พลิกโฉมแนวคิดใหม่ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิตให้เด็กจากครอบครัวเปราะบาง

เราอาจมีนิยามของคำว่า “คุณภาพชีวิต” ของกลุ่มเด็กเปราะบางที่แตกต่างกันไป สำหรับหน่วยงานสาธารณสุขอาจใช้เกณฑ์วัดสุขภาวะที่แย่ ส่วนนักการศึกษาอาจแค่การไม่มีชุดนักเรียนใส่ครบทุกวัน หรือการมีผู้ปกครองที่ติดยาหมายถึงความเสี่ยงในสายตาของบางหน่วยงาน 

การให้คำจำกัดความที่ไม่เหมือนกันอาจดูเป็นเรื่องที่ไม่มีความสำคัญมากนัก แต่สำหรับเด็กคนหนึ่งแล้วไม้บรรทัดที่แตกต่างกันเล็กน้อยนี้หมายถึงโอกาสในการเข้าถึงต้นทุนชีวิตที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตพวกเขาไปตลอดกาล

นี่คือจุดเริ่มต้นของ โครงการการรังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox) ระบบดิจิทัลจัดการข่ายงานปกป้องคุ้มครองเด็กในครอบครัวเปราะบางให้สร้างเสริมคุณภาพชีวิตเต็มตามศักยภาพ ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมแนวคิดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิตให้เด็กจากครอบครัวเปราะบาง จากการกำหนดดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของเด็กจากครอบครัวเปราะบางใหม่ แล้วเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาของเด็กจากครอบครัวเปราะบางร่วมกัน 

ที่มาของแนวคิดนี้มาจาก นพ.วิพุธ พูลเจริญ ร่วมกับ เพ็ญศรี สงวนสิงห์ และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) ที่ทำงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน โดยมี สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) ให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาเครื่องมือนวัตกรรมที่พลิกโฉมการดูแลเด็กเปราะบาง

 เปลี่ยนจากการสำรวจ การเก็บข้อมูลเพื่อรายงานส่วนกลางที่เป็นบริการตั้งรับ และการเยียวยารักษาเมื่อเกิดเหตุ มาเป็นมุ่งให้ผู้ปกครองและเด็ก มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่เข้าใจง่าย เข้าถึงบริการที่ไร้ตะเข็บ เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อเรียนรู้ และกำหนดชะตาชีวิตตัวเองร่วมกับผู้ให้บริการ ผ่านกลไกชุมชนและประชาสังคมที่สนับสนุน รวมทั้งใช้ระบบดิจิทัลเชื่อมประสาน กับผู้ให้บริการในแต่ละหน่วยงาน จากต่างภาคส่วนใช้ข้อมูลข่าวสาร ที่ต่อเนื่องมุ่งจัดการที่ต้นน้ำ นำไปสู่การวิเคราะห์แผนผังเส้นทางการใช้บริการ (Journey of users) ทางสังคมและสุขภาพที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเด็กเปราะบางได้อย่างเข้าใจ 

คุณภาพชีวิตสี่มิติ

ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการเก็บข้อมูลกลุ่มเด็กจากครอบครัวเปราะบางในหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน จากตัวชี้วัดที่หลากหลาย ทำให้เกิดรอยต่อของการดูแลเด็กที่มีพัฒนาการไปตามแต่ละช่วงวัย จึงเกิดการกำหนดเกณฑ์หลักในการจำแนกเพื่อชี้วัดคุณภาพชีวิตของเด็กจากครอบครัวเปราะบางร่วมกันใน 4 มิติ ได้แก่ มิติความเป็นอยู่และอาชีพ, มิติสวัสดิภาพและการเข้าสังคม, มิติการส่งเสริมสมรรถนะเรียนรู้ และ มิติสถานะทางสุขภาพ

มิติความเป็นอยู่และอาชีพ (Life living/Occupation) จะดูว่าจากพื้นฐานอาชีพของผู้ปกครองว่ามีความมั่นคง และรายได้พอเพียงที่จะเลี้ยงดูเด็กได้แค่ไหน รวมถึงลักษณะที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ ส่วนตัวเด็กเองวัดจากการต้องทำงานหารายได้ให้ครอบครัวจนขาดโอกาสในการศึกษาหรือไม่

มิติสวัสดิภาพและการเข้าสังคม (Welfare/Socialization) วัดความสามารถในการเลี้ยงดู และการปกป้องคุ้มครองเด็กของผู้ปกครอง จากการถูกทำร้าย การละเมิดทางเพศ และป้องกันความรุนแรงในชุมชนจากยาเสพติด ด้านเด็กวัดจากพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม ไม่อยู่ในภาวะที่ล่อแหลมต่อการถูกละเมิดทางเพศ หรือถูกทำร้าย หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้อื่นในสังคม 

