รายงานโควิด-19 กับผลกระทบต่อกลุ่มเด็กและครอบครัวเปราะบางในสหราชอาณาจักรและสก๊อตแลนด์

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยสรุปหลักฐานของผลกระทบจากโควิด-19 ต่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนในสหราชอาณาจักรและสก็อตแลนด์ ที่มีการสำรวจโดยใช้การสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มเด็กและครอบครัวที่ยากจน คนผิวดำ ชนกลุ่มน้อย และครอบครัวกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความพิการ

รายงานสรุปนี้ได้นำเสนอหลักฐานใหม่ล่าสุดของผลกระทบของโควิด-19 ต่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนในสก็อตแลนด์หลายอย่าง และยังนำหลักฐานจากสหราชอาณาจักรและนานาชาติมาประกอบตามความเหมาะสมด้วย

Happinet Club เห็นว่าข้อค้นพบสำคัญจากรายงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ในเว็บไซต์ https://www.gov.scot/ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการสำรวจถึงการระบาดของโควิด-19 และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพราะสามารถใช้เป็นแนวทางในการสำรวจสถานการณ์ของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ปฏิบัติงานของภาคีเครือข่ายที่ดำเนินงานด้านการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงขอเรียบเรียงข้อสรุปที่ค้นพบมานำเสนอเป็นบทความ

ประเด็นหลักเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง

  • การถูกแบ่งแยกด้วยดิจิทัล – สิ่งที่พบในการสำรวจเด็กและครอบครัวที่ด้อยโอกาสคือการเข้าไม่ถึงดิจิทัลและปัญหาเกี่ยวเนื่อง การเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ การเชื่อมต่อกับผู้อื่น การเข้าร่วมการศึกษาและใช้สิทธิของตน หลักฐานชี้ว่าการแจกจ่ายเครื่องมือและอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังต้องให้คนมีทักษะที่เหมาะสม ความมั่นใจ และมีการสนับสนุนด้วย ผู้ให้บริการบางรายก็พบปัญหาการเข้าถึงดิจิทัลเองเช่นกัน ซึ่งลดทอนความสามารถในการจัดหาบริการระยะไกล 
  • ความกังวลถึงอนาคต – เยาวชนจำนวนมากกังวลและไม่แน่ใจกับอนาคต แต่ยิ่งมากเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่มีความเปราะบาง เช่น เด็กที่เพิ่งออกจากสถานดูแลพิเศษ หลายคนไม่รู้ว่าก้าวต่อไปจะทำอย่างไร สำหรับเด็กที่ช่วยดูแลคนในครอบครัวและครอบครัวรายได้ต่ำ และการต้องใช้ชีวิตตามแบบ “วิถีใหม่” อาจทำให้ยิ่งถูกแบ่งแยกและเหลื่อมล้ำ 
  • ความรู้สึกมีเป้าหมายและความเชื่อมโยง – เด็กและเยาวชนเปราะบางจำนวนหนึ่งต้องพบความโดดเดี่ยวทางสังคมอย่างมากในช่วงล็อคดาวน์ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและการศึกษา ความรู้สึกร่วมกันคือ พวกเขาต้องการความรู้สึกว่าควบคุมชีวิตตัวเองได้ มีอะไรให้ทำ และมีการเชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างมีความหมาย เมื่อดูจากหลักฐานการล็อคดาวน์ในท้องถิ่นพบว่ามีความเสี่ยงที่การควบคุมที่หนักขึ้นอาจทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางรู้สึกโดดเดี่ยวยิ่งกว่าเดิม
  • ความสูญเสีย/ถูกแบ่งแยกด้านการศึกษา – หลักฐานบ่งชี้ว่ามีการสูญเสียโอกาสการศึกษาอย่างมากในเด็กบางกลุ่มของสก็อตแลนด์ รวมถึงเด็กที่ช่วยดูแลคนในครอบครัว เด็กที่เคยอยู่นอกการดูแลของครอบครัวเด็กผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ กลุ่มเสี่ยงสูญเสียหรือถูกแบ่งแยกอื่นๆ รวมถึงเด็กที่กักตัว (หรืออยู่กับคนที่กักตัว) และผู้ที่เสี่ยงต่อการทำร้ายหรืออาชญากรรมต่อเด็ก ทำให้บางองค์กรเรียกร้องให้มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในโรงเรียนโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบ และการศึกษาต่อเนื่องของเด็กและเยาวชนบางส่วนหากมีการล็อคดาวน์ในอนาคต
  • การมีส่วนร่วม – สารจากองค์กรที่ทำวิจัยกับกลุ่มเปราะบางคือ การดำรงชีวิตของเด็กและเยาวชนต้องเป็นศูนย์กลางของแผนฟื้นฟู

