ปกป้องหัวใจเด็กด้วยผู้ใหญ่ที่เข้าใจ กับการอบรมพัฒนาศักยภาพกระบวนการคุ้มครองเด็กเบื้องต้น

          เพราะเด็กทุกคนบนโลกต้องได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงปกป้องจากความรุนแรงและการแสวงประโยชน์จากผู้ใหญ่ ในแต่ละประเทศจึงต้องมีกระบวนการคุ้มครองเด็กเกิดขึ้น

            รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคณะทำงานด้านการอบรมพัฒนาศักยภาพประเด็นกระบวนการคุ้มครองเด็กเบื้องต้น ได้ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรงในเด็กในประเทศไทยว่า ความรุนแรงมีทั้งรูปแบบที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาส่วนใหญ่เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทำให้หลายครั้งเมื่อเด็กถูกทำร้ายทารุณ ก็อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยรูปแบบการทำร้ายทารุณกรรมที่ส่งผลต่อเด็กมี 5 ด้านดังนี้

          1. ด้านร่างกาย ใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดู พ่อแม่ผู้ปกครองใช้สารเสพติดส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในครอบครัว

          2. ด้านจิตใจ การใช้คำพูดเหยียดหยาม ตีตรา เปรียบเทียบ หรือการควบคุม การบังคับเด็กให้เป็นไปในทางที่ต้องการ

          3. ด้านเพศ เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับเด็กในครอบครัว การใช้คำพูดเชิงเพศกับเด็ก การแสดงท่าทางคุกคามกับเด็กหรือโชว์ของลับ การให้เด็กอยู่ในกิจกรรมทางเพศของผู้ใหญ่ หรือถ่ายภาพโป๊เด็กให้ผู้ใหญ่ที่ใคร่เด็ก

          4. ด้านการทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลย ให้เด็กอยู่กับผู้สูงอายุ ไม่ส่งเสียหรือไม่เลี้ยงดู เลี้ยงเด็กด้วยโทรศัพท์ เด็กขาดปัจจัย 4 และโอกาสที่สมควรได้

          5. ด้านอื่นๆ เช่น ด้านโซเชียลมีเดีย ให้เด็กรับผิดชอบชีวิตของครอบครัวหาผลประโยชน์จากเด็ก

          ทั้งนี้สถานการณ์ความรุนแรงเด็กต่อเด็กที่พบมากที่สุดคือ ความรุนแรงทางร่างกาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด รองลงมาคือการคุกคามทางเพศ ส่วนความรุนแรงทางด้านจิตใจก็เป็นอีกประเด็นที่พบมากแต่ยังไม่อยู่ในขอบเขตที่จะเอาผิดตามกฎหมายได้ ไปจนถึงการละเว้นดูแล ทอดทิ้งเด็กและการค้ามนุษย์ด้วย

รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก

เลี้ยงเด็กด้วยคนทั้งหมู่บ้าน
          “ประเทศที่การคุ้มครองเด็กทำได้ดีจะใช้หลักการว่า “it takes a village to raise a child” เราต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านในการเลี้ยงดูเด็ก คนทุกคนจะมีส่วนร่วมในการคุ้มครองเด็กหมดเลย ช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยต่อเด็กได้ทั้งในฐานะคนทั่วไป เพื่อนบ้าน เราก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานะคนรับรู้เหตุการณ์ หรือแจ้งเหตุเพื่อขอความช่วยเหลือแก่เด็ก หรือ คนที่เป็นสหวิชาชีพ ครู ตำรวจ พม. ก็ต้องเข้าใจในกระบวนให้ความช่วยเหลือคุ้มครอง” พญ.วนิดากล่าว
          ทั้งนี้คุณหมอวนิดามองว่าสำหรับประเทศกลไกของการนำเด็กเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือยังอ่อนแอ เนื่องจากผู้คนอาจยังมีความกลัวต่ออำนาจ กลัวต่อการต้องต่อสู้หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้ง

ความท้าทายกระบวนการคุ้มครองเด็ก
          หากมองความเชื่อมโยงในกระบวนการคุ้มครองเด็กจะพบว่าจะถูกส่งต่อเป็น 2 ขั้นตอนด้วยกันคือ กระบวนการรับแจ้งเหตุ และกระบวนการรับรองหรือบ้านที่สอ
          “กระบวนการคุ้มครองเด็กของเราเรียกว่ายังอ่อนแอทุกจุด” คุณหมอกล่าวเสริม โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการรับแจ้งเหตุ ที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เข้าไปให้การช่วยเหลือเพื่อคุ้มครองเด็ก จะต้องเข้าไปคานอำนาจกับสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดต่อตัวเด็ก จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและทำได้ยาก เนื่องจากครอบครัวที่มีบทบาทในการเลี้ยงดูเด็กกลับเป็นฝ่ายทำร้าย ทำลาย เด็กเสียเอง ทั้งจากการขาดความรู้ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองบางคนที่มีบาดแผลทางใจจนทำร้ายเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยที่พวกเขาทั้งรู้และไม่รู้ตัว
          ประเด็นถัดมาคือ ระบบการรองรับหรือบ้านที่สองที่ไม่เข้มแข็งจากการทำสถานสงเคราะห์ที่ยังไม่ดีนัก และการส่งเด็กไปอยู่สถานสงเคราะห์อาจเป็นการทำร้ายเด็กมากกว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมได้ นี่จึงเป็นปัญหาทำให้กระบวนการคุ้มครองเด็กยังต้องมีการพัฒนาทั้งระบบ

