“พัฒนาการเด็ก” เสริมก่อนสาย สร้างกลไก ครู-อสม.-ชุมชน ทำงานเชิงรุก

เพราะช่วงเวลาทองของชีวิตเกิดขึ้นตั้งแต่ 0-6 ปีแรก เวลาสำคัญสำหรับการพัฒนาสมองและสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับเด็ก ด้วยการฝึก Executive Function (EF) หรือความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ช่วยควบคุม ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม

    โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก  เยาวชน และครอบครัวในชุมชน จึงเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจด้านการพัฒนาทักษะ EF การตรวจสอบและกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัย ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และตัวแทนผู้นำชุมชน จากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติเสริมทักษะเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เป็นกันเองและเน้นการปฏิบัติจริง โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรมเอบีนา เฮาส์ กรุงเทพฯ

ปิยภา เมืองแมน ผู้จัดการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ในฐานะวิทยากร กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการนี้ว่า สสส. ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวเห็นถึงความสำคัญของด้านพัฒนาการเด็ก จึงต้องการส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือทำงานร่วมกับเด็ก เกิดความรู้ ความเข้าใจพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้ง 5 ด้านที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีให้ชีวิต

“ปัญหาทุกวันนี้ที่เราเจอเด็กติดสารเสพติด เด็กถูกชักจูง เด็กเกเรหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน จากงานวิจัยพบว่าพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถควบคุมได้ด้วยการพัฒนา EF ซึ่งฝึกได้ดีตอนปฐมวัย ถ้าเราติดอาวุธให้เด็กมีความสมบูรณ์ทั้ง กาย ใจ อารมณ์ และสติปัญญา ในช่วงวัยนี้ จะเป็นรากฐานที่ดีให้เด็กสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีหรือถูกต้องได้ ในโลกที่มีสิ่งยั่วยุมากมาย” ปิยภากล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะ EF และพัฒนาการเด็ก

โดยองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดนั้น สามารถนำไปใช้งานโดยตรงทั้งในครอบครัวตนเอง การทำงานร่วมกับเด็กการต่อยอดเป็นไอเดียให้ผู้บริหารเพื่อคิดโครงการใหม่ ๆ เกิดการขยายผล มีการเยี่ยมบ้านเด็กเพื่อตรวจสอบด้านพัฒนาการในลำดับต่อไป

 

ปิดช่องว่างด้วยกลไก อสม.

      การทำงานด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ไม่สามารถทำกับเด็กได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดำเนินงานร่วมกับครอบครัวด้วย จึงต้องมีการผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง บทบาทผู้นำชุมชน ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำงานเชิงนโยบาย การอำนวยความสะดวก การจัดกิจกรรมต่าง ๆ หรือ ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับบทบาทผู้อยู่ใกล้ชิดเด็ก ไปจนถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ทำงานด้านสุขภาวะ

อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ถือเป็นมดงานที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีภารกิจการเยี่ยมบ้านที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว การเพิ่มทักษะเรื่องพัฒนาการเด็กแก่ อสม. เพื่อนำไปบอกต่อยังผู้ปกครอง โดยมีโรงพยาบาลสาธารณสุขตำบลกำกับดูแลอีกต่อ ทำให้เกิดความเข้าใจขยายวงกว้าง หากพบปัญหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า จะเกิดการส่งต่อข้อมูลและความช่วยเหลือไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขต่อไป

“ถ้าเราสามารถสร้าง อสม. ที่มีความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กได้ทั่วประเทศ มันจะทำให้ทุกชุมชนเป็นตาสับปะรด จะไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้ง ถูกละเลยโดยที่เราไม่รู้ อสม.เหล่านี้จะเป็นตัวเชื่อมช่องว่างระหว่างหน่วยบริการสาธารณสุข สถานพยาบาล และหน่วยงานสวัสดิการสังคมต่าง ๆ  พอ อสม.ลงไปสอดส่องดูแลมันเหมือนเป็นตัวปิดช่องว่างตรงนี้ ทำให้หน่วยบริการก็ได้พบกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายก็จะได้รับการดูแลต่อไป” ผู้จัดการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงกล่าว

“ถุงวิเศษ” ผู้ช่วย อสม.และครู

นิทาน สีเทียน สีไม้ บล็อกไม้ เครื่องเขย่า ที่อยู่ในถุงผ้า หากมองผ่าน ๆ ก็อาจเหมือนของเล่นสำหรับเด็กทั่วไป แต่ภายใต้สีสันสดใสเหล่านี้ สิ่งของเหล่านี้ นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่เหล่าอาสาสมัครสาธารณสุข ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ใช้เพื่อตรวจสอบและกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา

และไม่เพียงแค่มีสิ่งของเป็นเครื่องมือเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญคือเอกสารชุดความรู้ ตารางการวัดพัฒนาการเด็กแต่ละวัย ที่สามารถอ่านและนำไปใช้งานได้ทันที