สวัสดิภาพทางจิตใจ

มีการค้นพบอย่างค่อนข้างต่อเนื่องในการสำรวจในสก็อตแลนด์ว่าสวัสดิภาพทางจิตใจของเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะเด็กโตย่ำแย่กว่าของเด็กชายในช่วงโรคระบาด การวิจัยอื่นในสหราชอาณาจักรและนานาชาติแสดงถึงสวัสดิภาพทางจิตใจทั่วไปที่แย่ลง (โดยเฉพาะความวิตกกังวล ความเหงา และอาการซึมเศร้า) ในเยาวชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมาก่อน ผู้ที่มีชีวิตยากจน และกลุ่มด้อยโอกาสอื่นๆ เช่น เด็กที่เคยอยู่นอกการดูแลของครอบครัว เด็กผิวดำ เชื้อสายชนกลุ่มน้อย  

ความเบื่อหน่าย ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน และความรู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ยังคงเป็นตัวแปรสำหรับเยาวชนจำนวนมากในช่วงล็อคดาวน์ โดยเฉพาะเยาวชนที่มีความขาดแคลน การเรียนทางไกล การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป และเวลาเล่นกลางแจ้งที่จำกัดก็ถูกระบุว่าเป็นตัวการทำลายสวัสดิภาพของเด็กในสก็อตแลนด์

มีหลักฐานยืนยันว่าสิ่งที่ช่วยเด็กและเยาวชนในช่วงล็อคดาวน์ได้คือ กิจวัตรและแบบแผน ความรู้สึกว่าควบคุมเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ มีอะไรให้ทำ ได้ติดต่อเพื่อนและคนอื่นในโรงเรียน กิจกรรมทางกาย และการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

ส่วนในอนาคต หลักฐานชี้ว่าสิ่งที่จะช่วยเด็กและเยาวชนฟื้นตัวคือ การสนับสนุนจากพ่อแม่/ผู้ดูแล (เช่น การจัดการความเครียดและพัฒนานิสัยที่ดีต่อสุขภาพ) องค์กรที่จะเข้าถึงเยาวชนด้วยบริการดิจิทัลและทางไกลมากขึ้นตามความเหมาะสม และการเน้นเรื่องสุขภาพจิตที่โรงเรียน

นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังชี้ด้วยว่าเด็กและเยาวชนบางคนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมในโรงเรียนเพื่อการเข้าสังคมและรับมือกับความกังวล ความเจ็บปวด หรือการสูญเสียที่มากขึ้น การทำงานขององค์กรควรเน้นความสำคัญของการเล่นโดยเฉพาะการเล่นกลางแจ้ง เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของเด็กเล็ก

การศึกษา การเรียนรู้ และการจ้างงาน

การสำรวจพ่อแม่ชาวสก็อตแบบสุ่มจำนวนหนึ่งที่ทำในช่วงฤดูร้อนแสดงให้เห็นว่ามีความกังวลระดับหนึ่งเรื่องการที่เด็กจะกลับไปโรงเรียน (ประมาณร้อยละ 50) โดยเฉพาะในหมู่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่ที่มีลูกเล็กจะกังวลเรื่องการติดเชื้อและสวัสดิภาพของเด็กมากที่สุด

การสำรวจทั่วราชอาณาจักรบ่งบอกว่ามีความกังวลในหมู่พ่อแม่ของเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษด้านการศึกษา พ่อแม่ที่ไม่มีงานทำ และมีรายได้ต่ำมากขึ้น ความกังวลหลักคือ ลูกจะไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนด้านอารมณ์ พฤติกรรม และการศึกษาที่จำเป็น การเว้นระยะห่างทางสังคม สุขภาพจิต การเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน และความกังวลเรื่องการกลับไปโรงเรียน บางองค์กรก็กังวลว่าเด็กพิการและมีโรคเรื้อรังอาจเสี่ยงเสียโอกาสทางการศึกษามากขึ้นไปอีก ถ้าไม่อาจกลับไปโรงเรียนได้เพราะความเสี่ยงทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้น หรือความจำเป็นต้องป้องกันตัว

ด้วยความที่เยาวชนมีแนวโน้มจะตกงานหรือถูกพักงานมากกว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่การสำรวจบางชิ้นรายงานว่าความก้าวหน้าด้านการศึกษาและการจ้างงานลดลง

