รู้จัก 3 ห้องเรียนพ่อแม่แบบออนไลน์ เพื่อช่วยครอบครัวใกล้ชิดกันกว่าเดิม

ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีดิจิทัลหลายอย่างได้ช่วยย่อโลกและเชื่อมโยงคนที่อยู่ห่างไกล ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น แค่มีสมาร์ทโฟนสักเครื่องที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ก็พูดคุยแบบเห็นหน้ากับผู้คนอีกซีกโลกได้ในทันที

ขณะที่เราออกไปท่องโลกกว้างใหญ่ ได้พบเจอผู้คนมากมายจากหลากหลายประเทศ บางคนกลับไม่รู้ตัวว่ากำลังสร้างระยะทางที่เหินห่างกับคนในครอบครัวที่นั่งอยู่ข้างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว แล้วนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งสื่อออนไลน์ การประชุมทางไกล ไปจนถึง Podcast  เป็นเครื่องมือช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ทำให้คนต่างรุ่นต่างวัยได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และลูกหลานได้พูดจากันอย่างเข้าใจมากขึ้น  โดยห้องเรียนออนไลน์สำหรับพ่อแม่ทั้งสามแบบนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส.

พ่อแม่ที่มาเข้ากลุ่ม หลายคนยังชินกับการใช้วิธีการสื่อสารเชิงลบ ทั้งการทุบตี ด่าทอ หรือ ทำร้ายร่างกาย ซึ่งเด็กยุคก่อนถ้าถูกดุด่าก็ยังอยู่ในบ้านไม่ได้ไปไหน แต่ถ้าทำอย่างนั้นกับเด็กที่เข้าถึงโลกออนไลน์ ผลจะออกมาอีกแบบหนึ่ง พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนให้ทันว่าเด็กไปถึงไหนแล้ว  

เสก – สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ : Toolmorrow

สร้างเครื่องมือสื่อสารเชิงบวก เพิ่มสมรรถภาพในครอบครัว

ผลจากงานวิจัยที่ระบุว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวคนเมืองมีสัมพันธภาพในครอบครัวที่น่าเป็นห่วง โดยคนในครอบครัวเดียวกันเวลาที่มีปัญหาหรือเรื่องทุกข์ร้อนใจกลับไม่สื่อสารระบายให้คนในครอบครัวที่ใกล้ชิดได้รับรู้เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานั้น ทำให้ เสก-สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Toolmorrow นำเอาเทคนิคการสื่อสารเชิงบวกมาใช้ เพื่อให้คนในครอบครัวกล้าที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองกันมากขึ้น

“Toolmorrow เปิดตัวเมื่อปี 2558 เพราะเราสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด เลยลองนำเทคนิคการสื่อสารเชิงบวกมาใช้ โดยได้ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มาช่วยออกแบบเครื่องมือร่วมกับ สสส. มาช่วยกันทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น เพื่อให้เป็นเกราะป้องกันปัญหาสังคมที่จะตามมาได้”

เสกและทีมงานได้ผลิตวิดีโอออกมาแล้วประมาณ 300 ชิ้น โดยเน้นสื่อสารไปที่ครอบครัวเป็นหลัก เพราะเขาเชื่อว่าถ้าครอบครัวมีสมรรถภาพที่ดีจะเป็นเกราะป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ และนำระบบการเรียนรู้ออนไลน์แบบกลุ่มย่อย ที่เหมือนกับการล้อมวงพูดคุยกันระหว่างกลุ่มพ่อแม่ มาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปิดโอกาสให้พ่อแม่แต่ละคนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาเด็กคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีแบบทดสอบให้ผู้ปกครองได้ลองทำเพื่อพัฒนาเทคนิคการสื่อสารเชิงบวกสำหรับนำกลับไปปรับใช้ที่บ้าน

ระบบ Self-Help Group ที่เสขเรียกว่าเป็น “ห้องเรียนพ่อแม่ออนไลน์” เป็นการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าเดิมมาใช้ ตั้งแต่ระบบออกแบบตารางการทำงานเป็นทีม ระบบส่งการบ้านออนไลน์ ระบบคัดเลือกพ่อแม่ที่มีความสามารถมาเป็นพ่อแม่อาสา เพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงพ่อแม่คนอื่นได้ในอนาคต

