รู้จักตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ลงมือแก้ไขประเด็นสังคมรอบตัวด้วยนวัตกรรม
อยากชวนให้หลับตาแล้วมาลองนึกกันว่ารอบตัวพวกเรามีปัญหาสังคมอะไรบ้าง น้ำท่วม รถติด อากาศเป็นพิษ รายได้ไม่เพียงพอ คุณภาพชีวิตไม่ดี พื้นที่สีเขียวน้อย ขยะล้นเมือง ความไม่เท่าเทียม การคอรัปชัน และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่ต่างคนก็น่าจะเคยเจอมาไม่เหมือนกัน
คำถามคือ
เราจะเข้าไปมีส่วนในการลงมือแก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นสังคมและเกี่ยวข้องกับพวกเราโดยตรงเหล่านี้กันมากน้อยแค่ไหน
บางคนอาจคิดว่าหลาย ๆ เรื่องไม่ใช่หน้าที่ของเรา บ้างก็มองว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ใหญ่เกินกว่าจะแก้ไข ที่แย่กว่านั้นหลายคนรู้สึกชินชาจนปรับตัวอยู่ร่วมกับปัญหาอย่างกลมกลืน
แต่ไม่ใช่กับคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า พวกเขาสามารถมีส่วนเริ่มต้นแก้ไขประเด็นสังคมต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเองจากการใช้นวัตกรรมทางสังคมเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็น ช่วยคนข้ามถนนได้ปลอดภัยขึ้นด้วยเซ็นเซอร์ตรวจจับความเร็วรถ ทำให้ทุกคนสื่อสารกับผู้พิการได้สะดวกขึ้นผ่านแอปพลิเคชันแปลภาษามือ แก้เรื่องน้ำเสียจากการย้อมผ้าด้วยบ่อบำบัดที่ออกแบบเฉพาะ ใช้คลื่นอัลตร้าโซนิคไล่ศัตรูพืช ไปจนถึงแก้ปัญหาที่ดินด้วยบอร์ดเกม
โดยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ ที่ดำเนินงานโดย สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (Society of Young Social Innovators: SYSI) ในด้านต่าง ๆ ทั้ง ทุนสนับสนุนโครงการ ช่วยเติมความรู้ความสามารถ มีทีมพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนตลอดโครงการ และได้พบปะสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นสังคมเดียวกัน
แชมพูแก้ปัญหาหนังศีรษะและปากท้อง
นูรอัสลีนา เจะมะ (มัย) เป็นหนึ่งในทีม ‘Mikmay’ ที่เกิดจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ยะลา ที่อยากเห็นสังคมเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะคนรอบตัวที่มีปัญหาอาการระคายเคืองบนหนังศีรษะจากเหาและรังแค จึงได้นำสูตรแชมพูที่ทีม Nimmiyaa ซึ่งเคยเข้าร่วมกับ SYSI ระดับ Rookie แล้วคิดค้นจนได้สูตรแชมพูที่ช่วยแก้ปัญหานี้มาพัฒนาต่อ
ซึ่งทีม Mikmay ได้ต่อยอดแชมพูทำให้นอกจากรักษาอาการคันแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้นักเรียนและชุมชนมีรายได้เสริม ด้วยเข้าร่วมกับ SYSI ต่อในระดับ Semi Pro แล้วชวนคนในชุมชนให้มาช่วยกันผลิตแชมพูและปลูกพืชสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบหลักเช่น ว่านหางจระเข้ ใบน้อยหน่า มะกรูด และมีการแบ่งรายได้ร่วมกัน ภายใต้ชื่อแบรนด์ Cure’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ทั้งช่วยแก้ปัญหาบนหนังศีรษะและปากท้องไปพร้อมกันได้อย่างน่าสนใจ
“เราเอาโครงการมาทำต่อเป็นแบรนด์ Cure’ ที่ช่วยกันผลิตจากนักเรียนและคนในชุมชนช่วยสร้างรายได้เสริม โดยเราคอยบอกสูตรผสมในสัดส่วนวิธีทำที่ชัดเจน แม้ในช่วงโควิดจะลงพื้นที่ไม่ได้ก็ใช้ออนไลน์คุยกันตลอด”
มัยยังบอกอีกว่าการเข้าร่วมโครงการในรุ่น Semi Pro กับ SYSI ช่วยพวกเธอได้มากในเรื่องการให้คำปรึกษา จัดหาข้อมูล และเติมไอเดียใหม่ ๆ ที่สำคัญความตั้งใจของทีมงาน SYSI ที่กระตือรือร้นคอยเอาใจใส่ช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ยังเป็นการช่วยเติมพลังไฟในการทำงานกับพวกเธอโดยไม่รู้ตัว