ปัญหาหลักที่เยาวชนในสก็อตแลนด์ยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงผลกระทบระยะกลางและยาวจากโควิด-19 จะมีเรื่องการจ้างงาน (ขาดโอกาสและตัวเลือก) ความมั่นคงทางการเงิน การศึกษา (วางแผนยากลำบากในช่วงเวลาที่ไม่มีความแน่นอน การสอบ) สุขภาพจิต และการเข้าถึงดิจิทัล (ทั้งอุปสรรคและโอกาส) ความกังวลหลักของวัยรุ่นยังครอบคลุมถึงสุขภาพจิต การเข้าถึงการสื่อสารดิจิทัล การจ้างงาน และการศึกษา

ผลกระทบต่อครอบครัว

มีรายงานจากการสำรวจทั่วอังกฤษถึงความยากลำบากของพ่อแม่ผู้ปกครองในช่วงล็อคดาวน์ โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกวัยก่อนเข้าเรียน ผู้หญิง และเยาวชน สิ่งนี้สะท้อนในข้อมูลการสำรวจของสก็อตแลนด์ ซึ่งแสดงคะแนนสวัสดิภาพที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในหมู่พ่อแม่ที่มีลูกเล็ก และผลการสำรวจในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ มีหลักฐานว่า แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ผู้ใหญ่รายได้น้อยและผู้ที่อยู่กับเด็กยังคงมีสุขภาพจิตระดับต่ำกว่ากลุ่มย่อยอื่นๆ หลักฐานที่กว้างกว่านั้นชี้ว่าโรคระบาดกำลังนำไปสู่ความยากลำบากอย่างที่สุดของครอบครัวรายได้ต่ำ บางคนรู้สึกถูกกีดกัน หิว รู้สึกผิด (ที่ไม่ได้จัดหาอาหาร) กลัว และมีตราบาป และพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุน้อยก็มีความกดดันอย่างมาก

นอกจากนั้น มีรายงานว่าพ่อแม่มีความกังวลและความยากลำบากในการรับมือกับเด็กในช่วงล็อคดาวน์ โดยมีรายงานว่ามีความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กๆ แต่ก็มีหลักฐานจากการสำรวจของอังกฤษด้วยว่าพ่อแม่ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ โดยเฉพาะฝ่ายแม่ แม้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวรายได้ต่ำจะมีแนวโน้มกล่าวว่าความสัมพันธ์แย่ลงมากกว่าเล็กน้อย

การที่เด็กกลับสู่โรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็กในสก็อตแลนด์อาจช่วยบรรเทาความกดดันได้บ้าง แม้จะมีหลักฐานว่าพ่อแม่บางคนยังต้องลำบากเพราะขาดแคลนคนดูแลเด็ก (เช่น ปู่ย่าตายายที่ช่วยดูแลเด็ก) ผลการสำรวจในวงกว้างกว่าชี้ว่าสิ่งนี้จะเป็นปัญหามากที่สุดในหมู่ผู้หญิงที่รับหน้าที่หลักดูแลเด็กและดูแลการเรียนที่บ้านในช่วงล็อคดาวน์

ผลกระทบต่อเด็กเล็ก

การสำรวจในหมู่พ่อแม่ชาวสก็อตชี้ว่า แม้เด็กเล็กบางคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ แต่ก็มีรายงานอย่างต่อเนื่องว่าการนอนหลับ อารมณ์ พฤติกรรม ระดับกิจกรรม พฤติกรรมการกิน และสุขภาพจิตของเด็กเล็กมีการถดถอย

พ่อแม่ส่วนใหญ่พบความลำบากในการบังคับให้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางกายกับเด็กๆ ช่วงล็อคดาวน์ โดยมีเด็กจำนวนหนึ่งไม่ได้พบกับเด็กคนอื่น แม้แต่หลังช่วงที่ได้รับอนุญาตแล้ว

สิทธิและการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน

ยังคงมีเสียงเรียกร้องจากองค์กรเยาวชนที่ทำการสำรวจการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในกระบวนการฟื้นฟูและการวางแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องนี้มีมากเป็นพิเศษในหมู่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาส ซึ่งหลายคนต้องพบการถูกแบ่งแยกเพิ่มขึ้นอีกในช่วงล็อคดาวน์ จำเป็นต้องมีการสื่อสารแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้นในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงคลายล็อคดาวน์