“ในปีนี้ได้เสียงตอบรับดีกว่าปีที่แล้วมาก เปิดมาเพียง 2 วัน มีผู้ปกครองเข้ามาในระบบมากกว่า 1,300 คน เทียบกับปีก่อนที่ยอดทั้งโครงการอยู่ที่ 700 คน โดยเราตั้งเป้าว่าภายใน 3 เดือน จะมีผู้ปกครองมาเข้าร่วมถึง 10,000 คน แม้ยังมีข้อจำกัดเรื่องพ่อแม่อาสาที่จะมาช่วยเป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 30 คน แต่เราเชื่อว่าในอนาคต จะใช้เทคโนโลยีหาพ่อแม่ที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเป็นผู้นำกลุ่มเพิ่มขึ้น แล้วทำให้รับคนเพิ่มได้มากขึ้น”

กลุ่มเป้าหมายที่เขาคาดหวัง เป็นกลุ่มพ่อแม่ในต่างจังหวัดที่ต้องทำงานประจำ ไม่มีเวลาเดินทางมากรุงเทพฯ โดยระบบออนไลน์ที่ออกแบบมานี้ จะช่วยให้พ่อแม่ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าร่วมโครงการได้สะดวกขึ้น ซึ่งการมีพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ช่วยแก้ปัญหาให้พ่อแม่หลายคน ทั้งในเรื่องเทคนิคใหม่ๆ ที่ใช้สื่อสารกับลูก ความรู้จากวิทยาการที่เป็นนักจิตวิทยาจริงๆ รวมไปถึงความรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้เจอกลุ่มคนที่ประสบปัญหาคล้ายกัน

ในช่วงโควิดเป็นภาคบังคับให้พ่อแม่และลูกต้องอยู่ที่บ้านด้วยกัน  การสื่อสารเชิงบวกที่ได้เรียนรู้จากโครงการฯ มีส่วนช่วยให้พ่อแม่สามารถสื่อสารความต้องการกับลูกได้ดียิ่งขึ้น โดยการประยุกต์ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า I Message เพื่อสะท้อนความรู้สึกตัวเอง เมื่อต้องการสื่อสารเชิงบวกกับสมาชิกในครอบครัว เครื่องมือที่เรียกว่า I Message ช่วยให้พ่อแม่รู้จักการหยุดคิดก่อนที่จะพูด และระงับอารมณ์ตัวเองไม่ให้โกรธในทันที ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวดีขึ้น

มีผู้ปกครองได้เรียนรู้การจัดการอารมณ์แล้วหันมารับฟังลูกมากขึ้น ใจเย็นลง ทำให้ทะเลาะกันน้อยลง จนลูกเป็นฝ่ายแปลกใจ ยอมออกจากห้องที่เคยใช้เก็บตัวเล่นเกม เพื่อมากินข้าวพร้อมกันมากขึ้น แสดงให้เห็นชัดว่าการสื่อสารเชิงบวกเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาครอบครัว

“ความสุขของผมคือได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่พ่อแม่เอาการสื่อสารเชิงบวกไปใช้แล้วความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น พ่อแม่ชอบบอกว่าให้ลูกเปลี่ยน แต่จริงๆ เริ่มเปลี่ยนที่เราเองดีกว่า การสื่อสารเชิงบวก นอกจากทำให้ลูกเชื่อฟังแล้ว ยังดีต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวด้วย ผมอยากให้พ่อแม่ลองเปิดใจกับวิธีการใหม่ เพราะผมเชื่อว่าทุกคน อยากมีครอบครัวที่มีความสุข ไม่มีใครอยากให้บ้านไม่น่าอยู่เพียงแต่เขาอาจจะยังไม่รู้หลักการเท่านั้นเอง”

สื่อดิจิทัลออนไลน์ทำให้เห็นตัวเลขทุกอย่างเร็วชัดเจนว่าสิ่งที่ทำเสนออกไปมีคนสนใจเท่าไหร่ ทำให้ต้องเรียนรู้การสื่อสารแบบใหม่ๆ เพราะเป้าหมายเราไม่ใช่ผลกำไร ไม่ได้ต้องการได้คนฟังเยอะแล้วปิดการขาย กลายเป็นความสนุกที่เราได้เรียนรู้ทุกวัน ได้เห็นงานที่ทำได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้จริง