มิติการส่งเสริมสมรรถนะเรียนรู้ (Learning Capability and Support) วัดจากการที่ผู้ปกครองมีส่วนส่งเสริมสมรรถนะในพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก สามารถช่วยเสริมหนุนให้เด็กได้เรียนรู้ตามช่วงวัย และช่วยแก้ไขปัญหาให้เด็กได้ ทางด้านเด็กดูพัฒนาทางสติปัญญา จิตอารมณ์ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ ว่ามีผลการเรียนรู้สมรรถนะการเรียนรู้ที่จำเป็นต้องได้รับการศึกษาพิเศษหรือไม่ 

มิติสถานะทางสุขภาพ (Health Situation and Potentiality) ดูจากครอบครัวว่ามีผู้ป่วยเรื้อรัง หรือติดเตียง หรือผู้ปกครองต้องรับภาระการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังตลอดเวลา รวมถึงผู้ปกครองที่มีภาวะผิดปกติทางจิต หรือติดยาเสพติด ส่วนเด็กใช้การเติบโตของร่างกายและจิตใจที่มีพัฒนาการเหมาะสมตามช่วงวัย ไปจนถึงความพิการโดยกำเนิด ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือดูแลต่อเนื่อง 

ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บอย่างเป็นระบบ โดยในอนาคตจะนำไปเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง 12 กระทรวง และ 1 หน่วยงาน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการร่วมกัน แล้วสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แต่ละภาคส่วนใช้ในการให้บริการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พื้นที่รังสรรค์นวัตกรรม 

ปี 2564 แนวคิดนี้ได้นำไปทดลองที่ ชุมชนร่มเกล้า โซน 10 เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกเลือกเป็นพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation sandbox) ที่ดำเนินงานเป็นกรณีศึกษา เพื่อทดสอบการจัดระบบพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กจากครอบครัวเปราะบาง

พื้นที่รังสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและผู้ปกครองที่เปราะบาง เป็นต้นแบบสำหรับใช้ศึกษาทดสอบแนวคิดการจัดทำแพลตฟอร์มบริการสังคมในอนาคต ที่ทั้งระดับผู้บริหารกำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ กับผู้นำในชุมชน อาสาสมัคร ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อเชื่อมประสานกับครอบครัว ผู้ปกครอง และเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการให้บริการเด็กแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีการเลือกครอบครัวจากชุมชนร่มเกล้า โซน 10 จำนวน 20 ครอบครัว เพื่อเป็นกลุ่มร่วมศึกษา ซึ่งเป็นครอบครัวเปราะบาง และมีเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงอายุ 15 ปี รวมได้เด็กทั้งสิ้น 48 คน สำหรับทดสอบการจัดวางเส้นทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่เด็ก ผู้ปกครอง และครอบครัวเหล่านี้ควรได้รับ 

“พวกป้าอยู่ในชุมชนนี้มานาน มีลูกที่เกิดในชุมชนแล้วได้เห็นเด็กจำนวนมากติดยา และไม่อยากให้ลูกเราเองต้องเสี่ยง เลยรวมกลุ่มทำงานเรื่องเด็กในชุมชนอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ก็ได้ทำงานร่วมกับทาง สสส. มาตลอด”

ป้าอุ้ม-ปราณี รัตนาไกรศรี กับ ป้าปุก-สุวพร ศิลาอ่อน หนึ่งในคนที่ทำงานในเรื่องเด็กเปราะบางในชุมชนร่มเกล้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการนี้ 

“คนส่วนใหญ่ในเคหะร่มเกล้ามีฐานะไม่ดีนัก ปัญหาหลักในชุมชนคือเรื่องยาเสพติด เป็นพื้นที่เสี่ยงติดอันดับหนึ่งในห้าของกรุงเทพฯ เด็กในชุมชนก็เลยอยู่ในกลุ่มเปราะบาง อาจารย์วิพุธ เข้ามากับ สสส. และ สพร. เลือกพื้นที่ตรงนี้เป็นต้นแบบในการสร้างต้นทุนชีวิต จากเดิมที่แต่ละหน่วยงานแยกกันทำงานเกี่ยวกับเด็ก ก็เปลี่ยนมาทำเป็นระบบมีการทำดัชนีชี้วัดในสี่มิติ เพื่อสำรวจในเบื้องต้น” 

