“มหกรรมครอบครัวยิ้ม” แลกเปลี่ยน-แบ่งปัน นวัตกรรมเพื่อภาคีคนทำงานด้านเด็กและครอบครัวแบบชุมชนนำ

             โครงการครอบครัวยิ้มเป็นการทำงานต่อยอดจากโครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน จนเกิดเป็นภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ

             และเพื่อเป็นการเชื่อมร้อยพลังภาคีการทำงานเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัวจึงมีการจัดงาน “มหกรรมครอบครัวยิ้ม” ขึ้นเพื่อถอดรหัสประสบการณ์การทำงานแบบชุมชนนำ ภายใต้แนวคิด “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4)

             สู่การชวนภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กเยาวชนและครอบครัวมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้ง 4 มิติ ทั้งด้าน คน ความรู้ เครื่องมือ และ เครือข่าย เพื่อเกิดการเรียนรู้ ตลอดจนนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกัน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย 19 จังหวัดมาร่วมออกบูธทั้งสิ้น  23 ราย

             ประกอบด้วย 366-Q-KIDs , ก่อร่างสร้างเด็ก , DSPM อย่างง่ายและกระเป๋าเสริมพัฒนาการ , Survival Kit , ศิลปะด้านใน , อ่าน อาน อ๊าน , Hook Learning , Net PAMA , Mappa App , Chatbot ใจดี , Share&Care , Happy Child , FarmSkool , Child Impact , Whole School Approach , ส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม , มูลนิธินวัตกรรมสังคม (SIY) , Social Innovator’s Space , โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ , เล่นเปลี่ยนโลก , การทำงานชุมชนแบบชุมชนนำ , เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ และ เครือข่ายสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว

             ผู้ร่วมงานจึงมีโอกาสเยี่ยมชม ทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำความรู้และนวัตกรรมจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มาร่วมงานไปปรับใช้ในโครงการหรือพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้บนเวทียังเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายมีการนำเสนอนวัตกรรม โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้

             1.นวัตกรรมการทำงานสำหรับเด็กแรกเกิดถึงปฐมวัย

             2.เครื่องมือและพื้นที่เรียนรู้ออนไลน์สำหรับทุกคนในครอบครัว

             3.นวัตกรรมการทำงานสำหรับเด็กวัยเรียน วัยรุ่น

             4.การทำงานแบบชุมชนนำและพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ในชุมชน

ทำพื้นที่เล่นง่ายๆ

 

             นวัตกรรมการทำงานสำหรับเด็กแรกเกิดถึงปฐมวัย

             สิริวัลย์ เรืองสุรัตน์ ผู้ประสานงานวิชาการ มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ในชื่อ “อ่าน อาน อ๊าน” กับแนวคิดการอ่านสร้างลูก ลูกสร้างโลก มหัศจรรย์อ่าน อาน อ๊าน ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2560 อันเป็นนวัตกรรมสำหรับเด็กแรกเกิดถึงปฐมวัย ที่มีหนังสือออกแบบให้เหมาะสมตามช่วงวัยใน 4 ระดับ เป็น ‘หนังสือฝึกอ่านตามระดับ’ จากความตั้งใจให้เป็นหนังสืออ่านสนุกที่ไม่ได้มุ่งให้เด็ก ‘อ่านออก’ แต่หวังให้เด็กๆ ‘อ่านแตก’ เกิดความสนุกและรักการอ่าน กับทั้งหนังสือที่จำหน่ายแบบเล่ม รวมถึง หนังสือออนไลน์ให้ดาวน์โหลดได้

             “ถ้ามีการซื้อหนังสือ เราก็จะจัดอบรมให้ โดยทีมวิทยาการและผู้ทำหนังสือไปอบรมให้แก่ผู้ปกครอง 1 วันเต็ม เรื่องความสำคัญของการอ่านหนังสือ หรือการใช้งานหนังสือ อ่าน อาน อ๊าน  ไปจนถึงการลงพื้นที่อบรมให้ครูที่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ซึ่งจะไม่ใช้วิธีการเล่า เพราะการเล่าใช้ภาษาพูด แต่การอ่านจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษา เกิดวรรณศิลป์ และเห็นภาพความงามมากกว่า” สิริวัลย์กล่าวถึงโครงการอ่าน อาน อ๊าน ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : www.facebook.com/ruready2read/?locale=th_TH

 