หลุยส์ – ชลธิศ กรดี : The Family Podcast

คนตัวดีผู้ใช้สื่อเสียงสร้างความสุขให้กับทุกคน

หลุยส์-ชลธิศ กรดี เคยทำงานอยู่ที่มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ยากลำบาก จนในปี 2548 ที่สื่อวิทยุโทรทัศน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประกอบกับงานที่ทำเริ่มมีความชัดเจน เขาและทีมงานจึงมาก่อตั้ง “กลุ่มคนตัวดี” เพื่อทำงานด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็ก ก่อนจะเติบโตเป็น  มูลนิธิคนตัวดี  ซึ่งนอกจากสนับสนุนเครือข่ายครอบครัวแล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยผลิตสื่อที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนให้กับสมาชิกในเครือข่ายด้วย

ล่าสุด หลุยส์ และทีมงานได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า Podcast มาช่วยสื่อสารเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับครอบครัว ให้เข้าถึงพ่อแม่มากยิ่งขึ้น

“กลุ่มคนตัวดี ส่วนมากเป็นคนที่ทำวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัว เรามองว่าสื่อสำหรับเด็กและครอบครัว ยังมีอยู่น้อยมากและไม่เพียงพอ ยิ่งตอนนี้ความสนใจของคนเริ่มเปลี่ยนตามยุคสมัย มีทางเลือกมากขึ้น สื่ออินเทอร์เน็ตก็เริ่มมีบทบาท พฤติกรรมการฟังวิทยุเริ่มเปลี่ยนเป็นฟังในช่วงเวลาที่สะดวกมากขึ้น เช่น ฟังระหว่างขับรถหรือทำงานบ้านไปด้วย แล้วเราก็เห็นการเติบโตตัวของ Podcast ในประเทศไทย จึงทำ The Family Podcast ขึ้นมา”

กลุ่มเป้าหมายของ The Family Podcast เป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า Sandwich Generation คือกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง มีทั้งลูกที่ต้องเลี้ยง และพ่อแม่สูงวัยต้องดูแล ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่าคนในกลุ่มนี้มีความเครียดสูง เพราะต้องดูแลด้านความมั่นคงหน้าที่การงานและครอบครัวไปในขณะเดียวกันจนแทบไม่มีเวลาว่าง บางครั้ง ผู้ปกครองกลุ่มนี้ต้องฝากลูกไว้กับพ่อแม่ที่มีอายุ ทำให้เกิดเป็นครอบครัวข้ามรุ่น หรือกลายเป็นสังคมแหว่งกลาง เนื้อหาใน The Family Podcast จึงเน้นการให้ความรู้กับคนที่อยู่ในวัยทำงานให้สามารถสื่อสารกับลูก หรือผู้สูงวัยได้

“เพราะคนกลุ่มนี้มีลูกในวัยไม่เกินประถมศึกษา เราทำวิจัยโดยแบ่งกลุ่มคนที่เคยฟัง Podcast กับยังไม่เคยฟังแต่มีศักยภาพ ในการเข้าถึง แล้วให้เขาลองฟังว่าเครื่องมือนี้ช่วยอะไรเขาได้บ้าง ซึ่งต่อไปเราจะพยายามให้สื่อเข้าถึงกลุ่มคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งกลุ่มพ่อแม่ต่างจังหวัดหรือตายายที่เลี้ยงหลาน โดยอาจเปลี่ยนจาก Podcast เป็นสื่อเสียงในรูปแบบ MP3 ก็ได้”

แม้จะทำ Podcast แต่กลุ่มคนตัวดีเชื่อว่านี่ไม่ใช่เพียงเครื่องมือเดียว สิ่งสำคัญคือการพูดคุยเพื่อทำเนื้อหา ที่ตรงความต้องการของทุกคน รวมไปถึงการปรับย่อยเนื้อหาจาก Podcast ไปเป็นสื่อรูปแบบอื่น เช่น การ์ตูนที่ให้ความรู้ สื่อสิ่งพิมพ์ อีบุ๊ค หรือการทำเป็นเวิร์คช็อป ซึ่งได้ทดลองไปแล้วกับ รายการ เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก จัดต่อเนื่องมาแล้วมากว่า 30 ตอน โดยให้ พ.ญ. วนิดา เปาอินทร์ ตอบคำถามและให้ข้อคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็ก และร่วมถามตอบข้อสงสัยกับผู้ฟังได้โดยตรง