มุ่งพัฒนาสหวิชาชีพในชุมชน
          การพัฒนาศักยภาพการทำงานของคณะทำงานด้านกระบวนการคุ้มครองเด็กจึงเกิดขึ้น เพื่อให้กลุ่มสหวิชาชีพทำงานได้ดีขึ้น ทั้งกลุ่มผู้ทำงานในสถานพยาบาล ทีม พม. จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
          โดยปัจจุบันมีสมาชิกที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 2,000 ราย เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงกระบวนการที่หลากหลาย เพื่อช่วยสนับสนุนส่งเสริมและคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัยจากสภาพแวดล้อม สภาพสังคมที่ไม่ปลอดภัย
          โดยเนื้อหาของกระบวนการคุ้มครองเด็ก สามารถแยกย่อยได้เป็นหลักสูตรต่างๆ กว่า 40 หลักสูตร ที่ต่างกันที่สอนผ่านการเรียนออนไลน์สด อาทิ กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายด้านการกระทำความรุนแรงในครอบครัว โรคจิตเวชในเด็กและวัยรุ่น การดูแลเมื่อเด็กเป็นโรคซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวลในเด็ก การพูดคุยกับวัยรุ่น และอื่นๆ พร้อมทั้งมีการใช้สื่อกว่า 150 ชิ้น

สื่อความรู้เว็บไซต์ www.oscc.consulting/

พี่เลี้ยง รับปรึกษาปัญหาเคส
          การอบรมพัฒนาศักยภาพกระบวนการคุ้มครองเด็กเบื้องต้น ไม่ได้มีหน้าที่เพียงการอบรมให้ความรู้เท่านั้นแต่ยังเป็นเหมือนพี่เลี้ยงรับปรึกษาปัญหาเคสต่างๆ ให้กับบรรดานักสหวิชาชีพที่พบเจอปัญหาในกระบวนการคุ้มครองเด็กด้วย
          “กระบวนการเรียนรู้ที่ดี คือการเรียนรู้จากปัญหา การที่นักสหวิชาชีพได้เจอเคสเด็กที่ถูกทำร้ายทารุณกรรม จึงเป็นการเรียนรู้ ซึ่งเรามีระบบการรับปรึกษาเคสเหล่านี้ รวมไปถึงเราเองก็ช่วยดูแลสภาพจิตใจเป็น Counselor ให้กับนักสหวิชาชีพที่ทำงานด้านนี้ด้วย”
          โดยกระบวนการปรึกษามีทั้งการปรึกษาในระหว่างการอบรม รวมถึงการปรึกษาผ่านเว็บไซต์ www.oscc.consulting/ เพื่อขอคำแนะนำเป็นรายบุคคลได้

เว็บไซต์ www.oscc.consulting/

เฟสที่ 2 ลงทำงานในพื้นที่
          หลังผ่านกระบวนการอบรมผ่านออนไลน์แล้ว ในเฟสถัดไปของโครงการคือการลงพื้นที่เข้าไปให้ความรู้เป็นรายกลุ่ม โดยเบื้องต้นจะมีการลงพื้นที่ คือ จังหวัดพิจิตร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นราธิวาส ฉะเชิงเทรา ตาก สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ และกรุงเทพฯ
          โดยแต่ละพื้นที่สามารถเลือกเนื้อหาที่ต้องการเรียนรู้ด้านกระบวนการคุ้มครองเด็กได้ จากนั้นจะมีกระบวนการติดตามผลผ่านทางออนไลน์ และหากยังมีข้อสงสัยหรือต้องการได้ความรู้ในเรื่องใดเพิ่มเติมก็อาจมีการให้เนื้อหาความรู้ที่ยังขาดได้

ปลุกเร้าให้เกิดวัฒนธรรมการคุ้มครองเด็ก
          ทั้งนี้การอบรมดังกล่าวยังเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เคสในแต่ละพื้นที่เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือให้เด็กได้เติบโตปลอดภัย สามารถกลับไปอยู่ในชุมชนได้ สหวิชาชีพสามารถทำงานด้านการคุ้มครองเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดเป็นวัฒนธรรมการคุ้มครองเด็ก

กระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านเคส

          “โครงการนี้เราไม่ได้เข้าไปทำงานแทนสหวิชาชีพในพื้นที่ แต่เราเข้าไปให้ความรู้ ลงพื้นที่ติดตาม และให้คำปรึกษา ถ้าคุณมีแรงทำงานด้านกระบวนการคุ้มครองเด็ก เราจะช่วยให้งานของคุณสำเร็จ ให้เราเป็นทีมเข้าไปช่วยแล้วหลังจากนั้น ทีมสหาวิชาชีพของคุณสามารถไปต่อได้” พญ.วนิดา เปาอินทร์กล่าวสรุป

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