             366 Q-KIDS พัฒนาครูเพื่อคุณภาพเด็กปฐมวัย เป็นกระบวนการยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) โดยใช้ 3 ตัวช่วย 6 กิจกรรม ภายใน 6 เดือน เพื่อให้ครูได้เรียนรู้บริหารจัดการ ศพด. และจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : www.facebook.com/profile.php?id=100063574481173&locale=th_TH

 

             ก่อร่าง สร้างเด็ก ห้องเรียนออนไลน์สำหรับครอบครัวของเด็ก 0-3 ปี ที่มี ฐิติ เลาหภิญโญจันทรา ผู้ก่อตั้งโครงการก่อร่างสร้างเด็ก เล่าว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัวของเด็ก 0-3 ปีเพื่อส่งต่อความรู้และแชร์ประสบการณ์ ในรูปแบบห้องเรียนออนไลน์ (ระบบ Line OA) ปรับคอร์สให้เข้ากับผู้เรียน โดยจัดห้องเรียนออนไลน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยแจ้งเตือนช่องทาง Line OA เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง มีหลากหลายคอร์สที่จัดตามความสนใจ โดยมีวิทยากรจากที่ต่างๆ มาร่วมให้ความรู้ จนเกิดอีกหนึ่งผลลัพธ์คือการเกิดคอมมูนิตี้ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งที่อยู่ในไทยและต่างประเทศอีกด้วย

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://lin.ee/PgRy0BD

ก่อร่างสร้างเด็กห้องเรียน Line OA

 

             ด้านมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กับการจัดทำ DSPM อย่างง่าย และกระเป๋าเสริมพัฒนาการ “เยี่ยมบ้านเด็กปฐมวัยทุกครัวเรือน” ผ่านโครงการชุมชนร่วมใจส่งเสริมพัฒนาการเด็กในกระเป๋า อาสาสมัครสาธารณสุขลงเยี่ยมบ้านคัดกรองเด็กผ่านใบบันทึกพัฒนาการทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้งสม่ำเสมอ สู่การพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลผ่านมือถือของ อสม. และคนทำงานได้เห็นข้อมูลพัฒนาการเด็กเพื่อการติดตามผลต่อ รวมถึงการจัดทำชุดความรู้ทั้งแบบออฟไลน์ อย่าง หนังสือ สื่อโปสเตอร์ หรือสื่อ ออนไลน์ อย่าง ชุดคลิปสาธิตพัฒนาการเด็ก เป็นต้น

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://www.whaf.or.th/

 

             และอีกนวัตกรรมที่น่าสนใจอย่าง Survival Kit เครื่องมือพร้อมใช้พัฒนาทักษะชีวิตเด็ก 3-15 ปี  โดยมี สริรินทร์ โภคาลัย เล่าถึงที่มาของการจัดทำเครื่องมือดังกล่าวว่า เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักพัฒนาเด็ก เยาวชน ครู หรือคนที่สนใจต้องการสร้างการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตที่สำคัญให้กับเด็ก โดยมุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือที่ง่าย และสามารถสร้างการเรียนรู้ได้จริง โดยเชื่อมโยงกับวิถีความเป็นอยู่ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กให้เกิดกว้างขึ้น เพื่อที่จะพัฒนาทักษะชีวิตที่จะเป็นฐานสำคัญต่อการเติบโต

             “Survival Kit คือเด็กต้องรอด เป็นเครื่องมือง่ายๆ ที่มีกระเป๋าทั้งสิ้น 4 ใบ เพื่อสร้างการเรียนรู้ตามช่วงวัย สำหรับคนที่จะนำไปใช้คือคนที่แวดล้อมเด็กอย่าง สภาเด็ก อสม. ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง องค์การบริการส่วนตำบล ตามแนวคิดเลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน”

สริรินทร์ โภคาลัย หรือ พี่แจ๊ส กับ Survival Kit เครื่องมือพร้อมใช้พัฒนาทักษะชีวิตเด็ก

 

             ศิลปะด้านใน โดย โครงการพัฒนาวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเพื่อขยายชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะเด็กอย่างเป็นองครวม และเครือข่ายผู้ผ่านหลักสูตรวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านใน กับวิถีทางแห่งการสร้างสุขภาวะเด็ก ด้วยพลังศิลปะด้านใน สู่การสร้างพลังใจ พลังชีวิตที่สมดุล บ่มเพาะฝึกฝนศิลปะรูปแบบต่างๆ ตามแนวมนุษยปรัชญา อย่าง การจัดดอกไม้ วาดภาพระบายสี ร้องเพลง หัตถกรรม และ ทำอาหาร