“ทุกครั้งที่ได้คุยกัน มันช่วยเติมไฟ เติมฝันเติมไอเดียให้กับมัยได้ทุกครั้ง”
ผ้าทอมือ ฝันที่ถักทอจากมือกะเหรี่ยง
ด้านบู ตัวแทนจากทีม ‘ปอเชอโพ’ เล่าให้เราฟังว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านปางทอง แล้วอยากให้ผ้าทอมือจากธรรมชาติอันเป็นงานหัตถกรรมที่อยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขามาอย่างช้านาน ถูกพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพหลักได้ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่สามารถกลับมาทำงานมีอาชีพที่มั่นคงที่บ้านเกิดได้
“ปกติพวกเราปกาเก่อญอทอผ้าใช้เองอยู่แล้ว ซึ่งเรารู้สึกว่าผ้าทอมือแบบกะเหรี่ยงจากธรรมชาติมีมูลค่าน่าจะมาต่อยอดได้ บวกกับช่วงที่มาเรียนหนังสือรู้สึกได้ว่าการมาอาศัยในเมืองของพวกเรามีค่าใช้จ่ายกว่าอยู่ที่บ้าน หลายคนเลยอยากกลับไปอยู่บ้าน ผ้าทอมือเลยเป็นจุดร่วมที่ทุกคนรู้สึกว่าน่าจะเป็นคำตอบ”
เพียงแค่การผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือที่ทำจากด้ายธรรมชาติจากบ้านปางทอง อาจยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด พอพวกเขามีโอกาสเข้าร่วมโครงการเครือนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ ในรุ่น Semi Pro ทีมปอเชอโพ ได้นำเรื่องนี้มาพัฒนาต่ออย่างจริงจัง มีการทำแผนงานอย่างละเอียด จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แล้วได้นวัตกรรมที่มาเติมช่องว่างคือการกระจายผ้าทอมือผ่านช่องทางออนไลน์
ความยากอยู่ที่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้จักการขายออนไลน์โดยเฉพาะในหมู่บ้าน ทีมปอเชอโพ เลยต้องลองผิดลองถูกกันเอง ตั้งแต่ การสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าทำมือที่ย้อมด้ายด้วยสีธรรมชาติให้มีความน่าสนใจ การออกแบบถ่ายภาพสินค้าให้มีความโดดเด่น ไปจนถึงใช้การออกบูธขายผ้าตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารและให้ความรู้เกี่ยวผ้าทอมือจากบ้านปางทอง จ.ตาก ของพวกเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น
“ตอนนี้ผ้าทอมือที่เราทำขึ้นยังไม่สามารถสร้างผลกำไรจำนวนมากได้ แต่เริ่มเห็นแล้วว่าผ้าที่เราช่วยกันทำขึ้นมันขายได้ ในอนาคตเราอาจจะมีการปลูกพืชที่มาเป็นวัตถุดิบขึ้นมาเอง แล้วบอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นของหมู่บ้านผ่านผืนผ้า เพื่อเก็บรักษาความเป็นเราเอาไว้ สุดท้ายแล้วถ้าผ้าทอมือเลี้ยงตัวเองได้ ก็จะสามารถช่วยให้ทุกคนกลับมาอยู่บ้านไม่ต้องไปทำงานไกล ๆ ผ้าทอมือเลยเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เราเชื่อว่าจะมาเปลี่ยนชีวิตของพวกเราได้อย่างยั่งยืน”
Startup เพื่อยกระดับคุณภาพขีวิต
นอกจากรุ่น Semi Pro ที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างทีมแล้ว โครงการเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ ยังมีรุ่น Turn Pro ที่เป็นทีมของกลุ่มคนใหม่ ซึ่งจะแตกต่างจากรุ่น Semi Pro ตรงที่ช่วงอายุของผู้เข้าร่วมและงบในการสนับสนุน ซึ่งรุ่นนี้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์แล้วอยากนำนวัตกรรมทางสังคมเข้ามาสร้างความยั่งยืน