ด้วยความที่ชุมชนร่มเกล้า โซน 10 เป็นชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติที่ย้ายมาอยู่พร้อมกันจึงเป็นชุมชนที่มีความสามัคคี ประกอบกับมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และมีศูนย์พัฒนาเด็ก ฟื้นนคร ร่มเกล้า โซน 10 เขตลาดกระบัง ที่ดำเนินงานโดยครูอ้อย และคนในชุมชน ที่นี้เลยถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องของพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรม โดยได้รับร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน

มีการตั้งคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ประกอบด้วยผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และตัวแทนของผู้ปกครอง และเยาวชนในชุมชน ร่วมกับผู้แทนของผู้ให้บริการจากหน่วยบริการที่ใกล้ชิดชุมชน ที่ออกไปเยี่ยมตามบ้านเพื่อพูดคุยกับผู้ปกครองและเด็ก และเก็บข้อมูลโดยตรง ตามการประเมินแยกความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหา ผ่านการจำแนก 4 มิติ ที่ถูกทำให้เข้าใจง่ายด้วยภาพ Infographic 

เข้าถึงปัญหาอย่างเข้าใจ

“เด็กคนหนึ่งอาจถูกช่วยจากหลายหน่วยงาน แต่บางคนก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือไปตลอด แล้วเราก็ไม่สามารถติดตามผลได้เลย ทำให้หลายรายต้องหลุดจากการช่วยเหลือ พอมีระบบเข้ามาช่วยให้ติดตามเด็กได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าเอามาใช้จริงได้จะช่วยให้เข้าไปช่วยเหลือเด็กได้เร็วที่สุด เพราะความช่วยเหลือยิ่งช้าเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อเด็กในระยะยาวมากขึ้นเท่านั้น”

ป้าอุ้มกับป้าปุก ได้เสริมว่าโจทย์สำคัญที่พบระหว่างการทำงานด้านเด็กโดยตลอดคือ การเข้าถึงปัญหาและตัวเด็กให้เร็วที่สุด ซึ่งการดำเนินงานในพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรมนี้จะนำไปสู่การพลิกโฉมแนวคิดใหม่ในการบริการทางสังคมและสุขภาพกับเด็กและเยาวชนจากครอบครัวเปราะบาง ให้เข้าถึงปัญหาอย่างเข้าใจและรวดเร็วที่สุดผ่านสิ่งที่เรียกว่าผังเส้นทางการใช้บริการ

ผังเส้นทางการใช้บริการ ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง กับ ผู้ให้บริการทางสังคมและสุขภาพในพื้นที่ชุมชน มี 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขั้นตอนเข้าใจ รู้ลึกถึงสาเหตุปัญหา

การทำความเข้าใจ และ วิเคราะห์คุณภาพชีวิตของเด็กและภาวะคุกคามที่เกิดขึ้น ไปจนถึงเหตุการณ์ในอดีต เพื่อหาสาเหตุที่เป็นข้อจำกัดต่อคุณภาพชีวิตในปัจจุบัน

  1. ขั้นตอนร่วมตัดสินใจจัดเตรียมแผนพัฒนาคุณชีวิต

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบริการที่เด็กและผู้ปกครองควรได้รับ ตามความสำคัญและความเร่งด่วน เพื่อพัฒนาคุณชีวิตและเติมเต็มตามศักยภาพ โดยต้องนำไปสื่อสารกับผู้ปกครองให้ร่วมตัดสินใจด้วย 

  1. ขั้นตอนติดตามผลการร่วมจัดบริการ 

ผ่านเครือข่ายชุมชน อาสาสมัคร ผู้ให้บริการจากหน่วยบริการในชุมชน ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนในระดับ กทม. และส่วนกลาง ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งการดูแลตนเองของผู้ใช้บริการ เพื่อร่วมกันปรับปรุงระบบการให้บริการได้อย่างเท่าทันสถานการณ์

นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิต

การมีส่วนร่วมในการรวบรวม และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของผู้นำชุมชนและอาสาสมัคร (อสส.) ในพื้นที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมบ้านเด็กที่ครอบครัวเปราะบาง ซึ่งต้องใช้การสังเกตสอบถามจากผู้ปกครองและเด็กอย่างต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เข้าถึงสาเหตุปัญหาและปรับการให้บริการได้อย่างตรงจุด ช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิตให้กับเด็กได้ในทันที

ยกตัวอย่าง น้อง ป. อายุ 5 ปี ที่มีร่องรอยการถูกทำร้ายจากแม่ที่เสพติดยา และถูกส่งตัวให้มาอยู่กับตา เนื่องจากแม่ต้องติดคุกในคดีค้าและเสพยาเสพติด โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือตา เป็นผู้ไม่มีรายได้ที่ไม่แน่นอนสำหรับดูแลน้อง ป.