หลักฐานเรื่องการสื่อสารโควิด-19 สำหรับเด็กชี้ว่าเด็กจำนวนมากไม่ได้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับพวกเขา แต่กลับได้จากพ่อแม่หรือโรงเรียน ในขณะที่พ่อแม่กล่าวว่าตนทำไปเพื่อปกป้องเด็กจากข้อมูลที่ “เลวร้ายที่สุด” เด็กๆ กล่าวว่าพวกเขาต้องการข้อมูลเรื่องไวรัสที่ตรงไปตรงมามากกว่า แสดงให้เห็นว่ามีเรื่องต้องทำอีกมากเพื่อให้ข้อมูลที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับเด็กได้ไปถึงพวกเขา และเด็กๆ มีโอกาสถามคำถามมากขึ้น

เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง

เยาวชนที่เคยอยู่นอกการดูแลของครอบครัว -มีรายงานวิจัยหลายชิ้นที่สำรวจประสบการณ์ชีวิตของเยาวชนที่เคยอยู่นอกการดูแลของครอบครัวในช่วงล็อคดาวน์ในสก็อตแลนด์ (และอังกฤษ) พบว่ามีสุขภาพจิตย่ำแย่ เสียโอกาสทางการศึกษา และวิตกกังวลเรื่องการกลับไปโรงเรียนและอนาคตโดยทั่วไป เยาวชนที่เคยอยู่นอกการดูแลของครอบครัวในสก็อตแลนด์จำนวนมากอาศัยอยู่คนเดียวในช่วงล็อคดาวน์ และพบกับความโดดเดี่ยวเป็นอย่างยิ่ง หน่วยงานท้องถิ่นรายงานว่ามีความคิดอยากฆ่าตัวตายและทำร้ายตนเองเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีรายงานการพยายามฆ่าตัวตายในหมู่ผู้เคยอยู่นอกการดูแลของครอบครัว แต่ยังมีผลที่น่าจะเป็นทางบวกอย่างหนึ่งคือ เยาวชนที่เคยอยู่นอกการดูแลของครอบครัวบางคนอยากเรียนต่อในโรงเรียนให้นานขึ้น

เด็กและเยาวชนเด็กผิวดำและเชื้อสายชนกลุ่มน้อย – มีรายงานจากการวิจัยพบว่าเกิดความกังวลเรื่องตราบาปต่อเนื่องและการรังแกเด็กและเยาวชนเชื้อสายจีนเมื่อกลับไปโรงเรียน และความยากลำบากที่เด็กและเยาวชนผิวดำและเชื้อสายชนกลุ่มน้อยต้องพบในการเข้าถึงข้อมูล การช่วยเหลือและการสนับสนุน

เด็กและเยาวชนที่ต้องช่วยดูแลคนในครอบครัว – เด็กในสก็อตแลนด์ที่ต้องช่วยดูแลคนในครอบครัวได้รับแรงกดดันไม่น้อยในช่วงโรคระบาด ทำให้มีผลเสียต่อสวัสดิภาพและการศึกษาของพวกเขา หลายคนยิ่งเป็นกังวลถึงอนาคตของตัวเองมากกว่าก่อนช่วงโรคระบาด ในสก็อตแลนด์ ผลการสำรวจแสดงว่าผู้ดูแลวัยเด็กส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาในการดูแลคนในครอบครัวมากกว่าช่วงก่อนโรคระบาดอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่มีรายงานว่าการที่ไม่รู้ว่าสมาชิกครอบครัวอยู่ใน “กลุ่มเปราะบาง” หรือไม่เชื่อมโยงกับความไม่แน่ใจและกังวลที่มากขึ้นของเด็กและเยาวชนที่ช่วยดูแลคนในครอบครัว ยังต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมให้รู้แน่ชัดว่ามีเด็กและเยาวชนในสก็อตแลนด์จำนวนเท่าไหร่ที่รับหน้าที่ผู้ดูแลคนในครอบครัวมาตั้งแต่เริ่มเหตุการณ์โรคระบาด

เด็กกลุ่มเปราะบาง – มีหลักฐานชวนกังวลในสหราชอาณาจักร (เช่น จากองค์กรป้องกันความรุนแรงต่อเด็กแห่งชาติ) ชี้ว่ามีการทำร้ายและละเลยเด็กเพิ่มขึ้นในช่วงโรคระบาด รวมถึงการทำร้ายทางอารมณ์ การทำร้ายทางกาย (เช่น การบาดเจ็บที่หัวเพราะถูกทำร้ายในทารก) การต้องพบกับการทำร้ายในครอบครัว และการทำร้ายและหลอกใช้ประโยชน์ทางเพศในเด็ก โดยมีหลักฐานยืนยันจากชั่วโมงให้การปรึกษาที่เพิ่มขึ้น รายงานจากบริการและโรงพยาบาลและข้อมูลจากตำรวจสากล รัฐบาลสก็อตแลนด์ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ในสก็อตแลนด์ผ่านทางชุดข้อมูลเด็กและผู้ใหญ่ที่เปราะบางประจำสัปดาห์

