ปิดเทอมสร้างสรรค์กับ 1,000 พื้นที่เรียนรู้ สู่เป้าหมายเด็กไทยได้เข้าร่วม 1 ล้านคน
ปิดเทอมของเราไม่เท่ากัน ด้วยช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ช่วงปิดเทอมสำหรับเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน หลายครอบครัวในเมืองสนับสนุนให้เด็กๆ เรียนพิเศษด้านติดอาวุธด้านวิชาการ ร่วมกิจกรรมเสริมทักษะ พาไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่อีกหลายครอบครัวเด็กๆ ต้องช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ หรือใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ รวมถึงออกไปเล่นกันเองโดยขาดการดูแลจากผู้ใหญ่ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้
เพื่อให้ช่วงเวลาปิดเทอมที่เด็กๆ รอคอย กว่า150 วันไม่สูญเปล่า และเกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญผลักดันให้เกิดโครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นขึ้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายได้ดำเนินโครงการดังกล่าวนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อสร้างพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดยมีพื้นที่นำร่อง 25 จังหวัดทั่วประเทศ ที่รวมพลังประกาศถึงแผนการเกิดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชนในช่วงปิดเทอม เพื่อให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ ให้เด็กได้เล่น ได้เรียนรู้อย่างปลอดภัย เดินทางสะดวกใกล้บ้าน
1,000 พื้นที่เรียนรู้สู่กิจกรรมฉ่ำเว่อ
ในปี 2567 โครงการ ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ได้เปิดตัวแนวคิดกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” ที่อุทยานการเรียนรู้หรือ TK PARK โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง พร้อมการจัดวงเสวนา “ปิดเทอมฉ่ำเว่อ” ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความสำคัญของการร่วมผลักดันพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ช่วงปิดเทอม
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ได้กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ว่ามุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วย 3 จุดมุ่งหมายหลักกล่าวคือ
1.การผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ในเวลาไม่เกิน 15 นาทีทั่วประเทศ
2.การสนับสนุนกิจกรรมเรียนรู้และสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอมและวันว่างครอบคลุมทั่วประเทศ
3.เชื่อมโยงและขยายเครือข่าย ระหว่างภาคีเครือข่ายและองค์กรต่างๆ
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส.
โดยปัจจุบันเกิดแหล่งเรียนรู้หลากหลายรูปแบบกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนที่พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ
โดยได้จัดทำเว็บไซต์ที่รวบรวมกิจกรรมขึ้นคือ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่รวบรวมข้อมูล พื้นที่เรียนรู้จำแนกตามประเภท ทั้ง กิจกรรมเสริมทักษะ กิจกรรมจิตอาสา และ Workshop การฝึกงาน และช่องทางการสร้างรายได้ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงเด็กๆ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามความสนใจ
“สสส.สนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นพื้นที่กลางสำหรับทุกหน่วยงาน หน้าที่ของเราคือการนำข้อมูลกิจกรรม หรือ พื้นที่เรียนรู้เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนจัดพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนในชุมชน ให้กิจกรรมเหล่านี้เป็นที่รู้จัก และเป็นแรงบันดาลใจให้นักสร้างสรรค์การเรียนรู้ทั่วประเทศได้เห็นว่าสามารถทำกิจกรรมแบบนี้ได้ เด็กๆ ก็สามารถไปช็อปปิ้งกิจกรรมวันหยุดได้ตามที่สนใจ” ณัฐยากล่าว
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวคิดของ กรุงเทพมหานคร ในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนว่า มีวิสัยทัศน์คือสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพคนให้มีคุณภาพ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง พัฒนาสังคมไทยและสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ให้กับสังคมโลก ตามแนวคิด “Learning for Life, Opportunities for All” โดยแบ่งการขับเคลื่อนงานใน 5 ส่วนด้วยกันคือ
1.พัฒนาการเด็กปฐมวัย
2.การศึกษาภาคบังคับ
3.การพัฒนาทักษะอาชีพ
4.การเรียนรู้เพื่อทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา
5.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง
โดยกรุงเทพมหานครมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรม พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ เสียน้อยที่สุด ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้เด็กได้เข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ มีโอกาสพัฒนาศักยภาพตนเองและมีเวทีแสดงความสามารถ ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา ยาเสพติดที่เป็นสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงในปัจจุบัน
“เรามองว่าพื้นที่เรียนรู้มีเท่าไรก็ยังไม่พอ เพราะยังเห็นความเหลื่อมล้ำสูงใน กทม. เราจึงสนับสนุน แหล่งเรียนรู้และการจัดกิจกรรมขึ้น ทั้งที่ ห้องสมุด หอสมุด สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ในชุมชน หรือลานกิจกรรมต่างๆ สำหรับเด็กในทุกปลายสัปดาห์” ศานนท์กล่าว
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เช่นเดียวกับ วัฒนชัย วินิจจะกูล รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า TK Park สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เป็นอีกพื้นที่ในการสนับสนุนการจัดพื้นที่เรียนรู้เพื่อทุกคน โดยมีจำนวนกว่า 28 แห่ง 24 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีการจัดกิจกรรมหมุนเวียนไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่
“TK Park อยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้วยการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ พัฒนาพื้นที่เพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างสังคมที่ใช้ความรู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เราดีใจที่เห็น สสส.เป็นแม่งาน จัดงานปิดเทอมสร้างสรรค์เป็นประจำที่จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่มีทักษะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก” วัฒนชัยกล่าว
วัฒนชัย วินิจจะกูล รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้
คนรุ่นใหม่กับการจัดพื้นที่เรียนรู้
นอกจากการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ องค์กรต่างๆ แล้ว หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนงานพื้นที่เรียนรู้คือ “คน” ที่เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเด็ก ที่ไม่ปล่อยให้ช่วงปิดเทอม กลายเป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่า แต่กลายเป็นโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้สร้างตัวตน และเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่
ทักษิณ บำรุงไทย เครือข่ายส่งเสริมสุขภาพเยาวชน ตัวแทนภาคีเครือข่ายปิดเทอมสร้างสรรค์ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานปิดเทอมสร้างสรรค์ว่า จากปัจจุบันมีเครือข่ายนักสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ 25 จังหวัดทั่วประเทศ มีเป้าหมายว่าแต่ละจังหวัดต้องจัดกิจกรรมอย่างน้อย 10 กิจกรรม ซึ่งหมายถึง 250 กิจกรรมทั่วประเทศ
ในส่วนการดำเนินงานของปี 2567 นี้ได้เพิ่มเป้าหมายการจัดกิจกรรมไว้ที่ 1,000 กิจกรรม โดยแต่กิจกรรมจะมีผู้เข้าร่วมที่ราว 100 คน มุ่งหวังให้เด็กไทยมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ถึง 1 ล้านคน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และ ภาคเอกชนด้วย
ทักษิณ บำรุงไทย เครือข่ายส่งเสริมสุขภาพเยาวชน
“เราต้องการผู้ใหญ่ที่เปิดพื้นที่ให้กับเด็ก สร้างโอกาสให้กับเด็ก เพื่อนๆ ในเครือข่ายได้ออกแบบกิจกรรมให้เป็นพื้นที่ความปลอดภัยทางกายภาพและทางจิตใจ เพื่อให้เด็กกล้าแสดงตัวตนออกมา ได้ฝึกทักษะ สร้างรายได้ เรียนรู้พื้นที่ เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นถิ่นของตนเอง เป็นอีกหนึ่งไอเดียให้เด็กๆ ได้เริ่มมองสิ่งที่ตนเองชอบ มองสิ่งใกล้ตัว หรือได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยได้ทำในห้องเรียน” ทักษิณกล่าว
ด้าน โศภิษฐ์สกร โชติธนฤทธิ์ ครีเอเตอร์ช่องยูทูบซอฟปอม ซึ่งเข้ามาร่วมประชาสัมพันธ์งาน กล่าวว่า ช่วงเวลาในวัยเด็กไม่ใช่เพียงแค่การค้นหาตัวเอง แต่ยังเป็นช่วงของการสร้างตัวตน จากการได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ในแต่ละครั้ง ที่ค่อยๆ ประกอบสร้างความคิด ตัวตน บุคลิก และทักษะต่างๆ แก่เด็กขึ้นมา
ในฐานะที่ตนเองเป็นครีเอเตอร์ ได้มีส่วนร่วมประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จัก และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ที่สนใจในเส้นอาชีพสายครีเอเตอร์ จึงเห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง นั่นคือการมีพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ ที่หลากหลายและอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ผู้ปกครองได้
โศภิษฐ์สกร โชติธนฤทธิ์ ครีเอเตอร์ช่องยูทูบซอฟปอม
จึงนับเป็นโอกาสดีที่มีผู้ใหญ่จากหลายภาคส่วนร่วมกันจัดโครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” ขึ้น เพื่อให้เด็กและครอบครัว สามารถเข้าถึงกิจกรรมตามความสนใจได้ ทำให้ช่วงเวลาปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่ดี ปลดล็อกทักษะใหม่ ผ่านการทดลองทำและการเล่น เสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ตลอดจนทักษะการเข้าสังคม ที่เป็นรากฐานในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพและมีความสุขต่อไป
ทั้งนี้สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือ เด็กๆ ที่สนใจหากิจกรรมเสริมทักษะ กิจกรรมจิตอาสา การฝึกงาน หรือการสร้างรายได้ ในช่วงปิดเทอมสามารถค้นหาได้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com