ผังเส้นทางการใช้บริการที่เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ภาวะคุกคามคุณภาพชีวิตร่วมกันของอาสาสมัครในชุมชน กับผู้ให้บริการใกล้ชิดเด็ก ที่นำไปหารือข้อสรุปกับผู้ปกครองของเด็ก จนยอมรับสถานะคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวร่วมกัน ก่อนจะวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก แล้วได้ทำการติดตามผลจากอาสาสมัคร และผู้นำชุมชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านผู้ปกครองและเด็กที่ส่งข้อมูลด้วยระบบแอพพลิเคชัน Line ทางโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถใช้เป็นระบบการเตือนเมื่อถึงวันนัดหมายได้อีกด้วย

กระบวนการช่วยเหลือน้อง ป. มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำแผนประกอบอาชีพให้กับตาเปิดขายข้าวขาหมูหน้าบ้าน แทนอาชีพขายของเก่า ทำให้สามารถดูแลน้อง ป.  ได้ในเบื้องต้น รวมทั้งนักสังคมสงเคราะห์ที่มีการจัดทำแผนเยี่ยมเด็กเพื่อดูพัฒนาการด้านจิตสังคม เนื่องจากน้อง ป. อาจได้รับผลจากการเคยถูกทำร้ายมาก่อน จากการติดตามผลของการติดตามของ อสส.โซน 10 น้อง ป. กลับมามีแววตาแจ่มใส ร่าเริง เติบโตสมวัย และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น 

ผลจากการทดลองในพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรมได้พลิกโฉมระบบงานการให้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันได้โดยเฉพาะข้อมูลเฉพาะบุคคลจากชุมชน ที่ชุมชนได้ติดตามผลอย่างต่อเนื่องช่วยให้รับรู้และเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว และเด็กได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ข้อมูลที่ได้ช่วยให้เห็นว่าถึงข้อจำกัดที่ผ่านมาในการให้บริการ รวมทั้งเด็กที่ควรได้รับบริการเองไม่มีโอกาสส่งสัญญาณ หรือขอเข้ารับบริการ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในความเสี่ยง หรือแม้แต่ตกอยู่ในภาวะคุกคามแล้ว 

ข้อมูลที่เชื่อมโยงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาใช้ร่วมกันนี้ นำไปสู่การวางแผนแก้ไขป้องกันอุปสรรคที่จำกัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาวได้อย่างเหมาะสมถูกต้องยิ่งขึ้น และสามารถจัดทำเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับการบริการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบางอย่างเป็นระบบได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานและทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถมองเห็นถึงปัญหาภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้น ช่วยให้วางแผนจัดสรรทรัพยากร และงบประมาณที่ต้องใช้ในแต่ละพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและต้นทุนชีวิตของเด็กจากครอบครัวเปราะบางในทุกมิติ

ป้าอุ้มและป้าปิกที่ทำงานด้านเด็กเปราะบางในชุมชนแห่งนี้อย่างยาวนานยังได้เสริมอีกว่าเครื่องมือนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิตให้เด็กจากครอบครัวเปราะบางได้ก็จริง แต่สิ่งที่ดียิ่งกว่าเครื่องมือที่ทันสมัยคือการที่ทุกคนต้องหันมาใส่ใจเด็กในครอบครัว จากการที่เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กทุกวัน เพราะพวกเธอยังเชื่อว่าเด็กอยากได้การใส่ใจและการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดจากทุกคนในครอบครัวและชุมชน

“หน่วยงานต่าง ๆ เข้าถึงเด็กได้ค่อนข้างยาก แต่คนที่จะสังเกตอาการได้ดีที่สุดคือครอบครัว และคนในชุมชน ทั้งครอบครัว ย่า ยาย ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการช่วยดูแลได้อย่างทั่วถึง แต่ต้องมีการเลี้ยงดูให้เป็น ใช้การสื่อสารเชิงบวกที่ตรงจุด ที่สำคัญทุกคนต้องตระหนักว่าเด็กมีช่วงพัฒนาการที่จะเป็นต้นทุนชีวิตต่อไปในอนาคต ถ้าคนในชุมชนไม่ใส่ใจ หรือมองว่าไม่ใช่ธุระสุดท้ายผลเสียจากการที่เด็กไม่มีต้นทุนชีวิตก็จะตกอยู่กับทุกคนในชุมชน”

######

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