เดิมที หลุยส์ตั้งใจให้ The Family Podcast เหมือนเป็นคู่มือสำหรับพ่อแม่ แต่หลังจากได้รับเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ฟัง ทีมงานจึงปรับเนื้อหาให้เข้าถึงและตรงใจคนฟังมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่พ่อแม่แต่ละคนได้เจอในชีวิตจริง

“ตอนนี้ The Family Podcast มีมากกว่า 10 รายการ รวมจำนวนตอนกว่า 230 ตอน ซึ่งเนื้อหาที่คนมีส่วนร่วมมากที่สุดมักเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เราพยายามปรับเนื้อหาตามที่คนฟังสนใจ เช่น จากเดิมตั้งใจทำเนื้อหาเกี่ยวกับลูกคนเล็กที่มีปัญหาเอาแต่ใจ แต่พอทำออกไป คนที่มาคอมเมนต์กลับเป็นลูกคนโต ทำให้เราได้ความรู้ใหม่ว่าจริงๆ แล้วกลุ่มลูกคนโตก็เป็นกลุ่ม ที่เจอปัญหาเยอะเหมือนกัน กลายเป็นเรื่องวิบากกรรมลูกคนโต”

ธรรมชาติของพ็อดแคสต์แตกต่างจบวิทยุแบบเดิม  Podcast มีความเป็นดิจิทัลที่ต้องปรับตามพฤติกรรมคนในโลกออนไลน์ ที่เลือกเสพแต่เรื่องที่สนใจเท่านั้น ความท้าทายของการทำ Podcast คือ ต้องทำเนื้อหาให้ดีมีประโยชน์ และต้องตอบโจทย์คนฟังมากที่สุดไปพร้อมกัน หลุยส์จึงพยายามสื่อสารให้ทีมงานของเขาคิดแบบเดียวกัน เพื่อส่งต่อเนื้อหาที่ดี ทำให้คนฟังได้รับรู้ว่าเนื้อหานี้จะมีผลดีต่อพวกเขามากแค่ไหนอีกด้วย

“คำว่าคนตัวดี ในโลโก้เห็นตัว D ในภาษาอังกฤษเราตั้งใจให้คำว่าดีมาจากคำว่า Do คือการลงมือทำ เพราะเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเริ่มลงมือทำ แล้วต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน ตัวดีจะมีความซน ไม่ยอมอยู่เฉย และก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ คำว่า คนตัวดี จึงเป็นเรื่องของการลงมือทำและไม่หยุดนิ่ง เป็นเหมือนคนที่คอยเฝ้ามองสังคมอยู่ตลอดเวลา”

เป้าหมาย MAPPA คือทั้งครอบครัว ไม่ใช่แค่เด็กหรือผู้ใหญ่ ในบางภารกิจต้องให้ผู้ปกครองกับเด็กทำงาน ร่วมกันเพื่อปลดล็อกเกม ซึ่งก่อนที่ผู้ปกครองจะเข้ามาก็ต้องผ่านด่านของตัวผู้ใหญ่ก่อน ทำให้ครอบครัวเกิดการเรียนรู้ตลอดเส้นทาง เพราะเราออกแบบมาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน และแต่ละคนก็ได้เรียนรู้ในส่วนของตัวเองด้วย

บี – มิรา เวฬุภาค : MAPPA

เปลี่ยนวิธีคิดด้วย Gamification

“เรามีประสบการณ์ตอนทำวิจัยการศึกษาอยู่ที่โรงเรียนทางเลือก พอมีลูกก็ตัดสินใจออกมาทำ Homeschool เลยมีโอกาสได้เจอพ่อแม่ที่น่าสนใจเยอะและหลากหลายขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าวิธีการเรียนรู้สมัยนี้ อาจเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นลำดับขัั้น 1 ถึง 10 มาเป็น 2 แล้วมาที่ 5 หรือ 8 เลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราทำให้เด็กรู้ตัวในสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ แล้วพาเขาไปตรงนั้นได้อย่างไร ทำให้คิดว่าน่าจะมี Ecosystem อื่นนอกจากห้องเรียนที่สามารถให้เด็กมีพัฒนาการได้ จึงเริ่มสนใจการเรียนรู้รูปแบบอื่น จนได้มาทำโครงการของตัวเอง”