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : www.facebook.com/InnerArttoAesthetics/

สมาชิกทีม อ่าน อาน อ๊าน

 

             เครื่องมือและพื้นที่เรียนรู้ออนไลน์สำหรับทุกคนในครอบครัว

             CHATBOT ใจดี แพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนให้วัยรุ่น วัยเรียน มีกำลังใจและผ่านพ้นปัญหาหรือเรื่องยากในชีวิต หนึ่งในเครื่องมือและพื้นที่เรียนรู้ออนไลน์ สำหรับทุกคนในครอบครัว ที่รับบริจาคประสบการณ์เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้ว่าพวกเขายังมีเพื่อนอีกมากมายที่พบเจอประสบการณ์ใกล้เคียงกันและร่วมส่งต่อกำลังใจแก่กันได้

             ชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมทางสังคมและการเงินเพื่อผลกระทบทางสังคม สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ผู้รับผิดชอบโครงการแชทบอทใจดี เล่าถึงการสร้างแพลตฟอร์ม CHATBOT ใจดี ว่าต้องการสนับสนุนและเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางใจแก่เด็กวัยรุ่นในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น-ปลาย และระดับมหาวิทยาลัยเมื่อพบเจอปัญหาในชีวิต

             “ไอเดียของเราคือการช่วยเด็กทางด้านจิตใจในช่วงวัยเรียน วัยรุ่น เพราะการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตค่อนข้างยาก แพลตฟอร์มนี้จึงเป็นเครื่องมือให้เข้ามาดูประสบการณ์ของเพื่อนที่เจอปัญหาคล้ายๆกัน ทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว และนำแนวทางการแก้ปัญหาของคนอื่น ไปปรับใช้กับตัวเองได้” ชิตพงษ์กล่าวถึงที่มาของแนวคิดCHATBOT ใจดี

ชิตพงษ์ กิตตินราดร กับ CHATBOT ใจดี

 

             จากการดำเนินงาน CHATBOT ใจดี พบว่าปัญหาที่เด็กวัยรุ่นมีความกังวลมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ ปัญหาด้านการเรียน และรองลงมาคือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งนี้จากสถิติการสำรวจผู้ใช้งานพบว่า มากกว่า 90% รู้สึกว่าเมื่อใช้งาน CHATBOT ใจดี รู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือแก้ปัญหาได้จริง

             ทั้งนี้เด็กวัยรุ่นสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้ด้วยตนเอง ส่วนครู สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน ตลอดจนพ่อแม่ก็สามารถนำไปใช้ที่บ้านได้ และในอนาคตก็มีความสนใจจะนำเทคโนโลยี ChatGPT หรือ AI มาปรับใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่อไปด้วย

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://chatbotjaidee.com/

 

             HOOK LEARNING ชุดความรู้ เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลก หลักสูตรออนไลน์ ที่ถ่ายทอดโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แบ่งเนื้อหาตามหมวดหมู่ เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ในการดูแลเด็กและเยาวชนในมิติต่าง ๆ

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://hooklearning.com/

 

             เน็ตป๊าม้า หรือในชื่อโครงการ “พัฒนาโปรแกรมสอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กสำหรับผู้ปกครองผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือหลักสูตรเน็ตป๊าม้า (Net PAMA) หลักสูตรออนไลน์ สำหรับพ่อแม่ที่สนใจเรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวก ในการปรับพฤติกรรมลูก โดยทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  ที่มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเลี้ยงลูกเชิงบวก

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://www.netpama.com/

 

             MAPPA LAND เครื่องมือที่ใช้สร้างทักษะที่จำเป็น และการเตรียมตัวเด็กให้พร้อมสำหรับโลกอนาคต ผ่านเแอปพลิเคชันที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็ก ๆ (นักผจญภัย) และครอบครัว พ่อแม่หรือผู้ดูแล (คู่หู) โดยใช้ Gamification สร้างความสนุกไปพร้อมกับการเรียนรู้

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : www.facebook.com/MappaLand/

 

             SHARE & CARE แพลตฟอร์มสำหรับภาคีเครือข่ายในการสร้างห้องเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนสำหรับครอบครัว รวมถึงเชิญชวนพ่อแม่มาเป็นกระบวนการที่จะช่วยเหลือภาคีในการจัดกระบวนการด้านครอบครัวและขับเคลื่อนงาน รวมถึงการจัดเทรนนิ่งเวิร์กช็อปสำหรับภาคีที่สนใจอยากจัดกระบวนการออนไลน์ในประเด็นการทำสื่อและทักษะการสื่อสารเชิงบวก ตลอดจนการผลิตสื่อคอนเทนท์ด้านครอบครัวและการเปลี่ยนแปลงความเชื่อผิดๆในสังคม