ทีม ‘แอ็กนอส’ (Agnos) เป็นหนึ่งในทีมที่เข้าร่วมในรุ่น Turn Pro โดย ปาลิตา วิษณุโยธิน หรือ พรีม ตัวแทนของทีมแอ็กนอส บอกว่าพวกเธอเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่า การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง จะเป็นสิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน เลยได้ช่วยกันพัฒนาแอ็กนอสขึ้นมาเพื่อเราพัฒนาการบริการด้านสุขภาพแห่งอนาคต
“พวกเราเห็นหมอทำงานหนักแทบไม่ได้พัก เลยสงสัยแล้วมาหาเหตุผลกันจนพบว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาที่หมอไม่เพียงพอเพราะเราผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ไม่ทันผู้ป่วย เราเลยมามองกันต่อว่าทำไมผู้ป่วยในไทยถึงมีเยอะกว่าหมอ เป็นที่มาของความคิดว่า ถ้ามีวิธีวิเคราะห์ตัวเองเบื้องต้นจะช่วยลดจำนวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการลงได้”
การวิเคราะห์ตัวเองเบื้องต้นมีส่วนช่วยทำให้คนที่ป่วยไม่หนักสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ ช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหนักไม่ต้องรอพบแพทย์เป็นเวลานาน
โดยทีมแอ็กนอส ได้ทำโปรแกรมที่ให้ผู้ใช้สามารถใส่อาการเบื้องต้น พร้อมข้อมูลความเสี่ยงส่วนบุคคล ซึ่งระบบจะทำการซักประวัติเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง แล้วให้คำแนะนำผู้ใช้งานว่าควรเข้าพบแพทย์เพิ่มเติมหรือไม่ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งพัฒนาโดยทีมแพทย์และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย
ตัวแทนของทีมแอ็กนอส ได้เพิ่มเติมว่าการเข้าร่วมโครงการเครือนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ ช่วยให้ทีมของเธอในเรื่องเครือข่ายเพื่อเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่จะมาช่วยพัฒนาให้โปรแกรมมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้เธอบอกว่าความแม่นยำอันเป็นหัวใจของโปรแกรมมีความแม่นยำในการตรวจเบื้องต้นอยู่ที่ 60-70% ซึ่งในอนาคตพวกเธอมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการเข้าถึงฐานความรู้ด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น
“ทีมเราเป็นรวมตัวกันของสหวิชาชีพเป็น Startup เพื่อสุขภาพ การเข้าร่วมโครงการของ SYSI อาจจะต่างจาก accelerator อื่นตรงที่ไม่ได้เน้นเรื่องโมเดลธุรกิจ แต่เน้นเรื่องมานำนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาทางสังคม พร้อมกับพัฒนาคนในทีม การดูแลคนในทีม การสร้างทีมงาน ซึ่งช่วยทำความตั้งใจเริ่มต้นของเราที่จะมาแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงชัดเจนขึ้น”
แม้นวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ทั้งสามทีมจะแตกต่างกันทั้งเรื่องประเด็นทางสังคมที่เป็นจุดเริ่ม รูปแบบการทำงาน แนวคิดในการแก้ไขปัญหา และเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ แต่สิ่งที่ทุกทีมต่างมีเหมือนกันคือ ความสงสัยและความกล้าตั้งคำถามกับประเด็นปัญหาที่อยู่ตรงหน้าแล้วลงมือทำด้วยตัวเอง โดยมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนดีขึ้นด้วยนวัตกรรมทางสังคมที่พวกเขาคิดขึ้นมา
ท้ายที่สุดเราเชื่อมั่นว่าพลังของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะช่วยจุดประกายความเปลี่ยนแปลง จากจุดเล็ก ๆ ขยายเป็นวงกว้างส่งผลกระทบสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หรืออย่างน้อยก็เป็นแรงบันดาลใจปลุกให้พวกเรากล้าสงสัยแล้วลุกขึ้นมาตั้งคำถามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
#####