การทำร้ายในครอบครัว – รายงานจากทั่วสหราชอาณาจักรยังคงระบุว่าการทำร้ายในครอบครัวเพิ่มขึ้นในช่วงโรคระบาด รวมถึงการเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมทำร้ายเด็ก ข้อมูลสำรวจรายสัปดาห์จากยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน (ยูแอลซี) พบว่าการทำร้ายในครอบครัวในบ้านที่มีเด็กมีจำนวนสูงขึ้นเล็กน้อย และมีหลักฐานที่เพิ่งพบว่าความรุนแรงที่เด็กและวัยรุ่นกระทำต่อพ่อแม่ก็เพิ่มมากขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ด้วย

เด็กที่เกี่ยวข้องกับหรือได้ผลกระทบจากระบบยุติธรรม – มีการวิจัยบางชิ้นในสหราชอาณาจักรชี้ว่าเด็กที่มีพ่อหรือแม่อยู่ในคุกจะมีปัญหาทางจิตใจที่ต้องการการดูแลเพิ่มขึ้น (เช่น ความกังวลถึงความปลอดภัยของพ่อแม่) ซึ่งประจวบเหมาะกับการสนับสนุนจากชุมชนลดลงเพราะโควิด-19

LGBTQ+ – มีหลักฐานที่ค่อยๆ ปรากฏในสหราชอาณาจักรว่าเยาวชนกลุ่ม LGBTQ+ จะพบความยากลำบากในช่วงล็อคดาวน์ ซึ่งรวมถึงความไม่พอใจกับร่างกายตัวเองที่เพิ่มขึ้น และอัตราความวิตกกังวลและซึมเศร้าที่สูงกว่าเยาวชนกลุ่มที่ไม่ใช่ LGBTQ+ มีรายงานถึงความลำบากในการเข้าถึงการสนับสนุนทางสุขภาพกายและจิต รวมถึงการสนับสนุนแบบไม่เป็นทางการในช่วงล็อคดาวน์ด้วย สำหรับคนอื่นๆ นี่คือโอกาสทำความเข้าใจและยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของพวกเขา

ผลกระทบและการเข้าถึงบริการ

การสำรวจพ่อแม่ในสก็อตแลนด์ชี้ว่าพ่อแม่พบอุปสรรคไม่น้อยในการเข้าถึงบริการในช่วงล็อคดาวน์ โดยมีพ่อแม่เด็กเล็กบางคนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ในยามที่ต้องการ

มีหลักฐานที่ยังขัดแย้งกันถึงประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีทางไกลของเด็ก แม้จะมีประโยชน์ในเรื่องการประหยัดเวลาและค่าเดินทาง แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง รวมถึงการครอบคลุมและการเข้าร่วมของเด็ก แต่โดยรวมแล้ว มุมมองจากผู้ตอบแบบสอบถามคือจำเป็นต้องดำเนินการแบบนี้ในช่วงล็อคดาวน์ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมว่าการพิจารณาคดีทางไกลจะสามารถพัฒนาขึ้นและให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้มากขึ้นอย่างไร

บริการทางสังคมทั่วสหราชอาณาจักรยังคงปรับตัวเข้ากับ “นิวนอร์มัล” มีการใช้วิธีการสร้างสรรค์ต่างๆ ในช่วงล็อคดาวน์ ทำให้มีโอกาสใหม่ๆ สำหรับวิธีการสื่อสารที่แตกต่างจากเดิม เพื่อส่งเสริมวิธีปฏิบัติที่มีฐานจากความสัมพันธ์  เช่น มีหลักฐานบางส่วนในสหราชอาณาจักรระบุถึงคุณค่าของการสื่อสาร “เคียงข้างกัน” (เดินไปกับผู้รับบริการในพื้นที่กลางแจ้ง) โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนที่รู้สึกผ่อนคลายมากกว่าในพื้นที่เปิด

มีหลักฐานในทางที่ดีว่ารูปแบบการดูแลสุขภาพจิตแบบทางไกลมีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้จะไม่เหมาะกับทุกคน (โดยเฉพาะผู้มีอาการวิกฤต) อาจเป็นเรื่องต้องพิจารณาหากมีการล็อคดาวน์อีกในอนาคต

สามารถอ่านสรุปรายงานต้นฉบับได้ที่นี่ https://www.gov.scot/publications/report-covid-19-children-young-people-families-september-2020-evidence-summary/

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