             HAPPY CHILD แคมเปญทำชาเลนจ์ผ่านการใช้ AR Effect บน TikTok เพื่อสื่อสารแนวคิดเลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก  : www.tiktok.com/@happychildhealth?is_from_webapp=1&sender_device=pc

 

 

             นวัตกรรมการทำงานสำหรับเด็กวัยเรียน วัยรุ่น

 

             FamSkool โมเดลสร้างความอุ่นใจ ในพื้นที่โรงเรียน บนพื้นฐานของแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก ผ่านชุดเครื่องมือ และกระบวนการสร้างเรียนรู้ที่ทำงานตั้งแต่ด้านมุมมอง การสื่อสาร ไปจนถึงการออกแบบกิจกรรมและนโยบายโรงเรียนที่ตอบสนองต่อความหลากหลายในแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อการทำงานร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และตัวเด็ก โดยหลัก 3 ป. คือ

             1.ปรับมุมมอง ทั้งคุณครู ครอบครัว และตัวเด็ก

             2.เปลี่ยนวิธีการสื่อสาร ด้วยเทคนิคการสื่อสารแบบ I-You message เพื่ออารมณ์ในเชิงบวก

             3.เปลี่ยนกิจกรรม โดยนำจิตวิทยาเชิงบวก มาเป็นฐานในการใช้คิดกิจกรรม เช่น เครื่องมืออย่าง การ์ดเกมส์ ที่จะเป็นคำถามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อให้เกิดการรับฟัง รู้จัก และเข้าใจกันมากขึ้น

             โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมการอบรมจาก FamSkool ทั้งสิ้น 12 แห่ง และจะเพิ่มจำนวนขึ้นต่อไปในอนาคต

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://famskool.com/

การ์ดเชื่อมใจ เครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์

 

FamSkool กับเครื่องมือการ์ดเกม

 

             Child Impact แพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมชุดความรู้ สื่อ ข้อมูล เครื่องมือพร้อมใช้ พื้นที่ และการแลกเปลี่ยนคำปรึกษา สำหรับพัฒนาสุขภาวะเด็กเยาวชนทุกช่วงวัย ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ฟรี

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://childimpact.co/

 

             Whole School Approach โรงเรียนเป็นภาคีหรือหุ้นส่วนในการพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยร่วมกับครอบครัวและผู้ปกครองการกำหนดเป้าหมายสร้างความร่วมมือและมีแนวทางการทำงานร่วมกันจะช่วยให้เด็กได้รับการดูแลที่เป็นทิศทางเดียวกันและมีความต่อเนื่องทั้งที่บ้านโรงเรียนและชุมชน

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://teenpath.net

 

             ส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม SOPA นำของใช้ในบ้านมาทำของเล่นเพื่อส่งเสริมการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว จัดทำเครื่องมือทำงานเยี่ยมบ้านสำหรับแกนนำ อาทิความรู้ด้านสิทธิเด็ก การพูดคุยด้วยเทคนิค I-Message การทำของเล่น อ่านนิทาน การทำอาหารที่สมวัย พอเพียง ปลอดภัย ตลอดจนยกระดับความรู้ให้คนในชุมชนกลายเป็นวิทยากรในชุมชนของตนเอง

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://www.facebook.com/p/SOPA

 

             มูลนิธิพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) ส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาคประชาชน สู่การสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น ด้วยระบบ 6+1 ในพื้นที่ มีกระบวนการทำงานที่หลากหลาย ทั้งการออกแบบหลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคมในชุมชน และการออกแบบสื่อ

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://siythailand.org/

 

             สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัว ผ่านการทดลองทําโครงการไปจนถึงขยับขยายก่อตั้งองค์กรของตนเอง นวัตกรรม SYSI Social Innovation Playbook หรือคู่มือชวนคิดนวัตกรรมสังคม สำหรับผู้เริ่มต้นถึงระดับกลาง เพื่อออกแบบวิธีเปลี่ยนแปลงสังคม และสามารถลงมือทำโครงการตามความสนใจ

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://sysi.or.th/

 

             การทำงานแบบชุมชนนำและพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ในชุมชน 

 

             ทัตติยา ลิขิตวงศ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก หนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมการเล่นอิสระ  “เล่นเปลี่ยนโลก” ซึ่งเป็นการทำงานแบบชุมชนนำสร้างพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ในชุมชน เล่าว่า โครงการดังกล่าวมีเครือข่ายที่เกิดจากหลากหลายภาคีร่วมมือกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนากระบวนการเล่นขึ้น

             โดยใช้แนวคิดการเล่นเพื่อการพัฒนาเด็กผ่านทฤษฎี  “Loose parts Play” คือการเล่นกับวัสดุ สิ่งของ ชิ้นส่วนต่าง ๆ นำที่หาได้รอบตัว สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละชุมชน ช่วยกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้และทักษะ EF ให้แก่เด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กปฐมวัยที่เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ผ่านการเล่น สามารถจัดได้ทั้งที่บ้าน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน ไปจนถึง ชุมชน

ทัตติยา ลิขิตวงศ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

 

             และในปีพ.ศ. 2567 จะเพิ่มความเข้มข้นในการจัดโครงการอบรมคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาจมีสภาวะเครียดจากการเลี้ยงลูกลำพัง และเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ สู่การเป็น Play Worker หรือผู้อำนวยการเล่น สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ที่บ้านหรือร่วมจัดพื้นที่เล่นในชุมชนได้

             “ในช่วงหลังกลุ่มเป้าหมายหลังของเราคือ ครู ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูระดับประถมศึกษา และอีกกลุ่มคือคุณพ่อแม่คุณแม่ยุคใหม่ ที่ก่อนหน้านี้อาจไม่รู้วิธีเล่นกับเด็ก เราทำให้เขารู้วิธีสื่อสาร ชวนเล่น ทำให้ลูกเล่นมือถือน้อยลง และเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้น สนุกไปด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน” ทัตติยากล่าว

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : www.facebook.com/letsplaymoreTH/

 

             โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ พื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผ่านของเล่นที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และของเล่นพื้นบ้านที่ผลิตโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งการเปิดให้เข้ามาเล่นได้ในช่วงวันหยุด ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้โรงเรียนพาเด็กๆ มาทัศนศึกษา ควบคู่ไปกับการสร้างนักออกแบบกิจกรรมสำหรับเด็ก และโครงการบ่มเพาะพื้นที่เล่น

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://www.facebook.com/PlayableMuseum/

 

             สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (สพร.) กับการทำงานแบบชุมชนนำ ให้

             ชุมชนเป็นผู้คิดและมีส่วนร่วมในการทํางาน ที่เรียกว่า กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่การกําหนดนโยบาย การออกแบบการทำงาน การติดตามประเมินผล เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://www.facebook.com/สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้

 

             มะขามป้อม เชียงดาว เมืองแห่งการเรียนรู้ กับการสร้างสถานีเรียนรู้ (Learning Stations) เพื่อให้เด็กเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านสถานีกิจกรรม อาทิ หลักสูตรธรรมชาติยั่งยืน, หลักสูตร Smartfarmer, หลักสูตรผ้าย้อมคราม และหลักสูตรเซรามิคเพื่อการเติบโตภายใน เป็นต้น โดยร่วมมือกับชุมชนและปราชญ์ท้องถิ่นร่วมกันพัฒนากิจกรรมแห่งการเล่นสนุกและเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://www.facebook.com/mkpfoundation/?locale=th_TH

 

             เครือข่ายสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว การดูแลครอบครัวของพนักงานโดยที่ทำงาน ผลักดันสถานที่ดูแลสวัสดิการและสร้างสุขภาวะที่ดีให้ครอบครัวในทุกมิติ มีมาตรการส่งเสริมสมดุล ชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เพื่อให้คนวัยทำงานให้ดูแลเด็กในครอบครัว ตอบโจทย์เป้าหมายในการส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน

             ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก : https://www.ffwthailand.net/

 

             และทั้งหมดนี้คือพลังของคนตัวเล็ก ที่ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ที่ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ จนกลายเป็นภาคีเครือข่ายครอบครัวยิ้ม ยังมีอีกหลากหลายผู้คน จากอีกหลายโครงการ ที่ขับเคลื่อนงานเพื่อสุขภาวะที่ดีของเด็กเยาวชนและครอบครัวที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถติดตามการทำงานของพวกเขาได้ที่ https://happychild.thaihealth.or.th/ หรือ https://www.facebook.com/HappinetClub?locale=th_TH

รู้จักเพื่อนภาคีเครือข่ายภายในงาน

 

กิจกรรมเล่นเกมส์กับ Happychild

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