นอกจากของหนึ่งชิ้นยังสามารถวัดพัฒนาการได้หลายด้าน อาทิ บล็อกไม้ ที่ใช้สำหรับการทดสอบและกระตุ้นพัฒนาการเด็กทั้งด้าน กล้ามเนื้อมัดเล็ก การรู้จักสีสัน การนับจำนวน รูปทรง ทักษะการเชื่อมโยง และวัดสติปัญญาได้

หรือผู้ช่วยคนสำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างหนังสือนิทาน ที่เป็นสื่อกลางช่วยสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว กระตุ้นการได้ยิน กระตุ้นการพูด การสื่อสาร สร้างการเรียนรู้สิ่งรอบข้างให้กับเด็ก ที่หลายครอบครัวอาจจะกังวลว่า สำหรับกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุที่อาจจะสายตาพร่าเลือน หรืออ่านหนังสือไม่ได้ จะอ่านนิทานได้อย่างไร ก็สามารถให้ผู้สูงอายุ เล่าเรื่องราวในอดีตที่ประทับใจให้หลานฟังทุกคืน โดยวิธีการนำเด็กมานั่งบนตัก และเกิดการถามตอบ เป็นเหมือนการเล่านิทานได้เช่นกัน

ทั้งนี้สิ่งของที่ใช้เพื่อทดสอบและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ไม่จำกัดเพียงแค่อุปกรณ์ที่มีให้เท่านั้น แต่ยังสามารถประยุกต์สิ่งของใกล้ตัว หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นประดิษฐ์สิ่งของอื่น ๆ เพื่อใช้ทดสอบและกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้เช่นกัน อันจะเป็นเครื่องมือที่หาได้ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย

เสียงสะท้อนส่วนใหญ่จากบรรดาอาสาสมัครสาธารณสุข  และ ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเครื่องมือมีส่วนช่วย ทำให้เรารู้ว่าเด็กแต่ละช่วงวัยสามารถทำอะไรได้บ้าง สามารถสังเกตได้ในระยะเวลาที่สั้นเป็นเครื่องมือที่พร้อมใช้ ทำให้รู้ว่าเด็กมีพัฒนาการในระดับไหน ” ครูบุปผากล่าว

กลไกขยายผลสร้างชุมชนเด็กพัฒนาการสมวัย

      จากการศึกษาวิจัยพบว่าในประเทศไทย เด็กถึง 30% ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการไม่สมวัย* แต่หากพบเจอเร็วกระตุ้นเร็วก็สามารถกลับมามีพัฒนาการสมวัยได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจำเป็นต้องกระตุ้นพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ตามเกณฑ์พัฒนาการของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ตามมาตรฐานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

บุปผา คนสนิท ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านใหม่ราษบำรุง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา เป็นบุคคลในแวดวงการศึกษาอีกท่านที่ทำงานด้านพัฒนาการเด็กอยู่แล้ว  แต่ต้องการเข้าร่วมการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้มากขึ้น

“เราทำงานในด้านการพัฒนาการเด็ก การมาอบรมครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักพัฒนาการเด็กทั้ง 5 ด้าน สิ่งที่ได้มาเรียนรู้จากที่นี่ค่อนข้างง่าย มีต้นแบบให้ดูว่าเวลาเราเจอเคสแต่ละแบบ เราจะสามารถแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็กได้อย่างไร ถ้าเราเอางานนี้ลงไปสอนกับครอบครัว จะทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เขาเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของพัฒนาการเด็ก ในช่วงทองของชีวิต ที่ครูและผู้ปกครองต้องช่วยกัน” ครูบุปผากล่าว

ครูบุปผาเสริมต่อว่าหลังจากนี้ ได้วางแผนตั้งกลุ่มชมรมผู้ปกครอง ทำโครงการให้ความรู้กับผู้ปกครองในการดูแลพัฒนาการเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องดูแลเอาใจใส่ด้านพัฒนาการเด็กไปพร้อมกัน เพื่อให้การดูแลพัฒนาการเด็กต่อเนื่องกันไปได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

สอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติเสริมทักษะเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ที่คาดหวังให้ผู้เข้าร่วมเกิดความเข้าใจด้านความสำคัญของพัฒนาการเด็ก คุ้นชินกับเครื่องมือการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็ก เกิดการออกแบบจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง หรือส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามความเหมาะสมในพื้นที่ของตนเอง ขยายผลจากชุมชนไปสู่หน่วยที่ใหญ่ขึ้นของสังคม และเกิดการขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็กระดับประเทศต่อไป

โครงการพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อการสนับสนุนสุขภาวะเด็ก  เยาวชน และครอบครัวในชุมชน  สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

*https://www.hsri.or.th/media/news/detail/12472

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