้นที่เรียนรู้ที่มีไม่เพียงพอในประเทศไทย ทำให้เด็กๆ เข้าไม่ถึงพื้นที่ดังกล่าว เมื่อได้โจทย์นี้มาจาก สสส. จึงมาคิดต่อว่า คนที่จะสามารถสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้เพิ่มขึ้น สามารถขยายพื้นที่การเรียนรู้ให้มีทั่วไปในทุกที่ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ จะเป็นใคร จึงเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้น

              “เวลามาถึงคนที่เข้าจะมีความฟุ้ง คือส่วนใหญ่ทีมจะทำในรูปแบบ Activity base มาก่อน แต่พอมาเข้า Incubator มันต้องชัดเจนว่าเราทำประเด็นอะไร และต้องหาอัตลักษณ์ของแต่ละคนออกมา”

 

5 ขั้น และ 3 ระยะของการสร้างการเปลี่ยนแปลง

              สำหรับกระบวนการพัฒนาทักษะ Changemakers Skills ประกอบไปด้วย 5 ขั้น คือ

1.Starting Point   2.Insight   3.Idea   4.Prototype  5.Scale

กิจกรรม Prototype Try-Out ทดสอบต้นแบบการแก้ไขปัญหา

 

School of Changemakers กับ 3 ระยะในการบ่มเพาะ

              ระยะ Pre-Incubation สำหรับคนที่เริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลง แบ่งออกเป็น 4 ขั้นย่อย ได้แก่ Starting Point จุดเริ่มต้นของความต้องการสร้างพื้นที่เรียนรู้และเข้าใจปัญหา, Insight ทำความเข้าใจในความต้องการแก้ไขปัญหา หาข้อมูลเชิงลึกของปัญหาได้, Idea ออกแบบวิธีการแก้ไขและทดสอบไอเดียที่นำเสนอ, Prototype ทดสอบดูว่าโมเดลนี้แข็งแรงแล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้แล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบแล้ว ก็จะเข้าสู่ส่วนขยายผล

              ทั้งนี้ ถ้าเป็น Pre-Incubation จะมี criteria ที่สนใจก็คือเขาต้องรับปากกับเราว่าจะลงเวลา 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในการเข้าร่วมโปรแกรมนี้ได้ มีชุดคำถามในใบสมัครเพื่อดูว่าเขาพร้อมจะเรียนรู้ หรือถ้ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทาง เขายอมรับที่จะเปลี่ยนแผนจากที่เขาเคยคิดไว้ได้

              ระยะ  Incubation เป็นกระบวนการที่ช่วยพัฒนาต้นแบบ (Prototype) จากไอเดียที่มี และทดสอบต้นแบบการแก้ปัญหานั้น ๆ กับกลุ่มเป้าหมาย จนแน่ใจว่าแก้ปัญหาได้ ถอดเป็นโมเดลการแก้ปัญหา เพื่อเตรียมขยายผล เก็บข้อมูลผลลัพธ์ (Traction) หรือวิธีเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลกระทบทางสังคม (Plan for SIA)

              ระยะ Accelerator หรือการพัฒนาแนวทางและโมเดลความยั่งยืน และทดสอบต้นแบบโมเดล เพื่อทดสอบว่าต้นแบบที่แก้ปัญหาให้กลุ่มเป้าหมายนั้น มีลูกค้าที่จะพร้อมจ่ายเงิน หรือลงทุนกับต้นแบบนั้น ๆ จริง

การให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

 

              “จากการที่เราบ่มเพาะคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมา สิ่งสำคัญอันดับแรกคือเรื่องทักษะและความรู้ รวมถึงทัศนคติ เราจึงเน้นทำเรื่องการพัฒนาศักยภาพโดยดูว่าอะไรบ้างที่จำเป็นและสำคัญ ทำให้เขาไปสู่เป้าหมาย  คนที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลง เราจะเน้น Critical Thinking, Prototyping Skill และ Learning Space 101 เพื่อให้รู้ว่าถ้าจะทำ Learning Space ต้องมีองค์กรประกอบอะไรบ้าง” คุณมินกล่าว

              อีกทักษะหนึ่งที่สำคัญคือทักษะการเข้าอกเข้าใจหรือ Empathy สุดท้ายคือ Pioneer Spirit หรือทัศนคติที่กล้าลองผิดลองถูก เพราะเมื่อเพิ่งเริ่มทำ ต้องทดลอง แล้วนำผลตอบรับที่ได้มาปรับปรุงโปรโตไทป์ต่อไป

              สิ่งที่โปรแกรมสนับสนุนอย่างแรกคือการนัดพบพูดคุย โดยมีเครื่องมือใบงานให้ทางทีมทำ เพื่อสร้างขีดความสามารถทำให้แต่ละทีมไปถึงเป้าหมายได้ โดยแต่ละทีมจะมีโค้ช 1 คน ที่ทำหน้าที่ตั้งคำถามและหาทางไปต่อตามแต่ละโครงการที่กำหนดระยะเวลาไว้ นอกจากนี้ หากต้องการองค์ความรู้เฉพาะตัว ก็จะมีที่ปรึกษาเฉพาะทางให้ เช่น ด้านการตลาด ด้านแบรนด์ดิ้ง ไอที โดยสามารถบอกความต้องการในระหว่างโปรแกรมได้

              นอกจากนี้ School of Changemakers ยังให้การสนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นไม่เกิน 50,000 บาทต่อทีม โดยพิจารณาว่าแต่ละทีมทำอะไร มีเป้าอย่างไร และมีไอเดียทำกิจกรรมใดบ้าง จำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้เงิน รวมถึงใช้เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นช่วงทดสอบไอเดีย งบประมาณก้อนแรก 20,000 บาท หลังจากนั้นพอจบโปรแกรมก็จะมอบส่วนที่ 2 ให้ต่อไป

 

ใครบ้างที่เข้าร่วมได้ 

              ปัจจุบัน กลุ่มคนที่เข้าร่วมทำโครงการคือคนที่สนใจสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนของสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ละทีมจึงมีความหลากหลาย อาทิ กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่สนใจปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่กลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ต้องการสร้างความยั่งยืน

              “คนเข้ามาใน School of Changemakers มี 2 ทางให้เลือก  ทางแรก คือการเริ่ม Project กิจการเพื่อสังคม โดยสมัครเข้าร่วมโครงการที่เราเปิดต่อปี มีโปรแกรมอะไรก็สมัครได้ อีกทางหนึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ถ้าเรียนรู้ด้วยตัวเองก็จะสามารถดาวน์โหลด Toolkit ของเรา และทำเองได้เหมือนกัน”

              สำหรับระยะเวลาของแต่ละโปรแกรมจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับโปรแกรมนั้นอยู่ในขั้นไหน เช่น ถ้าเป็น Learning Space Incubation เป็นโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้เพื่อขยายผลและสร้างความยั่งยืน เป็นขั้นที่ก้าวพ้นมาจาก Pre-Incubation ขั้นนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน

 

บ่มเพาะและติดตามความงอกงาม

              การดำเนินงานของ Learning Space Incubation จะมีระบบสนับสนุนที่สำคัญคือ การพิจารณาว่ากลุ่มคนที่เข้ามาร่วมใน Incubation ต้องการให้ช่วยอะไร เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น ย่อมต้องการระบบที่ต่างจากกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่เรียนรู้อยู่แล้ว สร้างพื้นที่เรียนรู้ได้แล้ว แต่มีความต้องการขยายผลหรือสร้างความยั่งยืนต่อ

              ระบบติดตามความคืบหน้าของงานเรียกว่า Notion ในการบริหารจัดการทีมทั้งหมด โดยให้ทีมกับโค้ชออกแบบตารางทำงานจนจบ 6 เดือนของโปรแกรมไว้ มีจุดหมายที่ชัดเจนในแต่ละครั้ง แล้วโค้ชจะอัพเดตผ่านมีทติ้งโน้ต เพื่อเข้ามาติดตามข้อมูลของทีมได้ นอกจากนี้ ยังมี Coach Reflection ว่าตัวโค้ชเองได้เรียนรู้อะไร เพราะว่าโปรแกรมนี้ทำคู่ขนานไปกับ Coach for Change นั่นเอง

 

บ้านไร่อุทัยยิ้ม – โรงเล่น ตัวอย่างภาคีที่ประสบความสำเร็จหลังผ่านการบ่มเพาะ

              หนึ่งในพื้นที่เรียนรู้ในโครงการบ่มเพาะฯ Learning Space Incubation ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาคือ  บ้านไร่อุทัยยิ้ม  โมเดลชุมชนเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อการพึ่งพาตัวเองได้  ด้วยการใช้กิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาเด็กให้ตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายของทรัพยากรและภูมิปัญญาวิถีในท้องถิ่น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบไอเดียหรือต้นแบบการขยายผลพื้นที่เรียนรู้ เพื่อนำไอเดียหรือต้นแบบไปทดสอบ และรับฟังเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมทดสอบ นำมาถอดบทเรียน เพื่อให้เห็นสิ่งที่ทีมได้เรียนรู้ด้วย

การชวนคนมาเรียนรู้เรื่องราวด้านอาหารของครัวกะเหรี่ยงของบ้านไร่อุทัยยิ้ม

 

              อีกตัวอย่างของผลการดำเนินงานที่มีพัฒนาการหลังเข้าร่วมโครงการอย่างชัดเจนแห่งหนึ่งคือ  โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้  ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัด เชียงราย  พื้นที่เล่น-เรียน ที่เปิดให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาทักษะ ศักยภาพ และกล้าคิดฝัน ในพื้นที่ปลอดภัยที่มีผู้ใหญ่โอบอุ้มด้วยความรัก หนึ่งในพื้นที่เรียนรู้ในโครงการบ่มเพาะฯ Learning Space Incubation  เป้าหมายคือทำให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะตามวัยผ่านการเล่น โดยมีผู้ปกครอง คุณครู และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องช่วย ‘อำนวยการเล่น’ ด้วยความเข้าใจ ที่เด็กๆ ในชุมชนป่าแดดสามารถเข้ามาที่โรงเล่นได้ในวันหยุด  โรงเรียนที่พาเด็ก ๆ เข้ามาทัศนศึกษาผ่านการเล่น หรือ การจัดกิจกรรม โรงเล่นสัญจร สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานติดต่อให้ไปจัดกระบวนการเล่น 1-2 วัน โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบกิจกรรมตามช่วงวัยของเด็ก เป็นต้น

ลานเล่น คือหนึ่งในผลงานจากโปรแกรมที่โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ที่นำไปพัฒนาให้ชุมชนได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง

 

ทำความเข้าใจเพิ่มเติมกับโมเดลของ School of Changemakers ได้ที่นี่  https://www.schoolofchangemakers.com/0b02c63b874d417098f15fe23c2b330d

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