ในช่วงโควิด บี-มิรา เวฬุภาค ซึ่งทำธุรกิจเพื่อสังคมคือ Flock Learning จึงเริ่มมองหาเครื่องมือใหม่เพื่อช่วยพ่อแม่และเด็กได้เรียนรู้ร่วมกันในช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้ บวกกับได้โจทย์มาจาก สสส. ที่อยากให้ออนไลน์สามารถเป็น Ecosystem ในการเรียนรู้ได้โดยที่เด็กไม่ต้องมาจ้องหน้าจอเพียงอย่างเดียว จึงเกิดเป็น MAPPA แพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์ (Online Collaborate Learning Platform) ซึ่งเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โดยตั้งเป้าว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นแค่พื้นที่เรียนรู้เพียงอย่างเดียว

ด้วยความเป็นคุณแม่ลูกสอง เข้าใจดีว่าเด็กต้องการอะไร เธอจึงทดลองนำเอาเกมิฟิเคชั่น (Gamification) มาช่วยจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ เช่น การเพิ่มสกิลหลังจากผ่านเรียนรู้ในแต่ละหัวข้อ การให้คะแนน และการใช้ข้อมูล Data Visualization ทำให้ผู้เรียนสามารถรู้ความก้าวหน้าในแต่ละบทเรียน เพื่อนำไปพัฒนาในส่วนที่ต้องการเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งช่วยทำให้เด็กรู้สึกสนุก และรู้สึกเป็นเจ้าของโจทย์การเรียนรู้ไปพร้อมกัน

“งานสนุกมาก เพราะเราได้ทีมที่ดีมาก ซึ่งประกอบด้วยคนจากหลายวัย ช่วยให้เราเห็นความคิดของคนรุ่นใหม่ และได้แลกเปลี่ยนเพื่อให้งานเดินไปข้าง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การได้เจอผู้ปกครองหลายรายช่วยให้เราเปิดหูเปิดตาเรื่องใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเรา แต่เกิดจากครอบครัวเองที่สร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เราแค่เป็นคนเปิดพื้นที่ให้ได้มีการแลกเปลี่ยนกันในครอบครัว”

“โควิดที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม ทำให้เราต้องรีบปรับตัวตามให้ทัน MAPPA เกิดขึ้นมาเพราะเราคิดว่าต่อไปจะสื่อสารผ่านช่องทางเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมีทั้งบทความ วิดีโอ Podcast หลายสื่อมาช่วยกัน ตอนนี้เรากำลังทดลองแพลตฟอร์มบน Facebook ที่เป็นพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองให้มาพูดกัน”

เธอได้ทดลองทำเนื้อหาที่ให้เด็กระดับม.ต้น-ม.ปลาย ที่ส่วนใหญ่ใช้ Twitter ในการสื่อสาร ได้แสดงความเห็นในรูปแบบวิดีโอบน Facebook เพื่อพูดคุยให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจความต้องการของพวกเขาไปจนถึงการนำแนวคิดใหม่ๆ เช่น ชวน มารีญา พูลเลิศลาภ มาพูดคุยเรื่องการเลี้ยงลูกแบบสแกนดิเนเวียน ซึ่งเธอไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างการเลี้ยงลูกแบบไทย และต่างประเทศ แต่อยากให้เข้าใจว่าตอนนี้ที่ต่างประเทศเลี้ยงลูกแบบเปิดกว้าง ทั้งในเรื่องเล็กๆ  เช่น การให้ปีนต้นไม้โดยไม่กลัวว่าเด็กจะตกลงมา การให้เด็กผู้ชายเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงตัวตนออกมาได้อย่างอิสระ

นอกจากนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์ MAPPA เชื่อว่าเทคโนโลยีกำลังเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะตอนนี้ทุกคนมีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การเข้ามาที่ MAPPA จะช่วยลดความแตกต่างระหว่างเด็กและผู้ปกครองได้ ยิ่งถ้ารัฐมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากยิ่งขึ้น

ความฝันเล็กๆ ของเธอคือไม่อยากให้การเรียนรู้จบลงเพียงแค่ในห้องเรียน อยากให้คนอื่นลุกขึ้นมาสร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมือนที่เธอและทีมงานทำให้ 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